ศึกเลือกตั้ง 2566 เปิดประวัติ 12 นักการเมืองหญิงมีใครบ้าง?

Alternative Textaccount_circle

กระแสการเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรคการเมืองเลือกนำเสนอและผลักดันสมาชิกผู้หญิงให้ได้เป็นผู้นำ เป็นแคนดิเดต และแสดงศักยภาพในการทำงานด้านต่างๆ กันอย่างคึกคัก ซึ่งหากย้อนไทม์ไลน์การเมืองกลับไปจะพบว่า เลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้นักการเมืองหญิงของแต่ละพรรคมีมากมายและสังกัดอยู่ในหลายตำแหน่งสำคัญ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียง แพรว ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 12 นักการเมืองหญิงไปด้วยกัน

1.คุณอุ๊งอิ๊ง – แพทองธาร ชินวัตร หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก พรรคเพื่อไทย (36 ปี)

เริ่มต้นคนแรกกับ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ลูกคนสุดท้องของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ตอนนี้เป็นคุณแม่ลูกสองหมาดๆ แม้อยู่ในระหว่างพักฟื้นจากการคลอด แต่การทำหน้าที่ ‘แม่ทัพ’ ของพรรคเธอก็ไม่ยอมให้ขาดตกบกพร่อง

ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2564 เธอเข้ามามีบทบาทอย่างเป็นทางการ โดยทำหน้าที่เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค ก่อนรับหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคใน พ.ศ. 2565 และเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯในที่สุด แม้วัย 36 ปีจะเป็นตัวเลขที่น้อยไปนิดสำหรับประสบการณ์ในเส้นทางการเมือง แต่เธอยืนยันว่าตลอดทั้งชีวิตที่เคียงข้างคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กเพียงพอสำหรับการบริหารประเทศ และเธอยังมีโอกาสเพิ่มประสบการณ์ได้ต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากบทบาทแม่ของลูกๆ และแม่ทัพของพรรค เธอยังนั่งแท่นเป็นกรรมการ ราวๆ 20 บริษัท จากในเครือ 30 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น

2.คุณหญิงหน่อย – สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก พรรคไทยสร้างไทย (62 ปี)

30 ปี บนเส้นทางการเมือง มากพอที่จะตอบคำถามเรื่องความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ สำหรับ ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์’ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย อดีตคุณหญิงหน่อยเคยเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ‘ไทยรักไทย’ ในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการถึง 2 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ไม่รวมอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โปรไฟล์ที่ผ่านมา ทำให้รับรู้ได้ว่าความเป็นผู้นำและความสามารถของเธอมีล้นเหลือจนสามารถขึ้นนั่งในตำแหน่งสำคัญได้

หนึ่งในพลังของเธอที่ช่วยสังคมไทยมาแล้วคือการผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค) ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงทุกคน ซึ่งมีผู้คนมากมายออกมาแชร์เรื่องราวดีๆ ผ่านโซเชียลว่าโครงการนี้เหมือนเป็นเครื่องมือต่อชีวิตให้กับคนที่เรารัก ถือเป็นอีกหนึ่งพลังของเธอที่เห็นได้อย่างชัดเจน

3.คุณไหม – ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (42 ปี)

แม้เธอจะไม่ใช่แคนดิเดต แต่ทุกคนคุ้นชินกับคุณไหมเป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นหนึ่งในตัวแทนที่เห็นในสื่ออยู่บ่อยๆ โดยหน้าที่หลักในพรรคคือการดูภาพรวมของนโยบายทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ของเธอเป็นนักวิชาการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการอยู่กับสถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง ก่อนมาเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ในสมัยเด็ก เธอได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อที่สนใจการเมือง พอเรียนมหาวิทยาลัยเธอคิดว่า ถ้าอยากเป็น ส.ส. บ้างต้องเริ่มจากตรงไหน? เพราะไม่ว่ามองทางใดในแวดวงนี้ก็เต็มไปด้วยเส้นสายของครอบครัวนักการเมือง

สิ่งหนึ่งที่พรรคและเธอพยายามผลักดันมาโดยตลอด คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นการที่รัฐจัดหาสวัสดิการดีๆ ให้กับประชาชนตั้งแต่น้ำประปา ระบบขนส่งสาธารณะ และลาคลอด 180 วัน ที่สามารถแชร์กันได้ทั้งพ่อและแม่ เธอให้มุมมองว่าเมื่อเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ทุกคนต่างคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่ อาจใช้เม็ดเงินมหาศาล แต่เธอบอกว่า สิ่งที่กำลังทำไม่ใช่การแจกเงินแต่เป็นการคิดรอบด้านของ ecosystem ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในนโยบายพรรคที่เธอดูแล

4.มาดามเดียร์ – วทันยา บุนนาค ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ (38 ปี)

จากผู้จัดการทีมฟุตบอล สู่ เส้นทางนักการเมือง ‘มาดามเดียร์ – วทันยา บุนนาค’ หากใครติดตามการเมืองมาพอสมควรจะรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา

ครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งเธอพาทีมไปคว้าเหรียญทองมาแล้วในซีเกมส์ 2017 เห็นได้ชัดว่าทั้งกีฬาและตำแหน่งที่ใครๆ คิดว่าคนที่จะรับมือไหวต้องเป็นผู้ชายแต่เธอสามารถทำให้ทุกคนได้เห็นถึงพลังของผู้หญิง นอกจากนี้มาดามเดียร์ยังเป็นอดีตกรรมการบริษัทสื่อ 4 แห่ง ก่อนจะผันตัวมายังเส้นทางการเมืองเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ และลาออกมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์

ตอนที่เธอตัดสินใจลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ต้องใช้ความกล้าไม่น้อยโดยเธอให้เหตุผลว่า “ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในรัฐสภาที่ทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ ส.ส. ได้” ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคยโหวตสวนกับมติพรรค โดยงดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกว่ามีความเด็ดเดี่ยวกล้าพูด กล้าทำ ไม่แพ้ใคร

5.คุณแหม่ม – มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย (60 ปี)

‘ถึงเป็นหญิงก็พร้อมทำงานลุยเต็มที่’ อีกหนึ่งนักการเมืองหญิงที่กล้าคิด กล้าพูด และกล้างัดข้อกับผู้ชาย เธอคือ แหม่ม-นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ น้องสาวคุณชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย

เส้นทางการเมืองของคุณแหม่ม เริ่มจากเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี แล้วลาออกในปี 2562 เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โควต้าของพรรคภูมิใจไทย โดยดูแลรับผิดชอบงานของกรมวิชาการเกษตร และมีนโยบายในการห้ามใช้สารเคมีบางชนิดในภาคการเกษตร
และด้วยความเป็นหญิงที่มีความคิดและหลักการชัดเจน เมื่อได้ลงสู่สนามการเมือง หลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสมัยแรก ทำให้เกิดการตอบโต้ทางความคิดกับรัฐมนตรีในรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง อาทิ ประเด็นเรื่องขยะพลาสติก ประเด็นแบนสารเคมีเกษตรอันตราย ฯลฯ อีกทั้งยังเคยลั่นวาจาว่าไม่หนักใจแม้เป็นผู้หญิงคนเดียวในทีมรัฐมนตรี เพราะบางทีผู้ชายอาจอยู่หลังผู้หญิงก็ได้ รวมถึงศักยภาพการทำงานที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอคือหญิงแกร่งอีกคนที่น่าจับตามอง

6.คุณฮาย – ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (32 ปี)

นอกจากเป็นผู้หญิงสายสตรอง เธอยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอายุน้อยในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองปัจจุบัน สำหรับ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ อดีตผู้บริหารสโมสรฟุตบอลลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่ใครๆ ก็เรียกว่า แม่เลี้ยงฮายหรือมาดามฮาย ลูกสาวคนเล็กของคุณยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

เธอเน้นความเท่าเทียมของทุกเพศทุกวัยกัน รับฟังความคิดเห็นของคนทุกเจนเนอเรชัน โดยเฉพาะกับสมาชิกของพรรคเสมอ เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ปรับให้เข้ากับการทำงานในปัจจุบัน ในการลงสนามการเมืองครั้งนี้ ความตั้งใจของเธอคือ ต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ส่วนระยะยาวคือการแก้ปัญหาการศึกษาให้มีความเท่าเทียม รวมถึงเรื่องกฎหมายที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป

และเธอยังเคยมีประสบการณ์บริหารสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ในช่วงเกิดวิกฤตโควิดมาก่อน ทำให้ได้รู้จากประสบการณ์ของตัวเองถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเธอก็พาสโมสรรอดในช่วงนั้นมาได้ ส่วนในบทบาทนักการเมือง เธอก็จะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ต่อให้คนจะมองว่าเราคือพรรคเล็กๆ หรือมองว่าเธอประสบการณ์น้อย แต่เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จได้ เพราะเธอก็พาเชียงราย ยูไนเต็ด คว้าทุกแชมป์ของประเทศไทยมาแล้ว ต้องรอดูว่ากับเส้นทางการเมืองจะเป็นอย่างไร

7.คุณแคน – นายิกา ศรีเนียน ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (25 ปี)

อดีตสมาชิกวงไอดอล BNK48 เปลี่ยนจากจับไมค์ร้องเพลงมาเป็นกระบอกเสียงแทนคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาส เธอคือ แคน-นายิกา ศรีเนียน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ที่แฟนคลับหลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในฐานะไอดอล และเธอยังเป็นลูกสาวของคุณภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่อีกด้วย

แม้เธอจะเป็นตัวแทนผู้สมัคร ส.ส. ที่อายุน้อยที่สุด แต่เธอเคยเข้าสภาทำหน้าที่ที่ปรึกษาอนุคณะกรรมาธิการอีสปอร์ตมาแล้ว การที่หันมาลงสนามการเมือง เพราะต้องการสะท้อนปัญหาที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานเงินเดือนที่ทำให้ยากต่อการมีเงินเก็บ ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ถูกตัดไปจากการบริหารของรัฐ ความเครียดที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องเจอ ทำให้ส่งผลไปถึงการมีปัญหาด้านจิตเวช

และนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่อย่าง Gap Year คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจังหวะเวลาหาประสบการณ์ชีวิต ได้ทดลองงานที่อยากทำ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเรียนจบช้า ยกตัวอย่างคนในวัย 18-20 ปี ที่เว้นวรรคการเรียนต่อ แต่สามารถทำอย่างอื่นที่ประสบความสำเร็จได้ ด้วยนโยบายที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเสนอในการขับเคลื่อนสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนรุ่นต่อไปในอนาคตโดยไม่ต้องให้คุกกี้ทำนายกัน

8.คุณตั๊น – จิตภัสร์ กฤดากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (37 ปี)

นักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ที่ได้รับการผลักดันอีกคนในพรรคประชาธิปัตย์ คราวที่ลงเลือกตั้งครั้งแรก พรรคก็ให้ประเดิมลงสมัคร ส.ส. เขต 5 ดุสิต – ราชเทวี จนมีการตั้งคำถามว่าสมาชิกพรรคคนอื่นคิดยังไงที่ปล่อยให้เด็กอายุ 25 ในตอนนั้นรับหน้าที่นี้

การเลือกตั้งครั้งนั้นเธอแพ้ไปประมาณ 400 คะแนนแต่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับระบบการเมืองทั้งวิธีการลงพื้นที่หาเสียง รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ที่ต้องเข้าถึงแกนนำในชุมชนต่างๆ จากนั้น 13 ปีบนเส้นทางการเมืองเธอมีโอกาสไปรับฟังปัญหาของประชาชนในจังหวัดต่างๆ พร้อมหาหนทางการแก้ไขมาโดยตลอด ถือเป็นสิ่งที่เธอตั้งใจทำตามความฝันที่เคยอยากเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วัยเด็ก

เธอมีอุดมการณ์อันแน่วแน่โดยไม่ยึดติดว่าต้องอยู่บ้านหลังไหน ขอเพียงอุดมการณ์เดียวกันและให้โอกาสในการทำงาน เพราะเธอยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

9.คุณอ๋อม – สกาวใจ พูนสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย (46 ปี)

ลงสมัครครั้งแรกก็ได้รับความสนใจมากมาย หลังจากรับบทบาทนักแสดงและพิธีกรมากความสามารถฝากผลงานต่างๆ ไว้ในจอมานับไม่ถ้วน ครั้งนี้ถึงเวลาเบนเข็มเต็มตัวลงมาจับการเมือง ซึ่งหลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าคุณสมบัติของเธอเหมาะสมเพียงใดในการลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อไทยครั้งนี้

ย้อนดูประวัติการศึกษาในชั้นปริญญาตรีเธอจบจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนต่อปริญญาโทอีกหนึ่งใบในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนเรื่องของแนวคิดทางการเมือง เธอเป็นหนึ่งในนักแสดงไม่กี่คนที่ออกมา Call Out อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนมาโดยตลอดกับสิ่งที่ถูกริดรอนสิทธิ อย่างเป็นที่รู้กันดีว่าการออกมาพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องยอมรับว่าแต่ละครั้งที่บุคคลใดเอ่ยถึงเรื่องการเมืองย่อมมีผลกระทบทางหน้าที่การงานตามมา แต่เธอยืนหยัดที่จะเป็นกระบอกเสียงและอาสาเป็นผู้แทนฯในที่สุด

10.คุณโน – ฟาริดา สุไลมาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สุรินทร์ พรรคไทยสร้างไทย (59 ปี)

เธอคนนี้คุณหญิงสุดารัตน์ยกให้เป็น นักการเมืองคุณภาพ ที่อยู่เคียงข้างประชาชนที่ด้อยโอกาสในชนบทมาโดยตลอด สำหรับเส้นทางการเมืองเธอเริ่มทำงานการเมืองเป็นนายกเทศมนตรีตำบลระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ก่อนจะได้เป็น ส.ส.สุรินทร์ถึง 3 สมัย และดำรงตำแหน่งทางการเมืองกว่า 10 ปี

ผลงานที่โดดเด่นคือการนำความเจริญเข้าสู่จังหวัดสุรินทร์ ผลักดันให้มีสนามบินสุรินทร์ภักดี ปรับปรุงสถานีรถไฟศีขรภูมิและขยายต้นทางการเดินทางโดยรถไฟดีเซลราง ทำโครงการขยายถนน 4 เลนช่วงเทศบาลศีขรภูมิ นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่สนับสนุนเกษตรกรให้ซื้อขายสะดวกมากขึ้นอย่างการเปิดตลาดโคกกระบือศีขรภูมิ ถือเป็นอีกหนึ่งพลังที่สร้างความก้าวหน้าให้กับจังหวัด ไม่แปลกใจเลยที่เธอสามารถครองตำแหน่งนี้ไว้ได้ถึง 3 สมัย

11.คุณแหม่ม – นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (49 ปี)

ก่อนหน้านี้ คุณแหม่ม เคยทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างมานานถึง 15 ปี พื้นหลังการศึกษา เธอจบปริญญาตรีสถิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อปริญญาโทคณิตศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกอีกหนึ่งใบด้านการเงินจาก วอร์ตัน โรงเรียนธุรกิจชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

ก่อนหน้าที่จะมาเดินอยู่บนเส้นทางการเมือง เธอเคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก่อนถูกดึงตัวให้มาเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตั้งแต่เธอก้าวเข้ามาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรค ซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว และว่ากันว่าเธอคนนี้ยังคอยทำงานเบื้องหลังซัพพอร์ตงานต่างๆ ของพรรคด้วย

12.คุณอ้อ – ศิรินันท์ ศิริพานิช ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ (39 ปี)

เป็นอีกหนึ่งผู้สมัครฯที่น่าจับตามอง เธแคนนี้อยู่ในแวดวงการศึกษาและการเมืองมานานนับสิบปี ไม่รวมการทำงานด้านสังคมในฐานะประธานคณะกรรมการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ของพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงเป็นปรึกษาผู้แทนการค้าไทย ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ดีกรีความเก่งฉายแววมาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งสอบเอ็นทรานซ์วิชาภาษาอังกฤษ เธอได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ก่อนจะเรียนจบปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากนั้นได้ ‘ทุนภูมิพล’ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Columbia University ด้านนโยบายสาธารณะ และคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาได้อีกครั้ง

ก่อนจบปริญญาโท เธอมีโอกาสทำโปรเจ็คต์ในย่านฮาร์เลม (Haarlem) ช่วยผลักดันเยาวชนในชุมชนให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ทั้งนี้จึงทำให้ได้รับประสบการณ์การทำงานที่ต้องคลุกคลีกับคนในพื้นที่ นำไปสู่แรงบันดาลใจที่จะนำองค์ความรู้ ความสามารถมาทำประโยชน์แก่ประเทศ เรียกได้ว่ามีทั้งความสามารถและแพสชั่นทางการเมือง

ภาพ : Instagram @ingshin21, @sudaratofficial, @cannayika, @chitpas, oomsakaojai, or.sirinan, Facebook @ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, @ดร. ฟาริดา สุไลมาน, @ฮาย ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช และ @มนัญญา ไทยเศรษฐ์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up