หนึ่งในกระแสของปีนี้ คือการปรากฏตัวของ อาจารย์เบียร์ ฅนตื่นธรรม อดีตหมอดูที่ผันตัวมาเป็นผู้ศึกษาและถ่ายทอดธรรมะด้วยการถาม-ตอบในลีลาเดือดดุ
แน่นอนว่าเมื่อเป็นเรื่องของศาสนาและความเชื่อ จึงเกิดหลายฟากความเห็น ฝั่งที่สนับสนุนบอกว่าสิ่งที่อาจารย์เบียร์พูดมีเหตุผลตรงไปตรงมา ขณะที่ฝ่ายไม่ชอบ บอกว่าขัดกับความเชื่อดั้งเดิม รวมถึงวิจารณ์ถึงการใช้ภาษาที่ไม่รื่นหู แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อย่างน้อยสังคมเกิดการ ‘ตื่น’ ที่จะใฝ่หาคำตอบเรื่องธรรม
ที่มาของสไตล์คนตื่นธรรม
“อาจารย์เคยฟังคำสอนของหลวงตามหาบัว สังเกตว่าที่คนฟังมากอาจเพราะท่านเล่าจากประสบการณ์ ไม่ใช่สอน อาจารย์จึงใช้วิธีนั้น ทำให้ถามไวตอบไว ผิดน้อย เพราะตอบจากใจและจากการฝึกของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิดเลย ถ้าพลาด แล้วมีใครติง เตือน ก็ขอโทษ
“สำหรับสไตล์การพูด อาจารย์สังเกตว่า ขนาดท่านเป็นพระยังสอนหนักๆ ได้เลย เราเป็นฆราวาส สามารถรุนแรงได้มากกว่า จึงหยิบอาการนั้นมาใช้ สาเหตุมาจากเจตนาที่อยากให้คนฟัง ถ้าเราพูดดีมาตลอด วันหนึ่งเขาทำไม่ดีแล้วมาขอคำปรึกษา หากด่าไป โดยที่เขาไม่เคยเห็นโหมดอันตรายของเรามาก่อน เขาอาจคิดว่า ที่ผ่านมาสร้างภาพเหรอ เขาจะรับไม่ได้ แล้วหายไป ซึ่งนั่นคือเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงสมัยที่อาจารย์พูดจาดี เพราะฉะนั้น ใครรับได้ก็ฟัง รับไม่ได้ก็ไม่ต้องฟัง ให้เกลียดตั้งแต่แรก ไม่ใช่ฟังไปสักพัก แล้วค่อยเกลียด ที่สำคัญการสอนธรรมะไม่เกี่ยวกับวาจา แต่เกี่ยวกับหลักเนื้อความตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเนื้อธรรมของพระองค์ท่านคืออะไร”
บางคำสอนอาจขัดกับความเชื่อดั้งเดิม จนเกิดดราม่า เวลาเจอคำติ รับมืออย่างไร
“ต้องทิ้งอารมณ์ คือถ้าเราฝึกมาแล้วว่า จะไม่ยินดี ยินร้ายกับอารมณ์ใด เพราะเรามีความเมตตาสงสารต่อการสั่งสอน อาจารย์หยิบยกกริยาอาการของการดุด่าว่ากล่าวเพื่อมาสั่งสอนให้เขารู้สึกตัวเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นการทิ้งอารมณ์เหล่านี้ไม่ยากเพราะเราฝึกในการเจริญเมตตา
“ถ้าถามว่ามีอารมณ์ขุ่นมัว โกรธบ้างไหม มีอยู่แล้วเพราะเราทุกคนยังมีความโกรธ แม้กระทั่งโสดาบันก็ยังมี แต่ไม่ได้โกรธภายใต้บริบทเบียดเบียนเขา ด้วยการผิดศีล 5 หรือการผิดกุศลกรรมบถ 10 (หลักธรรมแห่งความเจริญในชีวิต) เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวว่าโกรธก็จะทิ้ง แล้วใช้สติสัมปชัญญะในการตอบคำถาม ดึงเข้าหมวดธรรม การสอนของอาจารย์ ไม่ได้ด่าเพื่อสนุก สะใจ ทำร้ายทำลายใคร แต่ด่าเพื่อติติงตามธรรม ให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง บางคนชอบถามว่าทะเลาะอะไรกัน อาจารย์โกรธใคร ซึ่งความจริงไม่ได้โกรธ เวลาด่าก็ด่าไป แต่พอหันมาที่คำถามใหม่ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเปลี่ยนเสียง เจตนาในการเปลี่ยนเพื่อให้เห็นว่า ตั้งใจกับเรื่องใหม่แล้ว สองไม่ได้โกรธกับอารมณ์นั้น แค่อาศัยอากัปกริยาและไม่ใช่ด่าตัวคน แต่ด่าคำถาม”
คิดอย่างไรกับชื่อเสียงขณะนี้
“ตอนที่มีดารามาขอถ่ายรูป ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า กูคือใครวะนี่ ทำไมเขาสนใจ มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เราไม่รู้กระแสความดังของตัวเอง เพราะไม่ค่อยเล่นโซเชียล จะมีลูกศิษย์ส่งมาให้ แต่ก็พยายามรับรู้ว่า ของพวกนี้ไม่ได้มีประโยชน์ ไม่ได้ปลาบปลื้ม ปิติยินดี ไม่ได้รู้สึกว่า ดัง เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์กับการเข้าไปดังตรงนั้น ถ้าอาจารย์ดังแล้วเกิดรายได้ ก็คงจะอิน ขวนขวายให้ได้ตังค์
“หลายคนถามว่า อาจารย์เป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วนะ ค่าตัวในการไปบรรยายธรรม ออกรายการกี่บาท อาจารย์บอกเลยว่า อาจารย์ไม่มีค่าตัว ถ้าอยากให้ ให้ทำบุญเข้าบัญชีเงินกองกลางนะ ซึ่งเป็นบัญชีที่นำไปใช้ปฏิบัติธรรม อย่างล่าสุดงานกฐินก็ใช้เงินกองกลาง ประมาณ 140,000-150,000 เพื่อเป็นค่ารถบัส 19 คัน เพราะบางคนอยากมาฟังธรรม แต่ไม่มีปัจจัย เราอยากให้เขาได้ทำบุญ ได้ยิน ได้ฟังธรรม ก็ช่วยซัพพอร์ต หรือนำเงินไปซื้ออาสนะให้คนปฏิบัติธรรม ก็หมดไปเป็นหลักแสน อาจารย์ไม่หยิบมาใช้ จะแยกกับบัญชีส่วนตัวชัดเจน จะมีแอดมินจะคอยจดบัญชีแชร์สลิปการใช้จ่ายเงินในเฟซบุ๊กอย่างละเอียด ซึ่งวันหนึ่งที่ต้องไปบวช อาจารย์ไม่สามารถเก็บอาสานะ ข้าวของต่างๆได้อยู่แล้ว ก็จะบริจาคให้วัดที่ขาดแคลน แต่ถ้าขอ อยากขอค่าน้ำมันให้คนขับรถ สามารถโอนให้เขาตรงได้เลย เพราะเขาสละเวลามาช่วยเต็มเวลาโดยที่ไม่มีรายได้”
การบวชปลายปีหน้า เตรียมตัวถึงไหนแล้วคะ
“เตรียมมานานแล้ว ถึงเวลาบวชก็บวชได้เลย และการบวชวัดป่าไม่วุ่นวาย แค่อยู่ในผ้าขาวครบ 1 เดือน แล้วรอครูบาอาจารย์อนุญาตให้บวช ทุกอย่างที่วัดมีให้ครบสมบูรณ์ ถ้าใครอยากบวชแต่ไม่มีเงินก็บวชได้ วัดจะจัดการให้ทั้งหมด คิดว่าจะเตรียมตัวอีกทีคือตอนบวช ไม่ได้เตรียมเพื่อตัวเองนะ แต่เตรียมเพื่อลูกศิษย์ที่ตามไปงานบวชด้วย”
“ที่วางแผนไว้คือบวชอย่างน้อย 5 ปี อยากปลีกวิเวก หลีกเร้น หลังจากนั้นจะออกมาบอกสอนในฐานะพระ ก็ค่อยว่ากันอีกที”
จุดมุ่งหมายในการบวชครั้งนี้คืออะไร
“อย่างเดียวที่อาจารย์ปรารถนาคือ สู่มรรคผลนิพพาน ต้องการไปให้ถึงตัวสุดท้าย คือการละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์) ทั้ง 10 ข้อให้จบสิ้น รวมถึงทำหน้าที่กิจการงานของตนให้จบ เพราะตอนนี้ยังอยู่แค่ในช่วงเบื้องต้นเท่านั้น พยายามจะไปบวชเพื่อทำความเพียรให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเราไม่ได้ทำ แต่ถ้าจะเอื้อให้ถึงประโยชน์ของการภาวนาได้ดีที่สุด”
“การเป็นอาจารย์จะสอนคนอื่น ตัวเราต้องทำให้ได้ก่อน อย่างอาจารย์พูดว่าต้องรักษาศีล ก็ต้องทำให้ได้ ดังนั้นจะทำอะไรให้ถึงที่สุด ก็ต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป วันนี้อาจารย์สอนฆราวาส วันหน้าอาจารย์อยากจะสอนพระ เพราะพระเป็นเนื้อนาบุญโดยตรงในการสอนธรรม จะได้อยู่ในยุคที่พระกลับมาสอนธรรมะมากกว่าฆราวาส เพราะฉะนั้นถ้าจะสอนพระได้ก็ต้องเป็นพระก่อน นั่นคือจุดมุ่งหมาย เมื่อฆราวาสกับพระช่วยกันรวมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้พระศาสนารุ่งเรืองอีกครั้ง”
“อาจารย์ไม่คิดอยากปรับปรุงระบบ เพราะคงทำไม่ได้ แต่อยากสร้างใหม่ อย่างปัจจุบันเราสร้างให้ฅนตื่นธรรม เลิกความเห็นผิด ก้าวเข้าสู่ความเห็นถูกต้อง คนก็หันกลับมาสนใจคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น เพราะฉะนั้นสร้างใหม่ง่ายกว่าล้มล้างของเดิม”
สามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับเดือน ธันวาคม 2567
เรื่อง Fai
ภาพ อิทธิศักดิ์
ผู้ช่วยช่างภาพ ศักดินนท์ ปิตะฝ้าย