กัน ณภัทร แคคตัส

บุกโรงเรือนแคคตัสมูลค่าไม่ธรรมดา! ของ “กัน ณภัทร” จากปลูกขำๆ สู่แคคตัสเลิฟเวอร์

Alternative Textaccount_circle
กัน ณภัทร แคคตัส
กัน ณภัทร แคคตัส

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “กัน ณภัทร อินทร์ใจเอื้อ” อินเลิฟกับแคคตัสหรือกระบองเพชรเจ้าเสน่ห์ เกิดจาก 2 ปีที่แล้ว เมื่อเขาสร้างบ้านที่สุพรรณบุรีเสร็จ ก็อยากหาไม้ประดับมาตกแต่ง จึงเริ่มหาแคคตัสสวยๆ มาจัดวาง จากปลูกขำๆ ความสัมพันธ์พัฒนาถึงขั้นลงทุนสร้างโรงเรือนกระจก ติดกล้องวงจรปิด และล่าสุดผุดโปรเจ็กต์ทำโรงเพาะแคคตัสขายแล้วจ้า

บุกโรงเรือนแคคตัสมูลค่าไม่ธรรมดา! ของ “กัน ณภัทร” จากปลูกขำๆ สู่แคคตัสเลิฟเวอร์

In Relationship with Cactus

“หลังจากสร้างบ้านเสร็จ ช่วงแรกผมปลูกไม้ใหญ่ประดับสวน ส่วนในบ้านเน้นพวกต้นไม้ฟอกอากาศมาวาง ทั้งมอนสเตอรา ไทรใบสัก ยางอินเดีย ซึ่งผมโชคดีมากที่ซื้อก่อนเกิดกระแสฮิต บางต้นฟอร์มใหญ่แล้ว แต่ได้มาในราคาแค่ 4,000 – 5,000 บาทเท่านั้น ต่างจากตอนนี้ที่เป็นหลักหมื่น

“สำหรับบริเวณสวนกลางบ้าน ผมอยากทำเป็นสไตล์มินิมัล จึงหาแคคตัสมาปลูก วันหนึ่งไปเดินงานบ้านและสวนแล้วติดใจสายพันธุ์เลนต้า กอใหญ่ สวยและแพงมาก ราคา 50,000 บาท ผมถามคนขายว่ากอนี้สามารถปลูกลงดินได้ไหม เขาบอกว่าต้องปลูกในกระถางเท่านั้น อย่าลงดิน เพราะรากและลำต้นไม่ชอบความชื้น หากปลูกลงดินมันจะไม่สามารถจัดการกับน้ำส่วนเกินที่มาจากฝนหรือน้ำค้างได้ สุดท้ายรากจะเน่า แต่ใจผมอยากปลูกลงดินอยู่ดี

กัน ณภัทร แคคตัส
Mamamillaria lenta ต้นแรกสุดที่ทำให้มีต้นต่อๆ มา

“พอซื้อกลับมาบ้านที่สุพรรณบุรี ผมขุดดินทำเป็นหลุม แล้ววางแคคตัสใส่ลงไป ทั้งกระถาง ผ่านไป 2 วันเริ่มใจไม่ดี กลัวมันตาย เพราะซื้อมาแพง เลยขุดขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะ ก่อนจะเดินไปสารภาพกับแม่ว่าต้นนี้ผมซื้อมาแพง กวนแม่ช่วยดูให้ผมด้วยนะ เนื่องจากผมไม่ได้อยู่บ้านที่สุพรรณบุรีตลอด แม่ฟังแล้วก็บ่นยับครับ ซื้อมาทำไมตั้งแพง ถ้ามันตายจะทำยังไง ฯลฯ (หัวเราะ) ส่วนผมเองจากวันนั้นก็เริ่มศึกษาจริงจัง พบว่าแคคตัสเป็นไม้อวบน้ำชอบแสงแดด ยิ่งโดนแดดยิ่งสวย ยิ่งโตเร็ว ช่วงแรกผมเลี้ยงด้วยวิธีว่าตอนเช้ายกออกไปวางให้โดนแดด พอเย็นยกกลับเข้าบ้าน กลัวโดนฝนแล้วรากจะเน่า แต่ยกไปยกมาเริ่มเมื่อย จึงเป็นที่มาของการทำโรงเรือนในราคา 20,000 บาท และเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมซื้อแคคตัสหลากสายพั นธุ์มาเลี้ยง เช่น ยิมโน, แอสโตร, โลโฟ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาด ถ้าต้นสวย ด่างเยอะ และลำต้นใหญ่ ราคาจะอยู่ที่ 50,000 บาท

“ช่วงแรกผมไปเดินซื้อตามสวนจตุจักร ก็เจอทั้งที่ราคาแพงบ้าง ถูกบ้าง ช่วงหลังผมไปซื้อที่ร้านเพชรแต้มสี จังหวัดระยอง ขับรถจากกรุงเทพฯไปประมาณ 2 ชั่วโมง อีกที่คือกระท่อมลุงจรณ์ แถวปทุมธานี ช่วงที่อินมากๆ ไปบ่อยมากทุก 2 สัปดาห์ ไปทีไรเสียตังค์ทุกครั้ง มันอดใจไม่ได้ เพราะดูต้นไหนก็ชอบไปหมด นอกจากนี้ยังเข้าไปประมูลตามเพจแคคตัส ซึ่งบรรยากาศประมูลดุเดือดจนวินาทีสุดท้าย สมมติเขากำหนดเวลาให้ประมูลจบภายใน 2 ทุ่ม แต่เลยเวลาแล้วยังประมูลกันอยู่เลย ซึ่งจะประมูลได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความไวในการกดแป้นพิมพ์และกำลังทรัพย์ด้วย ทีแรกผมใช้วิธีกำหนดงบเพื่อบังคับตัวเอง แต่พอมีต้นที่อยากได้มากๆ สุดท้ายคืองบบานปลายก็ต้องยอม

กัน ณภัทร แคคตัส

“เคยเจอเหตุการณ์ ‘คุณหลอกดาว’ ด้วยนะ คือประมูลแคคตัสต้นเล็ก สีส้มสวยในราคา 15,000 บาท พอมาถึงเราก็ยังสวยอยู่ แต่พอเลี้ยงไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ากลายเป็นเขียวทั้งต้น สีส้มไม่ออก ผมพาไปตากแดด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เกิดผล ปรึกษากูรูได้ความว่าพวกนี้อาจกลายพันธุ์ตอนโต ตอนเล็กๆ เป็นด่างสี แต่ถ้าไม่ใช่ด่างแท้ โตขึ้นก็จะออกเขียวได้ เซ็งเลย

“แต่ทั้งหมดนั้นก็ทำให้รู้ตัวว่าผมหลงแคคตัสมากๆ เสน่ห์อยู่ที่ความสวยงาม อีกอย่างคือผมขี้เบื่อ แต่การเลี้ยงแคคตัสทำให้ผมได้ลุ้นตลอดเวลา เพราะแค่ผ่านไปสัปดาห์เดียวเขาก็ไม่เหมือนเดิมแล้วนะ อย่างสายพันธุ์ยิมโน ตอนเด็กๆ อาจจะยังไม่สวย แต่พอโตขึ้นความสวยเริ่มมา ลายด่างจะเป็นแบบสมมาตร คือด่างเสมอกัน เราก็จะลุ้นมากว่าเขาจะออกมารูปร่างหน้าตาแบบไหน”

กัน ณภัทร แคคตัส

สายสปอยล์แคคตัส

“ผมซื้อแคคตัสมาเยอะจนรู้สึกว่าต้นไม้สวยเกินโรงเรือน บวกกับชั้นวางต้นไม้เริ่มเต็ม อยากขยับขยาย จึงลงทุนสร้างโรงเรือนกระจกสีขาวในสวนหน้าบ้าน ลงทุนไป 250,000 บาท เอาไว้ตั้งโชว์โดยเฉพาะ

“ตอนแรกแม่ก็บ่นแหละว่าแพงไปไหม คือบ้านผมจะเป็นสไตล์บ่นไว้ก่อน แต่ตอนหลังแม่ก็แฮ็ปปี้ เพราะได้เลี้ยงต้นไม้ด้วย

“สาเหตุที่ต้องให้แม่ร่วมด้วยช่วยกัน เพราะอย่างที่เล่าว่าผมไม่ได้อยู่บ้านที่สุพรรณบุรีตลอด และช่วงเวลาที่แคคตัสออกดอกจะอยู่ช่วงต้นปี แค่ 1 – 2 วันเท่านั้น และต้องผสมเกสรทันที ผมจึงสอนให้แม่หัดผสมเกสร จนตอนนี้แม่กลายเป็นมือวางอันดับ 1 ของบ้าน ซึ่งผมจะบอกแม่อีกทีว่าต้องผสมตัวไหนกับตัวไหน โดยวางแผนว่าถ้าพ่อแม่สีนี้ผสมกัน ลูกจะออกมาเป็นสีไหน ใช้จินตนาการช่วย ตอนนี้เพาะได้เยอะ ประมาณ 4 – 5 ถาดแล้วครับ แต่ยังอยู่ในช่วงที่รอให้เติบโต ต้องลุ้นไปก่อนว่าหน้าตาเขาจะเป็นยังไง ซึ่งหลักการผสมสีของผมก็คือ ถ้าต้นเขียวทั้งต้นจะจับคู่กับต้นที่มีลายด่าง เพื่อให้ลูกด่าง เพราะจากที่ศึกษามา บางทีถ้าด่างมากมาเจอกัน ลูกไม่ด่างก็มีนะครับ

กัน ณภัทร แคคตัส

“ผมศึกษาข้อมูลการเพาะต้นไม้จากคลิปต่างๆ ในยูทูบ เช่น ผสมเกสรต้องทำยังไง ช่วงแรกก็ยาก ทุลักทุเล เพราะเราต้องกรีดดอกออกมาแบบเบามือ ซึ่งบางทีผมก็พลาดกรีดไปโดนเกสรจนหลุด ผสมไม่ได้ แต่ตอนหลังฝึกจนชิน รู้ว่าจะกรีดน้ำหนักประมาณไหนเพื่อให้ได้เกสรเพศผู้ออกมา จากนั้นค่อยๆ หนีบไปวางไว้บนเกสรเพศเมีย หลังจากผสมเกสรเสร็จ ต้องดูจังหวะการรดน้ำด้วย พี่สาวเคยรดน้ำทันทีหลังผสมเกสร ทำให้ผสมไม่ติด ก็ต้องบอกเขาล่วงหน้าว่าเพิ่งผสมนะ อย่าเพิ่งรด ต้องรอประมาณ 2 วันหลังจากนั้น เพื่อให้ชัวร์ว่าติดแล้วนะ ซึ่งถ้าผสมเกสรติด สังเกตตรงก้านดอกที่เราผสมไว้จะพองขึ้น

กัน ณภัทร แคคตัส
น้อง Copperจากร้านเพชรแต้มสี สวยเหลือเกิน

“นอกจากนี้การรดน้ำในแต่ละฤดูปริมาณก็ไม่เท่ากัน ช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือหน้าฝน ในหมู่คนเลี้ยงแคคตัสจะชอบถามกันว่าผ่านมากี่ฝนแล้ว ถ้าผ่านมาได้หลายฝนแปลว่าเลี้ยงเก่ง เพราะแคคตัสไม่ชอบหน้าฝนสุดๆ เขาชอบหน้าร้อน ต่อให้แดดแรง ไม่มีน้ำ อาจจะฟีบหรือผอมลงบ้าง แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าน้ำเยอะแล้วรากเน่าคือจบเลย นี่ก็เป็นสาเหตุที่ต้องทำโรงเรือนเพื่อกันความชื้นและฝนที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งของผมอยู่มา 2 ฝน ผ่านมา 2 ปีแล้วครับ (ยิ้ม) มีตายจากกัน บ้างเล็กน้อย ถือว่าพอใช้ได้

กัน ณภัทร แคคตัส

“เพราะทุกขั้นตอนการเลี้ยงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมติดกล้องวงจรปิดไว้ในเรือนกระจก หลักๆ คือเอาไว้ดูตอนดอกบาน แล้วบอกแม่ให้ช่วยผสม เกสร อันดับสองคือกันขโมย ที่จริงบ้านผมปลอดภัยนะ แต่เผื่อไว้ก่อน สามคือดูว่ารดน้ำแล้วหรือยัง

“ทุกวันนี้ผมเก็บแคคตัสทั้งหมดไว้ที่สุพรรณบุรี เพราะที่กรุงเทพฯไม่มีโรงเลี้ยง สถานที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ช่วงสถานการณ์โควิด ผมได้กลับมาอยู่ที่สุพรรณบุรียาว จึงมีโอกาสดูแลเองอย่างเต็มที่ ทั้งเปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง มีความสุขมาก” (ยิ้ม)

กัน ณภัทร แคคตัส

รักมาก หวงมาก

“บอกเลยว่าผมรักมากทุกต้น ชนิดที่ไม่ให้ใคร เป็นเพราะยังมีไม่เยอะด้วยละ ตอนนี้มีประมาณกว่าร้อยต้น ถ้ามีเยอะกว่านี้จะเพาะแจกให้แฟนคลับครับ

“ต้นแรกที่ผมชอบมาก ตั้งชื่อให้ว่าเฟอร์รารี่สีแดง เป็นสายพันธุ์ยิมโนลายด่าง สวยมาก ซื้อมาในราคา 90,000 บาท จากร้านเดียวแคคตัส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการเพาะสายพันธุ์ยิมโนลายด่าง ตอนที่ผมเห็นต้นนี้ครั้งแรก โอ้โฮ หลงรักเลย เพราะลายด่างสมมาตร สีสวย และเป็นต้นที่ผมร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนาน มีช่วงหนึ่งที่เขาป่วย อาการแย่ เราก็ใจหาย อย่ารีบไปนะเว้ย ซื้อมาแพงนะ ผมรักษาเขาด้วยการยกต้นขึ้นมาจากกระถางแล้วตัดเล็มออก ใช้พลาสติกเจาะรูครอบลำต้นไว้ เพื่อให้เกิดความชื้นนิดๆ ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ พอกลับมาดูพบว่าผมคงครอบพลาสติกนานเกินไป ทำให้ต้นสีซีด แล้วสีแดงหายไปหมดเลย เหลือแต่สีเขียว ตกใจมาก เป็นความรู้สึกของคนที่รักมาก ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะตกใจกับต้นไม้ได้เยอะขนาดนี้ ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง แต่โชคดีว่าพอรากเขากลับมาแข็งแรง สีแดงก็เริ่มกลับมาครับ และยังอยู่ด้วยกันจนถึงวันนี้ (ยิ้ม)

กัน ณภัทร แคคตัส

“ต่อมาคือต้นคอปเปอร์คริส เป็นแคคตัสไม้คริส ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกิดออกมาผิดรูปผิดร่าง แปลกตาด้วยพูที่แตกออกมาเยอะ ทำให้ราคาแพงมาก อยู่ที่หลักแสน ต้นนี้ผมเจอตอนไปสวนเพชรแต้มสี เจอครั้งแรกคือรักเลย สวยมากครับ เหมือนมังกรอุ้มลูกแก้วไว้ตรงกลาง ด้วยราคาอยู่ที่ 200,000+ ก็คิดว่าคงไม่มีวาสนาได้ครอบครอง เพราะถึงเขาขายก็คงไม่มีปัญญาซื้อ แต่คงเพราะผมไปซื้อแคคตัสที่สวนเพชรแต้มสีหลายครั้ง จนสนิทกับคุณไข่มุกข์เจ้าของร้าน เขารู้ว่าผมชอบต้นนี้มากและคงเมตตา ที่สุดก็ยกให้ผม วันที่ได้เขามาอยู่ในโรงเรือนของผมนะ…โคตรเท่เลย

“อีกต้นคือเลนต้า ซึ่งเป็นต้นแรกที่ผมได้มาจากงานบ้านและสวนอย่างที่เล่าให้ฟัง เป็นต้นที่นำพาต้นอื่นๆ เข้ามาในชีวิต ความที่เขาอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกจึงผูกพัน ทุกวันนี้กลับบ้านไปจะเช็กตลอดว่าป่วยหรือเปล่า ดูดิน ดูรากว่าเขาโอเคดีไหม”

กัน ณภัทร แคคตัส

ว่าที่พ่อค้ามาแล้ว…

“ตอนนี้ผมไม่ได้ซื้อเพิ่มมานาน ทั้งด้วยเศรษฐกิจที่ต้องประหยัด อีกอย่างคืออยากทดลองนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สวยๆ ที่ซื้อไว้มาขยายพันธุ์เองบ้าง ซึ่งหลายต้นมีราคาแพง เมื่อก่อนคิดว่าซื้อมาเก็บไว้เป็นของสะสม ไว้ดู ไว้เลี้ยง แต่วันนี้เมื่อเริ่มมีลูกออกมาเยอะก็อยากลองจำหน่ายเพื่อคืนทุนบ้าง แฟนคลับถามมาเยอะว่าเมื่อไหร่จะขาย ก็บอกว่าให้รอก่อน ขอเพาะให้เยอะกว่านี้อีกหน่อย

“โปรเจ็กต์ตอนนี้คือทำโรงเพาะ เพิ่งจ้างช่างมาทำครับ จะทำเป็นโครงเหล็กไว้ก่อน มีพลาสติกและซาแรนคลุม เป็นสถานที่เอาไว้เพาะพันธุ์โดยเฉพาะ เนื่องจากโรงเพาะสำเร็จรูปที่ซื้อไว้อันแรกใช้พื้นที่เต็มอัตราแล้ว ส่วนโรงเรือนกระจกก็เป็นที่เก็บแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ จึงเกิดโรงเพาะลำดับที่สามขึ้นมา ผมอยากทดลองขายออนไลน์ดูก่อน ถ้าได้รับผลตอบรับดี มีกำไร โปรเจ็กต์ต่อไปคืออยากทำคาเฟ่ข้างๆ โรงเพาะด้วยครับ”

กัน ณภัทร แคคตัส

แคคตัสรักษาใจ

“การเลี้ยงต้นไม้นี่แปลกดีเหมือนกันนะครับ ผมไม่เคยคิดว่าจะรักและดูแลมันได้ถึงขนาดนี้ เวลาเขาป่วยแต่ละครั้งผมก็กระวนกระวายใจแล้ว อยากให้หายเร็วๆ คือผมใจร้อน แต่การดูแลแคคตัสต้องใจเย็นมาก เวลาเขาป่วยไม่ใช่ว่าคุณยกขึ้นมาตัดราก พยาบาล แล้วจะเอาไปปลูกต่อเลย ต้องทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ถ้าเอาไปปลูกทันที แผลที่ถูกตัดอาจมีโอกาสเน่าได้ การเลี้ยงต้นไม้จึงฝึกให้ผมรู้จักรอและใจเย็นขึ้นเยอะ

“อีกอย่างคือในช่วงที่ชีวิตมีปัญหารุมเร้า ผมก็ได้แคคตัสนี่แหละช่วยเยียวยา ต้องขอบคุณเขานะ ช่วงที่เกิดปัญหาผมคิดเสมอว่าไม่เป็นไร กลับม บ้านเรา อยู่กับต้นไม้ อยู่กับลูกๆ ของเรา ซึ่งการที่เราได้ดูแลเขา ช่วยให้ลืมเรื่องทุกข์ใจอื่นๆ ไปได้เยอะเลยครับ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 972

ภาพ : @gunnapat23

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

บุกอาณาจักรต้นไม้มูลค่านับล้าน! ของ “เคน ภูภูมิ” จากนักสะสมสู่พ่อค้าต้นไม้ใจบุญ

เจ้าหญิงแห่งวงการพฤกษา! 10 ลุค หวานละมุนสไตล์ “ญาญ่า” พร้อมชี้เป้าร้านต้นไม้

แอน ทองประสม ช่วยเกษตรกรซื้อกะหล่ำปลี 6,900โล หลังเหลือโลละ 2 บาท

Praew Recommend

keyboard_arrow_up