นที อุตฤทธิ์

ที่มาของความสำเร็จ นที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยยืนหนึ่งในเวทีนานาชาติ

account_circle
นที อุตฤทธิ์
นที อุตฤทธิ์

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ นที อุตฤทธิ์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี2562 มุ่งมั่นและทุ่มเทชีวิตให้การทำงานศิลปะร่วมสมัยที่ผสมผสานแนวคิดระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ในฐานะศิลปินไทยที่ได้รับเชิญให้นำผลงานไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์รวมถึงแกลเลอรี่ระดับโลกทั้งในเอเชียและยุโรป

นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล ArtGame Changer Award 2019 จากสถาบัน Asia Society และเป็นหนึ่งในศิลปินที่สร้างอิทธิพลและความเปลี่ยนแปลงต่อวงการศิลปะร่วมสมัย ทำให้เมื่อมีการประมูลผลงานของเขาคราใดก็เป็นที่สนใจจากนักสะสมผลงานศิลปะมาโดยตลอด

ที่มาของความสำเร็จ นที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยยืนหนึ่งในเวทีนานาชาติ

Perfect is not Perfect

“ผมไม่ได้ทำงานในรูปแบบเดียวตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การทำงานของผมจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และแรงบันดาลใจต่างๆที่เข้ามาในชีวิต ผลงานที่ผ่านมาจะอยู่บนเส้นทางของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และจิตรกรรม

โดยช่วง 20 ปีแรกของการสร้างงาน ผมจะมุ่งเน้นการทดลองที่เชื่อมต่อระหว่างการวาดภาพที่ได้แนวคิดจากรูปถ่าย  โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ซึ่งในช่วงหลังผมได้ผนวกเรื่องของแสงและทัศนมิติ (Perspective) บางอย่างมาใช้ในการสร้างงาน แต่ยังคงสื่อถึงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ และ ความเหลื่อมล้ำของตะวันตกกับตะวันออกอยู่

“สำหรับรูปแบบผลงานของผมที่ถูกจดจำในวงกว้าง น่าจะเป็นผลงานในช่วงปี 2014 – 2018 เป็นผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ชื่อ ‘The Altarpieces’ ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากฉากประดับแท่นบูชาของศิลปะคริสเตียน ผลงานชุดนี้ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่หลายแห่งทั้งในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงแรกที่จัดแสดงผลงานนี้ก็พบปัญหาด้านการสื่อสารบ้าง จากความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ด้วยรูปแบบของผลงานที่ยังมีกลิ่นความคิดแบบไทยหรือเอเชีย มีความลักลั่นทางวัฒนธรรมและภาษาของภาพ ภายหลังสิ่งเหล่านี้กลับเป็น เอกลักษณ์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจสำหรับศิลปิน Made in Thailand อย่างผมมาก เพราะองค์ความรู้จากตะวันตกของผมเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากการขวนขวายมาด้วยตัวเองล้วนๆ

“การที่ผลงานของผมมักจะได้รับการมีส่วนร่วมอยู่ในการประมูลของสถาบันการประมูลระดับโลกบ่อยๆนั้น มันอาจจะเป็นเพียงสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนักสะสมที่มีต่อผลงานของเราเท่านั้น สำหรับผมมันอาจเป็นส่วนหนึ่ง
ของความภูมิใจ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จในอาชีพในความหมายของผม พูดง่ายๆคือมันเป็นคนละเรื่องกัน  การประมูลเป็นเรื่องทางธุรกิจศิลปะ งานที่นำมาประมูลไม่ใช่งานที่ออกจากสตูดิโอ แต่เป็นผลงานที่ผ่านการสะสมมาแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วกลับเข้าสู่วงจรของธุรกิจศิลปะ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นเพียงแค่การสะท้อนความต้องการของนักสะสมที่มีต่อเราเท่านั้นเอง”

มากกว่าพรสวรรค์

“ที่มาของความสำเร็จ ณ วันนี้ของผม ผมมองว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมและยุคสมัยที่ผมเริ่มต้นทำงาน  เพราะเมื่อ 30 ปีก่อนทุกอย่างเป็นเรื่องยาก ต้องขวนขวาย และไม่มีตัวช่วยมากมายเหมือนสมัยนี้ จึงเป็นเหมือนการกระตุ้นความทะเยอทะยานของผมที่อยากเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้

ที่ผ่านมาผมรู้สึกมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่ง เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่พอทำได้คือการทำให้มากกว่าคนอื่น ฝึกฝนตัวเองให้เยอะกว่าคนอื่น อย่างสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่วิทยาลัยช่างศิลป ผมเข้าเรียนที่นั่นตอนอายุ 13 ปี ยังเป็นเด็กชายอยู่เลย ต้องเรียนกับคนที่โตกว่าและเก่งๆทั้งนั้น ดังนั้นการที่จะผลักดันตัวเองให้รอดและพัฒนาความรู้เพื่อเรียนสู่ระดับต่อๆไปจึงต้องทุ่มเทมากกว่าปกติ ผมจึงเชื่อมาตลอดว่าคนที่ไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ ก็สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ด้วยการเอาชนะตัวเองและทำให้มากกว่าคนอื่น

“อีกอย่างคือผมโชคดีที่อยู่กับงานที่ตัวเองรักและอยากทำโดยไม่รู้สึกเบื่อช่วงที่ผมทำงานอย่างบ้าคลั่งในช่วงกลางยุค 90 ผมแทบจะเฝ้ารอให้ถึงตอนเช้าเพื่อผมจะได้รีบทำงานต่อ มันเป็นแพสชั่นอย่างหนึ่ง ผมว่ารูปแบบความสำเร็จของการทำงานศิลปะไม่เหมือนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ชนะด่านหนึ่งแล้วก็พยายามเร่งตัวเองเพื่อเข้าสู่ด่านต่อไป แต่ผมมองมันแบบรูปต่อรูป ผมมองมันในมิติปัจจุบัน ความสำเร็จวัดได้จากสิ่งที่เรากำลังทำมันอยู่ภายใต้เหตุผลและปัจจัยของปัจจุบัน ดังนั้นการทำงานแต่ละครั้งผมจึงมักสร้างโจทย์ใหม่ๆรอไว้เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นความทะเยอทะยานของตัวเองอยู่เสมอ

“จริงๆแล้วผมเป็นพวกเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ที่ชอบความสำเร็จ แต่ในงานของผมเอง ผมมักจะเหลือที่ว่างบางอย่างในงานประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ไว้ให้ความไม่สมบูรณ์ที่รอการเติมเต็มบางอย่าง เพราะผมคิดว่าความสำเร็จของงาน
ในระดับ 80 – 85 เปอร์เซ็นต์เป็นความสมบูรณ์ที่กำลังดีและเหมาะสม เพื่อที่งานจะได้มีที่ว่างพอที่จะให้ผมสร้างจินตนาการสำหรับงานต่อไปในอนาคต”

ปรัชญาการทำงานในแบบ “นที”

“ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ถ้ามีความตั้งใจและพยายามมากพอ ศิลปินก็เหมือนนักกีฬาหรือนักดนตรี ต้องมีการฝึกซ้อม มีการหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ตนเอง ไม่ใช่เอาแต่นั่งรอแรงบันดาลใจว่ามันจะลอยเข้ามาในสมองเราได้ ความรู้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ขวนขวายหามันหรือพาตัวเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นศิลปินก็ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ อย่างเมื่อก่อนผมเคยมีความต้องการจะเขียนภาพแบบเรียลิสติกให้ได้ในมาตรฐานแบบศิลปะยุโรป แต่ผมเขียนไม่ได้ เพราะผมไม่มีความรู้ความชำนาญแบบนั้นมากพอ ก็ต้องฝึกฝน

“สิ่งหนึ่งที่ผมต้องสำนึกและคอยสำรวจตัวเองอยู่เสมอคือ เรื่องของวิธีคิดต่อความภูมิใจหรือความสำเร็จต่างๆที่ได้รับมาตลอดเส้นทางการทำงาน สิ่งเหล่านี้มาแล้วก็ไป ไม่มีอะไรหรือใครที่จะทำอะไรได้ประสบความสำเร็จตลอดเวลา  ชื่อเสียงก็ไม่ใช่สิ่งถาวร หากไม่เข้าใจและมุ่งแต่จะไขว่ขว้ามันจนลืมบทบาทหน้าที่ของศิลปิน มันอาจกลายเป็นสิ่งที่สกัดกั้นการเริ่มต้นใหม่ๆ และอาจลดทอนจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์ไป ผมจึงไม่ค่อยพะวงกับสิ่งเหล่านี้นัก หากเทียบกับการค้นหาสิ่งใหม่ๆในการทำงาน

“ทุกวันนี้ผมก็ยังทำงานศิลปะด้วยความเชื่อมั่นเช่นเดิมเหมือนสมัยผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมไม่กลัวความผิดพลาดล้มเหลว ถ้าอะไรทำแล้วไม่สำเร็จก็ทำใหม่ ผมว่าเรามีเวลาในชีวิตกันไม่มากนัก ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะต้องกลัวกับความผิดพลาดและการเริ่มต้นใหม่ เพราะเราไม่มีเวลาเหลือเฟือสำหรับความกลัวแบบนั้น แค่เดินหน้าและทำงานของเราไปเท่านั้น”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 974

เรื่อง : กิดานันท์ สุดเสน่หา

Praew Recommend

keyboard_arrow_up