ครั้งแรกกับการเปิดใจให้สัมภาษณ์แพรว ในวันที่ “ปราง- นวลวรรณ ล่ำซำ” ทายาทหนึ่งเดียวของ “มาดามแป้ง” จบการศึกษาพร้อมกับหอบความฝันมาบอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เธออยากเดินทางสู่การค้นหาตัวตนและโลกใบใหญ่
รู้จักตัวตนผ่านจิตวิทยา
“ปรางชอบรับฟังปัญหาและเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่น ชอบคุยแบบเปิดใจในเรื่องของความรู้สึกลึกๆที่อยู่ข้างในใจเขา เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบคุยผ่านๆหรือคุยขำๆตลกๆกันไป ยิ่งถ้าสนิทด้วยแล้ว ปรางจะค่อนข้างเปิดใจให้ใครคนนั้น จึงรู้สึกว่าถ้านี่คือสิ่งที่ชอบ ซึ่งก็คือเรื่องของจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จับต้องได้มีตำราที่อ่านแล้วอธิบายหลายอย่างที่เราสนใจ เพราะปรางเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจตัวเองก็จะเข้าใจคนอื่นเข้าใจปัญหาและเหตุผลที่เขาทำอะไรต่างๆได้ง่ายขึ้น
“ปรางเรียนจบคณะจิตวิทยาจาก University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเรียนที่จุฬาฯ สองปีครึ่ง ส่วนอีกปีครึ่งเรียนที่ออสเตรเลีย การใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียค่อนข้างมีอิสระ แต่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
เริ่มตั้งแต่ หาอพาร์ตเมนต์ ซักผ้า ทำอาหาร เป็นการฝึกดูแลตัวเอง เพราะปกติไม่เคยต้องทำ ตั้งแต่เกิดมาปรางไม่เคยทำอาหารทานเองเลย จึงทำไม่เป็น แต่ก็อยากลอง จึงเลือกเมนูง่ายๆ พวกสเต๊กแซลมอน ซื้อปลาจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาย่าง…ง่าย ๆ แค่นี้ แต่พอทานแล้วรู้สึกว่าอร่อยมาก อาจเพราะเราทำเอง จึงรู้สึกภูมิใจ ทานจนหมดเลยด้วย ทั้งที่ปกติทานอะไรไม่ค่อยหมดจาน กลายเป็นมุมมองใหม่ๆ ที่มีคุณค่ากับชีวิต
“ปรางเป็นลูกคนเดียว พอไปอยู่ที่นั่นกับเพื่อนสนิทที่ต้องเจอหน้ากันตลอดเวลา เช้าสายบ่ายเย็น เหมือนเป็นคู่แต่งงานเลย (หัวเราะ) ทำให้ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันต้องรู้จักที่จะใจเย็น บางครั้งกลับบ้านไม่พร้อมกัน คนนี้รอคนนั้น อีกคนออกไปเรียนช้า ซึ่งถ้าจะเริ่มทะเลาะหรือเริ่มรู้สึกไม่ดี ต้องรีบเยียวยาทันที ไม่อย่างนั้นคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ปรางได้ฝึกความอดทน รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น และยิ่งสนิทยิ่งต้องเกรงใจกัน คือเหมือนเราโต
ความเป็นลูกมาดามแป้ง
“ที่ผ่านมาอาจมีคนรู้ว่าปรางเป็นลูกแม่แป้ง แต่ก็ไม่ได้มีใครตีตราว่าเป็นลูกแม่แป้งต้องเก่งเหมือนแม่นะ ถ้ามีคนพูดกับปรางแบบนั้น ปรางจะตอบขอบคุณเขา เพราะเราก็เป็นตัวของเราเอง และเราก็มีดีในแบบของเราเองด้วย หรือถ้าวันหนึ่งต้องรับช่วงงานต่อจากคุณแม่ ปรางก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร ยอมรับว่าคุณแม่เป็นคนเก่ง แต่ถามว่าเราจำเป็นต้องเก่งเท่าท่านไหม ในความคิดปรางคือ ถ้าเก่งเท่าคุณแม่ได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่รู้สึกเครียดอะไร เพราะเรารู้ลิมิตตัวเอง ขอแค่ทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่สุดก็พอใจแล้ว”
ได้เวลาสืบทอดทายาท
“ตอนนี้คุณแม่เริ่มทาบทามให้ไปช่วยทำงานเหมือนกัน แต่ปรางอาจจะไม่ได้ถนัดธุรกิจขนาดนั้น ส่วนด้านที่ปรางถนัด ก็เป็นสิ่งที่คนเข้าใจยาก ซึ่งการจะโน้มน้าวให้คนในครอบครัวเข้าใจงานด้านจิตวิทยา อาจต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ถ้าเราทำแล้วจะเวิร์ค ปรางตั้งใจว่าอยากลองทำงานด้านจิตวิทยาเด็กเล็ก อาจจะเป็นครูหรือทำงานในโรงพยาบาลก็ได้
“แต่ตอนนี้ที่คิดไว้คือ อยากเบรกเรื่องทำงานไว้ก่อน เพื่อหาแพสชั่นหรือสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เพราะชีวิตที่ผ่านมาเหมือนเราเรียนอย่างเดียว เหมือนเด็กทั่วไปที่ชีวิตมีแค่การเรียนพิเศษกับการอ่านหนังสือสอบเพื่อให้ได้เกรดดีๆ ไม่มีชีวิตด้านอื่นเลย จึงอยากค้นหาแพสชั่นในชีวิตว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร อยากออกไปท่องโลก เพราะเวลาไปเที่ยว มักได้ประสบการณ์ดีๆ กลับมา ไม่ต้องพูดถึงการเดินทางไปต่างประเทศ แค่เดินทางไปต่างจังหวัดก็ทำให้เราเห็นไลฟ์สไตล์และมุมมอง วิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดแล้ว
ปรางจึงอยากเดินทางออกไปคุย ไปทำความรู้จักมุมมองของผู้คนต่างๆ และเมื่อรู้ว่าเราต้องการอะไร ค่อยเรียนต่อปริญญาโทด้านที่ชอบจริงๆ ซึ่งต้องคิดให้ดีๆ ปรางอยากเรียนปริญญาโทด้านที่จะช่วยการทำงานในอนาคต เพราะเป็นช่วงวัยทำงานแล้ว”
ชีวิตควรมีความสุขทุกวัน
“ปรางค่อนข้างอารมณ์อ่อนไหวง่าย เคยฝึกงานที่ไม่ชอบ ซึ่งทำให้รู้เลยว่าการทำสิ่งที่ไม่ชอบทำให้เราเกิดภาวะหมดไฟ (Burn Out) ไม่มีความสุข
“น้อง ๆ ที่กำลังเรียนหนังสือจึงควรรู้ก่อนว่าตัวเองชอบอะไร เวลาทำสิ่งนั้นแล้วมีความสุขไหม จะได้เลือกเรียนแล้วจบออกมาเพื่อทำงานตามสิ่งที่ชอบ และมีความสุขกับสิ่งนั้น เพราะถ้าเป็นไปได้ ชีวิตคนเราควรมีความสุขทุกวัน เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร จงตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด ถ้าล้มเหลวก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ จงตั้งใจทำต่อไป
“ชีวิตคนเรามีทางใหม่เสมอ ไม่มีคำว่าตัน ถ้ายังมีลมหายใจ”
ข้อมูลจาก : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 950
ภาพจาก : IG @panglamsam
สามารถติดตามอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
มาเป็นกุรุส เปิดคลังกระเป๋า แอร์เมส “นวลพรรณ ล่ำซำ” ผู้นำเข้าหนึ่งเดียวในไทย