ปอม - ปิยพัทธ์

ปอม – ปิยพัทธ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ วัย 24 เจ้าของร้านไฟน์ไดนิ่ง “North Restaurant”

account_circle
ปอม - ปิยพัทธ์
ปอม - ปิยพัทธ์

ปอม – ปิยพัทธ์ อรรถวิภัชน์ แม้อายุเพียง 24 ปี แต่ปัจจุบันช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง “North Restaurant” ที่จับมือกับเชฟกระทะเหล็ก เชฟชุมพล นำอาหารเหนือมายกระดับให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปอม – ปิยพัทธ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ วัย 24 เจ้าของร้านไฟน์ไดนิ่ง “North Restaurant”

ลัดฟ้าปรับตัวรับจุดเปลี่ยน

“ครอบครัวผมทำธุรกิจหลายอย่าง คุณพ่อ (คุณปเรตร์) ทำด้านอสังหาริมทรัพย์ คุณแม่ (คุณอรกานดา) ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำรีสอร์ต และยังรับตำแหน่งผู้บริหารของไมเนอร์กรุ๊ปด้วย วันว่างบ้านเราชอบหาร้านอาหารอร่อยๆชิม
โดยเฉพาะโอมากาเสะกับไฟน์ไดนิ่งที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส เพราะผมกับคุณแม่มีความฝันอยากเปิดร้านอาหาร ย้อนกลับไปสมัยที่คุณพ่อกับคุณแม่แต่งงานกัน แล้วคุณพ่อต้องไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ คุณแม่ก็ขอพักธุรกิจที่บ้าน
เพื่อบินไปด้วย แล้วถือโอกาสนั้นลงเรียนทำอาหารที่สถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ 1 ปี

หลังจากนั้นท่านก็มีลูก จึงยังไม่มีเวลาลงมือเปิดร้าน กระทั่งตอนนี้ผมใกล้เรียนจบแล้ว คุณแม่จึงตัดสินใจทำร้าน North Restaurant เสิร์ฟอาหารเหนือแบบไฟน์ไดนิ่ง ที่สุขุมวิท 33 ร่วมกับเชฟกระทะเหล็ก เชฟชุมพล แจ้งไพร

“ย้อนกลับไปสมัยผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ ตอนนั้นผมมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ  จึงไปเข้าร่วมกับทีมฟุตบอลของโรงเรียนจนจบชั้นมัธยม ระหว่างนั้นยังได้เข้าร่วมทีมวอลเลย์บอล และได้เป็นกัปตันทีม
ด้วย นอกจากนี้คุณแม่ยังส่งเสริมให้เล่นกอล์ฟในเวลาว่าง เพื่อเป็นการเสริมทักษะเรื่องกีฬาหลายๆด้าน 

“ช่วงนั้นมีการแข่งขันฟุตบอลกับโรงเรียนนานาชาติอื่นๆ และไปแข่งขันที่ต่างประเทศ โดยทางโรงเรียนพาไปปีละครั้ง  คุณแม่ยังเคยส่งไปแคมป์ฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 เดือน ได้เจอเพื่อนๆที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก ครั้งนั้นทำให้ผมรู้ตัวว่าทักษะและสมรรถภาพทางกายสู้คนต่างชาติไม่ได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คิดว่าควรเดินเส้นทางอื่น

“กระทั่งช่วงเรียนต่อมหาวิทยาลัย ความที่คุณพ่อและคุณแม่จบการศึกษาจากประเทศอเมริกาทั้งคู่ ท่านจึงอยากให้ผมเรียนที่นั่นด้วย ที่สุดผมเลือกด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) เพราะคิดว่าจะนำไปต่อยอดได้ในอนาคต ตอนไปส่งคุณพ่อคุณแม่บินไปพร้อมกันเพื่ออยู่เที่ยวด้วย จำได้ว่าพอพวกท่านกลับผมรู้สึกเวิ้งว้าง ถือเป็นการอยู่คนเดียวในต่างแดนครั้งแรก แล้วยังต้องปรับตัวเยอะ จากที่เคยมีแม่บ้านทำให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะ
ซักผ้า ล้างจาน เปลี่ยนผ้าปูที่นอน รวมถึงกลับบ้านมาก็มีของกินรอไว้พร้อมกลายเป็นต้องทำเองทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างยากในเดือนแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเลยก็ว่าได้

“สักพักเริ่มสนิทกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น ได้ไปหาของอร่อยกินด้วยกันบ่อยๆ ผมรู้สึกว่าความที่เป็นคนเอเชียเหมือนกันจึงมีวัฒนธรรมการกินและการใช้ชีวิตคล้ายกัน เข้าใจกันมากกว่าชาวตะวันตก ปีถัดมาจึงย้ายออกไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน 
พร้อมกับเพื่อนชาวอเมริกันอีกคน ตอนนี้เองที่ผมเริ่มฝึกทำอาหาร แต่บอกเลยว่า ถนัดชิมมากกว่าครับ” (หัวเราะ)

ไฟน์ไดนิ่งอาหารเหนือกลางกรุง

“พอโควิด-19 ระบาดหนัก ผมตัดสินใจกลับประเทศไทยและเรียนออนไลน์ตอนนี้เรียนใกล้จบแล้วครับ (ยิ้ม) ช่วงนี้นอกจากเรียน อีกภารกิจหลักของผมคือดูแลร้านอาหาร เล่าย้อนไปถึงแรงบันดาลใจในการเปิดร้านสไตล์นี้ เพราะคุณแม่เป็นคนลำปาง จึงอยากนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบของภาคเหนือมายกระดับ แม้ในกรุงเทพฯจะมีร้านอาหารไทยสไตล์ไฟน์ไดนิ่งหลายร้าน แต่ยังไม่มีร้านไหนนำเสนออาหารเหนือ อย่างเวลาเพื่อนคุณแม่มาเที่ยวกรุงเทพฯก็จะถามว่าร้านอาหารเหนือที่ไหนอร่อย ซึ่งไม่สามารถตอบได้เต็มปาก นอกจากลงมือทำกินกันเองที่บ้าน

“เมื่อต้นปีที่แล้วผมกับคุณแม่ตัดสินใจเปิดร้านอาหาร โดยได้สถานที่มาจากเพื่อนสนิทผมที่เคยทำร้านอาหารแต่ปิดตัวไป ลักษณะร้านเป็นบ้านเรือนไทยอยู่ที่สุขุมวิท 33 ตรงกับความต้องการของเราที่อยากได้พื้นที่โซนสุขุมวิทอยู่แล้ว 
ยิ่งเป็นเรือนไทยก็ยิ่งเข้ากับสไตล์อาหาร โดยเราจัดการรีโนเวตใหม่ ปรับให้เป็นสไตล์ไทยล้านนา

“ต่อมาคือหาทีมเชฟ ตอนแรกคุณพ่อปรึกษากับเชฟชุมพล ซึ่งพอเล่าคอนเซ็ปต์ ปรากฏว่าตรงกับสิ่งที่เชฟชุมพลอยากทำพอดี จึงตัดสินใจร่วมงานกันถือเป็นโชคดีของเราที่ได้เชฟที่เก่ง มีประสบการณ์ทั้งการทำอาหารและด้านการบริการ  ที่สำคัญเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการนำเสนออาหารเหนือและอยากได้ดาวมิชลินสักดวง

“ร้านนอร์ทเปิดให้บริการแบบซอฟต์โอเพนนิ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาให้บริการอาหารรูปแบบคอร์ส (2,488 บาท++ ต่อคอร์ส) เสิร์ฟทั้งหมด 9 คอร์ส ซึ่งมีความพิเศษมากมาย ขอเริ่มที่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นทีมเชฟ ผู้จัดการ
ทีมเสิร์ฟ เราเลือกคนเหนือเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและความถนัดมากที่สุด ส่วนวัตถุดิบ

นอกจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เนื้อวากิวจากเมืองมิยาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เราพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากภาคเหนือทั้งหมด เช่น  ปลากะพงจากแม่น้ำน่าน ส้มสายน้ำผึ้งกับช็อกโกแลตจากเชียงใหม่ มะแขว่น (เครื่องเทศ ชูรสอาหาร) กับชาเขียวจากเชียงราย ฯลฯ เพื่อชูรสชาติของอาหารเหนือไว้ให้เหมือนต้นตำรับ นอกจากนี้เรายังมีความตั้งใจอยากช่วยเหลือเกษตรกร และยังได้ช่วยโปรโมตวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือด้วย

“เชื่อว่าหลายคนอาจแปลกใจที่ลงทุนทำร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งช่วงนี้ เพราะหากต้องปิดตามสถานการณ์ เราก็ไม่สามารถทำเป็นเดลิเวอรี่ได้ แต่ที่เรามั่นใจเพราะส่วนหนึ่งร้านนี้เป็นความฝันของคุณแม่กับผม เราศึกษาโมเดลธุรกิจ
ร้านอาหารมาเป็นปี ก่อนจะตัดสินใจทำร้านนี้ขึ้นมา และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวที่ประเทศไทย รวมถึงผู้คนก็ต้องออกมากินข้าวนอกบ้าน ส่วนด้านพนักงานเราตั้งใจดูแลทุกคน และทุกวันนี้อยู่ด้วยกันเหมือนคนในครอบครัว “เราจะผ่านไปด้วยกันครับ” (ยิ้ม)


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 983

Praew Recommend

keyboard_arrow_up