ประวัติศาตร์ต้องจารึก! คามาลา แฮร์ริส สตรีผิวสีเชื้อสายเอเชีย นั่งรองปธน.สหรัฐฯ

account_circle

คามาลา แฮร์ริส สตรีผิวสี ชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย-แอฟริกัน สร้างประวัติศาสตร์ นั่งรองเก้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรก หลังนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46

คามาลา แฮร์ริส

สำหรับประวัติด้านการทำงานของ คามาลา แฮร์ริส นั้นเรียกได้ว่ามีประสบการณ์การทำงานมาอย่างช่ำชอง โดยเธอเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยอัยการเขตลาเมดาและซานฟรานซิสโก โดยผลงานของเธอมุ่งเน้นไปที่อาชญากรรมทางเพศ ก่อนที่จะตัดสินใจลงเล่นการเมือง ในปี 2003 นางคามาลา ได้รับเลือกเป็นอัยการเขต ซึ่งเป็นตำแหน่งอัยการสูงสุดของเมืองซานฟรานซิสโก โดยในช่วงสามปีแรกที่เธอดำรงตำแหน่งอัยการเขตนั้น อัตราความเชื่อมั่นของซานฟรานซิสโกเพิ่มขึ้นจาก 52 เป็น 67 เปอร์เซ็นต์

หลังจากดำรงแหน่งอัยการเขตไปได้ 7 ปี ในปี 2010 คามาลาก็ได้ลงเล่นการเมืองในระดับมลรัฐ และได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย และในปี 2016 เธอก็ได้ทำงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

คามาลา แฮร์ริส

ด้านประวัติส่วนตัวนั้น นางคามาลา แฮร์ริส เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองโอ็คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย คามาลาเป็นลูกคนโตของ นางชยามาลา โกปาลัน นักวิจัยโรคมะเร็ง จากประเทศอินเดีย และ นายโดนัลด์ แฮร์ริส นักเศรษฐศาสตร์ จากประเทศจาเมกา ซึ่งพ่อของเธอยังเป็นผู้อพยพอีกด้วย นอกจากนี้เธอยังมีน้องสาวอีกหนึ่งคนที่ชื่อว่า มายา

บิดา และมารดาของนางคามาลานั้น พบรักกันที่ UC Berkeley ขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต ทั้งคู่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันโดยเฉพาะการเรียกร้องความยุติธรรม และความถูกต้อง ซึ่งในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันนั้น นางชยามาลา และนายแฮร์ริส ได้ร่วมในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองในมหาวิทยาลัย และหลังจากที่คามาลาเกิด ทั้งคู่ยังเคยพาเด็กน้อยใส่รถเข็มเด็กเพื่อไปร่วมประท้วงด้วย

ชื่อของนางคามาลา หรือ กมลา นั้นแปลว่า ดอกบัว ซึ่งยังเป็นอีกชื่อหนึ่งของพระแม่ลักษมีในศาสนาฮินดู เป็นชื่อที่เผยให้เห็นการเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้หญิง และเหตุที่นางชยามาลานั้นตั้งใจตั้งชื่อลูกสาวว่า คามาลา ก็เพราะอยากให้เธอมีรากเหง้าของความเป็นอินเดียติดตัวไปด้วย

คามาลา มายา และ นางชยามาลา

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ของคามาลาก็ได้หย่าร้างกันเมื่อเธอายุได้เพียง 7 ขวบเท่านั้น ซึ่งนางชยามาลาเป็นคนดูแลลูกสาวทั้งคนด้วยตัวเอง โดยแม่ลูกอาศัยอยู่ในดูเพล็กซ์ เมืองเบิร์กลีย์

ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คามาลา แฮร์ริสได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถม Thousand Oaks ซึ่งเธอได้นั่งรถบัสซึ่งเดินทางจากย่านคนผิวดำชนชั้นกลางระดับล่างไปยังโรงเรียนของเธอซึ่งตั้งอยู่ในย่านสีขาวที่เจริญรุ่งเรือง

คามาลาในวัยเด็กได้ไปโบสถ์ของคนผิวดำ และวัดฮินดูเป็นประจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวบรวมคนเอเชียใต้และคนผิวดำ ทั้งนี้เธอได้เขียนในอัตชีวประวัติว่า “แม่ของฉันเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเธอกำลังเลี้ยงลูกสาวผิวดำทั้งสองคน”  ซึ่งทำให้คามาลาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเติบโตเป็นผู้หญิงผิวดำที่มั่นใจและภาคภูมิใจ

คามาลาได้ไปเที่ยวอินเดียตั้งแต่ยังเด็กและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปู่ของเธอซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และคุณยายซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่ชอบเดินทางไปชนบทเพื่อสอนสตรีที่ยากจนเกี่ยวกับการคุมกำเนิด

หลังจากเรียนจบชั้นประถม คามาลาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในมอนทรีออล หลังจากแม่ของเธอได้งานสอนที่มหาวิทยาลัย McGill และดำรงตำแหน่งนักวิจัยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลยิวเจเนอรัล

ครั้งหนึ่งเมื่อ คามาลา วัย 13 ปี และ มายา น้องสาว ซึ่งอาศัยในมอนทรีออล ทั้งคู่ได้ประสบความสำเร็จในการประท้วงต่อต้านนโยบายห้ามเด็กเล่นบนสนามหญ้ามาแล้วด้วย

คามาลาวัยสาว

คามาลา แฮร์ริส

หลังจากเรียนระดับมัธยมปลาย คามาลาได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Howard มหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งที่นี้มีคนดำผู้มีชื่อเสียงระดับโลกสำเร็จการศึกษาไปอย่างมากมาย ทั้งนี้คามาลาได้เลือกเรียนวิชาเอกรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ และเข้าร่วมชมรม Alpha Kappa Alpha ชมรมอักษรกรีกแอฟริกันอเมริกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย

แม้ในตอนแรกครอบครัวจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับอาชีพของคามาลามากนัก ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าในอดีตอัยการได้รับชื่อเสียงที่ไม่ดี แต่คามาลาบอกว่าเธอต้องการเปลี่ยนระบบจากภายใน

คามาลา แฮร์ริส

หลังจากได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานในสำนักงานอัยการเขตซานฟรานซิสโก คามาลาได้ปราบปรามการค้าประเวณีของวัยรุ่นในเมืองโดยปรับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมุ่งเน้นไปที่เด็กผู้หญิงในฐานะเหยื่อมากกว่าการเป็นอาชญากรทางเพศ นอกจากนี้คามาลายังออกกฏหมายที่เอาจริงเอาจัง หรือที่เรียกว่า ‘โหดต่ออาชญากรรม’ (Tough on Crime) อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายให้ตำรวจจับคนไร้บ้านที่มาเร่ขอเงินบนทางเท้า ซึ่งอัยการคนเดิมมองว่าเป็นอาชญากรรมที่ต่ำมาก หรือจะเป็นนโยบายดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ตั้งแต่ทำความผิดครั้งแรกโดยไม่ให้โอกาสยอมความในชั้นสอบสวน รวมถึงนโยบายดำเนินคดีกับผู้ปกครองที่ลูกหลานชอบขาดเรียนบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งหากเป็นอัยการคนเก่านั้นจะส่งนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปพูดคุยถึงปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้นก่อน

คามาลา แฮร์ริส

แน่นอนว่านโยบายเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการจับกุม และการดำเนินคดีในเมืองซานฟรานซิสโกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มากที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ที่น่าสนใจคือพวกที่โดนดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ คนฮิสแปนิก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามคามาลาค่อนข้างภูมิใจในผลงานของเธอเป็นอย่างมาก เพราะเธอทำให้ซานฟานซิสโกกลับมาเป็นที่มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม

จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของนางคามาลาจึงได้เอาชนะตัวเก็งทั้ง 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย แห่งรัฐอิลลินอยส์ จากพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจับตามองจากสื่อยักษ์ใหญ่หลายสำนักว่ามีโอกาสได้รับเลือกลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่กับนายไบเดน

โจ ไบเดน

ทั้งนี้นายไบเดนยังได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ประกาศชื่อของ นางคามาลา แฮร์ริส ให้เป็นคู่หูในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนายไบเดนยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “คามาลาเป็นนักสู้ที่ไร้ความหวาดกลัวเพื่อคนธรรมดาสามัญ และเป็นหนึ่งในข้าราชการที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งเธอยังเคยทำงานใกล้ชิดกับ โบ ไบเดน ลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วของเขา”

คามาลา แฮร์ริส

ด้าน นางคามาลาเองก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์ โดยกล่าวถึงนายไบเดนว่า “เขาสามารถรวมชาวอเมริกันให้เป็นหนึ่งได้ เพราะเขาใช้เวลาทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อพวกเรา และในฐานะประธานาธิบดี ไบเดนจะสร้างอเมริกาที่เป็นอุดมคติของเรา “ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับเขาในฐานะตัวแทนของพรรคเราที่จะไปชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และจะทำทุกอย่างเพื่อให้เขาเป็นประธานาธิบดี”

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลายฝ่ายได้มองไกลถึงอนาคตอีกด้วยว่า นี่อาจเป็นก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่ซึ่งมากกว่าการเป็นรองประธานาธิบดีของนางคามาลา แต่เป็นประตูสำคัญซึ่งอาจทำให้เธอได้กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า


ข้อมูล : politico.eu, Thairath

ภาพ : latimes, Getty Image

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up