อาจบอกได้ว่า ดนตรี และการเติบโต เปลี่ยนให้ ตน -ต้นหน ตันติเวชกุล นักดนตรีสังกัด what the duck และ นักแสดงวัย 21 ปี มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่ไปไกลจากอดีตมาก อย่างการใส่กระโปรงขึ้นคอนเสิร์ต จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เขาคือ ชายแท้หรือไม่
หลังจากที่ได้พูดคุย เนื้อแท้เขาคือผู้ชายที่รักในแฟชั่น ดนตรี และมีความคิดว่า คนเราจะใส่อะไร ชอบอะไร เป็นอะไรก็ได้ถ้ามีความสุข แต่กว่าจะเรียนรู้เรื่องนี้ เขาเคยเป็นมนุษย์กรอบขั้นสุดมาก่อน
ชายแท้หรือเปล่า? ตน-ต้นหน ผู้ชายที่รักในแฟชั่น ดนตรี เป็นอะไรก็ได้ถ้ามีความสุข
เด็กโลกแคบ
“เมื่อก่อนผมมีกรอบกับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องแต่งตัว อย่างสมัยเรียนประถม ผมเล่นเปียโน ชอบโชแปงมาก ฟังแต่โชแปงเท่านั้น เคยเถียงกับเพื่อนที่ชอบฟังเพลงแจ๊สว่า ดนตรีคลาสสิกดีที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่รู้จักแจ๊สเลยนะ
“จุดเปลี่ยนคือตอนที่มีโอกาสรับบทเป็นพี่เก้า จิรายุวัยเด็ก ในเรื่อง Suckseed เป็นหนังดนตรีที่เล่าถึงเพลงร็อค มีเพลงของพี่ป๊อด Moderndog, พี่ต้า Paradox ฯลฯ ซึ่งผมไม่ฟังเพลงร็อคเลย ผลคือผมคุยเรื่องดนตรีกับใครในกองถ่ายไม่รู้เรื่อง จึงเริ่มต้นฟังเพลงร็อค กลายเป็นว่า ผมเป็นติ่งพี่ป๊อดมาตั้งแต่นั้น พอเริ่มเป็นชาวร็อค ผมก็เริ่มหันไปเสพแนวเพลง Heavy Metal แนวร็อคจัดๆ ของศิลปินต่างประเทศ แล้วเหยียดคนที่ไม่ฟังเพลงแนวเดียวกับตัวเอง เช่น ผมมองว่า เพลงของ จัสติน บีเบอร์ ไม่ใช่เพลงของผู้ชายแท้
“ความโลกแคบของผมไม่ใช่แค่เรื่องเพลง แต่รวมถึงการแต่งตัว ผมมีชุดความคิดว่า ผู้ชายต้องแต่งตัวแบบชาวร็อค คือ ใส่กางเกงขาเดฟ เสื้อยืดลายกะโหลก ถ้าใครแต่งตัวแบบจิสติน บีเบอร์คือเกย์
“ความโลกแคบของผมเป็นประเภท ถ้าคิดว่าอะไรดีที่สุดก็จะคิดอยู่แค่นั้น เมื่อปักใจว่าจะเชื่อแล้ว ก็จะเชื่อโดยไม่มีเหตุผล และไม่ตั้งคำถามกับอะไรหลายๆ อย่าง
“มีเรื่องนึงที่ผมยังรู้สึกเสียใจจนถึงทุกวันนี้ คือตอนที่รู้ว่า เพื่อนสนิทเป็นเกย์ แล้วผู้ใหญ่บอกให้อยู่ห่างๆ เขา ผมก็เชื่อครับ อาจเพราะตอนนั้นใจตัวเองก็ไม่ชอบอยู่แล้วด้วย จนเพื่อนโกรธ เขาไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรผมจึงไม่คุยกับเขา
“พอโตขึ้นถึงคิดได้ว่า มันไม่แฟร์กับเพื่อนเลย ฉะนั้นบางทีสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป แต่ไม่ได้หมายถึง การเชื่อผู้ใหญ่เป็นสิ่งไม่ดีนะ เราแค่ต้องรู้จักคิดเองในบางเรื่องด้วย อย่างเรื่องนี้ เพื่อนไม่ได้ผิดอะไร พอคิดได้ก็กลับไปคุยกับเขาเหมือนเดิม เพราะยังเรียนมัธยมด้วยกัน แต่ย้อนคิดทีไรผมเสียใจทุกที รู้สึกว่าตัวเองใจร้ายที่ตัดสินเขาแบบนั้น แต่โชคดีที่เรายังเป็นเพื่อนกันถึงทุกวันนี้”
The 1975 …วงเปิดโลก
“ชีวิตผมเปลี่ยนตอนเรียน มัธยมปลายครับ มีคนแนะนำให้ฟังเพลงของวง The 1975 วงร็อคจากอังกฤษ อัลบั้มแรกของวงนี้ หน้าปกเป็นสีดำ Matthew Healy นักร้องนำ แต่งตัวร็อคทั้งลุค กระทั่งเขาปล่อยอัลบั้มที่ 2 ผมช็อคไปเลย แนวเพลงเปลี่ยนจากร็อค เป็นป๊อบ อิเล็กทรอนิคส์ หน้าปกอัลบั้มเป็นสีชมพู แล้วแมตตี้ นักร้องนำปรับลุคเป็น Unisex มากขึ้น ทาตาสีฟ้าถ่ายเอ็มวี ตอนนั้นช็อคแหละ แต่ฟังเพลงแล้วชอบ พอมาอัลบั้มที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว แมตตี้ใส่กระโปรงขึ้นคอนเสิร์ตแล้ว โห ผมชอบมาก คือเขาเท่มาก
“วงนี้สอนให้ผมรู้ว่า ชีวิตไม่ต้องมีกรอบ แต่งตัวไม่ต้องมีกรอบ ทำเพลงไม่ต้องมีกรอบ แนวเพลงเขาหลากหลาย เพราะผ่านการทดลองมามาก โดยไม่แคร์ว่า ทำแล้วจะดังหรือไม่ ยึดความชอบเป็นหลัก สุดท้ายเขาเป็นวงที่ดังมากในยุคนี้ และชัดเจนในตัวตน เช่นเดียวกับ แมตตี้นักร้องนำ จากคนที่หิ้วขวดไวน์ขึ้นไปดื่มเมากลางคอนเสิร์ต กลายเป็นคนรักโลกเฉย ทำเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับ Greta Thunberg (นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม) แมตตี้ไม่ใช่คนเมาแล้ว คือคนเราเปลี่ยนได้จริงๆ
“วงนี้จึงอินสไปร์ผมหลายอย่าง เรื่องแรกคือ เพลง ช่วงแรกที่ผมทำเพลงวง Mints กับพี่อัด (อวัช รัตนปิณฑะ) ผมทุกข์กับการทำเพลง เพราะอยากทำให้ดังอย่างคนรอบข้างมีชื่อเสียง แต่การทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ มันกดดันครับ สุดท้ายก็ไม่เวิร์ค จึงกลับมาทำเพลงที่ตัวเองชอบเป็นหลัก คือ คนจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่เรามีความสุขมากกว่า”
“แล้วพอเลิกตีกรอบ ความคิดก็จะกว้างขึ้น เช่น ตอนนี้ผมฟังเพลงจัสตินที่เคยเหยียดเขาไว้เยอะมาก หลายเพลงของผมก็มาจากจัสติน หรืออย่างที่เคยตีกรอบว่า เพลงที่ดี ที่เท่ต้องเพลงร็อค
ทุกวันนี้ผมแต่ทำเพลงป๊อบ เพราะถนัดและชอบด้านนี้มากกว่า (หัวเราะ) ที่เห็นชัดสุดคือ จากที่เคยแอนตี้เพลงแจ๊ส ผมกลับเลือกเรียนสาขาแจ๊ส คณะดุริยางคศิลป์ เอกกีตาร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งบอกเลยว่า ยากมาก..ก แต่ที่เลือกเรียนเพราะท้าทาย อีกทั้งแจ๊สคือรากของเพลงป๊อบ ทำให้เราได้เปรียบเรื่องการทำเพลง นั่นเป็นคำตอบว่า เมื่อเวลาผ่านไป คนเราเติบโตขึ้น จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ถ้าผมไปเถียงกับตัวเองตอนเด็กคงเป็นแบบ เด็กนี่อะไรของมันวะ อยู่แต่ในกะลา เป็นมนุษย์กรอบมาก
“มันทำให้ผมมีความฝันอยากเป็นโปรดิวเซอร์ แต่งเพลงให้คนอื่น เพราะเชื่อว่า จะเล่นดนตรีไปตลอดชีวิตคงไม่ได้ ซึ่งถ้าผมได้ทำงานกับศิลปินคนไหน ผมไม่อยากจะเป็นแค่นักเขียนเพลง แต่ อยากนั่งคุยกับเขา เป็นคนยังไง อยากเล่าเรื่องอะไร คืออยากปั้นศิลปินให้เขาเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เขาเป็น”
ทำไมผู้ชายใส่กระโปรงไม่ได้
“ผมว่า แฟชั่น ก็เหมือนดนตรี คือไม่ต้องมีกรอบ การแต่งตัวผมจึงเริ่มเปลี่ยนตอนเข้าเรียนปี 1 เนื่องจากมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ เพื่อนๆ ก็แต่งตัวจัดๆ มากัน ลุคผมตอนเรียนปี 4 ต่างจากสมัยมัธยมเยอะ
ทุกวันนี้ผมไม่ได้จำกัดว่า ตัวเองต้องแต่งแนวไหน บางวันผมยังเป็นชาวร็อค บางวันก็ยืมชุดน้องสาว (ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) หรือ กางเกงพ่อมาใส่เพราะบ้านผมไซส์เท่าๆ กัน เริ่มใส่สร้อยคอมุก ต่างหู ทาเล็บ ซึ่งทุกวันนี้ติดมาก อย่างเวลาดีดกีตาร์ต้องทาแบบเจลเล็บจะได้ไม่ลอก ถ้าวันไหนไม่ได้ทาคือแปลกๆ และถือเป็นเรื่องธรรมดาในมหาวิทยาลัยที่ผู้ชายจะทาเล็บ
“สิ่งที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองมากที่สุดคือการใส่กระโปรงขึ้นเวทีคอนเสิร์ต เมื่อปี 2562 อย่างที่บอกว่าพอเห็นแมตตี้ นักร้องนำ The 1975 ใส่กระโปรงขึ้นคอนเสิร์ต ผมรู้สึกว่าเขาเท่มาก แล้วไม่ใช่แค่แมตตี้คนเดียว ศิลปินระดับตำนานอย่าง David Bowey หรือชาวร็อค อย่าง Kurt Cobain ก็เคยใส่กระโปรง ผมรู้สึกว่า… เฮ้ย เราไปอยู่ไหนมา คือเรื่องพวกนี้ มีมานานแล้วและเป็นเรื่องธรรมดามาก
“ตอนที่ตัดสินใจใส่กระโปรงขึ้นเวที Cat radio เพราะรู้สึกด้วยว่า เวทีนี้เป็นเหมือนบ้านของเรา แฟนเพลงผมอยู่ที่นั่นเยอะ ขึ้นแล้วอุ่นใจ เหมาะที่จะลองทำอะไรที่อยากทำ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำแล้ว จะกระทบอะไรหรือเปล่า จึงโทรไปขออนุญาตผู้ใหญ่ค่าย What the duck , ค่ายนาดาว ซึ่งทุกท่านโอเค รวมถึงพ่อแม่ด้วย พ่อแค่แย้งนิดหน่อยว่า ใส่ตัวนั้นดีหรือเปล่า ลองเปลี่ยนแบบมั้ย คือไม่ได้ค้านว่า เป็นผู้ชายห้ามใส่กระโปรง แต่แค่ถามว่า ใส่ตัวอื่นลุคจะดีกว่ามั้ย สุดท้ายผมยืมกระโปรงของน้องสาว มาใส่ขึ้นเวที กลายเป็นคนชมน่ารัก เท่ ตั้งแต่นั้นผมใส่จนเป็นเรื่องธรรมดา ยังเคยใส่กระโปรงไปเรียนหนังสือด้วย มันไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว
“มีช่วงหนึ่ง ที่ผมเคยคิดว่าคนในครอบครัวไม่เข้าใจ แต่เพิ่งปลดล็อคเมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่ยายบอกว่า ได้ฟังผมให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ผู้ชายก็ใส่กระโปรงได้ ยายชอบมาก แล้วบอกว่า ยายมีกระโปรงเยอะนะ เอาไปใส่มั้ย แล้วหน้ายายคือ ภูมิใจจริงๆ คือเมื่อก่อนผมเข้าใจมาตลอดว่า ยายไม่โอเคกับเรื่องพวกนี้ จึงไม่เคยชวนคุย แต่พอได้ยินยายพูด ประทับใจเลย รู้สึกดีที่ครอบครัวเข้าใจ
“ขณะเดียวกัน พอแต่งแบบนี้ ก็จะมีคนเข้าใจผิดว่าผมไม่ใช่ผู้ชาย คือนอกจากชอบแต่งตัวแล้ว เวลาพูดมือไม้ก็ออก จึงมีคอมเมนต์ถามว่า ‘เป็นหรือเปล่า มือไม้ออกแล้วนะคะเจ๊’ คือมีช่วงนึงที่ผมแคร์มากนะ ถ้าใครมาหาว่าผมเป็นนั่นนี่ พยายามแก้ต่างให้ตัวเองว่าไม่ได้เป็น แต่ตอนนี้ถ้าโดนว่า หรือถูกเข้าใจอะไรอย่างนั้น ผมไม่โกรธ ไม่แคร์แล้วอ่ะ เพราะคำว่าตุ๊ด ไม่ได้น่ารังเกียจ หรือเป็นคำด่าที่ฟังแล้วเจ็บ ใครจะคิดยังไงก็แล้วแต่เขา ผมยังชอบผู้หญิงอยู่ครับ (ยิ้ม)”
เมื่อไหร่ยูนิเซ็กส์ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา
“ผมยอมรับว่าอดีตเคยทำพลาด เคยตัดสินคน เคยเหยียดคน และตีกรอบว่า ผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เคยล้อเลียนเพื่อนที่ไม่เหมือนตัวเอง แต่ทุกวันนี้ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ให้เรื่องยูนิเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรเป็นเรื่องแปลก อยากให้ทุกคนมองคนอื่นอย่างเท่าเทียม มองเป็นมนุษย์ ไม่ต้องมองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
การแต่งตัวก็เช่นกัน อยากให้การใส่กระโปรงสำหรับผู้ชายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องชื่นชมผมที่ใส่กระโปรงขึ้นคอนเสิร์ต หรือที่ผมทาเล็บ เพราะผมไม่ได้อยากเป็นแฟชั่นไอคอน หรือโด่งดังจากการแต่งตัว ผมแค่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมั่นใจ มีความสุขที่ได้ใส่อะไรแบบนี้ ทุกครั้งที่ผมถ่ายรูปใส่กระโปรงลงไอจี ยอดไลค์จะเยอะ ผมอยากให้รูปที่ผมใส่กางเกงได้ยอดไลค์แบบนั้น
“แต่ผมก็รู้นะ มันยากที่จะเปลี่ยนความคิดคน เพราะเข้าใจคนที่เหยียดคนอื่นมาก่อน ซึ่งเราไม่สามารถไปชี้นิ้วบังคับให้ใครเปลี่ยนได้ ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนให้เริ่มจากตัวเอง อย่างผมคือต่อให้พ่อแม่พูดขนาดไหน ถ้าไม่อยากเปลี่ยน ก็ไม่เปลี่ยน ที่สำคัญคือ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า จะเปลี่ยนทำไม
“สำหรับผม เมื่อเปลี่ยนตัวเอง มุมมองต่อคนอื่นก็เปลี่ยนไปด้วย ทุกวันนี้ผมพยายามไม่ตัดสินใคร ซึ่งแน่นอนว่ามันยาก เป็นเรื่องที่ต้องฝึกครับ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พอเลิกตีกรอบ เลิกตัดสิน เลิกโฟกัสผิดจุด ก็จะมีเวลาคิดเรื่องของตัวเองมากขึ้น ”
ชีวิตมีความสุขมากขึ้นจริงๆ นะ
“พอแต่งแบบนี้ คนก็เข้าใจผิดว่าผมไม่ใช่ผู้ชาย มีคอมเมนต์ถามว่า ‘เป็นหรือเปล่า มือไม้ออกแล้วนะคะเจ๊’ ช่วงหนึ่งผมแคร์มากนะ แต่ตอนนี้ไม่โกรธ ไม่แคร์แล้ว เพราะคำว่าตุ๊ด ไม่ได้น่ารังเกียจ ใครจะคิดยังไงก็แล้วแต่เขา และผมยังชอบผู้หญิง”