เจาะลึกเบื้องหลังอมตะนิยายรัก ‘โกโบริ-อังศุมาลิน’ ฉบับโมเดิร์นคลาสสิก

“ยังมีเรื่องยากที่สุดอีกอย่างคือ การแสดงเป็นคนญี่ปุ่น ผมต้องศึกษาประวัติศาสตร์ว่า สมัยนั้นคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร บุคลิกท่าทาง วัฒนธรรม ฉากที่มีบทพูดภาษาญี่ปุ่น ต้องใช้ความพยายามมาก อาศัยการซักซ้อมกับอาจารย์เยอะๆ แต่ก็มีบางฉากที่ยากมาก อย่างขี่ม้าและพูดภาษาญี่ปุ่นไปด้วยประมาณ5 นาที โอ้โฮทั้งขี่ม้า ทั้งจำบท และออกท่าทางกับน้ำเสียงให้เป็นคนญี่ปุ่น ขอพากย์เสียงใส่ทีหลังแล้วกัน (หัวเราะ)”

“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผมก็พอแล้ว” อาจจะเป็นประโยคคลาสสิคที่ทำให้ใครต่อใครเจ็บแทน โกโบริ มาหลายหน

แต่สำหรับ ‘คู่กรรม พ.ศ.2556’ ประโยคบอกเล่าสุดท้ายจากปากนายช่างชาวญี่ปุ่นที่จะทำให้คนดูเจ็บลึกยิ่งกว่าคือ “ผมรู้ว่าคุณพยายามไม่รักผม” และนั่นคือเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างโกโบริและอังศุมาลินที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในแบบที่การันตีว่า แปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม

คู่กรรม 2556=หนังรักวัยรุ่น
ผู้กำกับคนเก่ง‘เรียว – กิตติกร เลียวศิริกุล’ ผู้ตั้งใจปลุกปั้นนิยายรักระดับคลาสสิกให้เป็นภาพยนตร์รักสมัยใหม่ เล่าถึงมุมมองในการสร้างผลงานโบแดงชิ้นใหม่ของตนเอง “ผมไม่เคยทำหนังจากวรรณกรรมมาก่อน แถมพอหยิบชิ้นแรกก็เป็นหนังรัก ย้อนยุค บทสนทนาเยอะ ทุกอย่างดูไกลตัวไปหมด ขณะเดียวกันก็ท้าทายมาก คนที่รู้จักจะรู้ว่า ผมไม่เคยทำหนังแนวเดิมกับที่เคยทำอยู่แล้ว ประกอบกับส่วนตัวชอบประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม จึงตัดสินใจเลือก คู่กรรม แต่ทำออกมาในสไตล์และมุมมองที่เราสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเคยค้นคว้าข้อมูลทำหนังประวัติศาสตร์เก็บไว้เยอะ แต่ไม่เคยทำเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะมันยาก จึงนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลใช้ในเรื่องนี้แล้วเจาะรายละเอียดให้ลึกขึ้น
“คู่กรรมฉบับนี้จะมีความทันสมัยและเป็นวัยรุ่นมากกว่าภาคก่อนๆ ไม่ใช่เพราะเราคิดเองเออเอง แต่มาจากการตีความและเทียบเคียงกับสภาพแวดล้อม ยุคสมัย ประวัติศาสตร์ ให้ใกล้ความจริงที่สุด อย่างตัวโกโบริยังเรียนไม่จบ ก็ต้องอยู่ช่วงวัยรุ่น ส่วนอังศุมาลินยิ่งแล้วใหญ่เพิ่งปีหนึ่งเอง นอกจากสิ่งที่ระบุอยู่ในบทประพันธ์หลังจากวิเคราะห์ตัวละครยังพบว่า สองคนนี้รักกันแบบวัยรุ่น นั่นคือรักแบบไม่ค่อยได้คิด มีแต่ความดื้อดึง ยึดมั่นถือมั่น แล้วมีสงครามเป็นอุปสรรคขวากหนาม ซึ่งผมมองว่าสงครามเป็นแฟชั่นที่เราไม่ได้ซาบซึ้งแล้วในยุคสมัยนี้ จริงๆ แล้วอุปสรรคของความรักอยู่ที่ภาวะจิตของหญิงกับชายมากกว่า เพราะฉะนั้นการตีความทำได้มากมายมหาศาล อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอออกมาอย่างไร และอยากให้โกโบริของเราเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ปรึกษากับโปรดิวเซอร์- เอมี่ ถึงขั้นตอนการผลิต”

ว่าด้วยเรื่องของ ‘โกโบริ-ณเดชน์’
“คำว่า คู่กรรม ของเราหมายถึง โกโบริ หากหาโกโบริเจอก็ได้ทำ แต่ถ้าหาไม่เจอก็จบ แต่โชคดีที่เจอและเป็นการเจอแบบแจ็คพอตด้วย (ยิ้ม)”

‘เอมี่ – จันทิมา เลียวศิริกุล’ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ของค่าย M39 เกริ่นก่อนเล่าต่อ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up