กว่าชีวิตจะแลนดิ้ง “5 เจ้าเวหาหญิง” แห่งกองทัพอากาศไทย!

สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ทัพฟ้าเมืองไทย หลังกองทัพอากาศฉลองครบ 79 ปี ด้วยการเปิดรับสมัครนักบินหญิง! กว่าชีวิตจะแลนดิ้ง ณ จุดนี้ 5 สาวนักบินหญิง แห่งกองทัพอากาศไทย ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง แพรวพาไปเยือนถึงถิ่นทัพอากาศ เพื่อทำความรู้จัก เจ้าเวหาหญิง ทีมนี้แล้ว!

นกยูง – เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์

“สมัยเด็กนกยูงฝันอยากเป็น 3 อาชีพ ครู พยาบาล และนักบิน พอเรียนจบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มทำตามความฝันตัวเองด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง จนมารับราชการทหารเป็นครูภาษาศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
พอทราบว่ามีเปิดรับนักบินหญิง นกยูงสมัครทันที ไม่ลังเล เพราะเป็นหนทางจะทำอีกหนึ่งฝันให้เป็นจริง”

พี – เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล

“สิ่งที่พีเชื่อมาตั้งแต่เด็กคือ ต้องเก่งภาษาอังกฤษ แล้วภาษาอังกฤษก็มีส่วนสำคัญในการนำพาชีวิตพีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนจบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารเงินกองทุนและสวัสดิการ แผนกเงินกองทุนและสวัสดิการกองบริหารการเงิน กรมการเงินทหารอากาศ ตอนเรียนโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับหมวดกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ แล้วได้มาดูงานที่โรงเรียนการบิน มีคำถามกับตัวเองว่าทำไมกองทัพอากาศไม่รับนักบินหญิง ทำไมเราไม่มีสิทธิ์เป็น ถ้าเปิดรับเราสมัครแน่นอน ไม่คิดว่าโอกาสนี้จะเกิดขึ้นจริง (ยิ้ม) แต่เขารับคนที่มี CPL (Commercial Pilot Licence) จบหลักสูตร นักบินพาณิชย์ตรีก่อน จึงเฝ้าลุ้นเงียบๆ คนเดียวว่า ครบ 5 คนหรือยัง รู้ทีหลังว่าเหลืออีก 3 ตำแหน่ง โดยที่มีคนสมัครรออยู่ 9 คน คิดว่าต้องลองสักครั้งในชีวิต”

น้ำตาล – เรืออากาศโทหญิง ชนกานต์ สอนจ้าน

“แรกเลยน้ำตาลอยากเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดค่ะ (หัวเราะ) เพราะช่วงนั้นปัญหาเรื่องยาเสพติดค่อนข้างดัง พอโตขึ้นแผนชีวิตเริ่มเปลี่ยนหลังจากจบปริญญาตรีทางด้านสถิติมาหมาดๆ ไฟแรงอยากทำงานที่แอ๊คทีฟ แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้รับราชการ จึงเข้าทำงานเป็นนายทหารประมวลผลแผนกจัดการศึกษาและประมวลผลกองอำนวยการศึกษากองการศึกษาโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
พอทราบว่ามีการเปิดรับนักบินหญิงก็เตรียมตัวด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอบทั้งหมด”

พิซซ่า – เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์

“เวลาเห็นเครื่องบิน พิซซ่าจะชอบโบกมือให้ตามประสาเด็ก โตมาจึงอยากทำงานอะไรก็ได้ที่อยู่บนเครื่องบิน พอดีจบมาทางสายศิลป์ – ภาษา น่าจะเหมาะกับแอร์โฮสเตส หลังจากเรียนจบจึงเดินสายสมัครกว่า 6 เดือน ตกรอบสุดท้ายมาตลอดจนได้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดินอยู่ 6 เดือน สุดท้ายได้เป็นแอร์โฮสเตสสายการบินนกแอร์ แล้ววันหนึ่งอ่านเจอบทสัมภาษณ์นักบินหญิง สะดุดกับประโยคที่ว่า ‘จบสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้’ รีบเสิร์ชหาข้อมูลว่า จะเป็นนักบินต้องทำอย่างไร กระทั่งรู้ว่ามีเปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี สถาบันการบินพลเรือนระยะเวลา 1 ปี พอเรียนจบทางกองทัพอากาศก็เปิดรับสมัครพอดี”

ไอ – เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร

“ไออยากเป็นนักบินอวกาศค่ะ เป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าคนไทยสามารถเป็นนักบินอวกาศได้หรือเปล่า ไอไม่มีความรู้ทางด้านการบินมาก่อน ไม่เคยเห็นกระทั่งสนามบิน เพราะบ้านอยู่จังหวัดระยอง จนช่วงเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูแนะนำให้รู้จักกับอาชีพนักบิน ว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นได้ แล้วได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเปิดสอนคณะสถาบันการบิน ซึ่งใช่ที่สุดแล้วสำหรับตัวเอง จึงขอที่บ้านเพื่อมาเรียน ทีแรกทางบ้านเป็นห่วงว่าจบแล้วจะมีงานทำไหม แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง และค่าใช้จ่ายในการเรียนก็สูง เกือบสามล้านบาท แต่ไอบอกกับที่บ้านว่า ถ้าให้ทำอาชีพอื่นคงไม่มีความสุข แต่ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบไอจะทำได้ดี แล้วสุดท้ายก็สามารถเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม อันดับ1 หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานกับบริษัทที่สอนเกี่ยวกับเครื่องซิมูเลเตอร์ พอได้ CPL กำลังจะเริ่มสมัครเป็นกัปตันของสายการบินพาณิชย์
ทางกองทัพอากาศก็เปิดรับสมัครพอดี”

5 เจ้าเวหาหญิง
5 สาวนักบินหญิง แห่งกองทัพอากาศไทย

ประสบการณ์ขับเครื่องบินครั้งแรกของ เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา และ เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร

“เรากำลัง จะเริ่มบินไฟลท์แรกกับเครื่อง CT4 Chicken ซึ่งเราไม่เคยบินมาก่อน และเป็นการบินแบบทหาร อย่างบินเกาะหมู่ ท่าผาดโผนมากกว่า เครื่องบินพาณิชย์ที่เคยเรียนมา เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยกองทัพมีแต่นักบินชายที่มีมาตรฐานที่สูงมาก ตัวเราเองไม่ได้เป็นทหาร แล้วมาเป็นนักบินหญิงรุ่นแรก จึงต้องพัฒนาตัวเองให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับเขาให้มากที่สุด”

ระหว่างเส้นทางสู่จุดหมาย ย่อมมีตกหลุมอากาศกันบ้างอะไรบ้าง เพราะเมื่อน่านฟ้าไทยปูพรมต้อนรับนักบินหญิงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เป็นนักบินทหาร ก็หนีไม่พ้นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียล

“มีหลายสังคมหลายอาชีพที่ยังไม่เปิดใจรับผู้หญิง เคยอ่านข่าวของพวกเราทางออนไลน์ แล้วมีคนมาเขียนคอมเม้นต์ว่า ‘นักบินหญิงจะสู้นักบินชายได้หรือ’ อว่าการทำงานตรงนี้ไม่เกี่ยวกับเพศ อยู่ที่ความสามารถต่างหาก เพราะหน้าที่ของนักบินหญิงคือการบินตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบิน ลำเลียง และปฏิบัติภารกิจพิเศษ อย่างทำฝนหลวงและดับไฟป่า ซึ่งไม่เกินความสามารถแต่ไอจะไม่ค่อยอธิบายให้เขายอมรับ เราเลือกที่จะทำให้เขาเห็นดีกว่า ไอจะบอกกับพี่ๆ เสมอว่าเราทำให้ดีที่สุดเท่านั้นพอ” เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร กล่าว

จากนี้นักบินทั้งห้าจะฝึกบินภาคอากาศอีกหนึ่งปี ก่อนจะบรรจุเป็นนักบินประจำการพร้อมรบ ปฏิบัติภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย และแผ่นดินไทยในฐานะนักบินหญิงของกองทัพอากาศ

 

เรื่องและภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 889

Praew Recommend

keyboard_arrow_up