เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ "เปิ้ล-ขัตติยา" CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย

เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ “เปิ้ล-ขัตติยา” CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย

Alternative Textaccount_circle
เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ "เปิ้ล-ขัตติยา" CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย
เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ "เปิ้ล-ขัตติยา" CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย

เจาะลึกเบื้องหลังเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพ “เปิ้ล-ขัตติยา อินทรวิชัย” CEO หญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย มีข่าวใหญ่ที่สร้างเสียงฮือฮาในวงการการเงินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือการลาออกจากทุกตำแหน่งบริหาร ในธนาคารกสิกรไทยของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ผู้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกสิกรไทย มาเป็นประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) พร้อมประกาศชื่อ “ขัตติยา อินทรวิชัย” นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ในวันที่ 3 เมษายน ถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของกสิกรไทย

จึงเป็นที่สนใจของทั้งในแวดวงธุรกิจ สื่อมวลชน และสังคมคนทำงานว่า ภายใต้การนำของแม่ทัพหญิงคนใหม่ ธนาคารกสิกรไทยจะเป็นไปในทิศทางใด วันนี้ แพรว มีโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับคุณเปิ้ล-ขัตติยา ผู้หญิงเก่งอีกคนที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ "เปิ้ล-ขัตติยา" CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย

เล่าความรู้สึกเมื่อทราบว่าจะต้องรับช่วงงานต่อจากคุณบัณฑูร เป็นซีอีโอหญิงคนแรกของกสิกรไทยสักนิดค่ะ

“ความจริงพอจะทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว จำได้ว่าตอนที่คุณบัณฑูรบอกก็รู้สึกชาๆ ไปนะคะ ผ่านไปสัก 2-3 ชั่วโมง จึงเริ่มคิดอะไรออก (หัวเราะ) แต่ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าเราไม่ได้ถูกเลือกมาทำงานอยู่คนเดียว แต่เป็นการเลือกผู้บริหารทั้งทีม หมายถึงบอร์ดคณะกรรมการธนาคารทั้งหมด ซึ่งแต่ละท่านล้วนแล้วมีความสามารถสูง ทัศนคติที่ดี และมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือสังคมไปในแนวทางเดียวกัน ในการเลือกทีมบริหารก็คือการดูว่าการทำงานร่วมกัน ภายใต้การนำของผู้บริหารคนไหนน่าจะไปได้ดีที่สุด ซึ่งท่านอาจจะเห็นแล้วว่าเราสามารถทำงานกันเป็นทีมกับกลุ่มนี้ได้ดี จึงน่าจะนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จได้

“อีกอย่างคุณบัณฑูรดูแลธนาคารมาจนประสบความสำเร็จขนาดนี้ คงยากที่จะหาใครมาเทียบได้ ท่านคือตำนานจริงๆ แต่ท่านยังไม่ได้ไปไหนไกลนะคะ ยังอุ่นใจได้ว่าท่านยังคงให้คำปรึกษาได้ในยามที่ต้องการในฐานะประธานกิตติคุณ” (ยิ้ม)

ขออนุญาตย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นว่าคุณเปิ้ลเข้าสู่สายงานธนาคารได้อย่างไรคะ

“เพราะคุณพ่อ (ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย) เลยค่ะ ท่านแนะนำให้เข้าทำงานที่กสิกรไทย (ยิ้ม) ต้องเล่าย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่า ดิฉันเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อเป็นคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนคุณแม่ (คุณยาใจ อินทรวิชัย) ทำงานที่สภาการศึกษาแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บ้านเราเน้นสอนเรื่องความพยายามและขยันเป็นหลัก

“สารภาพว่าสมัยเด็กเคยอยากเป็นสถาปนิก ชอบอ่านนิตยสารบ้านและสวนมาก (หัวเราะ) แต่พอตอนจะสอบเอนทรานซ์ ถ้าจะเข้าคณะสถาปัตย์ต้องใช้ วิชาเคมีและฟิสิกซ์ ซึ่งแม้เราจะเรียนสายวิทย์-คณิตที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ไม่ถนัดวิชานี้เท่าไร จึงเบนเข็มมาเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน ซึ่งก็สอบเข้าได้ ระหว่างเรียนก็ไม่ได้ขยันมาก แต่ความที่เลือกเรียนเอกการตลาด ซึ่งสนุกและเราชอบ จึงเรียนได้ค่อนข้างดี

“พอเรียนจบ ตอนแรกคิดว่าจะทำงานด้านเอเจนซี่โฆษณา แต่คุณพ่ออยากให้ลองเริ่มทำงานกับธนาคารกสิกรไทยสัก 1-2 ปีก่อน แล้วค่อยไปเรียนต่อ ก็เลยตามใจท่าน เราโชคดีที่มีคุณพ่ออยู่ในแวดวงการศึกษา คอยเป็นโค้ช คอยแนะนำให้ โดยเริ่มแรกได้เข้าทำงานด้าน Relationship Manager คือออกเยี่ยมลูกค้า ดูแลสินเชื่อ ทำ Cash Flow Projection อะไรพวกนี้ ทำอยู่เกือบปี ธนาคารก็เปิดรับสมัครชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA ที่ University of Texas at Austin ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าใครได้ทุนกสิกรไทยนี่ถือว่าสุดยอด เพื่อนๆ พนักงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาก็สมัครทุนนี้กันหมด เราก็เลยลองสมัครตาม โดยเพื่อนๆ ก็ช่วยติวด้วยการนำข้อสอบเก่ามาแบ่งกันทำแบบฝึกหัด ทำให้รู้ตัวว่าไม่รู้เรื่องเลย” (หัวเราะ)

แล้วทำอย่างไรคะ

“โชคดีว่าคุณพ่อช่วยกระตุ้นค่ะ ท่านเห็นว่าเราสมัครชิงทุนแล้ว แต่ยังชิลอยู่ จึงเตือนว่าต้องขยันให้มากกว่านั้น แล้วให้ลองสอบเข้า MBA (บริหารธุรกิจ) ของธรรมศาสตร์ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่าถ้าจะไปเรียนแข่งกับคนอื่นที่ต่างประเทศ น่าจะต้องแข่งในเมืองไทยให้ผ่านก่อน ซึ่งการจะเข้า MBA เราต้องสอบ TOEFL และ GMAT ให้ได้คะแนนตามเกณฑ์ มหาวิทยาลัยจึงจะรับ ก็ปรากฏว่าสอบอยู่หลายครั้งกว่าคะแนนจะถึงเกณฑ์ เตรียมตัวอยู่ราวๆ 3 เดือน ก็สอบชิงทุน ซึ่งมีทั้งสอบแบบทำข้อสอบกับสอบสัมภาษณ์ ซึ่งอย่างหลังนี่โหดสุด

“จำได้ว่ามีคณะกรรมการทั้งหมด 6 ท่าน มาจากหลายแห่งและเป็นกรรมการภายนอกทั้งหมด บางท่านก็มาจากกรมสรรพากร บางท่านเป็นคณบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และคุณบัณฑูรซึ่งมาแทนหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ไม่สะดวกมาวันนั้น ดิฉันตื่นเต้นมากจนกินข้าวไม่ลง ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่เราเตรียมตัวมาแล้ว เช่น อยากไปเรียนด้านนี้เพราะศึกษามาแล้วว่าถ้าเป็นด้าน MBA ต้องที่นี่เท่านั้น เพราะเขาเชี่ยวชาญด้านนี้ เป็นต้น ส่วนถ้ามีคำถามไหนที่ตอบไม่ได้จริงๆ เช่น กรรมการท่านหนึ่งถามเรื่องกฎหมายภาษี ก็ตอบไปตรงๆ ว่าไม่ทราบเรื่องนี้

“ส่วนคำถามสุดท้ายมาจากคุณบัณฑูร ซึ่งนั่งเงียบมาตลอดการสัมภาษณ์ว่า ‘คุณจะเหมือนนักเรียนทุนกสิกรไทยคนอื่นหรือเปล่า ที่พอใช้ทุนหมดแล้วก็ ลาออกไปทำงานที่อื่น’ ซึ่งดิฉันเตรียมคำตอบมาอยู่แล้ว จึงเรียนท่านไปว่า คุณพ่อสอนให้กตัญญู ถ้าธนาคารยังให้คุณค่ากับเรา เราก็จะอยู่ไปตลอด (ยิ้ม) สุดท้ายผลการสอบสัมภาษณ์คือผ่านค่ะ แม้คะแนนจะไม่ถึงกับดีมาก แต่คิดว่าผ่านมาได้ เพราะเตรียมตัวดี ตรงไปตรงมา ข้อไหนตอบไม่ได้ก็บอกตรงๆ ไม่พยายามจะแถ รวมถึงคำตอบสำหรับคำถามคุณบัณฑูร”

ชีวิตการเรียนที่อเมริกาเป็นอย่างไรบ้างคะ

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียน MBA เมเจอร์การตลาด แต่พอไปถึงแล้วเกิดสนใจเรื่องตลาดหุ้น ตลาดทุน ตราสารอนุพันธ์ของที่นั่นทั้งใหญ่และหลากหลาย มาก เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา รู้สึกว่าโอ้โฮ อุตส่าห์ไปถึงที่อเมริกาแล้ว ต้องเรียนแล้วละ สุดท้ายจึงจบมาสองเมเจอร์ คือด้านการตลาดกับ Investment Banking ซึ่งสนุกมากจริงๆ เรียกว่าอเมริกาช่วยให้ประสบการณ์และเปิดมุมมองความคิดเราในหลายๆ ด้าน”

เรียนนานไหมคะ กว่าจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย

“เรียนอยู่ 2 ปีก็กลับมาทำงานและได้พบคุณบัณฑูรอีกครั้ง ต้องบอกว่าท่านให้ความสำคัญกับเรื่องคนมากๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยคุณบัญชา คุณพ่อ ของท่านแล้ว อย่างเวลามีการรับผู้อำนวยการใหม่เข้ามา ท่านจะขอพูดคุยด้วยแบบตัวต่อตัวตลอด ดังนั้นพอนักเรียนทุนกลับมา คุณบัณฑูรจึงขอพบทุกคน ซึ่งท่านก็จำได้ว่าเราเรียนด้านการตลาด จึงให้การบ้าน 1 ชิ้น ถือเป็นงานแรกเลย คือให้นำซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 7 (เช่น เพลงค้างคาวกินกล้วย) ซึ่งบรรเลงเป็นเพลงแจ๊สโดยนักดนตรีไทย อาจารย์สุกรี เจริญสุข ไปขาย โดยรายได้มอบให้การกุศล ซึ่งเราก็งงว่า เอ๊ะ นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับการธนาคารเลย (หัวเราะ) แต่เข้าใจว่าท่านคงอยากรู้ว่าเราจะทำการตลาดอย่างไร”

เบื้องหลังเส้นทางสู่แม่ทัพ "เปิ้ล-ขัตติยา" CEO หญิงคนแรกของกสิกรไทย

แล้วการตลาดของผลงานชิ้นแรกเป็นอย่างไรคะ

“เราก็คิดซื่อๆ เลยค่ะ พอดีตอนนั้นรายการทไวไลท์โชว์ ของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ กำลังดัง จึงติดต่อขอให้นักดนตรีได้เล่นโชว์ในรายการ มีทั้งแซกโซโฟน เชลโล ไวโอลิน ซึ่งคุณไตรภพก็สัมภาษณ์ด้วย จนกลายเป็นที่รู้จักไปเลย ขณะเดียวกันตอนนั้นเราก็ติดต่อไปทางทรู ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นชื่อ UBC โดยขอให้เขาเปิดเพลงบรรเลงจากซีดีของเราคลอในช่วงคั่นระหว่างรายการที่ขึ้นตารางรายการทีวีในแต่ละช่วง โดยทั้งหมดนี้ไม่ใช้เงินเลยนะ (หัวเราะ) เพราะไม่มีงบ ใช้วิธีขอไปตรงๆ ว่าช่วยเปิดได้ไหม ซึ่งบังเอิญว่าตัวเพลงนั้นดีอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 7 ด้วย จึงได้เปิดบ่อยจนคุ้นหูกันไปเลย หลังจากนั้นทำเนียบรัฐบาลติดต่อมาเชิญวงไปเล่นเวลามีการจัดงาน ซึ่งก็ทำให้เราสามารถขายซีดีได้จำนวนหนึ่ง แล้วก็ปิดจ๊อบแรกไป ซึ่งคุณบัณฑูรก็ไม่ได้ว่าอะไร”

หลังจากนั้นทำอะไรต่อคะ

“ไปประจำอยู่ที่ Investment Banking หรือวาณิชธนกิจค่ะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมเจอร์ที่เรียนจบมา แต่ทำได้ไม่นานคุณบัณฑูรเรียกไปคุย บอกว่าจะตั้งฝ่ายใหม่ขึ้นมา ชื่อฝ่ายนโยบายเครดิต (Credit Policy) ให้ช่วยเซตอัพหน่อย ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านเห็นอะไรในตัวเรา อาจจะเห็นว่าให้ไปขายซีดีก็ขายได้ และด้วยความที่เราเองชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จึงตอบตกลงทันที โดยมีหัวหน้าอีกท่านหนึ่ง มาเซตอัพด้วยกัน ก็เริ่มจากหาทีมเข้ามาทำงานก่อน โดยดูว่าพื้นฐานความรู้ต้องพอได้ มีประสบการณ์พอใช้ และคนในทีมต้องหลากหลาย สองคือต้องมีทัศนคติ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ และตั้งใจเดินไปด้วยกัน ถ้าไม่สำเร็จเราก็ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ เราต้องการทีมที่พร้อมจะลุยไปด้วยกัน โจทย์ของฝ่ายนโยบายเครดิตในตอนนั้นเกิดขึ้นช่วงก่อนต้มยำกุ้ง ยังไม่มีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและการบริหาร ความเสี่ยงที่ชัดเจน พอตั้งฝ่ายนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลความเสี่ยงในแต่ละอุตสาหกรรม และกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเครดิตที่ดี เมื่อเข้าสู่วิกฤติช่วงต้มยำกุ้งจึงส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินเพียงไม่กี่แห่งที่เพิ่มทุนได้

“หลังจากนั้นก็เหมือนจะได้ไปอยู่ในฝ่ายที่ต้องเซตอัพใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การ เป็นช่วงวิกฤติพอดี ตอนนั้นทำงาน หนักมาก มีการเพิ่มทุน ทำให้เรียนรู้ว่าเงินทุนหรือ Capital เป็นสิ่งสำคัญมาก พอหมดวิกฤติก็เริ่มวางยุทธศาสตร์ใหม่ ตั้งฝ่ายใหม่ นำ Balance Score Card มาใช้เป็นที่แรกๆ ในไทย อยู่ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การได้ประมาณ 5 ปี กำลังเขียนจดหมายขอคุณบัณฑูรย้ายฝ่าย แต่ยังไม่ทันยื่น คุณบัณฑูรก็ชวนให้ทำงานใหม่พอดี เป็นการข้ามไปทำระบบไอที ซึ่งปัจจุบันก็คือ Data Analytic หรือ Big Data ได้ทำโครงการใหญ่ของธนาคาร K-Transformation ส่วน KOC (Know Our Customer) ถือเป็นการนำดาต้ามาใช้

“จากนั้นก็ไปทำฝ่าย Retail Banking คือรับผิดชอบดูพวก Credit Card สินเชื่อบุคคล Housing Loan จากนั้นก็ย้ายไปทำ Marketing Communication แล้วจึงค่อยเข้ามาสู่บทบาท CFO (Chief Financial Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) ดูแลด้านการเงินของบริษัท ก่อนจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งตอนนั้นมีหลายท่าน แต่ละท่านก็จะดูในสายงานของตัวเอง อย่างตอนนั้นดิฉันดูด้านการเงิน Product Management และ Service Quality หรืองานด้านบริการ แล้วพอดีว่ามีรองกรรมการผู้จัดการท่านหนึ่งต้องไปช่วยงานอีกด้าน ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ดิฉันจึงต้องดูงานด้าน HR หรือฝ่ายบุคคลควบไปด้วย รวมๆ แล้วกว่าจะมาเป็นซีอีโอก็ผ่านมาแล้วประมาณ 9 สายงาน” (ยิ้ม)

การต้องเปลี่ยนไปทำงานในหลากหลายสายงานแทนที่จะเป็นเรื่องเฉพาะทางที่ถนัด มีวิธีรับมือหรือปรับตัวอย่างไรคะ

“อืม…อย่างที่บอกว่านิสัยเราชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการได้ย้ายไปในฝ่ายเซตอัพใหม่หมดจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ที่น่าเรียนรู้ ไหนๆ ผู้ใหญ่ก็ ให้โอกาสแล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องดูว่าจะเพิ่มคุณค่าให้กับงานของฝ่ายนั้นได้อย่างไร ซึ่งใช้ได้ในการทำงานทุกฝ่าย ยกตัวอย่างตอนเป็น Relationship Manager ในสายงานแรกนี่เราเด็กสุดเลยนะ พี่ๆ เขาเก่งกันหมด เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้งานเขาง่ายขึ้น ก็ต้องหาข้อมูลลูกค้ากว่า 100 รายมาเก็บไว้ พอพี่ๆ จะออกเยี่ยมลูกค้าก็สามารถหยิบข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ทันที หรือตอนอยู่ Credit Policy ก็ต้องตีความโจทย์ว่าทำอย่างไรหน่วยงานนี้จะเพิ่มมูลค่าให้องค์กรได้ คือไปที่ไหนต้องอย่าแค่ไปตามกระแส แต่ต้องมองหาว่าเราจะช่วยเพิ่มคุณค่าของงานตรงนั้นได้อย่างไร แล้วก็อย่ายอมแพ้ ถ้ายังไม่สำเร็จ แปลว่ายังพยายามไม่พอ ต้องหาวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ”

มีประสบการณ์ครั้งไหนในการทำงานที่กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญไหมคะ

“ตอนทำงานเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การค่ะ ซึ่งเป็นฝ่ายใหม่อีกเหมือนกัน เกิดจากช่วงนั้นเป็นหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ทางแบงก์คิดว่า เราควรมียุทธศาสตร์ใหม่ จึงตั้งฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การขึ้นมา โดยมีเรากับหัวหน้าเป็นชุดเริ่มต้น ซึ่งตอนทำอยู่ที่นี่ก็มีประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้เยอะ เพราะเป็นช่วงที่ทำงานหนักมาก ต้องคอยมอนิเตอร์โครงการยุทธศาสตร์ตลอด และมีการนำเสนอต่อคณะผู้บริหารอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอในตอนเช้า แต่ข้อมูลมักจะมาถึงเราตอน 6 โมงเย็นของวันก่อนหน้า จึงต้องอยู่ทำงานกันจนเกือบเช้า แล้วเตรียมพรีเซ้นต์ต่อ

“มีวันหนึ่งดิฉันต้องอยู่ทำคอนเซ็ปต์ตัวใหม่ เป็น Balance Score Card รายงานผลประกอบการ (Performance) ในรูปแบบ Dashboard คือเป็นรายงาน เกี่ยวกับตัววัดในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเงิน ด้านที่เกี่ยวกับลูกค้า ด้านไอที และด้าน HR ว่าสอดคล้องกันไหม อยู่ทำจนค่ำ ซึ่งช่วงนั้นคุณพ่อเป็นโรคหัวใจ ต้องอยู่ CCU ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ใจคิดว่าเดี๋ยวรีบทำงานให้เสร็จแล้วจะไปหาคุณพ่อ แต่ปรากฏว่าทำงานไปจนเลยสองทุ่ม หมดเวลาเยี่ยมแล้ว เลยไม่ได้ไปพบท่าน ปรากฏว่าคืนนั้นคุณพ่อเสีย (นิ่ง) ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ว่าเราต้องหาสมดุลเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวให้ได้ จริงอยู่ว่างานก็สำคัญ แต่บางเรื่องเราก็ไม่สามารถผัดวันประกันพรุ่ง อย่างเรื่องครอบครัวที่บางครั้งอาจไม่มีวันพรุ่งนี้ให้เริ่มใหม่ ถ้าจำเป็นจริงๆ เราอาจต้องฝากคนอื่นให้ทำงานแทน เราต้องหาทางบริหารจัดการตรงนี้ให้ดีค่ะ”

งาน 9 สาขาที่ทำมา มีงานไหนที่รู้สึกว่าท้าทายที่สุดคะ

“ตอนที่เป็นซีเอฟโอค่ะ ดูแลด้านการเงินของบริษัท ไม่คิดมาก่อนเลยว่าเราจะมาอยู่ตรงนั้นได้ เพราะเรียนจบเอกมาร์เก็ตติ้ง วิชาบัญชีเรียนมานิดหน่อย คะแนนก็ไม่ได้ดี พอทำงานก็ไม่ได้เติบโตมาในสายนี้ และที่ผ่านมาเราอยู่ในฝ่ายที่เซตอัพขึ้นมาใหม่เสียส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้ต้องมาอยู่ในทีมที่เขาเพียบพร้อมอยู่แล้ว มีแต่คนเก่งๆ และประสบการณ์สูง พอได้รับมอบหมายช่วงแรก ก็งงว่าจะไปอย่างไรดี ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้เลย แต่พอลองมาศึกษาดูก็พบว่า มันเป็นเทรนด์นะที่คนเป็นซีเอฟโอต้องมีความรู้หลากหลาย เราจึงเลือกนำประสบการณ์จากสายงานต่างๆ เช่น Relationship Manager มาร์เก็ตติ้ง และ Investment Banking มาประมวลดูว่าจะเพิ่มมุมมองและวิธีคิดให้สายการเงินเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งก็คือการ Add Value ประสบการณ์ที่หลากหลายของเราลงในสายงานนั่นเอง

“อย่างครั้งหนึ่งคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะหาตัววัดทางอื่นก่อนล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอรายงานสรุปทางการเงินตอนสิ้นเดือน เช่น วัดจากจำนวนลูกค้าใหม่ ซึ่งเราจะเห็นได้ทุกวัน ถ้าเห็นแล้วว่าไม่มีลูกค้า ก็แปลว่าการตลาดหรือสินค้ายังไม่ดี อย่างน้อยเราก็แก้ได้ทันการณ์ นี่คือการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนระบบการติดตาม และการจัดการ แล้วจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับทิศทาง ซึ่งเมื่อทำได้ จึงมีอิมแพ็คสูงกับองค์กร ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปอย่างสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องเงิน งบประมาณที่สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจที่จะไป ทำให้เดินไปได้เร็วและก้าวหน้า

“ขณะเดียวกันการทำงานในสายการเงินที่เราไม่ถนัดก็ทำให้ได้คิดว่า เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เรารักได้ตลอด วันหนึ่งเราต้องรักในสิ่งที่ทำและงานที่รับผิดชอบตามหน้าที่อยู่ให้ได้ ซึ่งหลังจากทำได้แล้ว ต้องบอกว่ากลายเป็นสายงานที่ชอบมากที่สุดงานหนึ่ง เพราะเพิ่มคุณค่าให้สายงานได้จริงๆ

“นอกจากนี้การเป็นซีเอฟโอคือช่วงสำคัญที่เตรียมให้เราพร้อมจะเป็นผู้นำ จริงๆ จำได้ว่าช่วงมาทำงานตำแหน่งนี้ใหม่ๆ มีคนบอกว่า เมื่อเป็นซีเอฟโอแล้ว คุณจะไม่มีเพื่อนเลย เพราะคุณจะไม่เลือกใครเลยนอกจากองค์กร คือดูที่ผลลัพธ์ขององค์กรอย่างเดียว ซึ่งจริงในแง่หนึ่ง คือเราจะแน่วแน่มากว่าเน้นองค์กรเป็นหลัก แต่เราก็ยังมีเพื่อนในองค์กรอยู่นะ เพราะทุกการตัดสินใจของเราตอนเป็นซีเอฟโอ เราอธิบายเหตุผลได้หมดเลยว่าทำไมจึงเลือกแบบนี้หรือตัดสินใจแบบนี้ คือโปร่งใสมากว่าเราคิดอย่างไร ซึ่งจุดนี้กลายเป็นการเตรียมการให้เราปรับตัวได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องมาเป็นซีอีโอ”

วันนี้ที่ได้ทำงานในฐานะซีอีโอเป็นอย่างไรคะ

“เนื่องจากทราบเรื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงมีเวลาเตรียมตัวอยู่พอสมควรค่ะ เราก็ขอเวลาไปพบคุณบัณฑูรสัปดาห์ละครั้ง เพื่อปรึกษางานพร้อมกับให้ท่านช่วยแนะนำและโค้ชว่าควรจะมองเรื่องไหน อย่างไร และทำอะไรบ้าง ส่วนตัวเราเองก็มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเกือบครบทุกด้านแล้ว เหลือแค่เขียนโปรแกรมไอทีและกฎหมาย (หัวเราะ) แต่ละสายงานก็เตรียมความพร้อมเรามาพอสมควร ความพยายามก็ไม่แพ้ใคร และสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ สุดท้ายคือเรามองประโยชน์ขององค์กรเป็นสำคัญ สังเกตตัวเองมาแล้วว่าเราไม่มีอีโก้เลย หมายถึงเวลาทำงานไม่เคยคิดว่าต้องได้เครดิต ได้หน้า หรืออยากโดดเด่นอะไร เมื่อเราไม่มีอีโก้ เราจึงทำงานกับใครก็ได้ เพื่อโจทย์เดียวคือส่วนรวม”

ถ้าให้มองตัวเอง คุณเปิ้ลเป็นผู้นำแบบไหนคะ

“เป็นผู้นำแบบ Lead by Example กับ Lead by Design ค่ะ สำหรับคำแรก Lead by Example หมายถึงทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เช่น เมื่อเห็นแล้วว่าทักษะ ที่เรามีอยู่ในตอนนี้อาจใช้ไม่ได้กับโลกยุคหน้า จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม จึงไปลงเรียนออนไลน์ด้าน Design Thinking คือการออกแบบโดยการเข้าใจผู้ใช้จริงๆ ซึ่งเราสามารถนำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้กับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของธนาคารได้ด้วย เมื่อเรารู้สึกว่าต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมก็ต้องหาทางเรียนรู้และทำให้ได้ อยากให้พนักงานรู้สึกว่าเขาก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

“ส่วน Lead by Design คือดีไซน์เพื่อจัดองค์กรให้สามารถทำงานกันเอง และค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง ซึ่งบางองค์กรจะต้องรอนายสั่ง ก่อนจึงจะทำ แต่ถ้าเราสามารถ Lead by Design คือทำให้ทุกทีมสามารถค้นพบวิธีการทำงานแบบใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เอง ซึ่งดีกว่ารอเรา เพราะเราคนเดียวจะไปเก่งขนาดนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าได้คนเก่งหลายๆ คนมารวมกัน ผลักดันให้องค์กรไปข้างหน้า ก็จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเราชอบการทำงานเป็นทีม จึงพยายามทำให้แต่ละทีมที่แตกต่างกันทั้งทักษะความรู้และประสบการณ์สามารถทำงานร่วมกันได้ คือเดิมเราอาจจะเคยทำงานกันแบบให้โจทย์มา แล้วแต่ละแผนกแต่ละทีมก็ค่อยๆ คิดกันมา เช่น ผ่านทีมขาย แล้วค่อยไปผ่านทีมเครดิต แล้วค่อยไป Back Office แล้วไปโน่นไปนี่ แต่เราทำใหม่เป็น Objective Base คือใช้ทีมผสมหรือที่เรียกว่า Multi-disciplinary ชวนคนจากทุกฝ่ายเข้าไปร่วมระดมความคิดกันแก้โจทย์ให้จบในทีเดียว จะได้ประหยัดเวลา ไม่ต้องคอยนัดหรือส่งต่องานกันไปมา”

หากมองย้อนกลับไปแต่ละช่วงของชีวิต อยากแนะนำอะไรกับคนรุ่นใหม่บ้างคะ

“ถ้าอิงจากประสบการณ์ชีวิตตัวเอง ช่วงอายุ 20 เรียนจบมาใหม่ๆ เราจะรู้สึกว่าเราแจ๋วสุดแล้วในโลกนี้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ชีวิตเราเพิ่งเริ่มต้น ฉะนั้น จงพยายามอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับอะไรใหม่ๆ หมั่นสังเกตว่าอะไรที่จะทำและนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ คือคนรุ่นใหม่มักถามเสมอว่าทำแล้วได้อะไร ในขณะที่ถ้าเป็นรุ่นเราคงไม่ถาม มีแต่ลุยทำให้สำเร็จ จึงอยากปลูกฝังเรื่องความเป็นผู้นำ เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง รู้จักคิดภาพรวมให้เขา รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น บางเรื่องเราทำไปอาจจะยังไม่ได้วันนี้ แต่จะได้ในวันหน้า อย่างตอนที่เราทำ Data Analytic ทำไปแล้วกว่า 10 ปี จึงมีการใช้กันเยอะ ฉะนั้นคุณไม่มีวันรู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่วันนี้จะได้ใช้เมื่อไร แต่มันเป็นต้นทุนของคุณ และสุดท้ายประสบการณ์เหล่านั้นจะทำให้เรามีวันนี้ เราคงแชร์ได้ประมาณนี้ ที่เหลือก็ต้องให้เขาคิดได้เอง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องหาวิธีโน้มน้าวให้เขาอยากทำงานให้ดี โดยอาจมีผลตอบแทนให้ชัดว่าถ้าทำสำเร็จแล้วจะเป็นอย่างไรให้ไปด้วย

“พอวัย 30 ทำงานมาพักหนึ่งแล้ว เราจะเริ่มรู้แล้วว่าเราไม่รู้อะไรเลย มีเรื่องต้องรู้เต็มไปหมด ก็อย่าไปตกใจกับมัน คุมสติไว้ให้มั่น แล้วก็พยายามเรียนรู้ไป ให้เวลากับตัวเอง อย่ากดดันตัวเองมากไป เรื่องบางอย่างต้องค่อยๆ สะสมไป จึงจะสร้างมาได้ อีกอย่างคือวัยนี้จะเริ่มมีครอบครัว ก็มีความกดดันทั้งจากหัวหน้างานและครอบครัว เราต้องบริหารเวลาชีวิต จิตใจ และทำความเข้าใจคนรอบข้างให้ดีที่สุด

“พอถึงช่วงวัย 40-50 เป็นต้นไป เราจะเริ่มปรับตัวได้แล้ว เพราะเป็นหัวหน้างาน มีประสบการณ์ต่างๆ มาเยอะแล้ว ก็เป็นช่วงที่จะต้องคืนสิ่งดีๆ ให้สังคม ไปทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่น ยิ่งในวัย 50 ยิ่งต้องสร้างอะไรดีๆ ให้ทั้งองค์กรและส่วนรวม ถ้าไปถึงประเทศชาติได้ยิ่งดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราอยู่ในองค์กรขนาดนี้ ที่มีกำลัง มีดีเอ็นเอ มีทีมที่เก่งขนาดนี้ ต้องสร้างสิ่งดีๆ ในระดับที่ใหญ่ขึ้นค่ะ”


ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 960

Praew Recommend

keyboard_arrow_up