จากบทบาทตัวละคร สู่การเป็นผู้พิทักษ์เยียวยาเหยื่อของ มาริสก้า ฮาร์จิเตย์
มาริสก้า ฮาร์จิเตย์

จากบทบาทตัวละคร สู่การเป็นผู้พิทักษ์เยียวยาเหยื่อของ มาริสก้า ฮาร์จิเตย์

account_circle
มาริสก้า ฮาร์จิเตย์
มาริสก้า ฮาร์จิเตย์

เมื่อ มาริสก้า ฮาร์จิเตย์ รับบทเป็น Olivia Benson ในเรื่อง Law & Order : Special Victims Unit ในปี1999 เนื้อหาที่สัมผัสเหมือนได้เปิดโลกอีกใบให้เธอ ไม่ว่าจะเป็นสถิติเกี่ยวกับการข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งการทารุณกรรมเด็กในสหรัฐอเมริกา

หลังจากซีรีส์ออกฉาย เธอได้รับจดหมายนับพันจากผู้รอดชีวิตจากการถูกทำร้าย ซึ่งเธอก็ตอบจดหมายเหล่านั้นด้วยตัวเอง จากนั้นเธอก็ก่อตั้งมูลนิธิ Joyful Heart Foundation ขึ้นในปี 2004

 มาริสก้า ฮาร์จิเตย์

Joyful Heart ถือเป็นองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ มีวัตถุประสงค์ให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน การทารุณกรรมเด็ก ไปจนถึงการช่วยเหลือเหยื่อที่รอดชีวิต และความพยายามที่จะยุติความรุนแรงทั้งหมดด้วยการบูรณาการด้านการศึกษา การปฏิรูปพัฒนานโยบายรวมไปถึงกฎหมาย เพื่อให้เหยื่อได้รับความยุติธรรมมากที่สุด ตัวอย่างของกิจกรรมที่มูลนิธิ Joyful Heart ได้เข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ จัดกิจกรรมให้เรียนรู้วิธีรับมือกับความเจ็บปวด ด้วยการไม่ต้องพูดคุยถึง

เรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ใช้การบำบัดเข้าช่วย เช่น การเล่นโยคะ การอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และฝึกหายใจ ซึ่งมีเหยื่อกว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยทางมูลนิธิทำงานร่วมกับ Dr. Mary Ann Dutton ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์

โดยก่อนเข้ากิจกรรมจะมีการประเมินสุขภาพจิต เพื่อลดอาการบาดเจ็บและความตึงเครียด รวมทั้งปรับชีวิตความเป็นอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น ทาง Joyful Heart ยังได้ร่วมมือกับหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Peace Over Violence, Center for Community Solutions, The Village Family Services, YWCA of Greater Los Angeles, Rainbow Services และ Homeboy Industries เพื่อรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่ถูกต้องของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำไปใช้พัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ไม่เพียงเหยื่อเท่านั้นที่ได้รับการเยียวยา มูลนิธิ Joyful Heart ยังออกแบบโปรแกรม Heal the Healers ขึ้นในปี 2010 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ใกล้ชิดที่ต้องพูดคุยกับเหยื่อเป็นประจำจะมีความตึงเครียด เจ็บปวดได้พอๆ กัน โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนักบำบัด นักกฎหมาย ทนายความ นักสังคมสงเคราะห์ ได้มีโอกาสพักผ่อนและพูดคุยกับนักจิตวิทยา เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีแรงและมีกำลังใจกลับไปทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีแพทย์มากกว่า 12,000 คน จากองค์กรกว่า 450 แห่งเข้าร่วม ถือเป็นการช่วยเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดของคนทำงานที่ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์สำคัญคือ การยุติการข่มขืน ซึ่งโครงการ Joyful Heart ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมต่อเหยื่อที่เคราะห์ร้าย โดยมูลนิธิจะเป็นแนวหน้าในการจัดการหลักฐานการข่มขืนที่ไม่ได้รับการตรวจสอบในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนระดมทุนเพื่อตรวจสอบหลักฐานที่คั่งค้าง โดยตรวจสอบไปแล้วมากกว่า 225,000 ชุด และเชื่อว่ายังมีอีกหลายแสนชุดที่ยังไม่ถูกค้นพบ และยังก่อตั้งเว็บไซต์ endthebacklog.org ซึ่งเป็นศูนย์กลางออนไลน์แห่งแรกและแห่งเดียวที่รวบรวมหลักฐานในคดีข่มขืนต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายการข่มขืนครอบคลุมทั้ง 50 รัฐ

และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงสถานการณ์ความเลวร้ายของการเป็นเหยื่อที่ถูกข่มขืนและเห็นภาพมากที่สุด มาริสก้าก็ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้อำนวยการสร้างสารคดีในชื่อ I Am Evidence

ในปี2017 ฉายผ่านทางช่อง HBO ซึ่งภายหลังได้รับรางวัล The Best Documentary Emmy Awards จากการเล่าเรื่องราวของเหยื่อในคดีข่มขืนที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบหรือพิจารณาหลายปี ในขณะที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีนี้ก็ยังคงเพิกเฉยต่อคดีต่างๆ มาริสก้าหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปและเกิดความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายข่มขืนให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคและการช่วยเหลือผ่านทางเว็บไซต์ www.joyfulheartfoundation.org


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up