นักล่ามภาษามือ

เปิดเรื่องราวสุดซึ้ง “เอ-คมคิด” นักล่ามภาษามือ สกิลนี้ได้มาเพราะคุณพ่อคุณแม่พิการทางการได้ยิน

นักล่ามภาษามือ
นักล่ามภาษามือ
“ดิฉันไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองมีปมด้อย กลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนพิเศษแบบนี้ พลอยทำให้ตัวเรามีความพิเศษไม่เหมือนคนส่วนใหญ่” นักล่ามภาษามือ “เอ-คมคิด” ได้กล่าวไว้…

ความรักในโลกเงียบ เป็นความรักอีกรูปแบบที่แสนพิเศษ ซึ่งเรื่องราวของคุณ “เอ-คมคิด ศันสนะเกียรติ” นักล่ามภาษามือที่หลายคนคุ้นหน้าเธอจากในกรอบเล็กๆ ข้างรายการนายกฯ พบประชาชนทุกสมัย ความสามารถที่เธอประกอบวิชาชีพในทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากการเรียน แต่ส่งผ่านทางสายเลือดเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เธอพิการทางการได้ยิน

“คุณพ่อ (มาโนช) ไม่ได้หูหนวกตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากอุบัติเหตุในวัยเด็ก ทำให้ท่านสูญเสียการได้ยิน คุณแม่ (พรทิพย์) ก็เช่นกัน ตอน 10 ขวบท่านป่วยเป็นไข้สมองอักเสบ แล้วฉีดยามากจนทำลายประสาทการได้ยิน แต่คุณแม่พูดได้ และสื่อสารกับคนทั่วไปได้จากการอ่านปากคู่สนทนา ท่านทั้งสองเจอกันที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์
(โรงเรียนสำหรับคนหูหนวก) คุณพ่อเป็นนักเรียนรุ่นแรก ส่วนคุณแม่รุ่น 4 ท่านคบกันกว่า 10 ปีจึงแต่งงาน แล้วมีดิฉันกับน้องชาย (กันตพงษ์) คุณแม่เล่าว่า ไปไหว้ขอพรจากพระแก้วมรกตและพระพรหม ขอให้ลูกครบสามสิบสอง ก็เป็นตามคำอธิษฐาน รวมถึงน้องชายก็ปกติทุกอย่าง ท่านตั้งชื่อเล่นดิฉันว่า เอ น้องชายว่า โอ เพราะคุณพ่อสามารถออกเสียงสองคำนี้ได้

นักล่ามภาษามือคุณพ่อมาโนชในวัยกว่า 80 ปีที่นั่งอยู่ข้างๆ แม้ไม่ได้ยินในสิ่งที่เราคุยกัน แต่ขณะที่คุณเอเล่าก็ได้ทำภาษามือไปด้วย คุณพ่อจึงออกเสียงเอกับโอให้ฟัง พร้อมทำภาษามือคุยกับลูกต่อ คุณเอถ่ายทอดว่า

“คุณพ่อบอกว่า หลังเรียนจบจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ท่านไปเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง จากนั้นมีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งท่านภูมิใจมาก จบแล้วกลับมาเป็นครูสอนวาดรูปที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรอยู่หลายปี จึงลาออกไปทำงานออกแบบที่บริษัทของญี่ปุ่น สมัยก่อนหายากที่คนพิการจะได้ทำงาน
ร่วมกับคนปกติ ท่านบอกว่า ไม่มีใครเชื่อว่าพ่อจะทำได้ จนกระทั่งพิสูจน์ผลงานให้เขาเห็น ส่วนคุณแม่พอเรียนจบแล้วก็เป็นครูที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรมาตลอด พอคลอดดิฉัน คุณพ่อลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกและวาดรูปขาย ซึ่งมีรายได้มากกว่างานประจำ

“คุณแม่เล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กดิฉันนอนดิ้น ศีรษะไปชนหัวเตียง ตื่นมาร้องไห้เสียงดัง คุณพ่อนั่งวาดรูปอยู่ห้องใกล้ๆ แต่ไม่ได้ยิน จนแม่บ้านเดินมาบอก ท่านจึงเข้ามาอุ้ม ดิฉันสนิทกับคุณพ่อมากเพราะอยู่บ้านเดียวกัน ส่วนน้องชายความที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่ทำงานทั้งคู่ จึงส่งน้องไปให้คุณยายช่วยเลี้ยงที่ราชบุรี ภาพที่ดิฉันจำจนถึงวันนี้คือคุณพ่อจะเดินไปส่งดิฉันที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน เราเดินคุยกันด้วยภาษามือ แล้วแวะกินน้ำเต้าหู้กัน พอมีคนมอง คุณพ่อใช้มือจุ๊ที่ปากบอกให้หยุดคุย เพราะกลัวดิฉันอาย จนกระทั่งถึงโรงเรียน ท่านส่งอยู่แค่หน้าโรงเรียนแล้วไปทำงาน ส่วนตอนเย็นคุณแม่มารับ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งมัธยม หากไปทัศนาจรต่างจังหวัด ทั้งที่เพื่อนทราบ ครูก็ทราบ แต่คุณพ่อยืนซุ่มอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่อยากให้ใครเห็นรอส่งดิฉันจนรถทัวร์ออก เพื่อนกับครูไม่เคยล้อหรือพูดถึงเลย จึงทำให้
ดิฉันรู้สึกว่าไม่มีอะไรแตกต่าง

“พอจบมัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ทั้งที่ท่านไม่เคยส่งเสริมให้ดิฉันวาดรูปหรือเรียนศิลปะเลย แต่คงส่งต่อทางสายเลือดจึงทำให้อยากเรียนศิลปะ คุณแม่เป็นฝ่ายวางแผนตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตลูกจึงแนะนำให้ไปเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป จบแล้วไปต่อปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรียนจบทำงานได้ไม่นาน วันหนึ่งดิฉันนั่งกินข้าวอยู่กับเพื่อน ได้รับโทรศัพท์ว่า คุณแม่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตที่จังหวัดตาก ขณะไปร่วมประชุมกับสมาคมคนหูหนวกที่เชียงใหม่ ดิฉันรีบกลับบ้านไปบอกคุณพ่อว่า คุณแม่ประสบอุบัติเหตุที่จังหวัดตาก ต้องรีบเดินทาง ณ วินาทีนั้นเป็นการยากที่ต้องบอกว่าคุณแม่เสียแล้ว คุณพ่อนั่งเงียบมาตลอดทาง คงเป็นห่วงมาก

ในชีวิตท่านมีแต่คุณแม่ ดิฉันตัดสินใจบอกความจริงตอนใกล้ถึงจังหวัดตาก ท่านนิ่ง เดาความรู้สึกไม่ถูก แล้วเป็นอย่างนั้นตลอดทั้งงานศพ คงรู้ว่าหากร้องไห้ ทั้งดิฉันและน้องชายคงร้องไห้แน่ๆ จากนั้นบ้านเราก็ไม่เหมือนเดิม คุณพ่อหงอยลงอย่างเห็นได้ชัด ดิฉันเคยพาไปเที่ยวทะเลแต่ท่านตื๊อจะกลับบ้าน เราโหยหากับข้าวอร่อยๆ จากรสมือแม่ ที่สำคัญคืออ้อมกอด ที่ท่านกอดหอมบ่อยจนเราชิน จนโตจึงเริ่มบ่ายเบี่ยง หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากให้คุณแม่มากอดเยอะๆ

แล้วคุณเอหันไปถามคุณพ่อโดยใช้ภาษามือว่า ‘คิดถึงคุณแม่ไหม’ คำตอบของคุณพ่อคือ นิ่ง มีเพียงสายตาที่เหม่อมองไปที่ไมโล หมาน้อยที่คุณพ่อรักมากและไม่เคยห่างไปไหน ราวกับว่านั่นคือตัวแทนของคู่ชีวิตที่จากไป คุณเอจึงเล่าต่อว่า

“หลังจากคุณแม่เสีย ทีแรกดิฉันแพลนอยากไปเรียนต่างประเทศ เตรียมเรียนภาษาแล้วด้วย แต่เพื่อนคุณแม่ที่เป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรโทร.มาชวนเป็นล่ามภาษามือที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ดิฉันตอบปฏิเสธเพราะไกลบ้าน อีก 2 เดือนต่อมาโทร.มาชวนอีก คราวนี้เป็นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งเพิ่งเปิดสอนนักเรียนหูหนวกเป็นรุ่นแรกๆ ดิฉันไม่ถามอะไร ตอบทันทีว่า ‘ไป’ เพราะใกล้บ้าน

“ทำหน้าที่วันแรก เจอวิชามนุษย์กับสังคม ดิฉันอึ้ง ยืนอยู่หน้าห้องเรียนข้างๆ อาจารย์นี่เหงื่อตกเลย เพราะไม่รู้คำว่า ‘มนุษย์’ และ ‘สังคม’ ต้องทำภาษามือยังไง เคยคุยแต่คำง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เคยใช้คำเป็นทางการ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ จากวันนั้นดิฉันไปคุยกับนักเรียนหูหนวกประมาณ 3 เดือนก็รู้เรื่องและเข้าใจ จากที่คิดว่าจะทำไม่นาน แต่ก็อยู่มานาน 14 ปี เพราะรู้สึกสนุกและมีเพื่อนคุยภาษามือ แม้ดิฉันไม่ได้ไปเรียนเมืองนอกอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่การเป็นล่ามภาษามือก็ทำให้มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้ผู้พิการทางการได้ยินให้ได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงธุรกิจการค้า การเมือง สังคม วัฒนธรรม ซึ่งเมืองนอกให้เกียรติและยกย่องคนหูหนวกมาก

“กระทั่งปี 2542 อาจารย์ชวนเป็นล่ามภาษามือออกโทรทัศน์ วันแรกตื่นเต้นเข้าห้องน้ำหลายรอบเลย ข่าวแรกดิฉันพยายามแปลจนจบ แต่รู้เลยว่าไม่ดี เพราะเขินกล้อง ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่ระยะหนึ่ง ก็ต้องขอบคุณนักเรียนหูหนวกรุ่นแรกที่ดิฉันเป็นล่ามให้ เพราะดิฉันก็ได้เรียนรู้จากภาษามือของเขา จนสามารถพัฒนาเป็นภาษามือที่ใช้กันในปัจจุบัน
เพราะก็เหมือนคำในภาษาไทยค่ะ ที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย จนได้มีโอกาสทำหน้าที่ล่ามภาษามือให้อดีตนายกรัฐมนตรีมาหลายท่าน เวลาที่ออกรายการพบประชาชนทุกสัปดาห์ ไล่มาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงยุคคสช. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ละท่านมีบุคลิกต่างกันไป อย่างท่านประยุทธพูดเร็ว บางครั้งเป็นรายการสด เวลาจบ ท่านจบเลย ดิฉันยกมือไหว้ลาท่านผู้ชมแทบไม่ทัน” (หัวเราะ)

นักล่ามภาษามือคุณเอเล่าถึงตรงนี้ เราจึงฝากคุณเอถามว่า ‘คุณพ่อภูมิใจกับลูกคนนี้ไหม’ แล้วสองพ่อลูกก็ส่งภาษามือคุยกัน ซึ่งมีแต่เขาสองคนเท่านั้นที่รู้ เพราะคุณเอตอบสั้นๆ ว่า “คุณพ่อบอกว่าก็ธรรมดา” แล้วเล่าต่อว่า

“ตอนนี้คุณพ่ออายุ 81 ปี มือสั่น วาดรูปไม่ไหว ท่านเก็บเครื่องมือใส่กล่องหมด แต่ชอบอ่านหนังสือแล้วมาเล่าให้ฟัง ชอบดูทีวี ตอนแรกที่ดิฉันเป็นล่ามภาษามือจะเปิดให้ท่านดูแล้วบอกว่า คอยดูในช่องเล็กๆ นะ ตอนหลังท่านไม่ค่อย
สนใจดูละ (หัวเราะ) หากได้ดูทีวีด้วยกัน ดิฉันเลือกถ่ายทอดเฉพาะเรื่องดีๆ ให้ อย่างตอนนี้ดิฉันทำงานเป็นผู้จัดการศูนย์ TRRS ซึ่งเป็นศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย จึงย้ายมาพักอยู่ใกล้ที่ทำงาน คุณพ่ออยู่บ้านกับน้องชาย ต้องขอบคุณเขาที่ช่วยดูแลท่าน จากที่น้องชายไม่ค่อยคุยภาษามือกับพ่อ กลายเป็นรู้เรื่องกว่าอีก ระหว่างวันท่านมีไมโลเป็นเพื่อน ทุกเช้าดิฉันขับรถซื้อข้าวไปกินกับท่าน จากนั้นเตรียมข้าวกลางวันไว้ให้ ถ้าจะเดินทางดิฉันจะต้องไปเจอคุณพ่อก่อน ไหว้ท่านตรงหน้าอก เพื่อให้ท่านกอด ตลอดชีวิตท่านไม่เคยทำตัวเป็นภาระ ซื้ออะไรให้ก็กิน ชวนไปกินข้าวข้างนอกก็ไม่ไป ไม่เคยบอกหรือเรียกร้องอะไรเลย อย่างเมื่อก่อนดิฉันให้เงินเป็นเดือนเดี๋ยวหมด จริงๆ แล้วคงไม่ได้ใช้ แต่ท่านคงลืมว่าไปเก็บไว้ที่ไหน ดิฉันจึงเปลี่ยนมาให้ครั้งละ 2 – 3 พันบาท ทุกสองสามวัน ท่านเก็บไว้แค่พันเดียว แล้วยื่นคืนให้ ท่านชอบซื้อลอตเตอรี่มาฝาก เคยถูกหลายครั้ง แต่ไม่ได้เยอะนะคะ

“ดิฉันไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองมีปมด้อย กลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนพิเศษแบบนี้ พลอยทำให้ตัวเรามีความพิเศษไม่เหมือนคนส่วนใหญ่”

แล้วคุณเอกับคุณพ่อก็ฝากภาษามือ คำว่า ‘พ่อ’ ‘ลูก’ ‘ความรัก’ และ ‘ครอบครัว’ ส่งต่อมาให้ผู้อ่านว่า ไม่มีอะไรจะขวางกั้นสายสัมพันธ์ของพ่อลูกได้ แม้กระทั่งความเงียบ


ที่มา: นิตยสารแพรว ปักษ์ 891 เรื่อง Gornpat ภาพ วรสันต์ ทวีวรรธนะ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up