บอย-ธีระศักดิ์

บอย-ธีระศักดิ์ มนุษย์เงินเดือนไล่หาความสำเร็จ กลายเป็นเกษตรกรที่พบความสุข

account_circle
บอย-ธีระศักดิ์
บอย-ธีระศักดิ์

บอยธีระศักดิ์ พรหมลา จากมนุษย์เงินเดือนที่ไล่ตามหาความสำเร็จ กลายเป็นเกษตรกรที่พบความสุข…… คุณเคยเสี่ยงที่จะยอมทิ้งบางอย่าง แล้วออกเดินทางตามหาความสุขมั้ย

ในอดีต บอยคือเซลล์ขายวัสดุก่อสร้างทำงานออฟฟิศที่กรุงเทพฯ ชีวิตในแต่ละวันของเขา หมดไปกับการวิ่งหาเงิน ไม่นับกับที่เสียเวลาบทท้องถนนวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเขาเคยคำนวณออกมาแล้วว่า ใน 1 ปี เสียเวลาอยู่บนถนน ทั้งหมด 40 วัน!

แต่เหนืออื่นใด นั่นคือการที่เขาอยู่ไกลจากบ้าน นั่นเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ กลับบ้านเกิดที่เขาใหญ่ ไปเป็นเกษตรกร… อาชีพที่เขาไม่เคยอยากเป็น

การตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้เขาทดลองผิดถูกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีอย่างหนัก ชีวิตติดหนี้นับล้านเพราะต้องกู้เงินมาซื้อยาฆ่าแมลง บทเรียนครั้งนั้นทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองมาเกษตรแบบอินทรีย์ ทำให้ ‘ตาวีฟาร์ม’ ที่ปากช่อง กลายเป็น Family farm ที่ประสบความสำเร็จ จนเเหล่าดาราและเซเลบริตี้ แวะเวียนไปที่ฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นหมาก+คิม, ปาล์มมี่, อั้ม+นัท ฯลฯ

อะไรคือ เคล็ดลับที่ทำให้ตาวีฟาร์ม ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน เขาก็ได้พบความสุขครั้งใหม่ ไปหาคำตอบกัน

อยากให้เล่าถึงชีวิตมนุษย์เงินเดือนให้ฟังหน่อยค่ะ

“บ้านเกิดผมอยู่ที่เขาใหญ่  แต่ผมเข้ามาเรียนหนังสือ และทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ยาวนานถึง  20 ปี ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นเซลล์ขายวัสดุก่อสร้าง ชีวิตประจำวันเร่งรีบไปหมดทุกอย่าง เพราะต้องมุ่งหาเงิน ต้องทำเลขให้ถึงเป้าของบริษัท เป็นชีวิตที่เครียด ได้กลับบ้านแค่อาทิตย์ละครั้ง ทั้งที่จริงผมติดบ้านมาก อยากอยู่บ้านนานๆ แต่อยู่ได้แค่หนึ่งวัน ก็ต้องรีบกลับไปทำงานต่อ

“กระทั่งวันหนึ่ง พ่อไม่สบาย ผมกลับมาเยี่ยมท่าน 1 อาทิตย์ แล้วต้องรีบกลับไปทำงานต่อ ตอนนั้นคิดว่า ทำไมเราอยู่กับพ่อต่อไม่ได้ รู้สึกเบื่อชีวิตอย่างนี้ ระหว่างขับรถกลับกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจว่า จะลาออก แล้วกลับไปโคราช ตอนที่ผมบอกภรรยาว่า กลับไปอยู่ที่เขาใหญ่กันเถอะ ตอนนั้นไม่รู้หรอกครับว่า จะทำอะไร ไม่มีแผนใดๆ เลย แต่ภรรยาเข้าใจ”

กลับมาถึงบ้านวันแรกเป็นยังไงบ้างคะ

“เคว้งมาก เพราะผมไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร เงินเก็บที่มีอยู่ก็ไม่มากมาย มีแค่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สุดท้ายก็คิดว่า ทำสวนดีกว่า พ่อมีบ้าน ซึ่งมีมีเนื้อที่สวนอยู่ 50 ไร่ ท่านเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ชอบทำสวน แนวเกษตรผสมผสาน ปลูกผักเอาไว้กินเอง ถ้าเหลือก็ให้แม่เอาไปขาย แต่ก่อน ผมไม่นึกอยากทำ เพราะเห็นพ่อทำแล้วรู้สึกว่า ทำไมพ่อต้องเหนื่อยขนาดนั้น แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจทำสวนครับ โดยตั้งชื่อว่า ตาวีฟาร์ม ตามชื่อพ่อ เพราะท่านเป็นคนแรกที่ทำให้เรากลับบ้าน”

เพราะอะไรคนที่ไม่เคยคิดจะทำสวนเลย ถึงตัดสินใจเลือกทางเดินนี้ค่ะ

“เป็นเพราะช่วงที่ลาออกกลับมาอยู่บ้าน  ผมได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อมากขั้น เริ่มซึมซับ อยากทำแบบพ่อบ้าง จึงบอกท่านว่า ขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งทดลองทำสวนของตัวเอง ท่านก็ตกลง ซึ่งตอนนั้นใจผมคิดจะหาเงินเพียงอย่างเดียว และคิดหาวิธีให้งานไม่หนักเหมือนที่พ่อทำ ด้วยการหันไปทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวตลอดทั้งปี ด้วยการฉีดยาฆ่าแมลงและใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ได้ผลประกอบการในปริมาณที่มาก และผักออกมาสวย  ตอนนั้นผมปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว และมะเขือเทศ พอเริ่มรู้งานได้คล่อง ผมก็รับคนงานเข้ามา 2 คน

จากมนุษย์เงินเดือน ต้องมาลงมือทำฟาร์ม ชีวิตเปลี่ยนขนาดไหนคะ   

“ช่วงแรกที่เรียนรู้งาน หนักมากครับ จากคนที่ไม่เคยจับจอบแล้วต้องลงมือทำเองย่อมเป็นเรื่องยาก ซึ่งผมกับภรรยาทำกันเองสองคน เพราะเราอยากเรียนรู้กระบวนการทำสวนก่อน ผมใช้วิธีศึกษาจากอินเตอร์เน็ต

“วงจรชีวิตตอนนั้นคือ ผมกับภรรยาลุกมาทำงานตั้งแต่ตี 5 กว่าจะได้เข้านอนคือตี 1 ร่างกายพักผ่อนไม่พอ บวกกับได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเยอะ ปวดหัวตลอดเวลา เจ็บคอ คอแห้ง จึงเลือกไม่กินผักที่ตัวเองปลูกเลย  แต่ผมกลับให้ลูกค้ากินผักแบบนี้เป็นตันๆ แถมที่ขายไปก็ได้ราคาไม่ดี เพราะเวลาไปขายตลาดจะกำหนดราคา เขาให้เท่าไรก็ต้องยอม เรียกว่า ต้องก้มหัวให้เขาตลอด

ชีวิตดูแย่กว่าการเป็นพนักงานเงินเดือนอีกนะ

“ใช่ครับ ที่แย่กว่านี้คือ ผมเป็นหนี้จากการกู้เงินมาซื้อยา ซื้อปุ๋ยเคมี แต่บางครั้งผลผลิตที่ได้กลับไม่ดีอย่างที่คิด เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งเรื่องของสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตไม่ถึงเป้าที่วางไว้ จากที่ชีวิตไม่เคยเป็นหนี้ ผมกับภรรยากู้เงินจากบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินทั้ง 2 คน รวมถึงยืมเงินมาจากเพื่อนด้วย รวมๆ แล้วหลักล้าน  เพราะไม่ได้วางแผนการใช้เงิน วันที่แย่ที่สุดคือ เราเหลือเงินติดตัวอยู่แค่ 4,000 บาทเท่านั้น ชีวิตไม่มีความสุขเลย รู้สึกทุกข์มาก ถึงขั้นนอนหันหลังให้กันแล้วน้ำตาไหลทั้งคู่ กลุ่มใจว่ารุ่งขึ้นจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้กับคนงาน คำตอบทุกอย่างดูตีบตันไปหมด”

เคยคิดอยากกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ มั้ยคะ

“เคยครับ เพราะหลังจากที่ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรมา 1 ปี สุดท้ายกลับเหนื่อยกว่าทำงานออฟฟิศอีก ถามตัวเองว่า เราทิ้งตรงนั้นมาทำไม  เพราะถ้าพูดถึงรายได้ของผมรวมกับภรรยาสมัยทำงานที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ที่ 6 หลัก ชีวิตสบายกว่านี้แน่นอน ทำไมจะต้องวิ่งตามหาเงินอีก ผมรู้สึกว่า ยิ่งตามหา เงินมันก็วิ่งหนีเราตลอด ผมเคยวาดฝันไว้ว่า อยากทำงานสวนปลูกต้นไม้แบบสบายๆ แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด วิธีการทำงานแบบนี้ไม่ใช่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ถ้าจะกลับไปกรุงเทพฯ ก็ต้องเริ่มต้นทำงานใหม่ทั้งคู่ เหมือนเริ่มที่ศูนย์อีกครั้ง”

ตอนนั้นจัดการกับวิกฤตยังไงคะ

“ผมนั่งคุยกับภรรยาว่า ปัญหามาจากตรงไหน สุดท้ายก็รู้ว่า ผิดที่ผมไม่ได้วางแผน และมัวแต่หาเงินเป็นหลักเพื่อใช้ซื้อวัตถุ ในบ้านเรามีรถ 3 คัน มานึกอีกที ผมไม่รู้ว่า เรามีรถ 3 คันเพื่ออะไร เพราะซื้อมาก็จอดทิ้งไว้เฉยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องผ่อนทุกวัน เมื่อรู้ว่า ยึดติดกับวัตถุมากเกินไป ก็ตัดสินใจตัดออกทีละอย่าง เริ่มจากขายรถ 2 คัน เหลือแค่คันเดียวไว้ทำงาน และหยุดวิ่งตามหาเงิน คือ หยุดการลงทุนทุกอย่าง คิดว่าต่อไปนี้ จะปลูกผักแบบกำหนดราคาผักเอง โดยปลูกให้น้อยลง เพราะเมื่อปลูกน้อย รายจ่ายก็จะน้อยลงด้วย แล้วเปลี่ยนไปใช้วิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะไม่อยากสุขภาพแย่อีกต่อไปและน่าจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่า”

จากคนที่ไม่เคยเชื่อเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ พอได้ลงมือทำเจอเรื่องน่าตื่นเต้นยังไงบ้าง

“ผมไม่เคยเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์จะให้ผลผลิตที่ดีได้ ไม่เหมือนกับการปลูกแบบใช้สารเคมีที่ใช้ยาเพียงนิดเดียวผลิตภัณฑ์ก็เติบโตอย่างเร็วและสวยงาม แต่ก็ตัดสินใจลองทำดู ผมทดลองปลูกทั้งผักสลัด มะเขือเทศ แตงกวา ฯลฯ ครั้งแรกผลผลิตออกมาไม่สวยเลย ครั้งที่สองก็ยังไม่สวย แต่พอผ่านไป 4 ครั้ง เริ่มฉายแววสวย แถมรสชาติยังอร่อยด้วย อย่างกะหล่ำอินทรีย์ รูปลักษณ์อาจจะขี้เหร่ แต่ถ้าได้ลองกิน มันทั้งหวาน ทั้งอร่อย ผมพบว่า ต้องเลิกยึดติดกับความงาม แล้วไปให้ถึงแก่นของอินทรีย์ ซึ่งก็คือความอร่อยและสุขภาพดี มันผิดกับปุ๋ยเคมีที่ให้ความสวยงาม แต่กินแล้วจืดชืด ไม่อร่อย ขณะเดียวกัน เมื่อเลิกใช้ปุ๋ยเคมี สภาพดินในไร่ก็ดีขึ้นมาก เช่นเดียวกับสุขภาพผมและคนรอบข้างก็ดีขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่กินผักอินทรีย์ที่ปลูกเอง ผม ภรรยา และคนงาน ไม่มีอาการปวดหัว แสบคออีกเลย อาการเจ็บป่วยใดๆ ก็แทบไม่มีครับ”

 เรียกว่า พอมาทางนี้ ชีวิตดีขึ้นเลยนะคะ

“ยังมีอุปสรรคเหมือนกันครับ เพราะช่วงแรกยังขายไม่ออก  ผมกับภรรยาไปขายผักให้ที่ร้านอาหารในเขาใหญ่ ไม่มีใครรับซื้อเราเลย เพราะเราเป็นร้านเล็กๆ พอไม่มีทางเลือกก็ใช้วิธีไปเช่าที่วันละ 30 บาท ขายตามแยกไฟแดง ได้เงินวันละ 200-300 บาท คิดว่าคงไม่รอดแน่ เพราะถ้าได้เงินเท่านี้ ใช้หนี้ไม่หมดหรอก สุดท้ายตัดสินใจตัดผักลงกล่อง ขับรถเข้าไปขายในกรุงเทพฯ เริ่มจากห้างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ติดต่อกับทางห้าง เขาให้พื้นที่เล็กๆ ขายร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ขายครั้งแรกได้ 3,000 บาทเลย ดีใจมาก จึงรู้แล้วว่า จริงๆ คนกรุงเทพฯ ต้องการผักอินทรีย์ เราจึงเปลี่ยนแผน ใช้วิธีไปออกตามงานกรีนมาร์เก็ตต่างๆ  ซึ่งขณะนั้นเทรนด์สุขภาพกำลังมา ผักจึงขายดี รวมถึงน้ำสลัดหลายๆ แบบที่ผมทำขายคู่กันด้วย เราใช้วิธีขายอย่างนั้นอยู่ 3 ปี กินอยู่อย่างประหยัด เพราะอยากเคลียร์หนี้ให้เร็วที่สุด ที่สุดหนี้หมดได้จริงๆ ชีวิตเบาขึ้นเยอะ ตอนนั้นรู้เลยว่า จากนี้จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น”

พอหมดหนี้ ชีวิตอิสระขึ้นขนาดไหนคะ

“ หลายคนที่เคยซื้อผักต่างๆ กับน้ำสลัดเราไปกิน เขาบอกว่าอร่อยแล้วถามว่า ทำไมไม่ทำร้านอาหารล่ะ ผมจึงปรึกษากับภรรยาว่า  อยากทำร้านอาหารมั้ย ภรรยาเห็นด้วย แต่ความที่ไม่อยากกู้เงิน จึงคิดว่า จะสร้างร้านอาหารในพื้นที่บ้าน  ซึ่งอยู่ที่เดียวกับฟาร์ม อย่างน้อยถ้าผิดพลาดขึ้นมา พื้นที่ตรงนั้นก็ยังเป็นบ้านของเราไม่ได้ไปลงทุนอะไรเพิ่มมาก โดยผมลงมือสร้างร้านกับคนงาน ซึ่งเขามีความรู้ด้านงานก่อสร้างพอสมควร ใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมดอย่างไม้ไผ่และแฝก จะได้ไม่ต้องกู้เงิน ทำเป็นร้านเล็กๆ เปิดร้านเมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 62 ซึ่งมีลูกค้าเยอะพอสมควรเลย แต่พอผ่านไป 2 เดือน โควิดมา คนหายเกลี้ยง”

โชคดีมากเลยนะคะที่ไม่ได้กู้เงินมา

“ใช่ครับ  ไม่อย่างนั้นต้องแย่แน่ๆ  แม้จะไม่มีลูกค้ามานั่งที่ร้าน แต่กลายเป็นว่า ผักขายดีมากจนปลูกไม่ทัน เพราะร้านอาหารหลายแห่งปิด คนต้องอยู่บ้านทำกับข้าวกินเอง ประกอบกับคนกรุงเทพฯ ที่มีบ้านพักอยู่เขาใหญ่ ก็มาอยู่ที่นี่เยอะ เขาก็สั่งผักเราไปทำกับข้าว นอกจากปลูกผัก ผมยังเลี้ยงไก่ด้วย ก็มีคนมาแห่ขอซื้อไข่ ตอนนั้นผมเข้าใจประโยคที่ว่า ‘เงินทองของมายา ข้าวปลาคือของจริง’ เลยครับ เพราะแม้เงินจะสำคัญ แต่สุดท้ายแล้วอาหารคือที่สุด

“พอพ้นจากช่วงโควิด เราก็เปิดร้านอีกครั้ง โดยรับลูกค้าที่จองก่อนเท่านั้น เพราะตั้งใจว่า จะทำเท่าที่ทำไหว ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นขาประจำ ที่เชื่อมั่นในโปรดักส์ของฟาร์มตาวี ผมว่า การจะทำให้คนเชื่อได้ เราต้องมั่นใจในงานของเราก่อน ทุกวันนี้ผมสามารถเด็ดผักกินได้อย่างสบายใจ ผิดกับแต่ก่อนที่ไม่กล้ากินผักตัวเอง สุดท้ายผมว่า ออแกนิกส์อยู่ที่ใจ ไม่ใช่ที่ใบเซอร์ เวลามีลูกค้ามาที่ฟาร์ม ผมจะพาเดินดูด้วยว่า เราทำปุ๋ยยังไง ปลูกยังไง นั่นคือการตลาดที่ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากความซื่อสัตย์”

 ตอนนี้ได้พบความสุขที่ตามหาแล้วยังคะ

“เจอแล้วครับ ความสุขแรกจากการกลับมาอยู่บ้าน คือการที่ผมได้ออกแบบพื้นที่ชีวิตของตัวเองที่ไม่กดดัน ได้ทำอะไรที่อยากทำ ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ทุกวันนี้ผมตื่นเช้ามารดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้หลายชนิด ติดต่อมา 2 ปีแล้ว  ผมได้เดินเข้าป่า ได้กินข้าวอย่างมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบ และได้กินในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้วิ่งออกกำลังกายในไร่ตอนเย็น ผมบอกภรรยาว่า การได้ทำงานแบบนี้มันคือที่สุดแล้ว แต่ละวันผมทำอะไรได้เยอะมาก ต่างกับตอนอยู่กรุงเทพฯ ผมเสียเวลาวันละ 3 ชั่วโมงกับการเดินทาง แต่อยู่ที่นี่ ผมได้เวลากลับคืนมาวันละ 3 ชั่วโมง คำนวณออกมา ใน 1 ปี ผมได้เวลากลับมากว่า 40 วัน และผมยังได้ค้นพบความสุขในแต่ละวัน ที่ไม่ใช่แค่การปลูกผักขาย แต่ได้ทำสิ่งที่อยากทำด้วย

“ที่สำคัญมากคือ การได้อยู่กับครอบครัว พอเรามีความสุข เห็นได้ชัดว่า คนรอบข้างก็มีความสุข เราอยู่ในครอบครัวกันเอง ไม่มีอะไรกดดัน  ซึ่งความสุขนี้ส่งผลต่อลูกค้าที่มาที่ฟาร์มด้วย บางคนมาแค่ชั่วโมงเดียว แต่เขาบอกว่า รู้สึกเต็มอิ่มที่ได้อยู่เงียบๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็น family farm”

หลายคนอยากมีชีวิตในฝันแบบนี้

“ผมบอกทุกคนเสมอว่า ทุกคนทำได้นะ ถ้าใครมีบ้าน ถึงเวลาก็กลับบ้านได้ แต่ต้องแน่ใจว่า ได้ทำบทบาทของตัวเองเต็มที่แล้ว พอถึงวันที่พร้อมค่อยทำในสิ่งที่รัก ที่สำคัญคือ อย่าทำแบบผม ห้ามเป็นหนี้ ห้ามกู้เงินโดยไม่มีแผน และถ้ามัววิ่งหาเงิน จะไม่มีทางสำเร็จ สิ่งเหล่านี้หลายคนรู้ครับ แต่ปัญหาคือ ไม่กล้าทำ ผมแนะนำว่า ให้ลองดูก่อน เริ่มจากการใช้เวลาเสาร์อาทิตย์ ทำในสิ่งที่อยากทำ แล้วดูว่า ชอบมั้ย ถ้าชอบก็เก็บเงิน แล้วค่อยหาลู่ทาง

ถ้าให้ผมนิยามความสุข ผมว่า คนเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราทุกคนต้องเดินสู่ความตาย เวลาชีวิตคนเราไม่ได้มีเยอะมาก รีบทำในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่เบียดเบียนใคร เท่านั้นเองครับ

สถานที่ ตาวีฟาร์ม สามารถดูรายละเอียดตาวีฟาร์มได้ที่ @tawefarmkhaoyai  หรือโทร. 087-450-9473


 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up