เจน ทิพย์วิภา เกิดมาเพื่อคราฟต์ …Born to be a Haute couture Designer

account_circle

ที่ภูมิใจคือ นอกจากลูกค้าคนไทยและต่างชาติ ยังมีเจ้าหญิงติดต่อมา ไม่ว่าจะเป็น เลดี้ คิตตี้ สเปนเซอร์นัดดาของเจ้าหญิงไดอาน่า, เจ้าหญิงมาเรีย-โอลิมเปีย แห่งกรีซและเดนมาร์ก, นิกกี้ ฮิลตัน รอธไชล์ด ในวินาทีนั้นคือกรี๊ดมาก

เจน ทิพย์วิภา เกิดมาเพื่อคราฟต์ …Born to be a Haute couture Designer

เกิดมาเพื่อคราฟต์

“เจนชอบแฟชั่นและรักศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เพราะชอบดูทีวีช่องแฟชั่น โดยเฉพาะงานคราฟต์ ที่มีเสน่ห์ตรงที่ต้องใช้ฝีมือและความละเอียดเป็นอย่างมากในการสร้างสรรค์ เจนจึงชอบงานเย็บปักถักร้อยและรู้ตัวเลยว่า  born to be มาสายนี้ ซึ่งทางบ้านไม่มีใครมาทางนี้เลยค่ะ อย่างคุณพ่อ ท่านทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ คุณแม่ทำโรงงานผลิตกางเกงยีนสำหรับส่งออก  ซึ่งต่างจากความสนใจของเจน ที่ชอบชิ้นงานละเอียดที่มีเพียงชิ้นเดียว พอรู้ตัวว่ามีความสนใจในด้านนี้ก็ได้เข้าเรียนคอร์สสั้นๆ เกี่ยวกับงานปักที่เมืองไทยและต่างประเทศ จริงๆหลักสูตรที่เรียนที่ต่างประเทศจะค่อนข้างแตกต่างจากบ้านเรามากเลยค่ะ ด้วยเทคนิค ไอเดียและดีไซน์ของเขา จะค่อนข้างเปิดกว้าง รวมไปถึงการนำสิ่งต่างๆมาประยุกต์ใช้ พอได้เรียนแล้วจึงชอบมากและรู้สึกว่ามีความสุขตลอดระยะเวลาที่เรียนเลยค่ะ”

“พอได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเรียนด้านดีไซน์ที่ London College of Fashion และในช่วงที่ใกล้จะเรียนจบเจนต้องทำโปรเจ็คต์พิเศษ โดยจะเป็นการสร้างชุดขึ้นมาทั้งหมด 6 ชุด ในทุกๆขั้นตอนของการจัดทำจะต้องทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่การหาข้อมูล การคิดดีไซน์ ทำแพตเทิร์น ตลอดไปจนถึงการตัดเย็บและงานปักที่จะมีบนตัวชุด โดยใช้ระยะเวลาในการจัดทำทั้งหมด 3 เดือนเลยค่ะ เป็นงานที่เหนื่อยและหนักมาก แต่กลับชอบ เพราะใจเจนอินกับงานที่มีรายละเอียดแบบนี้ จึงรู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้นว่า ตัวเองอยากทำชุดโอต์กูตูร์

เติมประสบการณ์กับแบรนด์โอต์กูตูร์

“หลังจากที่เรียนจบ 4 ปี เจนก็ได้รับโอกาสเข้าทำงานร่วมกับแบรนด์โอตกูตูร์ระดับโลกแบรนด์หนึ่งที่ลอนดอน ตลอดระยะเวลาที่ทำงานเจนได้ดูแลทุกขั้นตอน และทุกๆรายละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของการประสานงาน เช่น ประสานกับทีมเย็บ ทีมดีไซน์รูปทรง ทีมดีไซน์งานปัก รวมไปถึงเจนได้ร่วมออกแบบลวดลายของงานปักในตลอดระยะเวลาของการทำงานอีกด้วยค่ะ สิ่งที่เจนได้เรียนรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานดีไซน์ก็คือเทคนิคต่างๆที่ใช้สำหรับการปัก การตรวจเช็คงาน ความเรียบร้อย รวมไปถึงภาพรวมของชุดนั้นๆว่าสมบูรณ์แล้วหรือยัง เพราะถ้าเป็นงานโอตกูตูร์ต้องเช็คอย่างละเอียดในทุกๆตารางนิ้วเลยค่ะ”

“เจนโชคดีที่ตอนเข้ามาทำงาน มีทีมงานไม่มาก บวกกับหัวหน้าลาพักร้อน ก็เลยทำให้เจนต้องรับผิดชอบงานค่อนข้างเยอะ เรียกได้ว่า ดูงานภาพรวมทั้งหมดตลอดไปจนถึงการพูดคุยกับซัพพลายเออร์ของโรงปักและโรงผ้า เข้าประชุมกับหัวหน้าแผนกในแต่ละส่วน สิ่งเหล่านี้ทำให้เจนได้รู้จักคนเยอะและได้คอนเนคชั่นดีๆกลับมามากมาย และที่สำคัญก็คือเจนได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำชุดโอตกูตูร์อย่างละเอียดเลยค่ะ”

กำเนิด ‘ลาสเทล’ แบรนด์โอต์กูตูร์ของไทย

“หลังจากกลับมาประเทศไทย เจนได้ไปทำงานที่โรงงานกับคุณแม่ และรู้เลยว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวเรา ต่างจากที่เราเคยทำงานมาโดยสิ้นเชิง เพราะเราชอบงานออกแบบที่มีรายละเอียด และอยากทำงานคราฟต์งานออกแบบที่เราถนัด เจนจึงตัดสินใจทำแบรนด์โอต์กูตูร์ของตัวเอง ภายใต้ชื่อ ลาสเทล (L’Astelle) ค่ะ สำหรับคำว่า L’Astelle ดัดแปลงมาจากคำว่า Astelle ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ แปลว่า Atelier หรือห้องทำงานศิลปะ และนำมาดัดแปลงให้กลายเป็นคำใหม่ที่คงไว้ซึ่งความหมายเดิม จึงเติม L’ เข้าไป เป็นที่มาของ L’Astelle”

“สำหรับแบรนด์ ลาสเทล เจนออกแบบทั้งชุดออกงานและชุดเจ้าสาว โดยเน้นความเรียบหรู ความละเอียดและประณีต ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติและมีคนไทยด้วย โดยระยะเวลาในการทำงานจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในเรื่องของดีไซน์และรายละเอียดของงานปัก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ชุดจะใช้ระยะเวลาในการจัดทำประมาณ 3 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ โดยเจนจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับลูกค้าด้วยตัวเอง ออกแบบ และไกด์สไตล์ที่อยากได้ แนะนำ และเริ่มจัดทำชุด รวมไปถึงการทำงานกับช่างปัก ที่โรงปัก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสด้วยค่ะ เจนเลือกที่จะส่งไปปักที่โรงปักประเทศฝรั่งเศส เพราะความเนียบและได้มาตรฐาน  ช่างที่นั่นมีชั่วโมงการทำงาน 2,000 ชั่วโมงขึ้นไป และเราใช้โรงปักโรงเดียวกันกับที่ปักให้แบรนด์โอต์กูตูร์ระดับโลกเลยค่ะ”

ซึ่ง L’Astelle ถือว่าเป็นแบรนด์ไทยเพียงแบรนด์เดียวที่ได้ปักที่นี่ และ เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ในเอเชียเลยค่ะ ตลอดระยะเวลาในกระบวนการปัก ทางฝรั่งเศสจะถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ อัพเดทชุดกับเจนตลอด เพื่อให้ดูว่ามีส่วนไหนที่ต้องแก้ไขแล้วค่อยส่งกลับมากรุงเทพฯ และเมื่อพอชุดมาถึงเมืองไทย ก็จะส่งกลับมาเป็นชิ้นแพตเทิร์นค่ะ เราจะต้องประกอบเข้าด้วยกันเพื่อเป็นตัวชุดอีกที ลูกค้าจึงจะต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อตัดชุด โดยเราจะปรับให้เหมาะสมกับรูปทรงของลูกค้า  ส่วนชุดเจ้าสาวอาจจะต้องวางแผนนานกว่านั้น เพื่อพูดคุยเรื่องละเอียดด้วยค่ะ”

“ถ้าถามว่า เจนชอบขั้นตอนการทำงานไหนมากที่สุด ต้องบอกว่าชอบทั้งหมดเลยค่ะ ตั้งแต่กระบวนการในการหาข้อมูล หาไอเดีย อย่างเช่น ถ้าทำคอลเล็คชั่นที่อินสไปร์จากดอกไม้ ก็จะหาดอกไม้หลายๆ แบบเพื่อมากศึกษา ดูทั้งเรื่องของสีสัน รูปทรง และคิดว่าจะประยุกต์กับชุดอย่างไร เป็นต้นค่ะ”

แบรนด์ไทยที่เจ้าหญิงเลือกสวมใส่

“ Love sonnet เป็นคอลเล็คชั่นแรกของเรา และทำให้หลายๆ คนรู้จักแบรนด์ลาสเทลมากขึ้น โดยดีไซน์ของเสื้อผ้าเล่าถึงความสวยงามของความรัก โดยใช้ระยะเวลาในการออกแบบนานกว่า 1 ปี เจนได้แรงบันดาลใจมาจากการไปทริปที่ประเทศเยอรมันนีและได้ชมความสวยงามของพระราชวังต่างๆ

สำหรับคอลเล็คชั่นนี้ จะมีทั้งชุดเจ้าสาวและชุด Ready to wear เลยค่ะ ซึ่งไฮไลต์ของเราก็คือชุดฟินาเล่ที่มีความยาวทั้งหมด 3 เมตรครึ่ง และใช้เวลาจัดทำค่อนข้างนานเลยค่ะ เพราะเทคนิคในการปักค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งเราส่งปักที่ฝรั่งเศส และปักด้วยคริสตัลจำนวนมากกว่า 10,000 ชิ้น โดยใช้ช่างฝีมือจากฝรั่งเศสราวๆ 50 ท่านเลยค่ะ รวมไปถึงการทำดอกไม้สามมิติ ที่ต้องค่อยๆ ประดิษฐ์ด้วยมือทีละชิ้น จึงทำให้การเย็บประกอบชุดจึงต้องระวังมาก โดยใช้เวลาในการจัดทำทั้งหมด 4,800 ชั่วโมง และเราก็ได้ไปเปิดตัวคอลเล็คชั่นนี้ที่ โรงแรม InterContinental Paris Le Grand ณ กรุงปารีส เมื่อปี 2563”

“เรื่องที่น่าภูมิใจก็คือ แบรนด์ลาสเทลเป็นแบรนด์ไทยเพียงแบรนด์เดียวที่ เจ้าหญิงทรงติดต่อขอชุดไปถ่ายลงนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็น เลดี้ คิตตี้ สเปนเซอร์หลานสาวของเจ้าหญิงไดอาน่า ทางทีมสไตลิสต์ของท่านติดต่อมาว่า โปรดชุดของเรามาก ในวินาทีนั้นกรี๊ดมากเลยค่ะ โดยท่านสวมทั้งหมด 2 ชุด คือชุด Italian silk tulle ที่ใช้ผ้ากว่า 300 เมตร และ ชุดที่สอง สวมเดรสสีดำ มีดีเทลระบายช่วงคอ ท่อนบนปักประดับด้วยเพชรจาก Swarovski  และช่วงล่างซ้อนระบายด้วยผ้าตาข่ายเนื้อนิ่ม โดยใช้เวลาระยะเวลาผลิตไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมงเลยค่ะ”

 “ต่อมาคือเจ้าหญิงมาเรีย-โอลิมเปีย แห่งกรีซและเดนมาร์ก สวมชุดเบลเซอร์ Duchess silk satin สีฟ้าช่วงเอวตกแต่งด้วยคริสตัลจาก Swarovski ส่วนชุดที่สองทรงสวมชุด Royal silk  สีชมพูพาดไหล่ ปักประดับด้วยรูปทรงดอกไม้คริสตัล โดยทั้งสองชุดใช้เวลาทำไม่ต่ำกว่า 400 ชั่วโมง”

“นอกจากนี้ยังมี ดอนนา เบียงก้า แบรนโดลินี ธิดาของท่านเคานต์แห่ง Valmaren กับเจ้าหญิง Georgina แห่งบราซิล ก็สวมชุดเดรสสั้นสีดำปักประดับขนนกที่ถูกเบิร์นด้วยเทคนิคพิเศษของโอตกูตูร์ ใช้เวลาผลิตไม่ต่ำกว่า 150 ชั่วโมง และชุดที่สองทรงสวมชุดเดรสสีขาวที่ ใช้ขนนกกระจอกเทศที่มาจากฟาร์มประเทศอังกฤษ ด้วยกรรมวิธีธรรมชาติที่ไม่มีการทำร้ายหรือทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด โดยจะใช้วิธีค่อยๆ หวีให้ขนหลุด เพื่อช่วยพลัดการเกิดขนใหม่ จากนั้นนำขนนกกระจอกเทศที่ร่วงจากการหวีมาคัดอีกครั้ง เพื่อนำมาผ่านกระบวนการเบิร์นขนนกแล้วประกอบลงบนตัวชุด”

“รวมไปถึงคนดังอย่าง นิกกี้ ฮิลตัน รอธไชล์ด ที่สวมทั้งหมด 2 ชุดด้วยกันคือ ชุดเดรสซาตินสีทองปักประดับด้วยครัสตัล และเดรสยาวสีฟ้าผ้าชีฟองค่ะ”

“ส่วนคอลเล็คชั่นใหม่ที่กำลังทำ เจนต้องขออุบไว้ก่อน บอกได้แค่ว่า เราตั้งใจทำกันมากเลยค่ะ ทุ่มเทให้คอลเล็คชั่นนี้ประมาณปีกว่าแล้ว โดยใช้ทีมงานที่ทำชุดโอต์กูตูร์จากประเทศอังกฤษ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ ทีมปัก ทีมผ้า ทุกคนมีประสบการณ์ทำชุดโอต์กูตูร์จากแบรนด์ใหญ่ๆ มานานแล้ว และสำหรับคอลเลคชั่นนี้จะเล่าถึงความสดใสและความสุข เพราะเราสัมผัสได้จากสถานการณ์โควิด ที่แม้จะมีเรื่องราวแย่ๆ แต่ก็ยังมีแง่มุมสดใสแฝงอยู่ เจนได้นำดอกไม้มาใช้ในคอลเล็คชั่นนี้ด้วยค่ะ”

ชีวิตละเอียดเพราะคราฟต์

“ที่จริงงานคราฟต์ส่งผลถึงชีวิตเจนหลายๆ อย่างเลยค่ะ เพราะคราฟต์เป็นเรื่องของรายละเอียด เวลาทำงานเราต้องมองอะไรให้ลึก ไม่มองแค่เพียงผิวเผิน เพราะการสร้างสรรค์งาน ไม่ใช่แค่การทำชุด แต่เจนอยากทำผลงานให้เป็นงานศิลปะ และมีคุณค่า”

“เป้าหมายในการทำร้านคือ อยากให้ลูกค้ามีความสุขกับชุดที่สวมใส่ ในฐานะคนทำงานก็รู้สึกมีความสุขแล้วค่ะ เพราะเราตั้งใจทำชุดที่ดีที่สุด เพื่อวันสำคัญที่สุดของเขา”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up