WOMEN CAN CHANGE THE WORLD 3 ผู้หญิงเก่งแห่งอ่าวไทย

WOMEN CAN CHANGE THE WORLD 3 ผู้หญิงเก่งแห่งอ่าวไทย

เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยหญิงคนแรกในอ่าวไทย วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตพลังงานของประเทศ และสาวอักษรผู้หันเหเส้นทางสู่การเป็นนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม ทั้งหมดนี้คือ บทบาทสุดท้าทายของ “3 ผู้หญิงเก่งแห่งเชฟรอน” หนึ่งในพลังคนไทยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภารกิจสำรวจและผลิตพลังงานสุดเข้มข้นในอ่าวไทย

  • การผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อกว่า 36 ปีที่แล้ว ณ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ในอ่าวไทย ที่ดำเนินงานโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
  • ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณถูกนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

สา-ปุณณดา กนกรัตนโชติ (ที่ปรึกษาด้านความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน) ผู้หญิงคนแรกที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย

สาเริ่มงานที่เชฟรอนในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียม เมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีหน้าที่ดูแลให้การทำงานบนนั้นมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยเราเป็นพนักงานผู้หญิงคนแรกที่ประจำอยู่ที่แท่นขุดเจาะกลางทะเลในอ่าวไทย ช่วงแรกไม่ง่ายเลย เพราะพนักงานที่เหลืออีกประมาณ 120 คน เป็นผู้ชาย ตอนแรกๆ ทุกคนหนีเราหมด เนื่องจากไม่เคยมีผู้หญิงอยู่ที่นั่นกับเขาครั้งละ 2-4 สัปดาห์มาก่อน และเขามองว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมีหน้าที่ตรวจหาสิ่งผิด แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยของเชฟรอนไม่ได้มองหาจุดบกพร่อง หรือมุ่งจับผิด เราทำงานกันเป็นครอบครัว เพื่อช่วยดูว่ามีอันตรายแฝงอะไรบ้างและทำการแก้ไข เช่น สลิงที่ใช้มีสภาพไม่เหมาะสม อาจทำให้การทำงานไม่ปลอดภัย แต่คนที่อยู่หน้างานทุกวันอาจไม่สังเกต จึงเป็นความท้าทายตั้งแต่ก้าวแรกของเราที่ต้องทำให้เขาเชื่อใจว่า เราคือทีมเดียวกัน

เวลาแห่งการชนะใจ

ช่วง 6 เดือนแรกเป็นเวลาทดสอบเลย ซึ่งพอได้ทำงานด้วยกัน พนักงานที่แท่นขุดเจาะก็ค่อยๆ เปิดใจ จากที่เห็นเราแล้วเดินหนี ก็เริ่มทักทาย ยังจำได้ว่า พี่ที่แท่นคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ประกาศเสียงตามสาย วันหนึ่งเขาพูดผ่านไมโครโฟนว่า ‘คุณสา มิสอ่าวไทย เราจะประชุมเรื่องความปลอดภัยนะ คุณช่วยมาที่ห้องประชุมหน่อย’ นั่นแสดงว่า เขารู้สึกว่า เราคือเพื่อนของเขาแล้ว จากนั้นทุกคนก็เรียกเราว่า มิสอ่าวไทยกันหมด เพราะเราเป็นมิตรกับทุกคน และเหมือนเป็นทูตวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย จึงถูกแซวว่า สวยที่สุดในอ่าวไทย เพราะมีผู้หญิงคนเดียว (หัวเราะ)

พอทำงานได้ 4 ปี ก็กลับมาประจำสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และได้ทุนจากบริษัทไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมความปลอดภัย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ได้โปรโมทเป็นหัวหน้าทีม หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสไปทำงานที่เมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่ง Process Advisor และย้ายกลับมาทำงานที่เมืองไทยในปี 2016 ซึ่งสาไม่คิดจะย้ายไปทำงานกับบริษัทไหนอีก เพราะเชฟรอนเป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานเยอะมาก ในแต่ละปีจะมีโปรแกรมฝึกอบรมต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องงาน รวมถึงชีวิตส่วนตัว โครงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกเชิงบวกยังมีเลยค่ะ

ความสำเร็จคือ ทุกคนเชื่อในสิ่งเดียวกัน

ความสำเร็จที่สุดคือ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ทำให้ทุกคนรู้ว่า การปฏิบัติตามกฎไม่ได้เป็นแค่เรื่องระเบียบของบริษัทเท่านั้น แต่เพื่อที่ทุกคนจะได้กลับไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย จนวันนี้เราแทบไม่ต้องคอยเตือนแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาก บางทีเป็นฝ่ายบอกเราก่อนด้วยซ้ำว่า มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง และถ้าหากเห็นการทำงานที่อาจทำให้เกิดอันตราย พนักงานทุกคนก็จะแจ้งให้เพื่อนร่วมงานหยุดทำงานได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า อีกฝ่ายจะมีตำแหน่งสูงกว่าก็ตาม ทำให้ตลอด 56 ปีของเชฟรอนไม่เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กรแล้วค่ะ

แจน-ศมวิภา โล่ห์ทองคำ จากเด็กอักษรศาสตร์สู่การเป็นนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม

แจนสนใจเรื่องภูมิศาสตร์ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์แล้วค่ะ เลยเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ในสาขา Geographical Information Science (GIS) หลังจากเรียนจบ เป็นช่วงเดียวกับที่เชฟรอนกำลังตั้งทีม GIS พอดี จึงได้เข้าทำงานในตำแหน่ง GIS Analyst หรือที่เรียกว่า นักวิเคราะห์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อยู่ในฝ่ายไอที มีหน้าที่ดูแลฐานข้อมูลและทำงานเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นแผนที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย การวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเส้นทางการเดินเรือซึ่งสามารถแสดงผลได้แบบเรียลไทม์

หลังจากทำงานได้ 4 ปี แจนมีโอกาสได้ร่วมงานกับแผนก Exploration and New Ventures ส่วนงานภูมิภาคเอเชียใต้ ทำหน้าที่สนับสนุนการหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เช่นที่ประเทศพม่า แจนได้ช่วยออกแบบการเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยาภาคสนามโดยเขียนแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้สามารถทำงานในพื้นที่ที่ไร้สัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ และสามารถส่งข้อมูลภาคสนามเพื่อนำมาประมวลผลได้ทันที

โอกาสมาถึงคนที่พร้อมเสมอ

พอได้ทำงานกับนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม ทำให้แจนชอบงานแขนงนี้มาก จึงหาหลักสูตรเรียนต่อปริญญาโทแบบออนไลน์ ในสาขาธรณีวิทยาปิโตรเลียม ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ และยื่นขอทุนเรียนจากบริษัท จนได้รับทุนเรียนในปี 2015 ซึ่งใช้เวลาในการเรียนเกือบ 3 ปี

“พอเรียนจบ พนักงานต่างชาติประจำแผนกธรณีวิทยาปิโตรเลียมคนหนึ่งต้องกลับประเทศ แล้วเขามีความพิเศษคือ เป็นทั้งโปรแกรมเมอร์ และเก่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยา ซึ่งตอนนั้นเราเรียนจบด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียมพอดี จึงได้โอกาสมาทำงานนี้ แน่นอนว่า คงไม่เก่งเท่ากับคนที่มีประสบการณ์มา 30 ปี แต่บริษัทเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ และเราก็พร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ด้วย

ความท้าทายที่อ่าวไทย

หนึ่งในความท้าทายของหน้าที่นี้ คือ ความแม่นยำในการหาพิกัดของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่อยู่ภายใต้พื้นทะเลลึกลงไปเป็นระยะทาง 3-4 กิโลเมตร และด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยมีความซับซ้อน แหล่งก๊าซธรรมชาติที่เจอกลับอยู่ในกระเปาะเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์ของไอทีและธรณีวิทยาเพื่อหาพิกัดในการวางหลุมเจาะที่ทำให้การขุดเจาะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของที่นี่ คือ ทำงานด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น โดยไม่ตีกรอบวิธีคิด เพื่อนร่วมงานก็ดีมาก ถึงแม้อยู่คนละแผนก แต่ถ้ามีเรื่องต้องขอความช่วยเหลือ ทุกคนก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

เพราะที่เชฟรอน เราเชื่อว่า ถ้าช่วยเหลือกัน เราจะประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ก้าวแรกของ ตอง-จีรดา นิยมแก้ว กับบทบาทวิศวกรโครงสร้างและอุปกรณ์การผลิต

ตองเริ่มงานในตำแหน่งวิศวกรโครงสร้างและอุปกรณ์การผลิต เมื่อ 9 ปีที่แล้วค่ะ มีหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่แท่นผลิต เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย โดยประจำอยู่ที่ออฟฟิศกรุงเทพฯ แต่หากเกิดปัญหาที่หน้างาน หรือมีการหยุดผลิตประจำปีเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ก็ต้องเดินทางไปที่แท่นผลิต

36 ปี แหล่งเอราวัณ ที่ไม่เคยหยุดส่งมอบพลังงานให้กับคนไทย

งานหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับตองคือ การดูแลแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เนื่องจากมีอายุการใช้งานมามากกว่า 36 ปี และถือเป็นศูนย์กลางผลิตก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย เนื่องจากก๊าซจากแหล่งอื่นๆ จะถูกส่งผ่านท่อมาที่นี่ ก่อนจะถูกส่งผ่านท่อใต้ดินของ ปตท. ไปยังโรงแยกก๊าซของ ปตท. ที่จังหวัดระยอง เอราวัณจึงเปรียบได้กับ Hub ใหญ่ของการผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่เชฟรอนให้ความสำคัญในการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด โดยมีการตรวจเช็คเครื่องจักร และอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนการนำรถยนต์ไปเช็คระยะที่ศูนย์ตามตาราง วิศวกรของเชฟรอนก็ดูแลแท่นเอราวัณอย่างเข้มข้นในลักษณะนั้น โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอัพเกรดระบบให้ทันสมัย และมีความปลอดภัยมากขึ้น

เนื่องด้วยปริมาณก๊าซสำรองเริ่มลดน้อยลงจากการผลิตอย่างต่อเนื่องถึง 36 ปี ทีมของตองยังต้องวางแผนเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสอดรับกับกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในช่วงแรกของการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ สัดส่วนของก๊าซต่อหลุมมีมากกว่าน้ำที่ปะปนเข้ามา แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำกลับเพิ่มมากขึ้น ทางทีมต้องวางแผนจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อคัดแยกน้ำเพิ่มขึ้น เช่น ติดตั้งปั๊มน้ำและถังแยกสถานะที่มีขนาดใหญขึ้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย

ท้องทะเลแห่งนวัตกรรม

บริษัทมีระบบให้เครือข่ายเชฟรอนทั่วโลกได้อัพเดทเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่า เราเป็นฝ่ายรับความรู้อย่างเดียวนะคะ เทคโนโลยีบางอย่างก็เกิดขึ้นที่อ่าวไทย ยกตัวอย่างนวัตกรรมในการขุดเจาะให้รวดเร็ว และแม่นยำ จากเดิมที่ใช้เวลาขุดเจาะหลุมละ 60 วัน ตอนนี้ลดลงเหลือเพียง 4-5 วันเท่านั้น ตองกล้าพูดว่า ประเทศไทยเยี่ยมที่สุด และได้แชร์วิธีการนี้กลับไปยังเชฟรอนทั่วโลก

ความภูมิใจของวิศวกร

ความภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่คือ ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันที่เราดูแลกระบวนการผลิตให้ราบรื่นนั้น ได้ถูกใช้เป็นพลังงานหลักของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่หลักๆ ถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า พวกเราทำงานกันหนักเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ใช้พลังงานเหล่านี้

นี่คือความภูมิใจของพนักงานเชฟรอนทุกคน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up