คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเมื่อเอ่ยชื่อ “บ๊อบ – ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” หรือที่ใครๆ คุ้นหูกันในนาม “พี่บ๊อบ พ่อน้องณัชชา” พิธีกรมากความสามารถ ผู้มีบุคลิกอบอุ่น เฉลียวฉลาด และมีดีกรีเป็นหนุ่มแพรว ประจำปี 2543 หลังจากแต่งงานกับ คุณเฮี้ยง – ณัฐสินี ศรีภรรยาไปเมื่อปี 2550 ชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกสี่ ที่มีลูกสาว น้องณัชชา ลูกชายฝาแฝด น้องพุฒ – น้องพร้อม และลูกชายคนเล็ก น้องเภา ก็ดูมีความสุขลงตัวเลยทีเดียว
สิ่งที่โดดเด่นจากครอบครัวนี้ที่หลายคนสัมผัสได้เลยก็คือ ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวเน้นการศึกษา สอนลูกๆ ให้ความสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และลงมือทำ เห็นได้จากผลผลิตชิ้นโตอย่างลูกสาวคนเก่ง น้องณัชชา – ณัชชาวีณ์ ที่แม้จะเป็นเพียงเด็กผู้หญิงตัวเล็ก แต่ได้ใช้ความสามารถทางด้านภาษาสอนคนอื่นๆ ในฐานะพิธีกร ที่มีวลีฮิตว่า “ดูปากณัชชานะคะ” และไม่หยุดการเติบโตเพียงเท่านั้น เพราะล่าสุดคุณบ๊อบ – ณัฐธีร์ มีอีกหนึ่งบทบาทใหม่นอกเหนือจากพิธีกร นั่นคือการเป็นผู้จัดรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ลูกสาวได้ใช้ความสามารถตัวเองช่วยเหลือคนอื่นและช่วยเหลือสังคม
Exclusive Talk วันนี้จึงจะพาไปนั่งคุยถึงวิธีการเลี้ยงลูกของครอบครัว “โกศลพิศิษฐ์” ว่าเขามีมุมมอง มีวิธีคิดในการเลี้ยงลูกๆ ท่ามกลางกระแสสังคมในยุคนี้ที่มีทั้งเรื่องดีและร้ายเช่นไร รวมถึงชีวิตครอบครัวและการทำงานที่แม้จะเน้นไปทางด้านการศึกษา แต่ลูกๆ กลับเป็นเด็กสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ น่าจะได้ข้อคิดและมุมมองดีๆ มากเลยทีเดียว
ย้ายมาทำงานที่ช่อง True4U เป็นอย่างไรบ้าง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
คุณบ๊อบ : จริงๆ การเข้ามาที่ช่อง True4U ต้องบอกว่านอกจากจะมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่อง รับหน้าที่ดูแล Smart News ข่าวเช้า ตั้งแต่ 6 – 9 โมงเช้า ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตรงนี้เป็นหน้าที่หน้าจอนะครับ แต่ว่ามีหน้าที่ที่รับผิดชอบเพิ่มเติมมากขึ้นคือ หน้าที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาให้ทรูปลูกปัญญา แล้วก็ทรูคลิกไลฟ์ (True Click Life) ซึ่งเป็นงานด้านการศึกษาของทรูฯ อันนี้เป็นหน้าที่ที่พี่บ๊อบเองทำงานด้านการศึกษามาตลอด ก็เป็นดาราไม่กี่คนมั้ง น้อยมากหรือแรร์ไอเท็มมากสำหรับดาราที่ทำด้านการศึกษาอย่างเต็มตัว
เรื่องการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายทอดให้เฉพาะน้องณัชชา แต่ยังส่งต่อถึงเด็กคนอื่นๆ ด้วย
คุณบ๊อบ : ใช่ๆ ถือว่ามาทางด้านการศึกษานี้แล้วละ แล้วณัชชาเองก็ถือว่าได้รับการถ่ายทอดมาทางนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้ไปอยู่ทางหน้าจอช่อง 3 ไปทำรายการ “ณัชชาลูกสาวพี่บ๊อบ” นั่นก็เป็นโอกาสครั้งแรกที่ได้ใช้ความสามารถของณัชชาให้เกิดประโยชน์กับคนในสังคมนะ
ตอนแรกเราคิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับแค่ครอบครัวเรา เชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อณัชชาเอง แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อเด็กคนอื่นๆ ด้วย เพราะจากการที่ณัชชาได้ไปสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน มีคนชื่นชม พ่อแม่ยุคใหม่ที่ได้ดูก็อยากให้ลูกเป็นแบบณัชชา เพราะฉะนั้นคนไทยคนอื่นๆ จึงอยากให้ลูกเก่งภาษา เลยเริ่มส่งลูกไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น ก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่เรารู้สึกว่าจากเด็กตัวเล็กๆ คนนี้ ในวัยตอนนั้น 5 ขวบ แต่สามารถทำอะไรให้สังคมได้
ภูมิใจในตัวลูกสาวคนนี้ ทั้งยังสอนว่าพัฒนาตัวเองแล้ว ต้องรู้จักช่วยเหลือสังคม
คุณบ๊อบ : เราก็แอบภูมิใจในตัวเขา แต่แน่นอนว่าการเดินหน้าของชีวิตเด็กจะค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ ณัชชาทำรายการ “ณัชชาลูกสาวพี่บ๊อบ” ได้ 3 ปีจึงบอกณัชชาว่า หนูต้องทำอย่างอื่นที่พัฒนาศักยภาพของตัวเองด้วย แล้วก็ไปสร้างสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะหนูกลายเป็นคนที่คนอื่นมองเข้ามาแล้วเป็นแบบอย่าง ก็เลยให้ณัชชามาทำรายการชื่อ “Natcha The Explorer” ให้ณัชชาทำภารกิจต่างๆ ที่พ่อมอบหมายให้ แล้วณัชชาไปทำด้วยตัวเอง ไปคิด ไปตัดสินใจ ไปแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง
ซึ่งเป็นการท้าทายการเลี้ยงเด็กในรูปแบบที่ให้เด็กไปเผชิญกับสถานการณ์ เขาจะได้มีความแข็งแกร่งกับชีวิตมากขึ้น ณัชชาผ่านรายการนี้มาเกือบร้อยภารกิจ ตอนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสเต็ปที่ณัชชาจะเติบโตขึ้นไปในสายตาทั้งของพ่อแม่เอง และในสายตาคนในสังคมที่ติดตามเขามาตั้งแต่เด็กๆ จึงเป็นรายการที่เขาเป็นพิธีกรเต็มตัว แล้วเป็นพิธีกรที่ต้องมาทำงานร่วมกับพิธีกรมืออาชีพหลายคน จึงเกิดรายการชื่อว่า “May I Help You? ให้หนูช่วยนะ”
คอนเซ็ปต์รายการเป็นอย่างไร
คุณบ๊อบ : คอนเซ็ปต์รายการ “May I Help You? ให้หนูช่วยนะ” เกิดจากการที่ณัชชาได้สอนภาษา นำคนอื่นทำกิจกรรมต่างๆ คราวนี้ณัชชาจะชวนคนอื่นมาทำความดีไปพร้อมกัน มันก็มาจากที่เขาเคยไปช่วยเหลือสังคมด้านการบริจาคเลือด ต้องบอกว่าเขาบริจาคเลือดเองไม่ได้ แต่เขาช่วยไปเชิญชวนคนอื่นให้มาเป็นผู้บริจาคได้ เขาก็ใช้ความสามารถที่เขามีอยู่ เราก็เลยคิดว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถที่ไม่เหมือนกัน แล้วความสามารถทุกความสามารถก็นำมาช่วยเหลือสังคมได้
ความสามารถแปรเป็นการช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร
คุณบ๊อบ : ถามว่าจะช่วยอย่างไร ไปถามใครต่อใคร พ่อแม่ ทั้งเด็กเองก็บอกว่าส่วนใหญ่แล้วที่จะช่วยเหลือก็ต้องติดเรื่องของเงินทอง ถ้าไม่มีเงินทองจะไปช่วยใครได้ สองคือ ไม่มีเงินทองก็ต้องมีความสามารถที่เขาต้องการ หรือมีพละกำลังที่จะไปช่วยงานต่างๆ ที่เป็นสาธารณกุศลได้ แล้วถ้าบอกว่า อ้าว แล้วความสามารถของเด็กจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่หนึ่งคือ มีเงิน สองคือ มีในสิ่งที่จะไปช่วยคนอื่นได้ แต่ถ้าเด็กมีความสามารถในรูปแบบเด็กๆ ทำยังไง เราก็เลยคิดเวทีขึ้นมา คือเวที May I Help You? จะเป็นเวทีหนึ่งที่เด็กจะเอาความสามารถที่เขามีมาแสดงบนเวทีนี้ แต่ก่อนที่จะมาแสดง เขาจะเลือกว่าเขาอยากจะช่วยเหลือใคร ซึ่งทางรายการจะไปรวบรวมคนที่คิดว่าน่าจะให้เด็กๆ เลือกว่าน่าจะมีคนที่เขาต้องการขอความช่วยเหลืออยู่แบบนี้ เขาอยากจะช่วยใคร เด็กๆ ก็จะออกไอเดียว่าเขาอยากช่วยเคสนี้ เขาอยากจะช่วยเคสนั้น เพราะเหตุผลในรูปแบบเด็กๆ ของเขานี่แหละ
ไม่เคยฟังความคิดเด็ก คราวนี้จะหันกลับมาฟัง
คุณบ๊อบ : เราไม่เคยฟังเด็กเลย ในอดีตที่ผ่านมาถามพ่อแม่ว่าเวลาพาลูกไปทำความดี พาลูกไปทำกิจกรรม ได้เคยถามลูกไหมว่าเราจะไปช่วยคนนี้คนนั้น ลูกคิดว่าจะไปช่วยใครดี ไม่มีใครเลยนะ แม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างณัชชา วันนี้เราจะไปทำบุญกัน วันนี้เราจะไปช่วยเด็กกำพร้ากัน วันนี้เราจะไปนู่นกัน วันนี้เราจะไปนี่กัน เราคิดว่าสิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด แต่วันนี้เราจะกลับมาฟังเสียงเด็กๆ ว่าเขาอยากจะช่วยใคร เพราะนี่คือเสียงที่บริสุทธิ์ เสียงที่มาจากตัวเขาจริงๆ รายการนี้ก็เลยเปิดเวที เปิดความคิด เปิดทัศนคติต่อการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบเด็กๆ ที่เขาอยากช่วยด้วยตัวเขาเอง แล้วก็ใช้ความสามารถเขามาโชว์ในรายการ ถ้าความสามารถเขาได้รับคะแนนจากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นคอมเมนเตเตอร์ที่จะมาสร้างสีสันในรายการ มาสนุกสนานกับเด็กๆ ถ้าได้คะแนนสูง แล้วทำให้เคสนั้นได้รับการช่วยเหลือ นั่นก็คือความภาคภูมิใจที่สุดของเขาที่สามารถทำได้
เวทีนี้ไม่มีผู้แพ้ แค่เด็กๆ คิดอยากจะช่วยเหลือคนอื่นก็คือผู้ชนะ
คุณบ๊อบ : คอนเซ็ปต์รายการของเราคือ เวทีนี้ไม่มีผู้แพ้ เวทีนี้มีไว้แบ่งปัน ถามว่าเด็กที่มาโชว์ในรายการไม่มีใครแพ้เลยเหรอ จะบอกว่าไม่แพ้เลย เพราะทุกคนที่มาโชว์แค่มาในรายการเพื่อจะช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนคือผู้ชนะทั้งหมด แต่ความรู้สึกของผมที่เป็นผู้จัดรายการและแก่นรายการ เด็กทุกคนจะได้รับสิ่งที่ดีเท่าเทียมกัน คือ “ถ้วยแห่งความภาคภูมิใจ” ที่เขาเสียสละเวลามาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความสามารถของเขา
รายการในแต่ละครั้งจะมีเคสมาขอความช่วยเหลืออยู่ 2 เคส หนึ่งเคสจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะโชว์ของเด็กได้รับคะแนนสูง อีกเคสหนึ่ง โชว์ของเด็กอาจจะได้คะแนนน้อยกว่า เคสนี้จะยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เคสนี้ก็จะกลับไปเพื่อให้เด็กคนอื่นๆ ได้มาเลือกอีกทีหนึ่งว่าเขาอยากจะมาช่วยเคสนี้ เมื่อไหร่ที่มีคนเลือกมาช่วยเคสนี้ เคสนี้ก็จะได้กลับมาในรายการ แล้วก็จะกลับมาแข่งขันกันในทีมนี่แหละ ว่าตกลงครั้งนี้ใครจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเวทีนี้เลยไม่มีผู้แพ้ และเวทีนี้มีไว้แบ่งปันตามคอนเซ็ปต์ของรายการ
มี 3 องค์ประกอบที่คณะกรรมการตัดสินใจจากเด็กๆ
คุณบ๊อบ : ก็จะเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกันที่มีบรรทัดฐานเดียวกัน ก็ดูความน่ารัก ความสามารถ และจิตใจของเด็กๆ ที่เขาเลือกจะช่วยเหลือใคร องค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ทำให้คณะกรรมการให้คะแนน ซึ่งไม่จำเป็นว่าเด็กที่ได้ที่หนึ่งจะช่วยเคสที่เขาเลือกได้ เพราะคณะกรรมการอาจจะเห็นในมุมที่แตกต่างกัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการในรายการเหมือนกัน เพราะคณะกรรมการมีหน้าที่วิเคราะห์ แล้วก็ถ่ายทอดความรู้สึกถึงเด็กคนนี้ จริงๆ เด็กทุกคนที่มาร่วมรายการคือเด็กที่มีใจอยากจะช่วยคนอื่น แค่มีใจ คณะกรรมการก็ให้คะแนนเกินครึ่งอยู่แล้ว แต่แค่ว่าคะแนนเกินครึ่งนั้นจะไปถึงเต็ม จะไปถึงระดับไหนยังไง ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กๆ ด้วย
เด็กทุกคนถึงแม้จะช่วยได้หรือไม่ก็ตาม เด็กจะไม่รู้สึกแย่เลย เนื่องจากเวทีนี้เราไม่ได้เอาเด็กมาแข่งเพื่อหาผู้ชนะคนเดียวแล้วคนอื่นเป็นผู้แพ้ แต่เราบอกว่าเด็กทุกคนคือผู้ชนะ เพื่อที่จะทำให้คนที่เขาอยากจะช่วยประสบความสำเร็จให้ได้ แล้วก็ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนการช่วยเหลือก็เป็นการสนับสนุนจากทางรายการนี่แหละ ที่จะหาของ จะไม่ช่วยเหลือด้านการเงิน เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยแล้วไม่ยั่งยืน แต่เคสต่างๆ จะเป็นกรณีขอความช่วยเหลืออะไรบางอย่างที่จะทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการช่วยเหลือที่ส่งผลระยะยาว
ตัวอย่างการช่วยเหลือที่ผ่านมามีอะไรบ้าง
คุณบ๊อบ : อย่างเคสที่มาขอความช่วยเหลือเป็นโรงเรียนที่มีครูไม่มากนัก เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สังขละบุรี มีนักเรียนอยู่ประมาณ 50 คน เขาก็อยากให้นักเรียนมีการศึกษาที่ดี เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล งบประมาณที่ลงไปก็ไม่เยอะ ดังนั้นเขาไม่สามารถจัดสรรครูเก่งๆ ลงไปในพื้นที่ได้ ตอนนี้ในโรงเรียนมีครูอยู่แค่ 2 คน ครูต้องสอนทุกวิชา แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงวิชาความรู้ได้ เขาก็เลยคิดว่าถ้าได้จานดาวเทียมไป ได้ครูดาวเทียม ครูจากตู้ ก็คือทีวีทางไกลผ่านดาวเทียมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ เขาก็จะได้รับสื่อต่างๆ เหล่านั้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียน ซึ่งเขาก็มาขอจานดาวเทียมกับทีวีสักเครื่องหนึ่งเพื่อให้เด็กเรียนหนังสือได้ นี่ก็เลยเอามาร่วมรายการได้
มีกระทั่งเด็กมาขอจักรยาน 1 คัน เพื่อปั่นไปเยี่ยมคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชแล้วพักอยู่ที่โรงพยาบาล
คุณบ๊อบ : เด็กบางคนมีคุณแม่ที่อยู่โรงพยาบาล เป็นผู้ป่วยจิตเวช แล้วเขาต้องรักษาอยู่ที่นั่นตลอดเวลา ลูกจะไปเยี่ยมคุณแม่ได้เมื่อญาติๆ ว่างแล้วพาไป เขาบอกว่ามันไม่ไกลจากบ้านเขาหรอก ประมาณ 5 กิโลเมตร เขาจะเดินไปกลับเองก็อันตรายพอสมควร จึงมาขอจักรยานแค่คันเดียว เพื่อให้เขาไปเจอคุณแม่ได้บ่อยครั้งขึ้น เรื่องราวแบบนี้ก็มีคนส่งเข้ามาในรายการ แล้วออกเป็นเคสให้เด็กๆ ได้เลือกกันนะครับ แม้กระทั่งเคสที่มาขอแค่เครื่องเสียงบางอย่าง เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เด็กหรือคนพิการได้ใช้ทำมาหากิน แต่เขาไม่มีเงินทอง ก็มาขอในรายการได้ รายการก็จะคัดเลือกแล้วส่งไปให้เด็กๆ ได้เลือกกันอีกทีว่าใครจะช่วยใคร
เป็นสิ่งที่ดีเมื่อพ่อแม่เห็นค่าความสามารถของลูกๆ
คุณบ๊อบ : สิ่งหนึ่งที่รายการของเราต้องขอบคุณเลยก็คือ พ่อแม่ของเด็กๆ ที่มาโชว์ในรายการ เพราะถ้าพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าการนำความสามารถของลูกๆ มาช่วยเหลือคนอื่น รายการนี้จะเดินไม่ได้เลย แต่พ่อแม่ทุกคนที่มาออกรายการรู้เลยว่าผลักดันให้ลูกมีความสามารถ แต่ละคนก็มีส่งลูกไปทำกิจกรรมนู่นนี่ แต่บางคนก็เก่งด้วยตัวเอง แต่เขายินดีเข้ามาร่วมรายการ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อะไรนอกจากความภูมิใจที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนอื่น นี่แหละเป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้พ่อแม่แต่ละคนส่งลูกเข้ามา พ่อแม่บางคนพูดว่า ถ้าเป็นเวทีการแข่งขัน เขาจะไม่ส่งลูกเข้ามาหรอก เพราะถ้าลูกเขาแพ้ เด็กจะเสียความรู้สึก อาจจะรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่อยากทำสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความสามารถของเขาต่อไป แต่เวทีนี้บอกว่าทุกคนคือผู้ชนะหมด แค่เดินทางมาร่วมรายการ แล้วก็ขอแสดงความสามารถเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนก็คือผู้ชนะแล้ว เขาจะได้รางวัลเหมือนกัน ก็คือถ้วยแห่งความภาคภูมิใจ
เปิดโอกาสให้เด็กพิการมาเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่น
คุณบ๊อบ : พ่อแม่ของผู้พิการเองบอกว่าอยากให้ลูกได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่น เราจึงบอกว่าเอาความสามารถที่เขามีอยู่ ไม่ว่าด้านไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นความสามารถที่เขาไปแข่งขันชนะเลิศเวทีนั้นเวทีนี้ อะไรก็ได้เลยที่เขาคิดว่าเขามีหรือบุตรหลานของเขามี เพื่อให้ลูกได้แสดงความสามารถเหล่านั้น อย่างเช่น ผู้พิการที่พี่บ๊อบได้เจอมาคือพิการทางสายตา น่าจะอยู่ในวัย 8 – 9 ขวบแล้ว มีความสามารถด้านการตีเปิงมาง ซึ่งเป็นดนตรีไทยชั้นสูงเลย เด็กพิการมองไม่เห็น แต่ตีเปิงมางกับวงได้ จึงนำมาโชว์ในรายการ สิ่งหนึ่งที่ลูกเขามาแสดงเราก็ทึ่งแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่พี่บ๊อบรู้สึกสนใจมากขึ้นไปอีกคือ ตอนที่สัมภาษณ์แม่เขา แม่เขาบอกว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่าลูกเขาที่เป็นผู้พิการทางสายตาจะมีประโยชน์ต่อสังคม และนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาเอาลูกมาแสดงความสามารถเพื่อช่วยคนอื่นได้
ต้องมาเป็นพิธีกรคู่กับดีเจนุ้ยที่มืออาชีพสุดๆ คุณพ่อบ๊อบมีเทรนให้ลูกสาวด้วย
คุณบ๊อบ : น้องณัชชาเป็นพิธีกรคู่กับดีเจนุ้ย ซึ่งเขาเป็นคนเก่งมาก อันดับแรกเลยคือ ณัชชาก็ต้องเตรียมตัว เมื่อทำงานกับมืออาชีพ น้องณัชชาเองก็ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายตัวเอง แล้วก็สติปัญญาที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ได้ ณัชชาเขาค่อยๆ เติบโตมาจากการทำพิธีกรสอนภาษา การทำรายการที่เขาต้องเป็นคนดำเนินเรื่อง แต่ทีนี้เราก็ต้องเทรนเขามากขึ้น ต้องทดสอบความเข้าใจ ถ้าเด็กเข้าใจเนื้อหารายการ การไปอยู่ในพื้นที่ที่ผู้ใหญ่เก่งๆ เขาอยู่กัน อย่างน้อยๆ เขามีจุดความเข้าใจแล้ว ใครจะพูดอะไรอย่างไร เขาจะสานต่อได้ ซึ่งเราเอาเนื้อหาตรงคอนเซ็ปต์ของรายการมาอธิบายให้ณัชชาเข้าใจ ให้เขาถ่ายทอดออกมาได้ด้วยความเข้าใจของเขา
อันดับสองคือ พี่นุ้ยเป็นคนตลกมาก สนุกสนานเฮฮา ณัชชาเดิมทีก็ไม่ทันเหมือนกัน แต่เขาก็เริ่มเรียนรู้ ปรับตัว แล้วก็รับมือกับการเล่นมุกของพี่นุ้ยบ้าง โยนมุกให้พี่นุ้ยเล่นบ้าง (หัวเราะ) ซึ่งณัชชาเองก็พัฒนาตัวเองได้เร็วพอสมควร เราถ่ายทำมา 3 ครั้ง เขาปรับตัวได้ ต้องบอกว่าเกินเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้แล้ว
มาพูดถึงการใช้ชีวิตกันบ้าง เห็นลูกๆ ตั้งใจทำงานขนาดนี้ นอกเวลางานสอนลูกๆ อย่างไร
คุณบ๊อบ : จริงๆ แล้วทุกรายการที่เขาทำมาคือการเพิ่มศักยภาพให้เขา เพิ่มทั้งกระบวนการคิด การใช้ชีวิต มันถูกถ่ายทอดไปจากสิ่งที่เราวางแผน แล้วก็จัดให้เขาได้เผชิญ สอนไปด้านนั้นไม่พอ ต้องสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้เด็ก ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะไหน เขาก็คือเด็กที่เราต้องปลูกฝังอยู่เรื่อยๆ เรื่องนี้ไม่เคยห่างหายไปจากคุณพ่อและคุณแม่ของณัชชาเลย
ผมเองก็สอนณัชชาอยู่ตลอดเวลาว่าอะไรที่เรียกว่ากาลเทศะของไทย อะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ เช่น การไหว้ ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ในวันนี้เรายังเตือน บอกกล่าว และสอนเขาได้ จนหลังๆ มานี้ไปไหนมาไหนเขาเป็นคนมือไม้อ่อน ผมแทบไม่ต้องทักเลยว่าณัชชาสวัสดี เพราะเราเองก็ทำเป็นแบบอย่าง
ทำให้เขารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่คนไทยของเรามีความน่ารักก็ตรงนี้แหละ แล้วก็เป็นวัฒนธรรมที่ควรจะปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าลูกคนไหนก็ตาม พี่บ๊อบมีลูก 4 คน ก็สอนทุกคนให้รู้จักไหว้ พูดจาสุภาพ แล้วก็ให้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่เรื่อยๆ ซึ่งณัชชาเองก็ทำได้ค่อนข้างดีเลยละ แล้วก็เป็นตัวอย่างให้น้องๆ ต่อไป
หลายคนได้เห็นน้องณัชชา ลูกสาวคนโตผ่านสื่อบ่อยๆ แล้ว ด้านลูกชายทั้งสามเป็นอย่างไรบ้าง
คุณบ๊อบ : เราปลูกฝังน้องณัชชาให้เป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพ มีความเป็นไทย รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แล้วก็มีมารยาท สิ่งเหล่านี้ก็ถ่ายทอดไปถึงน้องๆ เขาด้วย แต่ถ้าในเชิงของความสามารถ บุคลิกลักษณะ สี่คนแตกต่างกันหมดเลย แม้กระทั่งลูกชายฝาแฝดก็แตกต่างกัน ซึ่งเราก็จะเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นเหมือนๆ กัน แต่จะเลี้ยงในสิ่งที่เขาเป็นของเขานี่แหละ เราต้องดูตลอดเวลาว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ฝาแฝดเองก็ชอบไม่เหมือนกัน แล้วก็ไม่ผลักดัน ไม่เปรียบเทียบว่าลูกคนนี้ต้องเป็นแบบลูกคนนั้นให้ได้ ทุกคนจะต้องเป็นแบบเจ้ณัชชาให้ได้ นั่นไม่ใช่
ลูกชายฝาแฝดชื่อพุฒกับพร้อม พุฒก็ต้องเป็นแบบพุฒให้ได้ แต่ต้องเป็นพุฒในแบบที่ดี พร้อมก็ต้องเป็นแบบพร้อมให้ได้ แต่ต้องเป็นพร้อมในแบบที่ดี ส่วนคนเล็กชื่อเภา เขามีคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจนของเขา คือสนุกสนานเฮฮา กล้าทำสิ่งต่างๆ เภาก็ต้องเป็นแบบเภาให้ได้ แต่เป็นเภาในแบบที่ดี เพราะฉะนั้นลูกแต่ละคนจะถูกผลักดันในแง่มุมแต่ละคนที่มีความชอบต่างกัน
ภาพลักษณ์ครอบครัวคุณบ๊อบเน้นการศึกษา จึงไม่แปลกหากคนจะคิดว่าลูกๆ ในครอบครัวนี้จะเคร่งเครียดเกินไปหรือเปล่า จริงๆ เป็นอย่างนั้นไหม
คุณบ๊อบ : ถ้าใครได้ตามดูในโลกโซเชียลของเรา ดูในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม @natchaandfamily แล้วก็ทาง @bobnattee จะรู้เลยว่าเราเป็นครอบครัวเฮฮามาก (หัวเราะ) ว่างไม่ได้ ว่างต้องไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่เนื้อหาสาระทางวิชาการ เป็นการเรียนรู้ในสไตล์ที่เด็กๆ จะได้สัมผัสและสนุกสนานไปด้วย แล้วสิ่งที่ถ่ายทอดออกมา สิ่งที่คนตามดู ก็จะรู้สึกว่าครอบครัวนี้น่ารักจังเลย มีความสุขมากเลย ชอบน้องๆ ที่มีความสุขแบบนี้
แต่ก็จะมีคนที่รู้จักเราไม่มากพอ อาจจะมีมุมนั้นบ้างว่า เอ๊ะ…เครียดเกินไปหรือเปล่า ทำไมเราผลักดันลูกทั้งด้านการศึกษาและการทำรายการด้วย แต่ถ้าใครรู้จักครอบครัวเราจริงๆ จะรู้เลยว่านี่คือส่วนผสมที่คิดว่ามันก็ลงตัวในสไตล์ครอบครัวแบบเรานี่แหละ ไม่ได้เอาไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่นว่า เอ…เราดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราปลูกฝัง ทั้งคุณค่าแห่งความดี คุณค่าการมีมารยาทที่ดี มันจะช่วยทำให้เขาเป็นคนดีในสังคมได้
เขาจะเก่งแค่ไหนอย่างไรก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน แต่เราก็จะให้ในสิ่งที่ไม่แตกต่างกันหรอก อย่างฝาแฝดเราให้เหมือนกันเลย แต่เขาเลือกที่จะรับต่างกัน เราก็ไม่ได้ไปกดดัน ไม่เครียดด้วยว่าลูกจะจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่คนอื่นที่ดูในโซเชียลมีเดียของเราจะรู้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปเครียดกับคนที่มีความรู้สึกแบบนั้น แค่รู้ว่าเราทำแล้วลูกๆ ได้อะไร แล้วเราวางเป้าหมายอย่างไรให้เขาเติบโตเป็นคนที่มีศักยภาพในแบบของเขา เราวางแบบนี้ก็น่าจะเพียงพอ
มีการแบ่งเรื่องเลี้ยงลูกกับคุณภรรยาอย่างไรบ้าง
คุณบ๊อบ : จริงๆ แล้วก็ดูแลลูกๆ ทุกคนเลย ด้านการอ่านหนังสือ การใช้เวลาร่วมกันหลังกลับมาจากโรงเรียน ก็มีตารางของแต่ละคน เขาก็จะรู้หน้าที่เลย เดี๋ยวณัชชามาอ่านหนังสือก่อนคนแรก ใครจะมาอ่านกับคุณแม่เป็นคนต่อไป อันนี้เป็นกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้น การดูสารคดีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราปลูกฝังให้เขา แทนที่จะให้เขาดูละครหรือเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เราก็เลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับเขานี่แหละ
จะบอกว่าเด็กดูแล้วไม่ได้ในวันนี้นะ แต่เขาจะสะสมไปเรื่อยๆ เขาดูแล้วชิน จะบอกเองเลยว่า อ้าว ทำไมวันนี้ไม่ได้ดูสารคดี ก็บอกว่าโอเคลูก ถ้าลูกอยากดูก็เปิดให้ดู กลายเป็นการปลูกฝังให้เขาเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เดี๋ยวอนาคตมันก็เชื่อมโยงกันแหละ การเชื่อมโยงจะเกิดขึ้นหลังจากที่เขามีฐานความรู้ แต่ฐานความรู้นี้ไม่ใช่ฐานความรู้ที่บังคับด้านวิชาการ แต่เป็นฐานความรู้ที่เกิดจากความสนอกสนใจที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ก็ถือว่าน่าจะทำให้เด็กๆ เติบโตในรูปแบบของเด็กๆ ได้เหมือนเดิมนี่แหละ ไม่มีอะไรแตกต่างจากครอบครัวอื่นๆ เลย เพราะครอบครัวอื่นๆ ก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน เข้าถึงทีวีในบ้านเราที่มีคุณค่า มีคุณภาพ แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา
กับสังคมที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ รู้ได้ทุกแง่มุม จะระวังลูกอย่างไร
คุณบ๊อบ : แม้กระทั่งข่าวนะครับ เขาก็ดูข่าวที่พี่บ๊อบอ่านแล้วก็นำเสนอ สวัสดีกันตอนเช้าทุกวัน แต่เวลาดูข่าวเราก็จะถามว่าเขารู้สึกอย่างไร แม้กระทั่งข่าวอาชญากรรมหรือข่าวอุบัติเหตุ เราก็จะถามว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ต้องถ่ายทอดในมุมของผู้ใหญ่ว่าผู้ใหญ่เห็นอะไร แต่จะไม่ปิดกั้น เพราะปิดกั้นอย่างไรเขาก็จะไปค้นหาได้ แต่ก็จะสอนให้เขาสังเคราะห์มันออกมาในเชิงที่มีประโยชน์ให้ได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราพูดวันนี้แล้วพรุ่งนี้เขาจะได้เลย ค่อยๆ คุยกันไปทุกวันๆ เท่าที่เราจะทำได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเจอเหตุการณ์ใดก็ตาม เราก็จะถามเขาว่าคิดอย่างไร เราคิดแบบนี้ ลูกคิดว่ายังไง ก็จะถามกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการสอนลูกก็คือการตั้งคำถาม ยกเว้นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เรื่องที่เป็นคุณค่าของความดี ที่เรารู้แล้วว่านี่คือคุณค่าของสิ่งที่ปลูกฝัง เรื่องของมารยาท อันนี้จะยอมไม่ได้ ต้องเป็นคนที่มารยาทดี แต่เรื่องอื่นๆ เปิดกว้างทางความคิด แล้วก็รับฟังความคิดของลูกเสมอ
ช่วงนี้มีปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กังวลคือ เด็กไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร คุณบ๊อบมีวิธีดึงความชอบของพวกเขาออกมาได้อย่างไร
คุณบ๊อบ : อันดับแรก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกสัมผัสมีผลต่อทั้งความคิด วิถีชีวิต และความประพฤติของเขาทั้งหมดนะครับ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ การเลือกสิ่งที่จะเข้าถึงลูกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องรู้จักวิธีสอน ทำให้เขาเห็นถึงอันตราย เห็นถึงสิ่งที่แฝงอยู่ว่ามีอะไรบ้าง แล้วเราเป็นพ่อแม่ เราสั่งสอนลูกได้ อะไรที่ไม่ดี เราห้ามปรามได้นะครับ แล้วก็จำกัดพื้นที่ที่เขาอาจจะมีอิสระได้บ้าง อย่างเช่น การเล่นเกม การดูสื่อต่างๆ สื่อไหนที่ดี มีประโยชน์ เราสนับสนุน แต่สื่อไหนที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เราก็ระงับยับยั้งได้
ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลา สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก พ่อแม่จึงต้องใส่ใจ หรือต้องหาคนใกล้ชิดที่จะช่วยสอนให้เขารู้และอยู่ในแง่มุมดีๆ แต่ต้องไม่ปิดกั้นโลกแห่งความจริง สื่อสารให้เขาได้รับรู้ แล้วเอาวิธีคิดที่จะเป็นเกราะป้องกันให้เขาได้ในอนาคต ทั้งกระบวนการความคิด การกระทำ ก็อย่าลืมสอนเขาไปด้วย ไม่ใช่ดูแล้วผ่านไป แล้วสุดท้ายลูกก็จะจดจำ พ่อแม่ไม่รู้เลยว่า อ๋อ ลูกจำด้วย สุดท้ายลูกจำทุกอย่างเลย
เรามีหน้าที่ปรับกระบวนทัศน์ความคิดของเขาให้อยู่ในศีลธรรมที่ดี ให้อยู่ในเกราะป้องกันของเขาในอนาคต ซึ่งต้องทำอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่ใช่ทำแล้วหวังผลนะครับ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรู้สึกว่าเขาเริ่มได้ ซึ่งไม่รู้เลย ณ วันนี้ก็ยังต้องทำกับณัชชาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะอายุกี่ขวบก็ต้องค่อยๆ ปลูกฝังไปเรื่อยๆ เพราะเราเองก็ต้องเรียนรู้จากตัวเขาเหมือนกัน แล้วพ่อแม่ต้องใจเย็นมากๆ เพราะพ่อแม่สำคัญ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก พ่อแม่ทำอะไรให้ลูกเห็น ลูกก็จะทำอย่างนั้นแหละ พ่อแม่ทำไม่ดี ลูกเห็น ลูกก็จะทำตามพ่อแม่ พ่อแม่ทำดี ลูกเห็น ลูกก็จะทำตาม เราเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่สำคัญมาก
พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกเป็นอย่างนั้น
คุณบ๊อบ : หนึ่งคือ ทำความดีให้ลูกเห็น ในสิ่งที่พ่อแม่สนใจด้านใดก็ได้ที่เรียกว่าความดี นอกจากทำความดีแล้ว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของชีวิต ความประพฤติ ถ้าอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ พ่อแม่ก็ต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ถ้าอยากให้ลูกมีวินัย พ่อแม่ก็ต้องเป็นคนที่มีวินัย ถ้าอยากให้ลูกเป็นคนที่เสพแต่สิ่งที่มีประโยชน์ พ่อแม่ก็ต้องเลือกสรรในสิ่งที่มีประโยชน์ เริ่มจากพ่อแม่ก่อนก็ไม่ยากครับ แต่เราก็ต้องปรับวิถีชีวิตของเราเหมือนกัน เราตามใจตัวเองมาเยอะ แต่พอมีลูก เราเห็นอนาคตน้อยๆ ที่เราปลุกปั้น เราก็ต้องปรับตัวเองเพื่อสร้างเขาให้เป็นคนที่มีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก่อนจากกันไป ในมุมมองคุณพ่อลูกสี่ มีการวางแผนอนาคตลูกๆ ไว้อย่างไร
คุณบ๊อบ : ณ วันนี้ยังไม่รู้เลยว่าแต่ละคนจะเป็นอะไร แม้กระทั่งณัชชาที่อยู่ในแวดวงบันเทิง เราก็ไม่รู้เลยว่าณัชชาต่อไปจะเป็นอะไร แต่รู้อยู่อย่างว่าสิ่งที่เขาชอบคืออะไร สิ่งที่เขาถนัดคืออะไร ก็มาจากการใกล้ชิด ความผูกพัน จากการสังเกต ลูกแต่ละคนก็จะมีความชอบที่แตกต่างกันไป อะไรที่เขาชอบก็ผลักดัน ถ้าเป็นสิ่งดีก็ผลักดันต่อ อะไรที่เขาชอบแล้วยังไม่ดี ก็ชี้ให้เขาเห็นว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อให้เขารู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งก็อยู่ในวิจารณญาณของพ่อแม่แต่ละครอบครัว อาจจะแตกต่างกันก็ได้ เพราะคำว่าความดีของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แล้วก็สอนให้ลูกเปิดรับความคิดของทุกๆ คน ไม่ว่าความคิดนั้นจะเป็นบวกหรือเป็นลบกับเรา ถ้าเป็นบวกก็ดี เป็นกำลังใจ แต่ถ้าเป็นลบ ก็เป็นประโยชน์ที่ทำให้เราพัฒนา
เรื่อง : Gingyawee_แพรวดอทคอม
ภาพ : IG @natchaandfamily @bobnattee