วันสตรีสากล หรือ International Women’s Day นอกจากจะเป็นวันเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงในหลากหลายแง่มุมแล้ว โดยวันนี้ยังเป็นวันรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยุติการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง

ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล
ในอดีตวัฒนธรรมทั่วโลกมักกำหนดบทบาทของผู้หญิงให้เป็นผู้ดูแลบ้านและครอบครัว ดังนั้นบทบาท “ช้างเท้าหลัง” จึงถูกมองว่าเป็นหน้าที่หลักของผู้หญิงขณะเดียวกันยังมีความเชื่อและค่านิยมที่มองว่า การที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านคือการละเลยหน้าที่ รวมถึงยังถูกมองว่าเป็นการแย่งงานของผู้ชายด้วยแต่เมื่อสงครามเริ่มก่อตัวไปทั่วโลก จนเกิดการขาดแคลนแรงงานชาย ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการถูกกดขี่และการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ
เหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1908 ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กลุ่มกรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าจำนวน 15,000 คน ได้นัดกันหยุดงานและลุกขึ้นเดินขบวนประท้วง จากการถูกเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน โดยที่ผ่านมาพวกเธอต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงเล็กน้อย ส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก
แม้เหตุการณ์นี้จะทำให้มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก ส่งผลให้การผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน สามปีต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมีการรับรองข้อเรียกร้อง ผลจากการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การที่แรงงานหญิงได้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง และพวกเธอยังได้ค่าแรงเท่าเทียมกับผู้ชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก
วันสตรีสากลในประเทศต่างๆ
สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้หญิงจะได้รับสิทธิ์หยุดงานครึ่งวันตามกฎหมาย นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งยังให้สตรีและเด็กเข้าชมฟรี ประเทศอิตาลี เพื่อแสดงความรักและความเคารพ ผู้ชายมักมอบดอกมิโมซ่าสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของวันสตรีสากลให้กับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมีนาคมถือเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละปีประธานาธิบดีจะออกมายกย่องความสำเร็จของสตรีอเมริกัน และประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง ในทุกปีกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบรางวัลสตรีดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล