ธัญญ่า เจียรวนนท์

สวย เก่ง รอบด้าน ธัญญ่า เจียรวนนท์ หลานสาวคนแรกของ เจ้าสัวธนินท์ แห่ง CP

account_circle
ธัญญ่า เจียรวนนท์
ธัญญ่า เจียรวนนท์

ธัญญ่า เจียรวนนท์ เธอเป็นหลานสาวคนแรกของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์… แต่เพราะ“เธอ” มีความฝัน อยากสร้างสรรค์บางสิ่ง ธัญญ่าจึงได้เปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์เงินเดือนเป็นนักพัฒนา อสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ วัย 20 ปลายๆ เจ้าของโครงการ มูลค่าเกือบ 5,000 ล้าน ด้านเจ้าสัวมารู้ทีหลังยัง“ทึ่ง”ในตัวหลานสาวคนนี้

สวย เก่ง รอบด้าน ธัญญ่า เจียรวนนท์ หลานสาวคนแรกของ เจ้าสัวธนินท์ แห่ง CP

เส้นทางชีวิต…ทายาท “เจ้าสัวซีพี”

“ครอบครัวเราอยู่ที่ฮ่องกง เพราะคุณพ่อ (สุภกิต เจียรวนนท์- ประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลูกชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์) พูดภาษาจีนกลางได้ จึงดูแลเรื่องการเจรจาธุรกิจซีพีในต่างประเทศ ทั้งเรื่อง การลงทุนในประเทศจีน ญี่ปุ่น รวมทั้งการซื้อบริษัทในยุโรปและอเมริกา ธัญญ่าจึงเติบโตที่ฮ่องกงตั้งแต่เล็กๆ โดยที่ท่านประธาน (เจ้าสัวธนินท์) และภรรยา (คุณหญิงเทวี) มาพักอยู่กับครอบครัวเราทุกเดือน เรียกว่าใกล้ชิดกันมาตลอด

โดยเฉพาะภรรยาท่านประธานเป็นคนขี้เล่น สนุกสนาน ถ้านั่งทานข้าวด้วยกันที่โต๊ะอาหารแล้วคุยเรื่องซีเรียส ท่านจะชอบพูดอำว่า ‘เลิกคุยเรื่องงานได้แล้ว ทานข้าวกันก่อน ชอบคุยธุรกิจที่บ้าน ลูกๆ ถึง ไม่ค่อยอยากมาทานข้าวด้วย’  เท่านั้นแหละ ท่านประธานก็จะนั่งทานข้าว เงียบๆ (ยิ้ม)

สมัยธัญญ่ายังเด็ก ท่านเคยรับ-ส่งที่โรงเรียนด้วย เราโตมาแบบไม่เคยรู้เรื่องซีพีที่ประเทศไทย ทำให้ไม่เคยคิดว่าท่านเป็นนักธุรกิจหรือเป็นเจ้าสัวหมื่นล้าน นอกจากเป็นอากงอาม่าของพวกเรา

“พอธัญญ่าอายุ 15 ปี ย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำที่สหรัฐอเมริกา เป็นหอพักนักเรียนที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย มีแต่เตียงกับโต๊ะเขียนหนังสือ ก่อนเปิดเทอมธัญญ่าชอบหิ้วของตกแต่งต่าง ๆ จากฮ่องกงไปแต่งห้องพักเรื่อย ๆ จนเพื่อนเห็นแล้วชอบ ขอให้ช่วยแต่งให้เขาด้วย ทำให้ธัญญ่าสนใจการสร้างบ้าน ให้อยู่ในบรรยากาศสบายๆ ดูสวยงาม ยิ่งตอนเด็กๆย้ายที่อยู่บ่อย เพราะบ้านอยู่ฮ่องกง แต่ครอบครัวหลักอยู่ประเทศไทย ส่วนครอบครัวคุณแม่ (มาริษา) เป็นคนเกาหลี

ธัญญ่าเองเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ไฮสกูล แล้วเลือกเรียน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย “ระหว่างเรียนได้ฝึกงานบริษัทสถาปนิกที่ฮ่องกง ทำให้รู้ว่าถ้าเป็นสถาปนิก เราต้องออกแบบตามโจทย์ที่ลูกค้าอยากได้ ถ้าทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ต้อง คิดเรื่องการออกแบบ ต้องรู้จักกลุ่มลูกค้า รู้ความต้องการของเขา รู้เรื่องการเงิน ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหาร

รู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทายและสนุกกว่าการเป็นสถาปนิก บวกกับเมื่อเรียนจบปริญญาตรี ธัญญ่าได้ทำงานกับบริษัทที่ฮ่องกง ดูแลโครงการ ‘เดอะแลนด์มาร์ค’ เป็นลักชัวรี่ช็อปปิ้งมอลล์ รวมทั้งโครงการที่พักอาศัยและ ธุรกิจค้าปลีกที่นั่น

การที่เราได้รับผิดชอบงานหลากหลาย ได้เรียนรู้ทั้งเรื่อง ค้าปลีก การทำช็อปปิ้งมอลล์และที่พักอาศัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ธัญญ่าสนใจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จริงจัง “ด้วยความที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง ระหว่างทำงานบริษัทในฮ่องกง จึงขอให้เพื่อนในแวดวงไฟแนนซ์ช่วยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่นั่นให้ โดยใช้เงินที่ได้จากอั่งเปามาเป็นค่าใช้จ่ายในการเปิดบริษัท คิดว่าจะเลือกซื้อตึกแถวเก่าๆ ที่ฮ่องกงมารีโนเวตแล้วขายต่อ แต่คุยกับเจ้าของตึกไม่จบสักที จึงต้องปิดบริษัทเพราะไม่มีงาน

แต่ด้วยความที่อยากทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก จึงปรึกษาอาบี (ทิพาภรณ์  อริยวรารมย์-ลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ และเป็นผู้บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC) ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าสนใจงานด้านนี้จริง ทำไมไม่กลับมาเมืองไทยล่ะ

“หลังจากนั้นธัญญ่าลาพักร้อนเพื่อกลับมาเยี่ยมอากงอาม่า และเพื่อจะได้ดูว่าเราสนใจธุรกิจนี้จริงหรือเปล่า ตอนนั้นมาแบบมีแค่กระเป๋าเดินทางใบเดียว แต่กลายเป็นว่าหลังจากตามอาบีไปประชุมงาน ได้เรียนรู้ธุรกิจที่อาบีทำ ก็รู้สึกหลงรักธุรกิจนี้มาก เพราะตรงกับความสนใจเราที่ต้องการสร้างและออกแบบที่พักอาศัย ซึ่งคนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่สนใจธุรกิจสตาร์ตอัพหรือสิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตมากกว่า แต่ธัญญ่าชอบทำอะไรที่จับต้องได้ และที่พักอาศัยก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของชีวิต ซึ่งคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อายุกว่า 40 ปีขึ้นไป ไม่ค่อยมีคนรุ่นเดียวกับธัญญ่า จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้พัฒนาและสร้างบางสิ่งที่ผู้ใหญ่นึกไม่ถึงหรือไม่ชิน นับแต่นั้นมาธัญญ่าไม่เคยกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตที่ฮ่องกงอีกเลย”

นับ 1 ใหม่ เริ่มจาก…เป็นลูกจ้าง

“ธัญญ่าเริ่มต้นทำงานตำแหน่งผู้จัดการโครงการบริษัท MQDC ดูแลโครงการที่มีผู้ถือหุ้น รวมทั้งโครงการที่ท่านประธานสร้าง CP Leadership Institute ที่เขาใหญ่ เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและงานออกแบบ ต้องคอยรายงานและนำเสนอท่านประธานว่าราคานี้โอเคไหม อยากเปลี่ยนวัสดุหรือเปล่า การออกแบบเป็นอย่างไร ทั้งที่จริงเราอยู่บ้านเดียวกัน แต่เวลาอยู่บ้านเราจะไม่คุยกันเรื่องงานหรือเรื่องธุรกิจเลย เพราะทำงานมาทั้งวันแล้ว เวลาครอบครัวมาเจอกันก็อยากมีช่วงเวลาที่สบายๆ  ได้สนุกร่วมกันมากกว่า

“ระหว่างทำงานตลอด 2 ปีนั้น ธัญญ่ามีความคิดมาตลอดว่าอยากทำ โครงการของตัวเอง จึงหาเวลาศึกษา ปรึกษาผู้รู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขอให้ทีมงาน MQDC บางส่วนช่วยสอนและแนะนำว่าถ้าจะเริ่มทำโครงการต้อง ทำอะไร อย่างไร เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่หาที่ดิน คุยกับนายหน้า คุยกับเจ้าของที่ดิน เสาร์-อาทิตย์ขับรถไปดูที่ดิน หมั่นซักถามผู้รู้ ซึ่งเขาแนะนำให้เราคุยกับคนอื่น ต่อๆไปกว่าจะครบลูปของการปั้นธุรกิจ

“จากนั้นจึงได้พบหุ้นส่วน (ชวิน อรรถกระวีสุนทร) ซึ่งเป็นเพื่อนกลุ่ม เดียวกัน เขาเก่งเรื่องไฟแนนซ์มาก ธัญญ่าจึงทำงานที่ MQDC พร้อมกับเปิด บริษัท 1.6 ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ตอนตั้งบริษัทแรกๆ อารมณ์เหมือนสตาร์ตอัพ  เพราะเราไม่มีเงินเช่าออฟฟิศ เคยขอเงินคุณพ่อ ท่านบอกว่าถ้ายังไม่มีรายได้จะเช่าออฟฟิศทำไม จึงขอเช่าห้องเก็บของ ‘สวนเพลิน’ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ของครอบครัวชวิน ทำเป็นออฟฟิศไปก่อน ทำงานกันสองคน ไม่มีแบ็กออฟฟิศ เช่น ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี ฯลฯ อาบีจึงแนะนำให้ร่วมทุนกับ MQDC จะได้ช่วยซัพพอร์ตแบ็กออฟฟิศ

อีกทั้งท่านอยากสร้างแบรนด์ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ อยากสนับสนุนความคิดของธัญญ่า จึงเป็นที่มาของการร่วมทุนสร้างโครงการที่พักอาศัยแห่งแรก ‘The Strand’ ทองหล่อ “ตอนแรกแพลนว่าจะทำโครงการเล็กๆ แต่อาบีแนะนำว่าเพิ่งตั้งบริษัทใหม่ ไม่มีใครรู้จัก ควรทำโปรเจ็กต์ใหญ่เพื่อให้เป็นที่รู้จักดีกว่า ถ้าเริ่มโปรเจ็กต์เล็กๆ คนจะมองผ่าน ผู้รับเหมาและดีไซเนอร์เก่งๆก็ไม่อยากร่วมงาน ขอเงินทุนก็ยากสู้ทำใหญ่และดีไปเลยดีกว่า” สตาร์ตโปรเจ็กต์ยักษ์เกือบ 5,000 ล้าน

“แรกๆเคยคิดจะส่งโครงการเพื่อขอทุนท่านประธาน กะว่าพอประชุมงานเสร็จจะพูด แต่ปรากฏว่าท่านเดินออกไปประชุมงานอื่นต่อ เลยอด จึงติดต่อขอกู้เงินธนาคาร แรกๆรู้สึกเกร็งที่จะคุยกับธนาคารเหมือนกัน แต่คุยไปคุยมาเริ่มชิน

“ส่วนปัญหาจากการทำงานมีมาเรื่อยๆ อย่างที่ดินซอยทองหล่อที่ตั้งโครงการมีเจ้าของหลายคน หลายโฉนด เราต้องคุยกับทุกคนให้เข้าใจตรงกัน จู่ๆมีเจ้าของคนหนึ่งบอกว่าไม่อยากขาย เราก็ต้องคิดหาวิธีที่จะคุย บางคนไม่อยากเซ็นสัญญา อยากเซ็นเอ็มโอยู ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเรา ทำให้กังวลใจ แต่ก็ค่อยๆแก้ปัญหากันไป

“การที่บริษัทเรามีขนาดเล็ก บางทีก็เป็นข้อดี เช่น เรานำคอนเซ็ปต์การออกแบบไปทดลองตลาดเพื่อดูความต้องการ  ถ้าตลาดไม่อยากได้ เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที เพราะบริษัทเรามีผู้ถือหุ้นแค่สองคน สามารถเซ็นอนุมัติได้ ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน แรก ๆทั้งท่านประธานและคุณพ่อไม่รู้ว่าธัญญ่ากำลังทำอะไร ไม่อยากบอก เกรงว่าถ้าบอก แต่ละคนจะมีมุมมองความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำให้เราสับสน เพราะทุกคนล้วนเป็นคนในครอบครัวและเป็นนักธุรกิจทั้งนั้น จึงลงมือทำไปก่อน ไม่ปรึกษาใคร รู้กันแค่สามคน คือ ธัญญ่า หุ้นส่วน และอาบี (ยิ้ม)

“อากงชอบเล่าให้ธัญญ่าฟังเสมอๆ ว่า ตอนท่านอายุ 18 ปีเริ่มขายไข่ และทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว ส่วนหลานๆอายุเท่าท่านในตอนนั้น แต่ยังเรียนอยู่ มหาวิทยาลัย ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย (ยิ้ม) ธัญญ่าจึงอธิบายว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าวันนี้ธัญญ่าขายไข่ คนอาจไม่ซื้อก็ได้ เพราะการทำธุรกิจวันนี้ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ท่านก็หัวเราะขำๆและสอนว่า ไม่ว่าจะขายไข่ เป็นนักร้อง หรือทำสตาร์ตอัพ ต้องทำให้เต็มที่ และเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจจะทำให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศ

“หลังจากนั้นไม่นานธัญญ่าจัดงานอีเว้นต์เปิดตัวโครงการ The Strand จึงชวนทุกคนในครอบครัวมาร่วมงาน ซึ่งแต่ละคนรู้สึกตกใจ ไม่คิดว่าธัญญ่าจะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ ก็เลยเซอร์ไพร้ส์! (หัวเราะ) อากงบอกว่าทึ่งที่ธัญญ่าเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆแต่ทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งท่านรู้สึกภูมิใจ”

กฎเหล็ก & คำสอนบ้านเจียรวนนท์

“กฎของครอบครัวเราคือ ถ้าใครเรียนจบจะมาทำธุรกิจบริษัทในเครือ ทันทีไม่ได้ ก่อนหน้านี้ธัญญ่าเคยอยากทำงานบริษัทในเครือ แต่คุณพ่อบอกว่า ไม่ได้(ยิ้ม) เพราะเป็นนโยบายครอบครัว ขนาดตอนคุณพ่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยยังต้องสร้างธุรกิจใหม่เลย คือทำบริษัท UBC ก่อนเปลี่ยนเป็น True ทุกคนในครอบครัวเราเป็นเถ้าแก่น้อยกันทุกคน  เพราะมุมมองของท่านประธานคือ ธุรกิจเครือซีพีทั้งหมดดำเนินได้ราบรื่น เราไม่สามารถเพิ่มแวลูในธุรกิจนั้นได้แล้ว สู้ออกไปทำเองดีกว่า และถ้าธุรกิจรอด มีผลกำไร ประสบความสำเร็จ ค่อยนำกลับเข้ามาเป็นบริษัทในเครือ

“สิ่งที่ท่านสอนพวกเราเสมอๆคือ ต้องเรียนรู้ พยายามพูดคุยกับผู้คนแวดวงธุรกิจอื่นๆที่ต่างจากงานที่เราทำ ส่วนลูกหลานคนไหนสนใจทำธุรกิจอะไรอันนี้แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน ท่านไม่สอนว่าทำธุรกิจอย่างไร แต่ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เหมือนโยนลงน้ำแล้วรอดูว่าจะรอดหรือเปล่า (หัวเราะ)

“อีกหนึ่งอย่างที่ท่านสอนบ่อยๆคือ ‘ทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย’ เพราะถ้าเราทำได้ แปลว่าเราสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ธัญญ่าชอบจดคำสอนท่านไว้ เพราะเราโตที่ต่างประเทศ การได้ฟังผู้ใหญ่พูดทำให้รู้สึกเหมือนใกล้ชิดครอบครัว

อย่างที่บอกว่าธัญญ่าไม่ได้มองอากงกับอาม่าเป็นเจ้านายหรือเป็นหัวหน้าใหญ่ของบริษัท เพราะสุดท้ายแล้ว ท่านก็คืออากงอาม่าของเราอยู่ดี ฉะนั้นธัญญ่าจะชอบคุยเรื่องเบาๆเพื่อทำความรู้จักท่านให้มากขึ้นในฐานะคนธรรมดา เช่น ก่อนเริ่มบริษัทท่านทำอะไรมา ชอบทานอะไร สีโปรดคืออะไร ฯลฯ

“ถ้าถามว่าการเป็นหลานสาวในครอบครัวคนจีนทำให้รู้สึกกดดันไหม ธัญญ่าไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่ เพราะในครอบครัวมีหลานสาวแค่สองคน ซึ่งท่านอยากให้หลานๆ ทุกคนใช้ชีวิตสบายๆ แต่สุดท้ายแล้วธัญญ่ามองว่าพวกเราซึ่งเป็นรุ่น 4 ของตระกูล ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย “ทุกคนล้วนมีไฟและแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง”


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up