“โอ๊ต เฉลิมพล” นักข่าวไทย แห่งนิวยอร์ก กว่าจะไปยืนระดับแถวหน้าได้ ไม่มีคำว่าง่าย!

โอ๊ต – เฉลิมพล ฤทธิชัย นักข่าวไทย ทำงานอยู่ ณ มหานครนิวยอร์กมาร่วม 20 ปี ตะลุยงานสื่อมาแล้วหลายแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ส่วนรายชื่อคนดังที่เขาเคยยื่นไมค์สัมภาษณ์ก็แค่ อดัม เลอวีน, ฮิวจ์ แจ็คแมน, มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, วิน ดีเซล, ไคลี มิโนก, วีร่า แวง ฯลฯ

อ่านแค่นี้อาจดูสวยหรู แต่กว่าที่ โอ๊ต – เฉลิมพล จะฝ่าฟันไปถึงจุดนั้น เขาเคยทำงานที่หนังสือพิมพ์เล็กๆ แลกเงินชั่วโมงละ 8 เหรียญ มีหลายช่วงที่อาหารมื้อหลักคือไข่ต้ม พยายามทำพอร์ตสวยๆ ให้พีอาร์สนใจ จนที่สุดวันนี้เขาคือ นักข่าวคนหนึ่งที่ได้เข้าไปทำงานในอีเว้นต์บันเทิงขนาดใหญ่แทบทุกงานของนิวยอร์ก

แล้วทำไมชีวิตนักข่าวของคุณจึงไปเริ่มต้นที่นิวยอร์กครับ

จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดสมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ตอนนั้นผมสอบโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ได้ไปเรียนที่รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา พอกลับมาเมืองไทยผมก็โหยหาความเป็นอเมริกัน รู้สึกถูกจริต อีกเหตุผลคือ สมัยนั้นสังคมไทยมีค่านิยมที่ไม่รู้ใครสร้างขึ้นมาว่า คนไทยสู้ฝรั่งหรืออเมริกันไม่ได้หรอก ผมรู้สึกว่าถ้าอยากเจ๋งต้องสู้ฝรั่งให้ได้ แต่วิธีการของผมอาจดูแปลกสักหน่อย และไม่ควรยึดเป็นแบบอย่าง นั่นคือตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย จริงๆ ผมสอบเทียบได้ตั้งแต่ ม.4 แล้ว แต่ตอนเอนทรานซ์ตัดสินใจไปสอบแค่วิชาเดียว เพราะกลัวสอบติดแล้วต้องเรียนที่เมืองไทย

นักข่าวไทยก้าวแรกที่นิวยอร์กเป็นอย่างไรครับ

วันแรกๆ ตรงกับที่ภาพยนตร์เรื่อง You’ve Got Mail ฉาย ตอนนั้นผมเดินเข้าร้านขายซีดีเพลง Virgin Megastore ในไทม์สแควร์ แล้วเปิดฟังซาวนด์แทร็กภาพยนตร์เรื่องนั้น มีเพลงหนึ่งชื่อ I Guess The Lord Must Be In New York City เนื้อหาประมาณว่า ทำไมเมืองนิวยอร์กจึงศิวิไลซ์อย่างนี้ พระเจ้าคงอยู่นิวยอร์กแน่ๆ ระหว่างที่ฟังผมก็มองออกไปยังไทม์สแควร์แล้วคิดว่า ในที่สุดฝันก็เป็นจริง ฉันอยู่ที่นิวยอร์กแล้วจริงๆ แต่ลั้นลาอยู่ได้แค่ 2 อาทิตย์เงินหมด (หัวเราะ)

หลังจากตกงาน 6 สัปดาห์ ผมเห็นหนังสือพิมพ์เล็ก ๆ เกี่ยวกับ Performing Artist และ Broadway ชื่อ Show Business Weekly เปิดรับสมัครผู้ช่วยกองบรรณาธิการ เดชะบุญว่าผมเคยเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และเขียนรีวิวบรอดเวย์เรื่อง The King and I จึงส่งผลงานนั้นแนบไปพร้อมใบสมัคร แล้วผมก็ได้งานทำเสียที

นักข่าวไทย
สัมภาษณ์วีร่า แวง ที่งานแฟชั่นวีค

ได้ทำงานอะไรบ้างครับ

หน้าที่ผมตอนนั้นเป็นงานเล็กๆ คอยตรวจว่าบรอดเวย์เรื่องไหนเปิด เรื่องไหนปิด โทร.ถามว่าดาราคนนั้นยังเล่นอยู่ไหม ถ้าเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ ก็เป็นคอลัมน์เล็กๆ อย่างการรายงานสภาพอากาศประจำวัน ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ แต่ขอให้รู้ว่ามีคนทำหน้าที่นั้นอยู่ เหมือนผมที่คอยเช็กความเป็นไปของบรอดเวย์นี่ละเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ตอนนั้นได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 8 เหรียญ เป็นค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่พอใจหรอก ด้วยความเด็กอีกแล้วที่ทำให้คิดว่า ทำไมเราไม่ได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เล่มนั้นเล่มนี้ แต่พอวันนี้มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกโชคดีมากที่เขารับเราเพียงเพราะบทความชิ้นเดียว คนที่ให้โอกาสครั้งแรกนี่สำคัญมากจริงๆ นอกเหนือจากนั้น นายจ้างเราคือ บริษัทอเมริกันนะ ไม่ใช่คนไทย ทำให้รู้สึกเหมือนได้รับการยอมรับเล็กๆ

นักข่าวไทยครอบครัวที่เมืองไทยรู้ไหมครับ

ไม่ครับ ที่บ้านเลิกส่งเงินให้ตั้งแต่เรียนจบ แล้วผมรบกวนคุณพ่อคุณแม่มา 5-6 ปีแล้ว วัยรุ่นอเมริกันก็เป็นแบบนั้น ไม่มีใครเรียนจบแล้วมาแบมือขอเงินพ่อแม่หรอก ขนาดมาดอนน่า ตอนที่เธอมานิวยอร์กก็มีเงินแค่ 30 เหรียญ ต้องใช้ชีวิตยากลำบากเหมือนกัน แล้วก็ยังมีคนจนกว่าเราอีกเยอะแยะที่สามารถเอาตัวรอดในนิวยอร์กได้

ตอนนั้นเป็นช่วง 1999 ที่สื่อยังไม่ตื่นตัวเรื่องออนไลน์เท่าไร ผมเห็นช่องว่างตรงนี้จึงเข้าไปคุยกับหนังสือพิมพ์หลายแห่งที่ยังไม่มีเว็บไซต์ว่า ฉันทำให้ฟรีเอาไหม แต่ขอเครดิตนะ หลายบริษัทตอบตกลง หลังจากนั้นผมได้ทำงานลักษณะนี้อีกหลายครั้ง ถือเป็นโอกาสฝึกงานไปในตัวด้วย พอมีประสบการณ์มากขึ้นก็สามารถเรียกค่าจ้างได้เป็นชั่วโมงละ 40 – 50 เหรียญ แล้วในช่วงเวลานั้น ผมโชคดีที่ได้ไปงานปาร์ตี้ของนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง ได้เจอ บ.ก.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ 6 เดือน ผมจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทเก่าเพื่อไปทำงานที่นั่น

นักข่าวไทย
สัมภาษณ์อดัม เลอวีน ที่ Tribeca Film Festival

เว็บไซต์นั้นคือ

Gotham Gazette นำเสนอข่าวการเมืองท้องถิ่นของนิวยอร์ก ซึ่งสื่อขนาดใหญ่อย่าง The New York Times ไม่ลงมาทำอยู่แล้ว แต่นั่นกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เราหาข่าวในเชิงลึก โดยนิวยอร์กมีเขตเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ 52 เขต เราต้องเจาะหาข้อมูลของนักการเมืองทุกคน ความที่ทั้งบริษัทมีพนักงานแค่ 6 คน ทุกคนต้องช่วยกันทำทุกหน้าที่ ตั้งแต่ออกแบบเว็บจนถึงหาข่าว สิ่งสำคัญของโลกออนไลน์คือ ความรวดเร็ว ต้องพร้อมสแตนด์บายในการอัพข่าวลงเว็บตลอดเวลา คืนวันศุกร์ไม่ต้องแพลนไปไหน เพราะเป็นวันปิดต้นฉบับ ถือเป็นช่วงที่ผมถูกเคี่ยวหนักมาก จำได้ว่าครั้งแรกที่ถูกเจ้านายติเรื่องงาน ผมเดินออกจากห้องแบบหน้าเสีย ทำไมต้องโหดขนาดนั้น แต่พอถึงวันนี้ต้องขอบคุณเขาที่ช่วยให้ผมมีระเบียบวินัยในการทำงาน มีลูกเล่นในการใช้ภาษา การเขียนหัวข้อหรือทีเซอร์ให้น่าสนใจ

นักข่าวไทย
ถ่ายภาพกับคิม คาร์เดเชียน

เริ่มได้สัมภาษณ์ดาราระดับท็อปเมื่อไรครับ

หลังออกมาเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ สมัยทำงานที่ PIX11 ส่วนใหญ่จะได้สัมภาษณ์ดาราทีวีกับเรียลิตี้โชว์ ถ้ามีดาราเกรดเอมาสถานี ทุกคนจะแย่งกัน ซึ่งผมมักไม่ได้ เพราะอายุงานยังน้อย แต่ตอนนั้นผมเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมดแล้ว มั่นใจว่าถ้าออกไปเป็นนักข่าวอิสระ น่าจะสร้างโอกาสในการทำงานได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีความสามารถและมีคอนเน็กชั่นที่ดีอย่างงานพรมแดง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของดาราและเซเลบริตี้ชื่อดัง ซึ่งไม่ใช่ว่านักข่าวทุกคนจะได้รับเชิญ โอเคว่าถ้าเป็น เดอะนิวยอร์กไทมส์ไม่ว่างานอะไร คุณก็ได้ไป จะเรียกมาดอนน่าให้เดินเข้ามาสัมภาษณ์เองยังได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีคอนเน็กชั่นกับบริษัทพีอาร์ดีขนาดไหน ซึ่งบริษัทที่จัดการเรื่องงานพรมแดงมีอยู่ไม่กี่แห่ง ถ้างานนั้นต้องการสื่อมากก็อาจได้ไปกันเยอะ แต่ถ้าเป็นงานสำคัญที่มีการเลือกว่าฉบับนี้ฉันไม่เอา เว็บนี้ไม่ได้ ก็ต้องพยายามติดต่อทุกคอนเน็กชั่นเพื่อขอที่ตั้งกล้องในพรมแดงนั้นให้ได้

นักข่าวไทย
สัมภาษณ์ฮิวจ์ แจ็คแมน

หนึ่งอีเว้นต์ใหญ่ที่คุณได้ไปทำข่าวคือ Met Gala

งานนี้ผมใฝ่ฝันมาก ยังจำได้ว่า ในวันงานเมื่อหลายปีก่อน ผมนั่งกินข้าวอยู่กับเพื่อนแล้วบอกว่า วันนี้ทั้งนักการเมือง คนแฟชั่น หรือบันเทิงอย่างมาดอนน่า บียอนเซ่ หรือโอปราห์ วินฟรีย์ ไป Met Gala กันหมด แล้วทำไมฉันมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงนี้ การไม่ได้อยู่ตรงนั้นหมายความว่า เราก็ nobody ผมคิดตลอดว่า สักวันต้องไปทำข่าวที่งานนั้นให้ได้ ซึ่งผมใช้เวลาอีกเกือบ 3 ปี ความฝันจึงเป็นจริง

นักข่าวไทย
ถ่ายภาพกลอเรีย เอสเตฟาน

เรื่องราวระหว่างบทสนทนาในร้านก๋วยเตี๋ยวถึงวันที่ได้ยืนอยู่บนพรมแดงเป็นอย่างไรครับ

อันดับแรก ผลงานหรืออีเว้นต์ต่างๆ ที่เคยไปร่วมถือเป็นพอร์ตที่สำคัญ อันดับต่อมาคือ นักข่าวที่ได้ไป Met Gala ต้องเคยทำข่าวเกี่ยวกับแฟชั่นมาบ้าง แต่ตอนนั้นผมแทบไม่มีโอกาสคุยกับคนในแวดวงนั้นเลย สารภาพตรงๆ ว่าความรู้เกี่ยวกับแฟชั่นก็มีไม่มาก ตอนสัมภาษณ์ดีไซเนอร์รู้ตัวทันทีว่าความรู้ยังอ่อน หลังจากนั้นผมจึงซื้อหนังสือเกี่ยวกับแฟชั่นกลับมาอ่านที่บ้านหลายเล่ม บางเล่มหนา 300 หน้าก็ต้องอ่านให้จบ แม้เราจะไม่ใช่คนแฟชั่นจริงๆ แต่จะไม่ยอมเป็นมือสมัครเล่นในสิ่งที่ทำ การเป็นนักข่าวไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องหรอก แต่ต้องฉลาดพอที่จะตั้งคำถามที่ฉลาดได้ หลังจากนั้นพอกลับไปสัมภาษณ์ดีไซเนอร์อีกครั้ง ผมก็ได้บทสัมภาษณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงได้เข้าไปทำข่าวในงานนิวยอร์กแฟชั่นวีคด้วย

นักข่าวไทย
สัมภาษณ์คนเหล็ก อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์

วงการสื่อที่นิวยอร์กแข่งขันกันดุเดือดขนาดไหน มีแนวใช้พลังมืดไหม

มีอยู่แล้ว เวลาผมทำงานยังต้องวางแผน แล้วทำไมคนอื่นเขาจะไม่ทำ ฝรั่งก็มีหลายแบบ พวกประจบเจ้านายก็มี หรือที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ เช่น แย่งตัวดาราไปสัมภาษณ์โดยการติดสินบน พอเรื่องแดงออกมาก็กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะฉะนั้นเบื้องหลังต้องมีเรื่องที่ลึกกว่านั้นอยู่แล้ว ผมเองก็ต้องใช้คอนเน็กชั่นที่มีเพื่อให้ได้งาน บางครั้งอาจต้องวางแผนบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ผิดจรรยาบรรณการเป็นนักข่าว

คุณวางเป้าหมายเรื่องต่อๆ ไปบนถนนสายนี้อย่างไร

ตอนนี้ไม่มีเป้าว่าอยากไปงานนั้น หรือสัมภาษณ์ดาราคนนี้ ผมอายุ 40 ปีแล้ว เป้าหมายสำคัญคือ อยากทำงานในวงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ในอนาคตอาจไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่สายบันเทิงหรือแขนงใดแขนงหนึ่ง วันหนึ่งผมอาจเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองหรือด้านอื่นๆ ก็ได้ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปต่อที่จุดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจมาตลอดคือ ผมเกิดมาเพื่อทำงานสื่อสารมวลชน เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ผมจะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อยากอยู่ตรงนั้นเพื่อเก็บเรื่องราวมาเล่าต่อให้คนอื่นฟัง นิสัยผมเป็นแบบนี้มาตลอด

นักข่าวไทยแสดงว่าการเป็นสื่อเติมเต็มบางอย่างให้ชีวิต คุณจึงเลือกทำงานนี้ต่อ

ใช่…มีคนพูดว่า โลกนี้เป็นของผู้ชายรวยกับผู้หญิงสวย ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องจริงนะ แต่สิ่งที่อาชีพนักข่าวเติมเต็มให้ผมคือ ประสบการณ์ล้ำค่า ถ้าไม่ได้ยึดอาชีพนี้คงไม่ได้นั่งติดกับฮิลลารี คลินตัน ได้อยู่ในอีเว้นต์เดียวกับประธานาธิบดีโอบามา หรือมาดอนน่าที่เจอมา 4 – 5 รอบ สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผมเล่าได้ยันตาย

เมื่อถึงวันนั้น สิ่งที่ผมเหลือทิ้งไว้อาจไม่ใช่เงินมรดก แต่เป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่น้อยคนจะได้สัมผัส แพรวขอชื่นชม
นักข่าวไทย คนนี้เลยจริงๆ

 

เรียบเรียงโดย : Gingyawee_แพรวดอทคอม
ที่มา : นิตยสารแพรว ปักษ์ 882 วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เรื่อง ปารัณ เจียมจิตต์ตรง
ภาพ : วรสันต์ ทวีวรรธนะ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up