Life Mission ล้ม-ลุก-เรียนรู้ วิถีผู้กล้าของ ‘ดร.สันติธาร เสถียรไทย’
ดร.สันติธาร เสถียรไทย

Life Mission ล้ม-ลุก-เรียนรู้ วิถีผู้กล้าของ ‘ดร.สันติธาร เสถียรไทย’

Alternative Textaccount_circle
ดร.สันติธาร เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย

“ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน” ประโยคสุดคลาสสิกที่แม้ได้ยินมาตลอด แต่ก็ยังทำให้หลายคนหวั่นใจ เพราะลึกๆ แล้ว มนุษย์ล้วนกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือการออกจากคอมฟอร์ตโซนที่ตัวเองไม่รู้จัก ไม่มั่นใจ

แต่ไม่ใช่กับผู้ชายคนนี้ ‘ต้นสน-ดร. สันติธาร เสถียรไทย’ ประธานนักเศรษฐศาสตร์และกรรมการผู้จัดการ (Group Chief Economist) ของ Sea Limited บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอาเซียน ที่ให้บริการเกม RoV, แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์สอย่าง Shopee และ AirPay ที่ข้ามสายงานมาจากการเป็นผู้บริหารสูงสุดทีมเศรษฐกิจเอเชียดูแล 10 เศรษฐกิจในภูมิภาคของธนาคารเครดิตสวิส แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จู่ๆ นักเศรษฐศาสตร์การเงินจะก้าวเข้ามาทำงานในวงการเทคโนโลยี แต่ดร. ต้นสนยืนยันว่า ไม่ยากเกินพยายาม ขอแค่กล้าที่จะเปลี่ยนและเรียนรู้ เพราะมันเป็นทักษะแห่งการเอาตัวรอดในอนาคต

และนี่คือเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตของ ดร. ต้นสน ลูกชายของดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ ดร.ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ (ลดาวัลย์ ณ อยุธยา) ที่จะทำให้คุณสนุกไปกับการเปลี่ยนแปลงและอาจมองความไม่แน่นอนในแง่มุมที่เปลี่ยนไป

Life Mission ล้ม-ลุก-เรียนรู้ วิถีผู้กล้าของ ‘ดร.สันติธาร เสถียรไทย’

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ชีวิตในวัยเด็กของดร. ต้นสน เป็นอย่างไรคะ

“ผมเกิดที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะคุณพ่อเรียนอยู่ที่นั่นครับ พอ 3 ขวบ จึงย้ายกลับมาเมืองไทย สมัยเด็กผมอยู่กับคุณปู่คุณย่าเยอะ เพราะคุณพ่อคุณแม่งานยุ่ง  ซึ่งการที่เกิดมาใต้เงาของคุณพ่อคุณแม่ที่เก่งมากๆ ก็มีความกดดันจากภายนอกพอสมควรนะครับ แต่โชคดีที่ท่านไม่ค่อยกดดันให้ผมต้องเรียนดี หรือต้องเป็นอะไรมากมาย เพราะท่านเข้าใจว่า ผมคงกดดันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณปู่คุณย่าและคุณพ่อผมให้ความสำคัญมาก คือการกตัญญูและการไม่ลืมตัว ทำให้เราไม่หลงตัวเองเกินไป ส่วนคุณแม่จะเน้นสอนให้ผมอดทน ไม่ยอมแพ้ ปกติคุณแม่จะใจดี แต่ถ้าเมื่อไรที่ผมทำท่าจะเลิกทำอะไรสักอย่าง คุณแม่จะทำเป็นเรื่องใหญ่ ท่านพูดเสมอว่า อย่าเป็นคนใจไม่สู้ อย่างตอนเรียนจบจากอังกฤษแล้วกลับมาบวชอยู่ที่วัดป่าในหนองคาย ซึ่งโหดเหมือนกัน ช่วงแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าจะไหวไหม แต่คุณแม่บอกว่า ต้องไหวนะ ต้องสู้ อย่ายอมแพ้ นี่น่าจะมีส่วนทำให้ผมเป็นนักสู้อยู่พอสมควร”

ชีวิตเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนไหนคะ

“หลังจบ ม. 2 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ผมต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนบางกอกพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนอินเตอร์ กลายเป็นคัลเจอร์ช็อค ทั้งภาษาอังกฤษก็ยังไม่ค่อยได้ เพื่อนฝูงก็ต่าง รวมถึงวัฒนธรรมของโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกันคนละอย่าง อะไรที่เคยเก่งจากโรงเรียนเก่า พอมาที่ใหม่ต้องเริ่มใหม่หมด จึงอยู่ที่โหล่รั้งท้ายทั้งเรื่องเรียนและกีฬา จนอาจารย์ถึงกับขอว่า ผลการเรียนไปให้ถึงเกรด C บ้างได้ไหม แล้วตอนนั้นผมอยากเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ที่ดังด้านเศรษฐศาสตร์มากๆ อาจารย์บอกว่าอย่าหวังเลย ไกลเกินไป เลือกมหาวิทยาลัยที่พอเข้าได้ดีกว่า แต่พอผ่านไปสองปี ผมเริ่มปรับตัวได้ ผลการเรียนออกมาดีขึ้น ปรากฏต้องย้ายโรงเรียนอีก

คราวนี้ย้ายไปไหนคะ

“ไปเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษครับ สมัยนั้นทั้งโรงเรียนมีเด็กเอเชียไม่ถึง 10 คน คราวนี้ยิ่งต้องเปลี่ยนตัวเองหนักเลย (หัวเราะ) ไหนจะสังคมอังกฤษที่ตอนนั้นยังมีการเหยียดผิวนิดๆ บูลลี่หน่อยๆ ผมจึงต้องเล่นกีฬาให้เก่ง เพราะฝรั่งให้ความสำคัญกับกีฬามาก ผมเล่นบาสเก็ตบอลจนได้เป็นรองกัปตันทีม และเรียนเทควันโด้ ส่วนสภาพจิตใจช่วงแรกก็แย่ คิดถึงบ้านและเพื่อนๆ มาก ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น แม้จะเรียนอินเตอร์มาก็ตาม คือหลายอย่างประดังประเดมาก ช่วงแรกการเรียนจึงค่อนข้างแย่ ผมต้องพยายามหนักกว่าคนอื่น จนเริ่มมีเกรด A โผล่มาบ้าง และสุดท้ายก็ได้ A หมดทุกวิชา ช่วงว่างมีเล่นดนตรี กีต้าร์คลาสสิกกับร็อคแก้เหงาแก้เบื่อได้ เพราะโรงเรียนไม่ได้อยู่ในเมือง ก็ต้องหากิจกรรมทำ

ดร. คิดว่าการเปลี่ยนโรงเรียนบ่อย ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ต่างจากเด็กวัยเดียวกันอย่างไรคะ

“ผมคิดว่า ทำให้ผมรู้จักทั้งการเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ คือเราอาจเคยเป็นคนเก่งในสังคมหนึ่ง แต่พอสังคมเปลี่ยน จากคนที่เคยขึ้นชื่อว่าเก่ง อาจกลายเป็นที่โหล่รั้งท้ายในอีกสังคมหนึ่ง แล้วจากผู้แพ้ เราก็สามารถไต่กลับมาเป็นผู้ชนะได้เช่นกันถ้าพยายาม มันทำให้ผมเห็นสัจธรรมเรื่องความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันก็ฝึกให้ใจสู้ หนังหนากับความล้มเหลวและอดทนต่อการดูถูก ซึ่งผมก็ได้มาช่วงเรียนไฮสคูลนี่แหละ คือพอรู้สึกว่าเป็นเอเชียนและคนไทยแค่ไม่กี่คน เราก็ไม่อยากแพ้ให้เสียชื่อประเทศ คือคิดเอาเองน่ะ ถ้าเก่งสู้เขาไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องพากเพียร กัดฟันสู้ทุกทาง ไม่ให้แพ้ใคร เรียนต้องดี กีฬาต้องเด่น ดนตรีต้องเก่ง เพื่อนต้องยอมรับ เราต้องสู้เพื่อปกป้องตัวเอง เอาตัวให้รอด

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

แล้วอะไรที่ทำให้เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ จนถึงกับอยากเรียนต่อด้านนี้คะ

“ตอนที่ผมเรียน ม. ปลายอยู่ที่อังกฤษ เป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมเห็นเหตุการณ์หลายอย่างที่พลิกชีวิตคนไปเลย เช่น พ่อของเพื่อนที่ประสบความสำเร็จอยู่ดีๆ ก็มีหนี้สินล้นตัว บางคนล้มละลาย เดือดร้อนกันไปหมด เพื่อนหลายคนต้องกลับเมืองไทย เพราะที่บ้านส่งเรียนต่อไม่ได้แล้ว ส่วนประเทศไทยเองจากที่คนมองว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย ก็กลายเป็นศูนย์กลางของปัญหา ทำให้ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงอยากลองเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ เผื่อจะเข้าใจและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงเลือกเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยม. ปลาย พอเรียนแล้วชอบจึงตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย LSE เพื่อเรียนสาขานี้ต่อ

การเรียนที่มหาวิทยาลัยระดับโลกด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นอย่างไรคะ

“ผิดหวังนิดหน่อย เพราะเรียนเลขเยอะ ต้องแก้สูตรสมการ เจอตัวอักษรกรีกอะไรไม่รู้เต็มไปหมด คือผมทำได้นะ แต่ไม่ชอบ จึงเรียนจบมาแบบไม่ได้คำตอบเรื่องวิกฤติต้มยำกุ้งที่สงสัยเท่าไร มัวแต่ไปทำเลขซะเยอะ (หัวเราะ) ผมเลือกต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะรู้แล้วว่าไม่รุ่งด้านการเงินและตัวเลข ส่วนเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียนเพื่อดูว่า การเมืองมีผลต่อการขยับนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อจะได้วางนโยบายทางการเมืองให้ได้ตามหลักเศรษฐศาสตร์

“แต่พอกลับมาเมืองไทย ก็มาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่กระทรวงการคลัง อยู่ในหน่วยพิเศษที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำงานคล้ายกับเป็นที่ปรึกษา ทำโปรเจ็คต์ให้กับหลายส่วนของรัฐ ทั้งกระทรวงคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร ฯลฯ ที่ย้อนแย้งคือ ทุกโปรเจ็คท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการเงิน (Finance) หมดเลย ทำให้จากที่ผมคิดว่าตัวเองไม่ถนัดด้านการเงินมาตลอด กลายเป็นสนุกขึ้นมาได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบายการเงินจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากหาคำตอบมาตลอด อย่างเรื่องมาตรการลดความเสี่ยงการเกิดวิกฤติที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในเอเชียไปจนถึงอเมริกา ช่วงนั้นไทยกำลังเจรจาเรื่องการเปิดเสรีการเงินกับ FTA – Free Trade Area (เขตการค้าเสรี) และอเมริกาด้วย ผมก็ต้องเข้าไปดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ทำให้อเมริกาอยากจะมาเปิดกับเรา ผมจึงได้ทำงานหลายอย่างที่ทำให้เข้าใจภาคการเงินมากขึ้น

ทำอยู่นานไหมคะ

“ทำได้สองปีก็ลาออกไปเรียนต่อครับ ความจริงก่อนมาทำงานที่กระทรวงการคลัง ผมสมัครเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้ แต่ไม่ได้ จึงมาทำงานก่อน ระหว่างนั้นก็ลองสมัครเรียนไปหลายที่ มีบางที่ตอบรับมาบ้าง แต่ยังไม่ตรงใจเสียทีเดียว แล้วเป็นจังหวะที่ผมกำลังสนุกกับงานอยู่จึงทำไปก่อน ปรากฏว่าวันหนึ่งฮาร์วาร์ดตอบรับมา แต่เป็นการเรียนปริญญาโท ผมจบจากอังกฤษ คิดว่าเรียนโทอีกใบที่อเมริกาก็ได้เพราะระบบไม่เหมือนกัน ประกอบกับเป็นฮาร์วาร์ดที่อยากเข้ามาแต่แรกและเคยผิดหวังมาแล้ว จึงตัดสินใจไป กับลึกๆ แล้วผมว่า ผมคงอยากไปเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกับที่คุณพ่อเคยจบปริญญาเอก ยังมีรูปที่คุณพ่อใส่ชุดครุยอุ้มผมอยู่เลย (ยิ้ม)

ประสบการณ์การเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างฮาร์วาร์ด เป็นอย่างไรบ้างคะ

“ความจริงก่อนไปเรียน มีคนเตือนผมเยอะว่า การแข่งขันสูงมากนะ ผู้คนก็หยิ่ง อาจารย์ก็ไม่ให้เวลา หลายคนไปเรียนแล้วไม่ชอบเลย ผมจึงเผื่อใจไว้เยอะ แต่พอได้เรียนจริงๆ แล้วกลายเป็นคลิกมาก ผมเรียนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากเรียนจริงๆ คือเน้นโจทย์เรื่องการพัฒนาประเทศเลยว่า เราจะช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร มีนักเรียนมาจากหลายประเทศทั่วโลก ได้เจอเพื่อนดีๆ เยอะเลย จากเดิมที่ผมเคยเรียนกลางๆ สมัยอยู่อังกฤษ แต่พอมาเรียนที่นี่กลายเป็นผมเก่งมากขึ้นมาเลย อาจเพราะมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างแล้ว พอเราแฮปปี้ การเรียนจึงดีไปด้วย

“ผมว่าข้อดีของตอนที่ผมอยู่ฮาร์วาร์ด อย่างแรกเลยคือเพื่อน ผมกล้าพูดว่าผมได้เรียนรู้จากเพื่อนไม่แพ้การเรียนรู้จากอาจารย์ คือที่นั่นเน้นทำงานเป็นกลุ่ม แล้วเพื่อนๆ ในกลุ่มที่ผมอยู่ หลายคนเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก มีผมคนเดียวที่เป็นที่ปรึกษาในภาครัฐ ผมจึงมีมุมมองไม่เหมือนคนอื่น เราจึงสนุกที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน แล้วเพื่อนก็สอนผมเยอะ ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการใช้โปรแกรม Excel อย่างไรให้ดี ไปจนถึงเรื่องแนวความคิดและการใช้ชีวิต เพื่อนคนหนึ่งเรียนโทมาด้วยกัน แล้วยังมาต่อปริญญาเอกด้วยกัน เขาคอยแนะนำตลอดว่าควรทำวิทยานิพนธ์หัวข้ออะไร ไปจนถึงเวลาทำงานว่าถ้ามีปัญหากับเจ้านายควรทำอย่างไร เรียกว่าช่วยชีวิตผมเหมือนพี่น้องเลย ปัจจุบันเขาเป็นรัฐมนตรีคลังของประเทศจอร์แดน

“อย่างที่สองคือ แม้เพื่อนจะดี การแข่งขันที่ฮาร์วาร์ดก็สูงจริง แต่ก็ทำให้ผมรู้ว่า คนเราสามารถร่วมมือกันและแข่งกันไปด้วยได้ การแข่งกันไม่ได้แปลว่า ต้องเกลียดกัน เราช่วยเหลือกันได้ แต่ต้องหาจุดแตกต่างของตัวเองให้เจอด้วย

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

คิดว่าอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ ดร. ได้เข้าเรียนต่อปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดคะ

“ผมว่าจุดแข็งของผมคือ mindset แบบผู้ท้าชิง ซึ่งผมได้มาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนโรงเรียนบ่อยๆ ในวัยเด็ก ทำให้ไม่ค่อยกลัวความล้มเหลว กล้าลอง กล้าเสี่ยง แล้วผมก็เชื่อในคำพูดที่ว่า Luck is when opportunities meet preparation คือความโชคดี เกิดขึ้นเมื่อโอกาสมาเจอกับการเตรียมพร้อม แปลว่า เราต้องเตรียมพร้อมเสมอ ช่วงตอนเรียนปริญญาโท ผมทำงานพิเศษเป็นผู้ช่วยในการวิจัยของอาจารย์หลายๆ ท่านไปด้วย เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากอาจารย์แต่ละท่าน

“ครั้งสำคัญที่สุดคือ ผมมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล ผู้เขียนตำราเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียน และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คอยช่วยประเทศกำลังพัฒนาด้วย ตอนแรกผมตื่นเต้นมากที่ได้เป็นผู้ช่วยท่าน แต่พอได้ทำงานจริง กลายเป็นว่าท่านยุ่งมากจนไม่ได้เจอกันเลย โดยท่านมอบหมายงานชิ้นหนึ่งไว้ให้ เล่าคร่าวๆ ว่า เป็นการใช้วิธีทางเศรษฐมิติแล้วนำมาทดสอบทฤษฎีนโยบายทางการเงินของท่านชุดหนึ่งกับข้อมูลจริง ซึ่งระหว่างทำงานชิ้นนั้น ผมเกิดคำถามมากมายว่า เรามาถูกทางหรือเปล่า จะปรึกษาท่านก็ไม่ได้เพราะท่านยุ่งมาก

“เพื่อนๆ บอกว่า ทำเท่าที่อาจารย์สั่งมาก็พอแล้ว ถ้าไปทำอะไรเพิ่มโดยอาจารย์ไม่ได้สั่ง จะกลายเป็นนอกลู่นอกทาง รอพบอาจารย์แล้วค่อยทำเพิ่มก็ได้ แต่ผมคิดแล้วไม่สบายใจ พอทำงานที่อาจารย์สั่งไว้เสร็จ จึงตั้งอีกโปรเจ็ทค์ขึ้นมาเอง เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลนอกเหนือจากที่อาจารย์มอบหมาย ต้องศึกษาหาข้อมูลหนักมาก เพราะหลายเรื่องผมไม่คุ้นเคย ลองผิดลองถูกเอาเอง ไม่ก็ไปขอความรู้จากอาจารย์ดังๆ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายท่าน ผมทำไปโดยไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่อยากลองทำดูก่อน

ผลเป็นอย่างไรคะ 

“พอใกล้ถึงวันเดตไลน์ที่ต้องจบการทำงาน บังเอิญอาจารย์สติกลิทซ์ว่างจึงนัดผมไปพบที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ผมเครียดมากจนนอนไม่หลับทั้งคืน รีบมาที่ร้านแต่เช้า ยังหยิบเกลือใส่กาแฟแทนน้ำตาล (หัวเราะ) เลยต้องพรีเซนต์งานให้อาจารย์ฟังโดยไม่ได้ดื่มกาแฟ ซึ่งผลก็คือ งานที่สั่งให้ผมทำไว้ไม่ได้ออกมาดีอย่างที่คิด ท่านฟังแล้วก็เฉยๆ ตอนนั้นผมรู้สึกเลยว่า หมดแล้วชีวิต อุตส่าห์ทำแทบตาย กระทั่งอาจารย์ถามกลับมาว่า “มีอะไรอีกไหมที่ไปลองทำมา”

“ผมจึงหยิบแฟ้มอีกโปรเจ็คท์ที่ลองทำไว้ขึ้นมาเปิด ปรากฏว่าท่านชอบมาก บอกว่าที่ยูคิดมาดีกว่าที่สั่งไว้อีก และนั่นทำให้สิ่งที่อยู่ในแฟ้มนั้นกลายมาเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผม ในหัวข้อการเปิดเสรีทางการเงินจะช่วยให้ระบบธนาคารเรามั่นคงขึ้น หรือเปราะบางลง และวิทยานิพนธ์ชิ้นนั้นก็ได้รับรางวัลชนะเลิศวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมของคณะที่ผมเรียนในฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) แล้วผมก็ใช้หัวข้อวิทยานิพนธ์นี้ในการสมัครปริญญาเอกต่อเลย กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เรียนปริญญาเอกที่ Kennedy School ของฮาร์วาร์ดพร้อมกับได้ทุนเต็มอีก 2 ทุน จากมหาวิทยาลัย เรียกว่างานชิ้นเดียวได้ใช้ยาวเลย ตั้งแต่ปริญญาโทไปจนถึงปริญญาเอก คุ้มมาก (ยิ้ม)

“สุดท้ายผมก็คว้าปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจมาได้ จำได้ว่าวันรับปริญญา คุณพ่อใส่ครุยที่เคยได้รับปริญญาเอกเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว มาถ่ายรูปคู่กับผมที่ใส่ชุดครุยของฮาร์วาร์ดเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจมากมาจนถึงทุกวันนี้เลยครับ (ยิ้ม) เรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักว่า แม้หลายครั้งสิ่งที่เราพยายามทำไปจะดูเหมือนเหนื่อยเปล่าและใช้เวลายาวนาน แต่ในวันที่โอกาสมาถึง สิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทักษะ ความพยายาม ความอดทน การไม่ยอมแพ้ ทุกอย่างจะมารวมกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันที่โอกาสเข้ามา เราพร้อมหรือเปล่า ถ้าเราพร้อม ความโชคดีก็จะเกิดขึ้น

เส้นทางการทำงานหลังเรียนจบปริญญาเอกจากรั้วฮาร์วาร์ดสดใสไหมคะ  

“ในกรณีผมคือตรงกันข้ามเลยครับ ผมคิดว่าบางครั้งพอเราเริ่มสมหวังหลายเรื่องติดๆ กัน ไม่เจอความล้มเหลว เราจะเริ่มยึดติดอยู่กับชัยชนะ และ comfort zone ของตัวเอง ตอนสมัครงานก็ไม่ตั้งใจ 100% สมัครไปหลายที่ แต่ไม่มีที่ไหนเรียกไปสัมภาษณ์เลย ส่วนหนึ่งเพราะผมไม่ได้สมัครทำงานที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างที่คนจบปริญญาเอกส่วนใหญ่ชอบทำกัน แต่ผมเลือกงานภาคการเงินของเอกชน แบงค์ต่างชาติ ที่เขาไม่ได้ให้น้ำหนักกับปริญญาเอกที่จบมามากนัก

“การถูกปฏิเสธ จึงเหมือนการปลุกให้ผมตื่นขึ้นมารับรู้ความจริงว่า ไม่ใช่ว่าจบจากฮาร์วาร์ดแล้วทุกอย่างจะสวยงามอย่างที่ใครพูดกัน พอตั้งสติได้ ผมก็รีบกลับไปเป็นผู้ท้าชิงคนเก่า คราวนี้ผมตั้งเป้าเลยว่า ผมจะสมัครไปทุกที่ที่ผมสนใจโดยไม่แคร์ว่าจะโดนปฏิเสธ จำได้ว่าสมัครไป 30 กว่าที่ ถูกปฏิเสธอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ผมไม่สนใจ ก้มหน้าก้มตาสมัครไป ทำให้การถูกปฏิเสธเป็นเรื่องธรรมดา ทำไปจนหน้าด้านหน้าชา ไม่เขิน ไม่อาย ไม่เสียเซลฟ์อะไรทั้งนั้น

“กระทั่งธนาคารเครดิตสวิส ที่สิงคโปร์ เรียกผมไปสัมภาษณ์ แล้วก็หายไป ซึ่งแปลว่าไม่ได้งาน แต่ด้วยความที่ตอนนั้นอยู่ในโหมดหน้าด้านเต็มที่ (หัวเราะ) ผมจึงเขียนอีเมลไปหาคนที่สัมภาษณ์ผมว่า ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ แต่ช่วยตอบหน่อยว่าผลเป็นอย่างไร กลายเป็นเขาตอบกลับมาว่า ยูผ่านเข้าสัมภาษณ์รอบต่อไปนะ แต่เขาย้ายไปทำงานที่อื่นแล้ว เหมือนมีความผิดพลาดในการส่งต่อเรื่องของผมให้คนที่ทำต่อ เขาจึงช่วยประสานต่อให้จนมีการเรียกให้ผมไปสัมภาษณ์อีก 4 ครั้ง ในที่สุดก็ได้งานที่ธนาคารเครดิตสวิส

ทำงานที่ธนาคารเครดิตสวิส มีความท้าทายอะไรรออยู่บ้างคะ

“ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับจูเนียร์ ดูแลเศรษฐกิจไทยกับเวียดนาม จากนั้นผมก็ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็น Chief Economist ผู้บริหารทีมที่ดูทั้งอาเซียน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวันและฮ่องกง ช่วงแรกของการทำงานที่นี่ ความท้าทายอยู่ที่เป็นการเปลี่ยนสายอาชีพของผม จากเดิมที่เคยทำงานภาครัฐ พอย้ายมาทำการเงินภาคเอกชนซึ่งต้องใช้ความเร็ว ประกอบกับภาคการเงินระหว่างประเทศจากแตกต่างจากไทยตรงที่มีการแข่งขันแก่งแย่งกันสูง เรียกว่าโหดพอสมควร ต้องปรับตัวเยอะ แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะเหมือนกัน

“อย่างช่วงแรก ผมมีปัญหาเรื่องการนำเสนอ อาจเพราะผมติดอยู่กับวิชาการและตำรามากไป ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรให้คนฟังเรา ต้องขายไอเดียให้ได้ ทำอย่างไรจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็ค่อยๆ ปรับไปจนดีขึ้น ถัดมาคือ การวิเคราะห์และทำนายเศรษฐกิจและตลาดการเงินว่าจะไปทิศทางไหน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กับการพยากรณ์คือความผิดพลาด ผมเองก็เคยพลาด คือในวงการจะล้อกันว่า นักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ทำให้นักพยากรณ์อากาศดูดีไปเลย (หัวเราะ) เพราะเราผิดกันเป็นประจำ ขนาดตัวเลข GDP ในอดีตยังผิดเลย จะเอาอะไรกับการพยากรณ์อนาคต แต่ผิดแล้วทำอย่างไรให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้ ก็คือต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่ผิด อย่าดื้อ ต้องรับฟังคนอื่นแล้วเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนให้เร็ว จะได้ข้ามมาฝั่งที่ถูกได้เร็วขึ้น

“แล้วด้วยความที่ หน้าที่ผมในการทำงานตลอดเกือบ 10 ปีคือการมองเทรนด์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร อะไรจะมา อะไรจะไป จะเก็บข้อมูลแบบไหน ทำให้ผมรู้จักมองต่าง หลายครั้งที่ผมมองเป็นคนละโลกกับคนอื่นเลย อย่างครั้งหนึ่งผมแข่งกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับท็อปของอินโดนีเซีย ในการทำนายเศรษฐกิจของประเทศเขา ซึ่งความจริง ผมไม่มีทางรู้จักเศรษฐกิจของอินโดนีเซียดีไปกว่าคนประเทศเขาหรอก แต่เพราะมองจากภายนอก ทำให้ผมมีความเห็นแตกต่างและเป็นสิ่งที่เขาคาดไม่ถึง ประกอบกับผมมองอย่างไม่มีอคติ กลายเป็นว่าผมทายตลาดถูกอยู่คนเดียว จนกลายเป็นเอเชียคนเดียวที่ได้รางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมของโลกของ Consensus Economics ติดกัน 3 ปีซ้อน

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ตอนนั้น ดร. ทำนายเรื่องอะไรคะ

“ช่วงนั้น โจโค วิโดโด เพิ่งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ผมฟันธงว่า เมื่อเขามาปุ๊บ เขาจะขึ้นราคาน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย แต่ทุกคนบอกเป็นไปไม่ได้ ที่ประธานาธิบดีที่เพิ่งเข้ามาได้เดือนสองเดือนแรกจะขึ้นราคาน้ำมันให้โดนด่า ประชาชนจะต้องโกรธมาก แต่ผมมองว่านั่นเป็นจังหวะทองเลย ที่เขาจะทำอะไรแบบนี้ได้ แล้วสุดท้ายเขาก็ขึ้นราคาน้ำมันจริงๆ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งหมด รวมทั้ง GDP และเงินเฟ้อด้วย คือรางวัลนี้จะมอบให้กับคนที่ทาย GDP กับเงินเฟ้อถูกต้องมากที่สุดตลอดปี ซึ่งผมทายถูกอยู่คนเดียว

งานที่เครดิตสวิสไปได้ดี แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ดร. ย้ายสายงานมาสู่ภาคเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบันคะ

“มีหลายเหตุผลครับ จริงๆ ที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมองเทรนด์อนาคตที่ผมทำมาตลอด ในฐานะนักวิเคราะห์ ผมเห็นแล้วว่าเทรนด์ที่มาแรงแน่ๆ คือดิจิทัล อย่างในอเมริกาก็มีบริษัทเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย ฝั่งจีนก็เริ่มมี Alibaba กับ Tencent แล้ว ผมมองว่าอีกไม่นานเทรนด์นี้จะต้องมาแรงในอาเซียนแน่นอน เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก นักลงทุนทุกคนรู้ดี เราคุยกันมานานแล้ว ผมจึงหาทางทำความรู้จักกับเทรนด์ดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ให้มากขึ้น โดยการคุยกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ของอาเซียน รวมถึง Sea ด้วย บังเอิญคุยกันถูกคอ ผมจึงแกล้งถามเขาว่า มีตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ไหม เขาบอกว่าไม่มี แต่ถ้ายูสนใจ ทำไมไม่ลองเขียน Job Description ว่ามีหน้าที่อะไร ทำอะไรบ้าง ผมใช้เวลาอยู่ 2-3 สัปดาห์ในการเขียนรายละเอียดของตำแหน่งนี้ขึ้นมา ปรากฏเขาสนใจจึงให้ไปสัมภาษณ์ จนได้งานเป็น Group Chief Economist บริษัท Sea Limited ตำแหน่งที่ผมสร้างขึ้นมาเอง

การกระโดดจากภาคการเงิน ไปสู่ภาคเทคโนโลยีที่ทั้งใหม่และไม่คุ้นเคยนั้น ดร. ต้องถามและตอบอะไรตัวเองบ้าง จึงมั่นใจว่าตัดสินใจถูก

“ตอบตามตรงว่า ช่วงแรกผมก็ลังเล ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดเลย เพราะตอนนั้นงานเก่าก็กำลังไปได้ดี แถมสามปีที่แล้ว ภาคเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอาเซียนก็ยังไม่โดดเด่นเท่าตอนนี้ หลายคนไม่เข้าใจว่า ผมจะย้ายจากภาคการเงิน ที่ได้ออก CNN, CNBC และ Bloomberg อยู่เป็นประจำ ไปทำบริษัทเกมทำไม คือยุคนั้น Sea ยังผลิตแค่เกม (ชื่อเดิมคือบริษัทการีน่า) ขนาดคุณปู่ผมที่ทำงานภาคการธนาคารมาก่อนก็ยังถาม คือท่านงงสุดๆ (หัวเราะ)

“แต่คำถามที่ทำให้ผมได้คำตอบในการตัดสินใจครั้งนั้น มาจากการดู Ted Talk มีใครคนหนึ่งพูดว่า เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต อย่าคิดว่า ถูก หรือผิด แต่ต้องตอบให้ได้ว่า “คุณอยากเป็นคนแบบไหน” บังเอิญช่วงนั้น ผมเขียนหนังสือเรื่อง ‘Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต’ เป็นหนังสือที่ผมในฐานะพ่อเขียนถึงลูกในอนาคตว่า โลกภายหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้ปรับตัวได้ในโลกอนาคต สิ่งหนึ่งที่ผมเขียนในหนังสือคือ คนเราต้องกล้าเปลี่ยนแปลงจึงจะอยู่รอดได้ ผมจึงตั้งคำถามว่า หากผมต้องเขียนเรื่องราวชีวิตตัวเอง ผมอยากเป็นคนแบบไหน คำตอบคือ ผมอยากบอกลูกว่า ผมได้เดินตามสิ่งที่ผมเขียน คือคนเราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าท้าทายความสามารถตัวเองและทำในสิ่งที่เรากระหาย สงสัยและพัฒนาตัวเอง และหากมองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ผมผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว แค่ว่าครั้งก่อนๆ ยังไม่เท่าหนนี้ แต่ด้วยวัยสามสิบกว่า ผมยังพอลองและเสี่ยงได้ จึงอยากกล้าในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและลองดู ซึ่งพอได้เข้ามาทำจริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลยครับ”

ความยากในการทำงานสายเทคโนโลยีคืออะไรคะ

“ที่ผมต้องปรับมากที่สุดคือเรื่ององค์ความรู้ เพราะพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินที่ผมมีนั้นแทบไม่ได้ใช้เลย แต่ต้องมาเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากๆ ซึ่งยอมรับว่าก่อนนี้ ผมไม่ใช่สายเทคโนโลยี แต่ผมมองว่าความรู้นั้นหาเพิ่มเติมได้ ก่อนเข้ามาผมก็ทำการบ้านเต็มที่ และคอยเรียนรู้อยู่ตลอด แต่สิ่งที่ยากกว่าการหาความรู้ คือระบบการทำงานและการบริหารที่แตกต่าง ขนาดผมทำงานภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงเร็วแล้ว พอมาเจอความเร็วในภาคเทคโนโลยี มันเร็วสุดๆ จริงๆ ทั้งระบบ ทั้งการเติบโต อย่างก่อนเข้ามา ผมคาดการณ์ไว้แล้วว่าธุรกิจดิจิทัลในอาเซียนจะเติบโต แต่ที่คิดไปไม่ถึงคือ มันโตเร็วกว่าที่คิดไว้เยอะ ผมไม่คิดว่า Sea จะขยายตัวได้ก้าวกระโดดภายในเวลาแค่ 2-3 ปี จากวันแรกที่ผมมา Sea มีแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับไต้หวัน แต่วันนี้กลายเป็นระดับโลกไปแล้ว ขยายตัวไปในทั้งละตินอเมริกา อินเดีย และอีกหลายที่ ช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ผมจึงเหนื่อยมาก ทำงานจนล้าไปเลย

“อีกเรื่องที่ยากหน่อยคือ ตำแหน่งของผม ไม่เคยมีมาก่อนในบริษัท จะหาตัวอย่างก็ไม่มีอีก ความที่เป็นตำแหน่งที่ผมเขียนขึ้นมาเอง  ผมจึงต้องกำหนดกรอบเองว่า เราจะทำอะไร มีประโยชน์อะไรกับบริษัท จะเลือกคนแบบไหนมาทำงานด้วย จะขยายตัวอย่างไร ทำงานไปก็เก็บไปคิดตลอดเวลาว่า เราทำได้มากกว่านี้ไหม”

ถ้าต้องอธิบายกรอบการทำงานของ Group Chief Economist ล่ะคะ

“เป็นงานผู้บริหารจึงมีความหลากหลาย เวลาทำงานจะเป็นโปรเจ็ทค์เบส คือ ขึ้นอยู่กับว่ามีโปรเจ็คท์อะไรที่ต้องการให้ผมเข้าไปช่วยบ้าง บทบาทหลักๆ คือ หนึ่ง ทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้คนเข้าใจวงการเศรษฐกิจดิจิทัล สตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะวงการนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่คนยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร  สองคือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคนโยบายเข้าด้วยกัน เพราะทุกคนสำคัญหมด วิชาการก็สำคัญเพราะสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้ เอกชนเป็นคนลงมือทำและผลักดันวงการให้เกิดขึ้น ภาคนโยบายเป็นคนวางกรอบและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ตัวอย่างงานที่ผมทำก็เช่น งานวิจัยแบบซีรีส์ที่ทำร่วมกับ World Economic Forum ซึ่งเป็นเจ้าในเรื่องอนาคตของอาชีพ ทักษะ 4.0 ว่าต้องมีอะไรบ้าง อาชีพอะไรจะหายไป อะไรที่ยังอยู่ โดยผมจะนำโจทย์เหล่านี้มาดูในอาเซียน รวมถึงเมืองไทยด้วย แล้วทำเป็นรายงานออกมาว่า คนไทยยังขาดทักษะด้านไหน เด่นด้านใดอยากทำอาชีพอะไร อนาคตของการเรียนรู้ควรเป็นอย่างไร แล้วปรับเรื่องเหล่านี้ให้เข้ากับของอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะของคน พัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีดิติทัลให้มากที่สุดและให้คนเตรียมพร้อมกับโลกที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมากที่สุด

“ซึ่งสิ่งที่ผมทำนั้นอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไรของบริษัทในระยะสั้น แต่ผมเชื่อว่า หากเราทำให้ธุรกิจดิจิทัลขยายตัวได้ สุดท้ายก็จะกลับไปสู่ผลกำไรของบริษัท ความที่ Sea เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดิจิทัลในอาเชียน คู่แข่งของเราจึงไม่ใช่บริษัทอื่น แต่เป็นปัญหาที่ว่า ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ใช้ดิจิทัลไม่เป็น ขาดความเข้าใจ คนที่เก่งด้านนี้ไม่มากพอทำ AI หรือ big data ได้ กฎกติกาต่างๆ ยังไม่เอื้อกับการเติบโต ดังนั้น ถ้าเราแก้ปัญหาพวกนี้ให้อุตสาหกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมได้ ก็แปลว่าเราสามารถสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้น ก็จะทำให้บริษัทเติบโตไปกับอุตสาหกรรมไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผมทำจึงเกี่ยวกับการเติบโตของบริษัทในระยะยาว

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ในภาพรวม เมืองไทยอยู่ตรงไหนของเศรษฐกิจดิจิทัลคะ

“ถ้าพูดเรื่องนี้ น่าจะต้องทำอีกคอลัมน์หนึ่งนะครับ (หัวเราะ) ประเทศเรามีทั้งจุดดีและจุดด้อย จุดดีคือเศรษฐกิจดิจิทัลของเราอย่าง อีคอมเมิร์ส ฟินเทค ธุรกิจจัดส่งดิลิเวอรี่ โลจิสติกส์ ฯลฯ โตเร็วมาก และยังมีแนวโน้มโตได้อีกมหาศาล โดยหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เรามีรายได้ต่อหัวสูงระดับหนึ่ง คือไม่สูงเท่าสิงคโปร์ แต่สูงกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดังนั้นเราจึงมีกำลังซื้อดีกว่า โครงสร้างพื้นฐานเราก็ดีกว่าเพราะประเทศเราเป็นที่ราบต่อกันไป ขณะที่อินโดฯ และฟิลิปปินส์มีเกาะเป็นหมื่นๆ สัญญาณอินเตอร์เน็ตเราก็ดีกว่า ขนาดของประเทศและประชากรของเราก็ไม่แย่ คือใหญ่กว่ามาเลย์และสิงคโปร์ นี่คือพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเราโตได้ดี

“ในทางกลับกัน ความที่เราดีกลางๆ จึงกลายเป็นข้อเสียที่ทำให้เราดีไม่สุด หลายคนมีคำถามว่า ว่าในขณะที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่ามากกว่าพันล้านเหรียญ) กันหมดแล้ว ทำไมไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่มี ผมว่ายังไม่มีใครรู้คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอิงจากข้อมูลที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดคือ เพราะไทยอยู่ตรงกลางนี่แหละ

“ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย มียูนิคอร์นหลายตัวเพราะประเทศใหญ่มาก มีประชากรกว่า 200 ล้านคน เวลาที่คิดจะทำแอ็พลิเคชั่นอะไร เขาต้องทำให้ตอบโจทย์ตลาดขนาดใหญ่ มูลค่าที่ออกมาจึงเป็นยูนิคอร์นได้ไม่ยาก หันมาดูสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสุดซอยอีกด้าน คือประเทศเล็กมาก ถ้าทำในตลาดสิงคโปร์อย่างเดียวคงไปไม่รอด สตาร์ทอัพของเขาจึงต้องทำอย่างน้อยในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกไปเลย โดยเขาไม่สนใจว่าสตาร์ทอัพในสิงคโปร์จะเป็นสัญชาติอะไร  ไม่ต้องเป็นคนสิงคโปร์ก็ได้ คือเขาตั้งใจเป็นผืนดินที่ดีที่สุด แล้วดึงต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ให้มาปลูกในพื้นที่ โดยสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีที่สุดเพื่อให้ต้นไม้นั้นงอกงาม พอต่างชาติมาตั้งสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ไม่นานสตาร์ทอัพเหล่านั้นก็กลายเป็นบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ บริษัทพวกนี้ก็จะจ้างคนสิงคโปร์เก่งๆ ให้ไปทำงานด้วย คนเหล่านั้นจึงได้เรียนรู้อะไรมากมาย สุดท้ายคนสิงคโปร์กลุ่มนี้ก็ออกไปทำสตาร์ทอัพของตัวเองต่อ กลายเป็นสตาร์ทอัพรุ่น 2-3-4 ต่อไป นี่คือโมเดลของสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จมากในการสร้างเทคฯ โดยใช้เวลาแค่ 5 ปี

“หันกลับมาดูสตาร์ทอัพของไทยที่อยู่ตรงกลาง ตลาดเราไม่ได้เล็กจนถูกบีบให้คิดเหมือนสิงคโปร์ เราจึงคิดว่า 60 กว่าล้านคนก็พออยู่ได้แล้ว ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดอินโดนีเซีย ชนิดทำทีเดียวก็ใหญ่เลย เราจึงไปไม่ถึงระดับโกลบอล หลายครั้งที่มีนักลงทุนมาบ่นให้ผมฟังว่า สตาร์ทอัพคนไทยเก่งมากเลย แต่ไม่ยอมออกไปนอกประเทศ คิดว่าจะขยายในประเทศให้ดีก่อนแล้วค่อยคิดถึงต่างประเทศ แต่นักลงทุนบอกว่า ไม่ได้ ยูต้องคิดถึงต่างประเทศตั้งแต่วันแรก ต้องให้ขนาดตลาดใหญ่พอ อย่างน้อยต้องในอาเซียน เพราะฉะนั้นเราขาด global mindset ของสิงคโปร์ และไม่ได้มีตลาดใหญ่กว่าอินโดฯ จึงยังอยู่ตรงกลาง ไม่แย่ แต่ยังไปไม่ถึงจุดที่ดี ผมก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะไปถึง

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลก 3 ปีซ้อน ดร. มองว่า ธีมใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตคืออะไรคะ

“คงเป็นธีม 5D ที่ผมขอย้ำว่าสำคัญมาก D แรก คือ Dept หรือหนี้ทั่วโลกซึ่งสูงขึ้นมากหลังโควิด และจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมหาศาล ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วและในเอเชียมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต้องแก้ต่อไปอีก, D ที่สองคือ Divided หรือความเหลื่อมล้ำ ต้องบอกว่าวิกฤติโควิดต่างจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ผ่านๆ มาตรงที่ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนที่เปราะบาง สายป่านสั้น อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่หาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม คนขับแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์ กลุ่มที่เป็นคนหมู่มากของประเทศจะโดนหนัก คนจะจมหนี้ ไม่มีรายได้ การท่องเที่ยวก็ตก SME เปราะบางมีปัญหา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม

D ที่สามคือ Divergence หมายถึงขั้วเศรษฐกิจตะวันตกกับตะวันออกจะฉีกออกจากกัน เราอยู่ในยุคที่อำนาจเศรษฐกิจทางตะวันตกเสื่อมลง แต่เศรษฐกิจฝั่งเอเชียกำลังผงาด ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย รวมถึงอาเซียนที่มาแรงมาก สิ่งนี้จะเปลี่ยนทั้งโลกเลย ต่อไปเราจะไม่ส่งลูกไปเรียนอเมริกาแล้ว แต่จะส่งไปเรียนในเอเชียแทน ผู้คนจะอยากมาทำงานในเอเชีย, D ที่สี่คือ Digitalization คนจะใช้ดิจิทัลมากขึ้น เพราะโควิดผลักให้คนใช้ และจะแรงมากขึ้นอีกหลังโควิด ดิจิทัลจะอยู่กับเราไปตลอด แล้วเปลี่ยนการทำธุรกิจ การเรียนและทุกอย่างไปเลย อีกหน่อยออนไลน์จะอยู่ในทุกส่วนของชีวิตคน, D สุดท้ายคือ Degradation การเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม โลกและธุรกิจใหม่ๆ กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในอนาคตจะมี Green Economy มากขึ้น ธีมเหล่านี้คืออนาคตที่โยงกันอยู่และจะอยู่กับเราไปอีกนานครับ

แล้วทักษะสำคัญที่ต้องมีเพื่อปรับตัวให้รอดในโลกอนาคตคืออะไรบ้างคะ

“ต้องยอมรับว่าอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง อาชีพอะไรที่คิดว่าจะฮ็อตแน่ๆ อีก 5 ปี ข้างหน้า อาจจะไม่ฮ็อตแล้วก็ได้ ดังนั้นผมแนะนำว่าอย่าโฟกัสที่อาชีพ หรืออุตสาหกรรม เพราะเก็งยาก ที่พอเก็งได้คือทักษะ 4 กลุ่มที่ควรมีในอนาคต กลุ่มแรกคือ ทักษะดิจิทัล เพราะกระแสมาแรงมาก เราจำเป็นต้องใช้ดิจิทัลให้เป็น ไม่ว่าจะขายของ e-commerce, การเงินออนไลน์, การสอน หรือเรียนออนไลน์ เหล่านี้คือทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้อยู่รอด ยิ่งถ้าทำพวก Big Data, AI หรือโค้ดดิ้ง (การเขียนโค้ดสั่งงานคอมพิวเตอร์) ได้ จะเป็นที่ต้องการมาก ค่าตัวสูง คนแย่งกันเยอะ

“สองคือ ทักษะความเป็นมนุษย์ที่เทคโนโลยีมาแทนที่ได้ยาก เช่น ความเข้าอกเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ นวัตกรรม หรือ soft skill ที่ปัญญาประดิษฐ์คิดแทนเราไม่ได้ง่ายๆ สาม คือ growth mindset หมายถึง การที่เราล้มแล้วลุกและเรียนรู้ต่อไปเพื่อทำให้ดีขึ้นได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากในอนาคต เพราะไม่ว่าเราจะเจอความผิดหวัง ผิดพลาดหรือล้มเหลวในรูปแบบไหน จะต้องเปลี่ยนสายงานหรือได้ที่โหล่จากการทำอะไร เราจะไม่เป็นไร แต่พร้อมจะทำใหม่ให้ดีกว่าเดิมต่อไป

“สุดท้ายคือ ความเป็นผู้นำ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าจะเราจะมีทัศนคติที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะทางดิจิทัลแค่ไหน สังคมไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียว อย่างที่ผมเล่าว่า ผมเก่งเพราะมีเพื่อนอยู่ด้วย เพื่อนผมสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เราคุยกันได้ เสริมกันได้ ความเป็นผู้นำคือสามารถดึงคนทั้งกลุ่มให้เก่งไปด้วยกัน ซึ่งดีกว่าเก่งคนเดียว ทักษะนี้จึงสำคัญมากในการทำงานเป็นทีมและนำพาสังคมให้รอดไปด้วยกัน

ถ้าในแง่การทำงาน คุณสมบัติอะไรที่ ดร. ต้นสนมองหาในผู้ร่วมงานคะ

“คนที่มีครบทั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนฮวงจุ้ยครับ (หัวเราะ) คำอธิบายคือ ลม เหมือนความรู้ที่อยู่รอบตัวเรา ผมชอบคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น กระหายที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ส่วน ไฟ หมายถึง มีไฟในการทำงาน คอยหาไอเดียและหางานมาเสนอได้โดยไม่ต้องรอให้สั่ง สามคือ น้ำ หรือความสามารถในการปรับตัวเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตัวผมเองก็เป็นแบบนั้น แป๊บๆ เดี๋ยวผมก็เปลี่ยนใหม่แล้ว ดังนั้นคนที่จะมาทำงานกับผมต้องเปลี่ยนและปรับตัวได้เร็ว สุดท้าย ดิน หมายถึงติดดิน ซึ่งเป็น core value ของบริษัท และผมเองก็เป็น คือต้องรู้จักถ่อมตัว ติดดิน ไม่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ทำให้เราเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เมื่อถึงเวลาผิดพลาดก็จะรู้ตัวเร็วมาก

เวลาทำงาน ดร. เป็นผู้นำแบบไหนคะ

“ผมทำงานเร็ว และชอบทำงานแบบทีมเวิร์ค อย่างที่บอกว่า ถ้ามีทีมดี เคารพกันและพูดกันตรงๆ ได้ งานจะไปได้ดีมาก และการทำงานแบบทีมจะมีประสิทธิภาพกว่าการทำงานคนเดียว ผมจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างทีมค่อนข้างมาก ซึ่งยากเหมือนกันนะ กว่าจะดึงความสามารถของแต่ละคนออกมาได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร

“โดยผมจะบริหารทีมแบบสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย”ให้คนในทีม คือ ลูกน้องสามารถแย้งและสอนผมได้ตลอด ผมเปิดรับหมด ทุกคนสามารถเสนอความคิดได้ บางทีก็คุยกันเรื่อง ทิศทางของทีม เพราะผมอยากให้ทุกคนในทีมเติบโตไปด้วยกันจึงอยากให้เขามีส่วนร่วม ผมชอบให้มีความคิดเห็นแตกต่างกันในทีม บางครั้งเถียงกันจนไม่ยอมลงให้กันก็มี แต่ถ้าตัดสินใจแล้วผมก็จะทำงานเร็วเลย แต่ยืดหยุ่น ถ้างานเสร็จคือจบ จะอยู่ออฟฟิศดึก หรือจะกลับเร็วก็ได้ ผมไม่สนใจรูปแบบการทำงานเท่าไร แค่ต้องทำได้ตามเป้า

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับดร. คืออะไรคะ

“ผมว่าการลงทุนในตัวคนสำคัญที่สุด อย่างแรกคือการลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเอง อย่างที่ผมบอกว่า สำคัญที่สุดคือ growth mindset เพราะไม่ใช่ทักษะที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ เหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องฝึก โดยต้องตั้งใจและใช้เวลาพอสมควรในการสร้าง อย่างที่เล่าว่าตอนจบปริญญาเอกมาใหม่ๆ แล้วโดนปฏิเสธงาน พอไม่ได้ผิดหวังบ่อยๆ กล้ามเนื้อส่วน Growth mindset ก็เริ่มอ่อนแอ จึงต้องพาตัวเองออกนอกคอมฟอร์ตโซน ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำเพื่อให้ล้มเหลวบ้าง จะช่วยฝึกวิธีคิดในการรับมือกับความผิดหวังได้

“สองคือ การลงทุนกับคนรอบตัว ผมคิดว่าคนเราประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งมาจากการมีครอบครัวและคนรอบตัวที่ดี คอยช่วยเหลือเป็นกระจกสะท้อนให้เราคิดได้ ถ้ามีเพื่อนที่ชมอย่างเดียว เราจะพลาดง่าย เพราะจะยึดติดกับความสำเร็จและดีที่สุดตลอด แต่ถ้ามีเพื่อนหรือคนรอบตัวที่พูดความจริงว่า ทำแบบนี้ไม่ใช่แล้ว ก็จะคอยเตือนสติไม่ให้เราผิดไปไกล หรือเวลาเราล้ม เขาจะคอยอยู่ช่วยเหลือเรา

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

พูดถึงครอบครัว ขอถามถึงภรรยาบ้างนะคะ

“ปัจจุบันภรรยาและลูกย้ายมาอยู่สิงคโปร์ด้วยกันหมด ผมเจอภรรยา (คุณเอย-ชนาทิพ เสถียรไทย) ที่บอสตัน ตอนผมเรียนปริญญาเอกอยู่ ส่วนเขาเรียนที่ Boston University ได้เจอกันตอนที่ผมเล่นดนตรีในงานหนึ่ง พอดีผมเป็นเพื่อนของเพื่อนเขาจึงได้คุยกันและคบกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ถึงได้บอกว่าเป็นปริญญาเอกที่ผมแฮปปี้มาก เพราะได้ทั้งปริญญาและเจอภรรยาด้วย (หัวเราะ) พอเรียนจบ ผมก็ย้ายมาทำงานที่สิงคโปร์ก่อน ส่วนเขายังอยู่ต่อที่อเมริกา กระทั่งเขาย้ายกลับมาเมืองไทย จึงค่อยใกล้กันหน่อย แล้วจึงได้แต่งงานกัน

“เราเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่ได้ตัวติดกันตลอดเวลา มีอิสระและโลกส่วนตัวพอสมควร มีกลุ่มเพื่อนของตัวเอง มีเวลาทำอะไรของตัวเอง แต่เขามีความอบอุ่นและให้กำลังใจผมได้ดี ไม่เคยกดดันว่าผมต้องทำแบบนั้นแบบนี้ อย่างตอนที่ผมกำลังจะตัดสินใจย้ายมาทำงานที่ Sea ช่วงนั้นผมแต่งงานมีลูกแล้ว และมีภาระค่าใช้จ่ายพอสมควร ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่ารถและค่าเล่าเรียนลูกที่สิงคโปร์ ผมก็เครียดว่า ถ้าเปลี่ยนงานแล้วไม่เวิร์คจะทำอย่างไร เขาบอกว่าไม่เป็นไร ย้ายบ้านให้ค่าเช่าถูกลงก็ได้ จะขายรถก็ได้ ขอให้ผมเลือกในสิ่งที่ใช่เถอะ อย่างอื่นค่อยมาปรับแต่งกัน ก็ทำให้ผมสบายใจขึ้นมาก

“ส่วนเรื่องลูกและเรื่องภายในบ้าน ภรรยาผมจะดูแลเป็นหลัก เขาเป็นแม่บ้าน แต่จะช่วยกันดูถ้าเป็นเรื่องการตัดสินใจใหญ่ๆ เช่น โรงเรียนลูก ผมว่าข้อดีของผมกับภรรยาคือ เราคิดต่างกันมาก คือผมจะคิดอะไรเป็นระบบ ส่วนภรรยาจะคิดโดยสัญชาตญาณระดับหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าเราช่วยเสริมกันและกันได้ดี

บ้านนี้มีแนวทางในการเลี้ยงลูกอย่างไรคะ

“บ้านเราเชื่อว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูกครับ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลูกชายสองคน คือต้นไม้ (สิฑา เสถียรไทย) และ ต้นหม่อน (สิฬา เสถียรไทย) ไม่เหมือนกันเลย อะไรที่เคยใช้กับคนหนึ่งได้ ไม่สามารถนำมาใช้กับอีกคน  ผมจึงระวังมากที่จะไม่ตีตรา หรือใส่ยี่ห้อให้ลูกเร็วเกินไป เช่น เห็นลูกเป็นแบบนี้ ต้องชอบหรือเก่งด้านนี้ โตขึ้นมาเป็นทนายแน่ๆ ผมและภรรยาพยายามจะไม่ทำแบบนั้น ซึ่งยากสำหรับพ่อแม่นะ ต้องคอยเตือนตัวเองตลอดว่าอย่าเผลอเข้าไปยุ่ง ผมมองว่า เด็กยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แค่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนนิดหน่อยก็ดึงศักยภาพใหม่ๆ ออกมาได้แล้ว เราจึงไม่ควรไปเขียนแผนที่ให้เขา ผมเลี้ยงลูกเหมือนบริหารบริษัท คือดูและทำไปตามข้อมูลที่เห็นแล้วเสริมให้ดีที่สุดในแบบของเขา ถ้าทำแล้วไม่เวิร์คก็เปลี่ยนวิธี สุดท้ายแล้ว ผมอยากให้ลูกผมมีแค่ 3 อย่าง คือ เอาตัวรอดได้ จะอยู่ที่ไหน ประเทศอะไร สถานะไหน ก็เข้มแข็งและปรับตัวได้ สองคือ อยากให้เขาเป็นคนดี ไม่เอาเปรียบใครหรือทำให้ใครเดือดร้อน  สามคือ อยากให้เขามีความสุข แค่นี้แหละ ส่วนเขาอยากจะเป็นอะไรก็ตามใจ

สุดท้าย แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของดร. คืออะไรคะ และหากมีคนรุ่นใหม่มาขอสูตรความสำเร็จรอบด้านแบบ ดร. สันติธาร จะแนะนำว่าอย่างไร

“ผมว่าแรงบันดาลใจเป็นเรื่องที่หาได้จากคนรอบตัว ไม่จำเป็นต้องเป็นคนประสบความสำเร็จหรือคนดังเท่านั้น แน่นอนว่า ผมมีทั้งคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่ คุณย่า เป็นแรงบันดาลใจ ในขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ลูกน้อง หรือเรื่องราวจาก Ted Talk ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้เหมือนกัน เพราะแต่ละเรื่องล้วนมีเรื่องราวไม่เหมือนกัน สำหรับผมแรงบันดาลใจจึงหาได้จากทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

“ส่วนสูตรสำเร็จนั้น ผมคงไม่มีให้ แต่ผมคิดว่าทักษะทั้งหมดที่ผมพูดถึงนั้นสำคัญมาก ผมดีใจและคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้เดินทางผ่านช่วงเวลาที่ได้สร้างทักษะด้าน growth mindset ให้ตัวเอง มองตัวเองเป็นผู้ท้าชิงตลอดเวลา ทำให้ไม่กลัวความล้มเหลว กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้ได้เรียนรู้และคอยปรับตัวไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด การมี growth mindset จะเป็นประโยชน์กับตัวเรา แต่อย่าลืมลงทุนในคนรอบข้างของเราด้วย ต้องรู้จักหาและสร้างเพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี และสังคมที่ดีด้วย ส่วนจะสร้างอย่างไร แต่ละคนคงต้องหาวิธีเอาเอง”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 969

Praew Recommend

keyboard_arrow_up