Di Fiora

ชีวิตดีๆ ในซีแอตเทิลของ “ธิดาภัสสร์” เจ้าของร้าน Di Fiora รายได้วันละ 5 แสน

account_circle
Di Fiora
Di Fiora

ชีวิตดีๆ ในต่างแดนของ “ธิดาภัสสร์ อริยหิรัญตระกูล” สาวไทยที่ตัดสินใจย้ายรกรากไปอยู่ ซีแอตเทิลสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากการเป็นพนักในร้านอาหาร สู่การเป็นเจ้าของ Di Fiora ร้านอาหารสไตล์เอเชียนที่ตั้งอยู่ในเมือง ซีแอตเทิล ซึ่งทำรายได้เกือบวันละ 5 แสนบาท มากสุดวันละ 1 ล้านบาท!!

ชีวิตดีๆ ในซีแอตเทิลของ “ธิดาภัสสร์” เจ้าของร้าน Di Fiora รายได้วันละ 5 แสน

Di Fiora

ชีวิตตอนอยู่ไทย

ธิดาภัสสร์ เล่าว่าเธอจบการศึกษาจาก คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงที่เรียนอยู่นั้น เธอทำอาชีพเสริมไปด้วยคือ การขายครีมที่ตีแบรนด์เป็นของตนเอง ตอนนั้นธุรกิจขายครีมเรียกได้ว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้เธอ แต่ผ่านไปสักพักการแข่งขันเริ่มสูงขึ้น จากการที่สื่อโซเชียลมันเริ่มบูม ซึ่งธิดาภัสสร์เล่าให้ แพรวดอทคอม ฟังว่า

“เรารู้สึกว่า โอกาสในการทำธุรกิจนี้มันเริ่มน้อยลงแล้ว เพราะว่ามีคนเอาพวกครีมผิดกฏหมายมาขายตัดราคา ผู้บริโภคยังไม่มีความรู้ในการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มาก เหมือนเจอแบบไหนถูกกว่าก็ซื้ออันนั้น พอเจอสถานการณ์แบบนี้ เราจึงตัดสินใจขายธุรกิจให้กับคนรู้จัก ซึ่งก็ได้เงินมาเยอะสมควรที่จะตั้งตัว”

บอกตามตรงว่า แบรนด์ที่เราสร้างขึ้นมาในตอนนั้นยังขายได้อยู่นะ ครีมทุกตัวที่ทำผ่าน อย.มีกระบวนการจดแจ้งว่าทำมาจากโรงงาน สามารถตรวจสอบได้ และ มีแพ็กเกจที่มันดูดี แต่พอเจอครีมแบบผิดกฏหมายก็เข้ามาแทนที่ เราก็เหมือนเล็งเห็นแล้วว่า การบริโภคของคนเปลี่ยนไปคือ หลายคนจะมองเห็นของถูกไว้ก่อนแล้วถึงซื้อ หรือสินค้าอะไรที่เป็นแมสโปรดักส์ มักจะขายดี แต่เราไม่อยากลดมาตรฐานสินค้า ขายของที่ไม่มีคุณภาพ เรามีจรรยาบรรณมากกว่าที่จะเอาผลกำไร

หลังจากที่ขายกิจการไป ก็ใช้เงินตรงนี้เที่ยวเต็มๆ เลย ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ แต่พอหยุดพักได้ประมาณ 6 เดือนก็กลับมาทำงานใหม่อีกครั้งในตำแหน่งนายหน้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง พอทำไปได้สักเดือนก็เริ่มรู้สึกว่า มันไม่ใช่ละ เราไม่ชอบโน้มน้าวคนให้มาทำในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทำต้องการให้ปิดการขายคอนโด 5-6 ห้องภายในเดือนเดียว ซึ่งห้องหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน รวมๆ แล้วก็ 50-60 ล้าน แต่ตอนนั้นเราก็ปิดการขายได้นะ แต่จริงๆ คือเรารู้ว่า วัสดุ หรือ สิ่งก่อสร้างต่างๆ เนี่ยมันไม่ได้มาตรฐาน มันทำให้เรารู้สึกว่า มันไม่ถูกต้อง ถ้ากลับกันเราเป็นลูกค้าก็คงรู้สึกแย่ แต่เราพูดความจริงกับลูกค้าไม่ได้ บริษัททำให้เราอยู่ในกรอบ เขาให้พูด ให้ทำอะไร ก็ต้องทำอย่างที่เขาต้องการ พอเกิดความคิดแบบนี้ก็ตัดสินใจลาออกดีกว่า ถึงแม้ตอนนั้นเราจะเป็นตัวท็อป ซึ่งหัวหน้ายังอยากให้อยู่ต่อ แต่มันไม่ใช่ทางที่ต้องการ

เรามานั่งคิดว่าอยากมีธุรกิจเล็กๆ ที่เป็นของตัวเอง เป็นนายตัว สามารถควบคุมทุกอย่างได้ แต่พอคิดว่าจะทำอะไรในไทยดี ก็คิดไม่ออก เพราะว่าสาขา (ภูมิศาสตร์) ที่เรียนจบมาก็ค่อนข้างหางานยาก มองดูแล้วไม่เห็นหนทาง

โอกาสมีต้องรีบคว้าไว้ 

Di Fiora

เป็นเรื่องประจวบเหมาะมาก เมื่อน้าสาวที่อยู่อเมริกา โทรมาคุยกับเราว่ากำลังมีแพลนขยายสาขาร้านอาหารไทยในซีแอตเทิล เขาก็เลยชวนเรามาเป็นหุ้นส่วนให้ไปร่วมลงทุนด้วย พอมีโอกาสมาแบบนี้มาก็รีบคว้าไว้ เราตัดสินใจทันทีว่าจะย้ายไปอยู่อเมริกา อยากลองไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งที่ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องกล้าได้ กล้าเสีย

อันที่จริงเราเคยดรอปเรียน และบินไปเรียนภาษาหนึ่งปีที่ซีแอตเทิล จึงทำให้ได้เห็นบรรยากาศ สภาพสังคม ประเทศบ้านเมืองเขาที่มีสิทธิเสรีภาพ เป็นประเทศที่ ถึงแม้คุณจะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่หากคุณขยันก็มีชีวิตที่ดีได้

หลายคนอาจคิดว่า มาเป็นหุ้นส่วนแล้วคงจะได้รับเงินมาใช้แบบสบายๆ แต่เปล่าเลย เราก็ยังต้องมาเป็นเด็กเสิร์ฟ มาล้างจาน ขัดห้องน้ำ ถูพื้น เก็บจาน เก็บเศษอาหาร เก็บอะไรต่อมิอะไรไม่รู้บนโต๊ะ ซึ่งเราไม่เคยทำแบบนี้เลย แต่จุดนี้มันทำให้ชีวิตเราปลดล็อก และคิดได้ว่า เห้ย…กว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทไม่ง่ายเลยนะ ทุกคนอาจมองว่าอยู่เมืองนอกสบาย แต่สิ่งที่เห็นมันไม่ใช่แบบนั้นเลย บอกได้เลยว่าร้อยละ 80 ที่มาอเมริกาอาจไม่ได้มีครอบครัวที่ร่ำรวย ทุกคนต้องทำงานมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แต่หากคุณขยันทำงานมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีเงินเก็บมากเท่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเลยระหว่าง อเมริกา กับ ไทย คือ ต่อให้คุณทำอาชีพบริการ ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ คุณก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกัน

ถึงเวลาสร้างธุรกิจของตัวเองแบบเต็มตัว

หลังจากทำงานมาได้ 5 ปี ทางครอบครัวก็มีแพลนที่จะขยายสาขาออกไปอีก แต่ปัญหามันก็ติดอยู่ที่ว่า เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความคิดต่างในการทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งภาพร้านอาหารในหัวของเรามันต่างจากที่พวกเขาคิด เราจึงไม่อยากทำงานกับครอบครัวแล้ว ถึงจะเป็นหุ้นส่วน แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ทำงานกับครอบครัวไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ ก็เท่านั้น

การตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของเราเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเรานำเงินเก็บที่มี บวกกับเงินที่เล่นหุ้นได้ มาเปิดร้านอาหารของตัวเอง ซึ่งเรานำประสบการณ์ต่างๆ จากสิ่งที่เรียนรู้ จากการศึกษาธุรกิจร้านอาหารว่าจะทำอย่างไรให้มันดังเปรี้ยงมากกว่านี้ เพราะคิดว่าทำร้านอาหารไทยยังไงก็รายได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งยังได้ไปลองกินร้านอาหารดีๆ ไปดูว่ารสชาติ หน้าตาอาหารของเขาเป็นอย่างไร ถึงได้ดาวมิชลิน เราลองผิดลองถูก ลงมือทำอาหารเอง กินเอง ค้นคว้าสูตรเองทุกอย่าง

ร้านอาหาร Di Fiora

แต่การเปิดร้านอาหารในอเมริกาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายขั้นตอนมาก ไม่ว่าจะหาทำเล หาสถานที่ ขอใบอนุญาต กระทรวงสาธารณสุข เพราะถ้าไม่ผ่านก็ทำไม่ได้ เพราะที่นี่เค้าเข้มงวดกับสุขอนามัยของคนในประเทศมากๆ นอกจากนี้ยังมีใบอนุญาตต่างๆ อีกเยอะแยะ รวมถึงงานออกแบบร้านที่มีการแก้ไขไม่รู้จบ ต้องผ่านการตรวจสอบซึ่งยากมาก เพราะเขาต้องคำนวนปริมาณคนที่นั่งในร้าน ต้องไม่แออัด ทุกอย่างต้องเหมาะสม รายละเอียดจุกจิก เปลี่ยนแบบแต่ละครั้ง ก็ต้องใช้เงินทุกครั้ง งบที่มีเริ่มบานปลาย จาก 12 ล้านบาทที่ตั้งไว้ กลายเป็น 20 ล้านบาท แต่ลงทุนไปแล้วก็ทำให้เต็มที่ ไม่อยากรบกวนที่บ้าน อยากพิสูจน์ให้ทุกคนที่เคยพูดว่าเราทำไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จหรอก จะไปได้สักกี่น้ำ ซึ่งเราอยากทำให้พวกเขาเห็นว่า ฉันทำได้ แต่นั่นก็ทำให้เกิดความเครียด เกิดอาการซึมเศร้า จนต้องไปหาจิตแพทย์

สุดท้าย Di Fiora ก็สร้างเสร็จใช้เวลาไปทั้งหมด 1 ปี 2 เดือน ลงทุนไปรวมแล้ว 25 ล้านบาท ตอนนั้นเราคิดว่าเอาวะ ได้ฤกษ์เปิดสักที ฉันทุ่มทั้งหมดที่ฉันมีทุกอย่างในชีวิตแล้ว จะเป็นอย่างไรไม่รู้ เจ้งก็เจ้ง เอาวะ!!

แต่พอถึงช่วงที่จะเปิดร้านจริงๆ เดือนธันวาคม 2562 งานก็เข้าแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะใบอนุญาตที่ขอไปเกิดความล่าช้า  เนื่องจากช่วงปลายปีจะมีคนขอใบอนุญาตเข้ามาเยอะมาก ประจวบกับตอนนั้นมีการตรวจพบเคสโควิดเคสแรกในอเมริกา จึงทำให้กระบวนการทุกอย่างมันยิ่งล่าช้า

พอได้ใบอนุญาตมา ปรากฏว่ามีประกาศปิดเมือง วันนั้นล้มทั้งยืนเลย เพราะค่าเช่าก็จ่ายไปแล้ว พนักงานก็จ้างมาแล้ว อีกทั้งเป็นร้านเปิดใหม่ที่ยังไม่มีฐานลูกค้า ไม่มีรายรับ มีแต่รายจ่าย ทุกวันมีแต่ติดลบ เป็นอยู่อย่างนี้เกือบ 3 เดือน จนกระทั่งกลับมาเปิดได้ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตอนนั้นเมืองก็ยังล็อกดาวน์อยู่นะ (ทานที่ร้านไม่ได้ ให้ซื้อกลับเท่านั้น) เราก็เลยปรึกษาพี่ชายที่มาช่วยบริหารร้านว่า จะทำอย่างไรดี ให้ลูกค้ารู้จักร้านเรามากขึ้น ซึ่งก็คิดไอเดียขึ้นมาว่า งั้นทำ Grab&Go บวกกับทำโปรโมชั่นเสริมเข้าไปกันดีกว่า ยอมเท่าทุน ดีกว่าขาดทุน!

ด้านพนักงาน เราขอให้พวกเขาสลับกันมาทำงาน ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ และเห็นใจ ตรงนี้เราต้องขอยกเครดิตให้กับพนักงานทุกคนที่ยังอยู่กับเราในวันนั้น พวกเขาได้เงินน้อย แต่ก็พร้อมใจกันช่วย ในฐานะนายจ้างบอกตามตรงเครียดมาก ร้องไห้ทุกวัน เงินแทบจะไม่เหลือแล้ว อยากให้ลูกน้องทุกคนรอด แต่ตัวเราก็ต้องรอด เหนื่อยมากๆ ทั้งงานบริหาร พ่วงด้วยกับการเป็นเชฟ ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด

อย่างที่บอกว่า Di Fiora เป็นร้านเปิดใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก เราต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่าในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าสนใจ ให้รู้ว่าร้านอาหารที่นี่ดีมาก อร่อยมาก โดยผ่านช่องทางโซเชียล เราขอให้เพื่อนๆ ที่รู้จักโปรโมท และแท็กร้านให้  มีการเดินไปตามตึก เอาโปรชัวร์ไปวางไว้ตามอพาร์เม้นท์ต่างๆ ว่าร้านเราเปิดทูโกแล้ว และจะให้ส่วนลด 10% สำหรับลูกค้าใหม่ของเราที่อยู่ในพื้นที่นี้ ขอให้เขาช่วยสนับสนุนในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งผลจากการที่ทำแบบนี้มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ คนเริ่มรู้จักร้านเรามากขึ้น ตอนนั้นขายได้วันละ 300-400 เหรียญ

สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปจนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน เมืองก็เริ่มมีการผ่อนคลายอนุญาตให้ลูกค้าเข้ามานั่งทานในร้านได้ 25% หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มขายได้วันละประมาณ 1,000 เหรียญ

ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ยังมีคนกล้าๆ กลัวๆ ที่จะมานั่งในร้านนะ แต่ด้วยความที่ร้านเราตกแต่งสวย และไม่เหมือนใคร มีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน มีการบอกปากต่อปาก มีการอัพรูปทางโซเชียล อีกอย่างอาหารที่ร้านเราใช้วัตถุดิบอย่างดีที่สุด แพงเท่าไหร่ไม่เกี่ยง ลูกค้าต้องได้ทานของดี ของอร่อย  ขณะที่ตัวเราเองก็ลงไปบริการลูกค้า ไปขอบคุณเขาด้วยตัวเอง บอกลูกค้าตลอดว่า รู้ไหมว่าสิ่งที่คุณสนับสนุน ทำให้ฉันมีในวันนี้ ฉันจะไม่ลืมเลย

พระเจ้าไม่ได้เอ็นดูเสมอไป

แต่พระเจ้าก็ไม่ได้เอ็นดูเราเสมอไป เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหญ่อีกครั้ง ตอนนั้นรู้สึกว่าเห้ยอีกแล้วเหรอจะไม่ให้ลืมตาอ้าปากเลยหรือไง ตอนนั้นท้อเลย แต่ก็คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วล่ะว่าโรคระบาดเนี่ยจะอยู่ไปอีกนาน จากที่ได้ข่าวสารมาหลายสำนัก

แต่รอบนี้ก็ยังดีกว่ารอบแรก เพราะเรามีเงินเก็บประมาณหนึ่งแล้ว พอล็อกดาวน์ก็ค่อยๆ ทยอยนำเงินออกมาใช้ ทำให้ร้านอยู่รอด โชคดีด้วยที่ลูกค้าสั่งอาหารแบบทูโกก็ยังสนับสนุน ทำให้ไม่เข้าเนื้อ ไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ได้กำไร

1 ใน 3 ร้านอาหารที่ได้ลงหนังสือพิมพ์ซีแอตเทิล

ต้องบอกเราใช้โซเชียลในการโปรโมทหนักมาก ลูกค้าที่มาก็มักจะไปรีวิวตามช่องทางต่าง ทั้งอินสตาแกรม เฟสบุ๊ค กูเกิ้ล ซึ่งก็มีนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ The Seattle Times พวกเขาสงสัยว่า ผู้หญิงเอเชียอายุ 30 ต้นๆ เนี่ยทำได้ยังไง เป็นเจ้าของร้านอาหารในทำเลทองของซีแอตเทิลได้อย่างไร เพราคนส่วนใหญ่คนที่จะกล้ามาเปิดร้านตรงแถวนี้ได้ ต้องมีประสบการณ์

หลังจากที่ได้ลงหนังสือพิมพ์ The Seattle Times เชื่อไหม ชีวิตเปลี่ยนไปเลย จากที่ขายทูโกได้วันละ 1,000 เหรียญ ก็ขยับขึ้นเป็น 2,000 เหรียญ

วัคซีน ทำสถานการณ์ดีขึ้น

ในช่วงนั้นมีข่าวว่าจะมีการนำวัคซีนมาเริ่มฉีดให้กับประชาชน โดยจะฉีดให้กับผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวก่อน จากนั้นก็จะนำมาทยอยฉีดให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเราเองก็ลุกทำการตลาดออนไลน์อย่างเต็มที่ ร้านเรามีการตื่นตัวเรื่องนี้มาก พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน ภายในร้านปรับรูปแบบโต๊ะใหม่ให้มีการเว้นระยะห่างกันมากขึ้น มีสภาพอากาศที่ถ่ายเทสะดวก มีการตกแต่งร้านที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้ร้านเราต่างจากร้านอื่น ทุกคนว้าวมากๆ ทั้งโลเคชั่น ทั้งการตกแต่ง ทั้งอาหาร ฟีดแบคดีมากๆ ยอดขายก็สูงขึ้น มีอยู่วันหนึ่งขายได้เกือบล้านบาท

ปัจจุบันรายได้ของ Di Fiora จะอยู่ที่หลักแสน โดยวันจันทร์ อังคาร พุธ จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสน แต่ถ้าเป็นวันพฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะขายดีมากๆ อยู่ที่ประมาณ 4-5 แสน

สำหรับ พนักงานร้านเราจะมีรายได้คนละ 400-500 เหรียญต่อวัน รวมกับค่าทิป ซึ่งอย่างวันที่เราขายได้สูงสุด วันนั้นพนักงานได้ทิปเพิ่มคนละ 400 เหรียญ แต่พวกเขาก็ต้องจ่ายภาษีตามกฏหมายนะ ยิ่งรายได้เยอะ ก็จ่ายเยอะ แต่ในการจ่ายภาษีของคนอเมริกันเนี่ย สามารถตรวจสอบได้ทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไป เงินทุกเหรียญสามารถจับต้องได้ อย่างในช่วงภาวะเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด และต้องปิดประเทศ รัฐบาลก็เอาเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไปมาใช้ในการช่วยเหลือทุกคนในประเทศ….


เรื่อง : Nitcha.k

ภาพ : ธิดาภัสสร์ อริยหิรัญตระกูล, Di Fiora/Instagram

 

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up