ช็อปสุดตัวเพื่องานวิจัย กรุเมคอัพกว่าหมื่นชิ้นของ ศ.ภกญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์

account_circle

จะมีนักวิจัยกี่คนที่มีกรุเครื่องสำอางนับหมื่นชิ้น มูลค่าร่วม 8 ล้าน ไว้เพื่อทำการวิจัย… จึงไม่แปลกใจเลยที่ ศ.ภกญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านนี้เป็นนักวิจัยชาวเอเชียเพียงคนเดียวที่สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ Brussels Innova 2015 มาครอง พร้อมด้วยดีกรีนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเมื่อปี 2558

Shopaholic ตัวแม่

พรอนงค์ อร่ามวิทย์
ทุกวันนี้เทรนด์ความงามมาแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนยอมทำอะไรก็ได้เพื่อความสวย จึงมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามในท้องตลาดเกิดขึ้นมากมาย ตัวดิฉันเองก็ชอบใช้เครื่องสำอาง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากวิจัยส่วนผสมของมัน หนึ่งคือ เพื่องานวิจัยของตัวเอง สองคือ ถ่ายทอดสูตรที่คิดค้นให้แก่บริษัทเครื่องสำอาง ส่วนผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นโอกาสหาเครื่องสำอางที่เหมาะสมกับตัวเองด้วย

ปกติดิฉันก็ช็อปปิ้งเหมือนผู้หญิงทั่วไป ซื้อเครื่องสำอางที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่พอเริ่มทำงานวิจัยก็กลายเป็นช็อปกระหน่ำ เพราะวิธีการหาข้อมูลที่ดีที่สุดคือการรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกแบรนด์ เพื่อมาศึกษาว่าแต่ละแบรนด์มีข้อดีหรือข้อเสียตรงไหนบ้าง เพราะเชื่อว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งดีสำหรับคนทั้งโลก

โดยเน้นครีมบำรุงผิวระดับไฮเอนด์เป็นหลัก เพราะต้องการศึกษาส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เพื่อให้งานวิจัยที่เราคิดค้นมีคุณภาพมากที่สุด ประกอบตัวเองก็ใช้แบรนด์ไฮเอนด์อยู่แล้ว จึงซื้อมาวิจัยเกือบทุกแบรนด์ เพราะโปรดักท์แต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน อย่างผลิตภัณฑ์ไบรเทนนิ่ง บางแบรนด์เคลมว่าช่วยลอกผิวอีกแบรนด์การันตีว่าลดสีผิวเข้มผิดปกติตรงเม็ดเมลานินเลย ก็ต้องซื้อมาลองว่าจริงไหม

ช็อปสุดตัวเพื่องานวิจัย กรุเมคอัพกว่าหมื่นชิ้นของ ศ.ภกญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์

พรอนงค์ อร่ามวิทย์

“ถ้าถามว่าทั้งชีวิตลงทุนซื้อเครื่องสำอางมากขนาดไหนที่จดไว้คร่าวๆ คือไม่ต่ำกว่า 8 ล้าน เป็นวีไอพีเกือบทุกแบรนด์ชีวิตนี้ใช้เครื่องสำอางทั้งเมคอัพและบำรุงผิวมาราวๆ 5,000 ชิ้น จากหลากหลายแบรนด์ทุกครั้งที่ลงทุนไม่เคยเสียดายเงินเลยเพราะเงินมีไว้ใช้ค่ะ (หัวเราะ)”

ดิฉันซื้อเครื่องสำอางทั้งจากในเว็บไซต์และเคาน์เตอร์ ถ้าเป็นแบรนด์ที่หาซื้อได้ตามเคาน์เตอร์ก็ซื้อในห้างเลย แต่ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีขายเฉพาะเมืองนอกก็จะสั่งทางอินเทอร์เน็ต เช่น Darphin (ดาฟาง) ที่ไม่มีขายในไทยแล้ว หรืออย่างเครื่องสำอางรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นของแบรนด์ SUQQU (ซุกกุ) ก็ต้องซื้อจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ดิฉันช็อปอินเทอร์เน็ตทุกวัน ถือเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่ง ยอมจ้างบริษัทรับ – ส่งของที่เมืองนอกให้ส่งมาทางเครื่องบิน เขาคิดกิโลกรัมละ 850 บาท

ปัจจุบันนี้ของก็ยังทยอยมาส่งทุกวัน เพราะเจออะไรน่าสนใจก็ซื้อเพิ่มเรื่อยๆ จนต้องสั่งแม่บ้านว่าห้ามลา เดี๋ยวไม่มีใครออกไปรับของ (หัวเราะ) ถ้าถามว่าทั้งชีวิตลงทุนซื้อเครื่องสำอางมากขนาดไหน ที่จดไว้คร่าวๆ คือไม่ต่ำกว่า 8 ล้าน เป็นวีไอพีเกือบทุกแบรนด์ ชีวิตนี้ใช้เครื่องสำอางทั้งเมคอัพและบำรุงผิวมาราว ๆ 5,000 ชิ้น จากหลากหลายแบรนด์ จนคิดว่าตัวเองน่าจะเป็นโรคช็อปอะฮอลิก (หัวเราะ)

พนักงานขายการันตีว่าอะไรดีก็ต้องซื้อค่ะ (หัวเราะ) อย่างแบรนด์หนึ่งที่ใช้แล้วเหมาะกับผิวตัวเองมากๆ ก็คือ Clè de Peau Beautè (เคลย์ เดอ โป โบเต้) เป็นครีมดูแลผิวระดับพรีเมียมชื่อ Synactif (ซินแนคทิฟ) ลงทุนซื้อทั้งชุดราว ๆ 300,000 บาท มีทั้งเดย์ครีม ไนท์ครีม บำรุงใต้ตา และเซรั่ม พอตัวใหม่ออกมาก็ซื้ออีก เคยรูดครั้งละล้านบาทก็มี โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเวลาเห็นลูกถือถุงเครื่องสำอางเข้าบ้านทุกวัน เคยมีคนแนะนำว่าให้ทำรีวิวสินค้าไปเลย แต่ส่วนตัวไม่คิดจะทำ เพราะเชื่อว่าไม่มีเครื่องสำอางชนิดไหนที่เหมาะกับทุกคน สิ่งที่เราว่าดีอาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่นก็ได้

นอกจากการซื้อเครื่องสำอางแล้ว ดิฉันยังชอบไปนวดหน้าด้วยใครว่าที่ไหนดีต้องไปขอลอง เพราะว่าการนวดเป็นการพิสูจน์ว่ากลไกการทำงานของครีมออกประสิทธิภาพดีขนาดไหนด้วย บางที่ใช้มือ บางที่ใช้เครื่อง อย่างเวลานวดหน้าที่แบรนด์ซุกกุ นั่นคือซื้อผลิตภัณฑ์นวดหน้าราว ๆ 40,000 บาท นวดได้ประมาณ 20 ครั้ง ในระหว่างนั้นครีมอาจจะหมดก่อน เพราะคนนวดอาจจะควักเยอะ ควักน้อย ก็ต้องซื้อเติมทุกครั้งที่นวด บอกเลยว่าไม่เคยหลับ เพราะสัมภาษณ์คนนวดตลอดว่าเขาใช้เครื่องอะไร นวดท่าอะไร รู้ประวัติคนที่นวดทั้งหมด ทำอาชีพอะไรมาก่อน นวดมากี่ปี คุยกันจนกระทั่งค้นพบแหล่งวัตถุดิบเพื่อการวิจัยเพราะคนนวดส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ทุกคนทำไร่ ทำสวน เช่น บางคนทำไร่น้ำมันปาล์ม เราก็บอกเขาว่า พี่อยากได้น้ำมันปาล์ม ขอซื้อจากไร่ของคุณได้ไหมฯลฯ

เพราะฉะนั้นเวลานวดถือว่าเป็นช่วงเวลาทองได้ข้อมูลที่ดีกว่า ที่สำคัยคือ เขายอมบอกข้อมูลของผลิตภัณฑ์จริงๆ ว่าดีไม่ดีอย่างไร เคยมีเหมือนกันที่ซื้อมาทดลองแล้วไม่เหมาะกับผิวตัวเองก็จะยกให้ลูกศิษย์ไปทดลองใช้ เพราะไม่ดีกับเรา อาจจะดีสำหรับเขาก็ได้”

วิจัย…ให้ใจ ไม่อั้นงบ

พรอนงค์ อร่ามวิทย์

วิธีศึกษาคือทาที่ผิวเราเลย โดยทั่วไปผิวหนังใช้เวลาผลัด 21 วันก็ต้องทาให้ครบวัน แล้วค่อยเปลี่ยนแบรนด์ ทุกครั้งจะใช้เครื่องมือ ชื่อเครื่องคิวโตมิเตอร์ วัดค่าความชุ่มชื่นของผิวว่าเพิ่มขึ้นหรือเปล่า รอยย่นที่ผิวหน้าเป็นอย่างไร ความกระจ่างใสเป็นอย่างไร เพราะไม่สามารถวัดด้วยความรู้สึกได้ ต้องใช้เครื่องมือที่ให้ผลแม่นยำ และต้องทดลองทาในเวลาเดียวกันทุกๆ วัน ผลลัพธ์จะออกมาเป็นตัวเลขว่าความกระจ่างใสดีขึ้นไหม ทนต่อแสงแดดได้กี่ชั่วโมง ซึ่งเครื่องนี้จะเปลี่ยนหัววัดได้ เช่นหัววัดความแดง (ในกรณีที่เป็นสิว) วัดความดำ (ในกรณีที่เป็นฝ้า กระ) ราคาเครื่องอยู่ที่ 800,000 – 900,000 บาท ส่วนหัวเปลี่ยนต้องซื้อแยกอีกต่างหาก ราคาแต่ละหัวอยู่ที่ประมาณ 300,000 – 400,000 บาท

ที่ยอมลงทุนขนาดนี้เป็นเพราะความสนใจล้วนๆ เวลาจะซื้ออุปกรณ์ทดลองชิ้นใหญ่ๆ จะขอเป็นของขวัญวันเกิดจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ (ยิ้ม) มีอยู่ปีหนึ่งขอของขวัญเป็นตู้เย็นรุ่นพิเศษที่มีอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส ราคากว่าล้านบาท ที่แพงขนาดนี้เพราะตู้เย็นปกติส่วนใหญ่อุณหภูมิติดลบจะอยู่ราว ๆ -20 ถึง -40 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ในการทดลองเราจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างไว้ในอุณหภูมิที่ -80 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต้องคงที่ตลอด ซึ่งเขาจะมีมอนิเตอร์วัดอย่างชัดเจนเลยว่าตอนนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ถ้าเราเก็บในตู้เย็นธรรมดา งานวิจัยอาจจะคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับความผิดพลาด

ส่วนการวิเคราะห์เครื่องสำอางนั้นจะดูที่ส่วนผสมเป็นสำคัญว่าตัวไหนน่าสนใจ แล้วนำมาวิเคราะห์ในแล็บ ถ้าเห็นว่ามีสารตัวไหนน่าสนใจ มีคุณสมบัติการบำรุงผิวที่ดี ก็จะพยายามหาสมุนไพรไทยที่ออกฤทธิ์คล้ายกันมาปรับใช้ เพราะสมุนไพรไทยบ้านเราสุดยอดอยู่แล้วเช่น ตอนที่ทำวิจัยเรื่องโปรตีนกาวไหมเพื่อนำมารักษารอยแผลเป็น ซึ่งได้รับรางวัลวิจัยระดับโลกจากเวที Grand Prize จาก Korea Invention Promotion Association: KIPA ต้องหาว่าไหมตัวไหนสร้างคอลลาเจนสูงสุดซึ่งในประเทศไทยมีไหมกว่า 400 สายพันธุ์ ต้องวิคราะห์ทุกสายพันธุ์ โดยจ้างชาวบ้านเก็บมาทดลอง เมื่อรู้แล้วว่าสายพันธุ์ 1/1 ดีที่สุด ก็จะจ้างให้ชาวบ้านเลี้ยงส่งให้เราเลย

ซึ่งช่วงแรกของการทำงานวิจัยนั้น เราไม่สามารถทำเรื่องเบิกงบการทำงานได้ทั้งหมด สมมุติว่าต้องจ้างชาวบ้านเก็บไหม 5 พื้นที่ ทำเรื่องเบิกได้พื้นที่เดียว นอกนั้นต้องออกเอง ถ้าถามว่าออกเงินส่วนตัวไปเท่าไหร่ บอกเลยว่ามีใบเสร็จที่ยังเบิกไม่ได้ราวๆ 3 ล้านบาท แต่ถ้าเราใช้งบประมาณมาเป็นตัวตั้ง งานวิจัยทุกชิ้นคงไม่มีทางเกิดแน่นอนค่ะ เพราะงานวิจัยต้องแข่งกับเวลา และทั่วโลกก็ทำเหมือนกันทั้งนั้น อาจเป็นความโชคดีของตัวเองที่มีทุนทรัพย์บ้าง เมื่อเราได้งานวิจัยที่ดีและมีประโยชน์ ก็สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่บริษัทที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากเราได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มงานให้แก่ชุมชนเพิ่มผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกด้วย”

เงินไม่ได้มีไว้เก็บ

ทุกครั้งที่ลงทุนกับงานวิจัยไม่เคยเสียดายเงินเลย เพราะเงินมีไว้ใช้ค่ะ (หัวเราะ) เงินไม่ใช่พระเจ้า คุณแม่สอนเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือความสุข ไม่ใช่เงิน ถ้าตัดสินใจซื้อแล้ว จะเดินหน้าอย่างเดียวไม่เคยเสียดาย ถ้าซื้อแล้วไม่ชอบถือเป็นการเรียนรู้ เช่น ตอนที่ทำงานวิจัยชิ้นแรกได้รับทุนมาเพียง 250,000 บาท แต่ต้องใช้เงินจริง ๆ เป็นล้านตอนนั้นก็ลังเลว่าจะทำดีไหม แต่คุณแม่บอกว่าทำเลย ถ้าพลาดก็คือพลาด อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ว่าทฤษฎีของเราถูกหรือผิด เพราะความรู้สึกทดแทนไม่ได้ด้วยเงิน


ที่มา : นิตยสารแพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up