นิต้า-ณิษฐกาณต์

นิต้า-ณิษฐกาณต์ คุณครูนอกโรงเรียน ที่อยากเห็นคนไทยไปไกลในระดับโลก

Alternative Textaccount_circle
นิต้า-ณิษฐกาณต์
นิต้า-ณิษฐกาณต์

ย้อนกลับไปในอดีตการประกวดนางงามมักถูกคาดหวังว่าผู้ชนะต้องสวยปรากฏอย่างชัดเจนเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปบริบทของเวทีการประกวดก็เปลี่ยนไปด้วย โดยปัจจุบันนอกจากต้องสวยแล้วพวกเธอยังต้องเป็นกระบอกเสียงและช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ

สำหรับตอนนี้การประกวด มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 (Miss Universe Thailand 2022) ได้กลับมาจัดการประกวดอีกครั้ง โดยปีนี้มีผู้เข้าประกวดที่น่าจับตามองหลายคนเลย ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ก็คือสาวเก่งมากความสามารถที่พกความพร้อมมาเต็ม “ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ” หรือ “นิต้า” ซึ่งคว้ารางวัล “โกลเด้น เทียร่า” (Golden Tiara) มาครองในรอบ Keyword โดยหัวข้อที่เธอได้รับคือ “ความเท่าเทียม” ซึ่งเธอก็ได้ตอบคำถามนี้ว่า “เราพูดถึงความเท่าเทียม แต่น่าเศร้าที่มีหลายคนที่ไม่ได้เข้าถึงความเท่าเทียมกันในสังคมของเรา การที่นิต้ามายืนตรงนี้ในวันนี้ เพื่ออยากที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ความเท่าเทียมกันได้เกิดขึ้นจริง อย่างการแต่งงานเพศเกี่ยวกัน ความเท่าเทียมในการศึกษา และความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ นิต้าเชื่อว่าสังคมของเราจะดีขึ้นได้ถ้าเรามีความเท่าเทียมกัน”

จากการตอบคำถาม รวมถึงข้อมูลที่แพรวได้รับ ทำให้ได้รู้ว่านิต้ามีความคิดที่จะก้าวสู่เวทีประกวดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโดยมีแรงผลักดัน คือ ความตั้งใจที่จะให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง ผ่านการศึกษาที่เข้าถึงทุกคน ซึ่งแพรวได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอเกี่ยวกับเรื่องนี้

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 001

ก้าวสู่เวทีประกวดเพื่อขับเคลื่อนสังคมในเรื่องการศึกษาภาษาต่างประเทศ

“สำหรับนิต้าการเรียนภาษามันไม่ใช่แค่เพื่อสื่อสารเท่านั้น แน่นอนว่าการที่เราพูดได้มากกว่า 1 ภาษาเราจะสามารถสื่อสารกับคนได้เยอะขึ้น และทำให้เราได้เรียนรู้โลกให้กว้างมากขึ้น ถ้าคุณรู้มากกว่าหนึ่งภาษา โลกของคุณจะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เช่นถ้าคุณรู้ภาษาจีนคุณจะรู้ในมุมมองที่จีนมองประเทศของเรา ถ้าคุณรู้ภาษาอังกฤษคุณก็จะรู้มุมมองจากฝั่งตะวันตกที่มองมาที่ประเทศของเรา มันคือบริบทของโลกที่มองกลับเข้ามา”

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 003

มุมมองต่อการศึกษาภาษาต่างประเทศในประเทศไทย

ตอนประถมศึกษานิต้าเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นิต้ามีความรู้สึกเหมือนกับเด็กทั่วไป คือพ่อแม่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษกับเรา ไม่ได้เรียนอิงลิชโปรแกรม เราเรียนรู้ ABC เรียนรู้ Tense รู้สึกเรียนเยอะมาก แต่เราใช้ไม่เป็น  คือพอเจอคนต่างชาติ ศัพท์ก็ตีกันในหัวไปหมดเลย อาจจะเพราะเราเรียนเพื่อไปสอบเลยทำให้ไม่ได้ภาษาในตอนนั้น กระทั่งโตขึ้นมาอีกนิดนิต้าได้เรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูคนหนึ่ง เป็นการเรียนที่สนุกนั่นเลยทำให้เรารู้ว่า มันมีอะไรที่สามารถเรียนมากกว่าการสอบได้อีก กลายเป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษไปเลย ชอบร้องเพลงภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่อ่านไม่ออกเราก็พยายามไปเขียนตัวสะกดไทย จากนั้นก็เริ่มฝึกฝนเรื่อยๆ จนมัธยมศึกษาเลยเลือกเรียนแบบอิงลิชโปรแกรม

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 002

ความแตกต่างในการเรียนแบบปกติกับการเรียนแบบอิงลิชโปรแกรม

“คุณครูแหละค่ะ นิต้ารู้สึกว่าคุณครูต่างชาติเวลาเราพูดหรือเขียนผิดเยอะๆ ไม่เป็นไร ในขณะที่การเรียนแบบปกติมันไม่เชิงว่าผิดพลาดไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะถูกมองค้อน และสายตาคนทั้งห้องจะมาอยู่ที่เรา เวลาบอกคะแนนก็จะเปิดเผยคนอื่นได้ยินด้วย แต่กับการเรียนกับครูต่างชาติเขาค่อนข้างจะปิดเป็นความลับ มันทำให้เรารู้สึกดี คือเรื่องเล็กๆน้อยๆแบบนี้มันสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่ดีขึ้น และมันดีต่อสุขภาพของคนที่เรียนเองด้วย นั่นจึงทำให้ริต้าตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ”

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 004

คือจำได้ว่ามีอาจารย์คนหนึ่ง บอกกับหนูว่าถ้าเรียนมัธยมปลายต้องเลือกแผนนะว่าจะไปสายวิทย์หรือว่าสายศิลป์ ตอนนั้นรู้สึกว่ายังเด็กมากเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยากเรียนอะไร บวกกับหนูว่าในโปรแกรมมันไม่ตอบโจทย์ที่อยากจะเรียน เลยบอกกับที่บ้านว่าอยากไปนิวซีแลนด์จังเลย เพราะว่าอ่านหนังสือของพี่ชาคริต แย้มนาม พี่เขาไปเรียนต่อที่นั่น แต่ก็พูดไปอย่างนั้นแหละ โชคดีที่คุณแม่มีคนสนิทอยู่ที่แคลิฟอร์เนียคุณแม่ก็เลยถามเราว่าอยากไปไหม แล้วเช็กราคามันก็ไม่ได้แพงกว่าการเรียนนานาชาติในประเทศไทยเลย อาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ และในเมื่อมีโอกาสเราก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่นั่นค่ะ เราคิดว่าถ้าไม่คว้าเอาไว้มันก็คงไม่ได้

การสร้างความเท่าเทียมในการศึกษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

“ค่าการศึกษาที่ไทยในระบบอิงลิชโปรแกรมค่อนข้างแพง ยิ่งถ้าอยากได้อาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษา สถาบันที่ดีๆส่วนมาก ชั่วโมงหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับค่าแรงในเมืองไทยเลย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพรีวิลเลจเท่านั้นที่เรียนได้ ส่วนมากถ้าคุณเป็นคนที่มีฐานะจะสามารถเรียนอินเตอร์แบบนี้ได้ แต่ยิ่งในต่างจังหวัด ถ้าจะเรียนแบบนั้นยิ่งยากเลยค่ะ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่นิต้าอยากผลักดันเรื่องการศึกษาให้เท่าเทียม”

นิต้าจึงมองว่าภาษาอังกฤษเป็นอีกหนึ่งวิชา ที่ทุกคนมีโอกาสในการเรียนและพัฒนาอย่างเท่าเทียม ไม่ให้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่กลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์เท่านั้นจึงจะเรียนได้ดี โดยเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกสนุกในการเรียน ให้เกิดความใฝ่รู้ เรียนรู้ด้วยตัวเองควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน”

“นิต้าคิดว่านิต้าค่อนข้างโชคดีที่พ่อแม่สนับสนุนในเรื่องการศึกษา แต่ในเมื่อเรารู้ว่าเราโชคดีแล้วที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หนูก็เลยมาสอนภาษาอังกฤษใน TikTok ชื่อว่า “Speak with Nita” แนะนำการฝึกภาษาอังกฤษ ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้เลย คลิปละประมาณ 1 นาที มุ่งเน้นให้สามารถนำเอาภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริงๆ และสนุกไปกับมัน คืออยากให้คนเอา สิ่งที่เราทำทั้งหมดทั้งมวล ไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง”

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 006

พัฒนาบ้านเกิดด้วยโครงการ JUNIOR GUIDE

“หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกา นิต้า ได้ทำโครงการ JUNIOR GUIDE จริงๆ มันเกิดจากการที่เราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับบ้านเกิดของตัวเองเลย อย่างตอนที่อยู่สหรัฐอเมริกามีเพื่อนหลายคนที่ถามว่าราอยู่ไหนของประเทศไทย เราก็บอกเขาว่าเราอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราชแต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีดีอะไรหรือมีอะไรที่อยากให้คนต่างประเทศได้ดู เพราะหลักๆ เลยคือเราไม่ได้รู้จักจังหวัดของตัวเอง ก็เลยลองทำการบ้านดู และคิดต่อยอดไปว่าถ้าเด็กๆ สามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับจังหวัดตัวเองเป็นภาษาอังกฤษได้น่าจะดี  ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการก็มีน้องน้องสนใจเยอะมาก เราก็รู้สึกภูมิใจมากๆ”

มองข้ามช็อตในฐานะตัวแทนประเทศไทยอะไรคือสิ่งที่นิต้าอยากขับเคลื่อน

“เป็นตัวแทนของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคอนเท้นต์ของสื่อ (Southeast Asia Representation) เหมือนภาพจำในสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีไม่เยอะ และเวลาเราดูหนังหรือซีรีส์ต่างๆ ที่มาจากตะวันตก เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาดนั้น เช่นถ้าเป็นบทของผู้หญิงที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ที่เรามักเจอคือเชื่อฟังตลอดเวลา เป็นคนหัวอ่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วเรามีผู้หญิงเก่งๆเยอะมาก ทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เลยอยากจะมาชูโรงเรื่องนี้ อยากสร้างภาพจำใหม่ๆ อยากให้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราอยู่ในประเทศของเราแต่เราสามารถเป็น Global Citizen อยากให้มี Spotlight ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้างเพราะชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถ และยังเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยศักยภาพอีกมากมาย”

นิต้า-ณิษฐกาณต์ 005

Praew Recommend

keyboard_arrow_up