จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ชีวิตท็อปฟอร์มของ ‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

วันนี้ คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ‘ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’  ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

ต่อให้ไม่รู้จักคริปโตเคอร์เรนซี่ ก็ต้องเคยเห็นใบหน้าของเขาอยู่ตามบิลบอร์ดใหญ่ทั่วเมืองกรุง แพรว ขอย่อโปรไฟล์ของเขาสั้นๆ ตรงนี้ว่า

ในวัย 23 ปี เขาเปิดบริษัทเกี่ยวกับบิทคอยน์ครั้งแรก ในวันที่คนยังมองบิทคอยน์เป็นแชร์ลูกโซ่

เขาผ่านมาแล้วทั้งการล้มลุกคลุกคลาน การต่อสู้ทางความคิดกับครอบครัว กับหน่วยงานกำกับการดูแลของภาครัฐและกับสังคม โดยไร้ซึ่งที่ปรึกษา เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นไม่มีใครเข้าใจ หรือเคยทำมาก่อน

หลายครั้งที่ทั้งกลัว ทั้งท้อ และเสียน้ำตา แต่เขาไม่เคยหยุดทำในสิ่งที่เชื่อ…

ในวัย 32 ปี Bitkub บริษัทที่สองที่เขาก่อตั้งมาสามปี สามารถปิดดีลยักษ์กับ SCBS ส่งให้มูลค่าบริษัททั้งหมดสูงถึง 35,000 ล้านบาท จนขึ้นแท่นเป็น ‘ยูนิคอร์น’ (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ USD) ตัวที่สาม (ต่อจาก Flash Express และAscend Money) ของประเทศไทยได้สำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021

จนถึงวันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักเขา ท๊อปกลายเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ ที่ถูกประสบการณ์เคี่ยวกรำและกดดันอย่างหนักจนเกินวัย แพรว จึงขอคุยกับเขาในแง่มุมชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่คิดต่าง เป้าหมายชัด มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองและองค์กรไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนไม่มีอุปสรรคไหนหยุดเขาได้ และกลายมาเป็น Top of the Top

ชีวิตท็อปฟอร์มของ ‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ถ้าให้แบ่งชีวิตของคุณท๊อปออกเป็นเฟสเหมือนธุรกิจ จะแบ่งออกเป็นกี่ช่วง แต่ละช่วงให้คำนิยามว่าเป็นแบบไหนคะ

“อืม.. คำถามยากนะ (นิ่งคิด) ผมว่าชีวิตผมแบ่งออกเป็น 3 เฟสใหญ่ๆ เฟสแรกคือ ไร้กรอบ เกเร ไม่สนใจการเรียน มีเรื่องกับเพื่อนตลอด ไม่ทำตามกฎระเบียบ โดนครูตีทุกวัน มีเรื่องบ่อยจนเคยเกือบโดนไล่ออก ไม่เรียนหนังสือ ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่าชอบเล่นฟุตบอล ก็เล่นทุกวันจนเก่งได้เป็นกัปตันทีม คือผมเป็นประเภทถ้าชอบอะไรก็ชอบมากและจะโฟกัสอยู่อย่างเดียว ไม่สนใจอย่างอื่น แล้วก็ rebel (ขบถ) ไม่ชอบทำตามระบบระเบียบใคร ถ้าไม่พอใจอะไรก็จะสร้างลัทธิใหม่เป็นของตัวเองไปเลย อย่างเล่นฟุตบอลแล้วขัดใจกัน ก็หาลูกบอลใหม่แล้วตั้งทีมเอง ชวนเพื่อนย้ายทีมมา เป็นระบบที่เราสร้างเอง สุดท้ายคุณแม่ทนไม่ไหว จึงส่งผมกับน้องไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ หวังว่าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจะช่วยดัดนิสัยให้ตั้งใจเรียน แต่ผมก็ยังเหมือนเดิม

“ชีวิตมาเปลี่ยนตอนเฟสสอง คือตอนที่จบ year 13 จากนิวซีแลนด์ (มัธยมปีที่ 6) เป็นเฟสที่ผมกลับมาอยู่ในกรอบขั้นสุด คือเปลี่ยนเป็นเด็กเนิร์ดไปเลย สาเหตุเพราะเกรดแย่จนเข้ามหาวิทยาลัยในไทยไม่ได้ จึงลองดูมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ โดยเลือกตามทีมฟุตบอลที่ชอบ คือมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester) เพราะผมชอบแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เขาเป็นทีมที่ชนะมาตลอดในยุคนั้น แล้วก็เลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะรู้เรื่องที่สุด คือไม่ได้คิดอะไรไกลเลย ไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นมาจะทำอะไร

“พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ ชีวิตก็เปลี่ยนเลย ด้วยความที่รู้สึกแย่ว่าเข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้าไม่ได้ จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า จบจากนี้แล้ว จะต้องเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อปให้ได้ พยายามอ่านหนังสือทุกวันๆ ละ 10-12 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งพอเป้าหมายชัด ทุกเรื่องในชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนตาม เพื่อนที่คบ บทสนทนาที่คุย สิ่งที่ทำ ไม่แคร์แฟชั่น ไม่สนใจปาร์ตี้ ไม่อยากมีแฟน อ่านหนังสือกับคุยเรื่องการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ เท่านั้น สุดท้ายผมจึงจบมาแบบได้เหรียญทองของเหรียญทอง คือผมเรียนด้าน economics (เศรษฐศาสตร์) ซึ่งอยู่ในดีพาร์ทเมนต์ของ Social Sciences โดยในดีพาร์ทเมนต์นี้มีหลายภาควิชา เช่น Accounting, Finance, Business Administration ผมได้เหรียญทองทั้งของภาควิชาเศรษฐศาสตร์และเหรียญทองของทุกภาควิชาในดีพาร์ทเมนต์นี้รวมกัน เป็น top ของ top อีกที

          “หลังจากนั้น ผมจึงไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป แต่ผมเป็นฝ่ายเลือกมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าเรียนปริญญาโท เพราะผมได้การตอบรับจากทุกมหาวิทยาลัยระดับท็อป แต่ผมเลือกมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) เพราะตอนนั้นผมมี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นไอดอล คุณอภิสิทธิ์จบเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด จึงฝังใจว่าอยากเรียนคอร์สเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ให้ได้

จากเด็กเกเร สู่การได้เหรียญทอง และได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยระดับโลก ที่บ้านว่าอย่างไรคะ

“คุณพ่อคุณแม่ตื้นตันจนไม่รู้จะพูดอย่างไร ผมจำได้เลยว่าผมส่งจดหมายจากทุกมหาวิทยาลัยที่ตอบรับผมกลับมาให้ท่านที่เมืองไทย เพื่อเซอร์ไพรส์ วันนั้นคุณพ่อกำลังขับรถ ส่วนคุณแม่นั่งข้างๆ แล้วเปิดจดหมายอ่าน ปราฏช็อคกันทั้งคู่ แล้วผมก็เขียนจดหมายระบายความในใจไปด้วยว่า ผมเสียสละ ไม่ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่น อ่านหนังสือทุกวัน เพราะปมในใจตอนไม่มีที่เรียน แล้วหวังว่า วันหนึ่งมหาวิทยาลัยจะเลือกท๊อป แต่วันนี้เป็นท๊อปแล้วที่เป็นฝ่ายเลือกพวกเขา แค่นั้นแหละคุณแม่บอกจอดรถก่อนแล้วก็ร้องไห้ใหญ่เลย รุ่งขึ้น คุณแม่แจกเสื้อฟรีให้กับลูกค้าที่เข้าร้านทุกคน คือท่านดีใจมากจนไม่รู้จะระบายออกยังไง (ยิ้ม)

ตัดภาพมาที่ออกซ์ฟอร์ด พออยู่มหาวิทยาลัยที่เลือกได้ ชีวิตเป็นอย่างไรคะ

“หนักกว่าเดิม เพราะนักเรียนที่นั่นคือเบอร์หนึ่งจากทุกประเทศมารวมกัน มีทั้งเด็กเคมีโอลิมปิกส์ มีเด็กอัจฉริยะที่ออกทีวีตั้งแต่เด็ก ผมเองไม่ชอบการแข่งขัน แต่คอร์สที่นั่นใช้ระบบ Curving system ถ้ามีคนหนึ่งทำได้ดีกว่าทั้งหมด เราอาจจะตกก็ได้ จึงบังคับให้ต้องแข่งขัน แล้วปริญญาโทที่ผมเรียนนั้น เรียกว่า MPhil (Master of Philosophy, Economics) อยู่กึ่งกลางระหว่างปริญญาโทกับปริญญาเอก จึงต้องเรียน 2 ปี จากปกติปีเดียว ส่วนอาจารย์ที่สอนก็ได้รางวัลโนเบล เป็นคนคิดสูตรต่างๆ ให้คนทั่วโลกเรียน ซึ่งข้อเสียคือ สมองเขาเร็วกว่าคนอื่น จึงถ่ายทอดได้ไม่ดี เรื่องที่เขาสอนแค่ 1-2 บรรทัด ผมต้องออกไปทำความเข้าใจเอง 8 ชั่วโมง

“ยิ่งตอนเข้าห้องสอบครั้งแรก จำได้ว่าก่อนนั้น ผมอ่านหนังสือชนิดหนักที่สุดในชีวิต อ่านทุกวันอยู่ 1 ปี ไม่ไปไหนเลย แต่เปิดกระดาษข้อสอบมา มีคำถามอยู่ 3 ข้อ ที่ผมตอบไม่ได้เลย งงมาก (เสียงดัง) เหมือนไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเส้นเลือดในหัวจะระเบิด โมโหตัวเองว่า รู้อย่างนี้ไปเที่ยวดีกว่า จะอ่านหนังสือทำไม พอตั้งสติได้ก็ได้ยินเสียงถอนหายใจดังลั่นห้อง คือทุกคนก็ทำไม่ได้เหมือนกัน สุดท้ายผมใช้วิธีกาคำถามในข้อสอบทิ้ง แล้วเขียนคำถามใหม่ 1 ข้อ จากนั้นใช้ข้อมูลจากทุกอย่างที่อ่านตลอด 1 ปี ออกมาตอบให้หมด ให้รู้ว่าเราอ่านมานะ โชคดีว่าสุดท้ายผมจบมาได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด”

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยระดับโลกแล้ว ทำอะไรต่อคะ

          “พอเรียนจบ เพื่อนส่วนใหญ่ที่จบมหาวิทยาลัยนี้มักไปอยู่สถาบันการเงินระดับท็อปของโลก แต่ผมเข้าสู่เฟสสามคือ คิดต่างว่า ถ้าไปอยู่องค์กรใหญ่ เราคงได้ทำแต่งานเล็กๆ ไม่ได้เห็นภาพใหญ่ ผมจึงเลือกไปทำงานที่สถาบันการเงินเล็กในเมืองจีน เพราะเขาเปิดประเทศมา 20 ปีแล้ว กำลังบูม ซึ่งผมได้ลองทำทุกอย่าง แล้วก็อยู่กับหุ้น pink sheet (หุ้นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งไม่มีข้อบังคับ หรือการกำกับดูแลเลย ดังนั้นหุ้นจะขึ้นที 20-30 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็มี ซึ่งระหว่างที่ทำอยู่ที่นั่นจึงได้ไปเจอกับบิทคอยน์ ที่จู่ๆ ราคาก็พุ่ง 10,000 เปอร์เซ็นต์ เราสงสัยว่าคืออะไร ทำไมเร็วขนาดนี้ ขึ้นสูงกว่าพิงค์ชีทอีก ถามเพื่อนก็ไม่มีใครรู้ จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม จนไปเจอบล็อคของ “มาร์ค แอนเดอร์สัน” ที่เขียนเล่าว่า Why Bitcoin Matters และได้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า บิทคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินอย่างไร ก็รู้สึกสนใจทันที

          “หลังจากนั้นผมเริ่มอึดอัดกับการทำงานในองค์กร รู้สึกทำอะไรก็ติดขัดต้องรอหัวหน้า รอเจ้าของบริษัทให้คำตอบ สุดท้ายจึงออกมาค้นหาตัวเอง ลองทำด้านอื่นๆ บ้าง ไปเป็น consulting ที่ซานฟรานซิสโกอยู่ช่วงหนึ่ง มีโอกาสได้ไปทำงานที่ฟิลิปปินส์เลยเจอเพื่อนที่นั่น จึงได้รู้จักกับคำว่า entrepreneurship ว่าการเป็นเจ้าของกิจการคืออะไร เดิมที่เคยคิดว่าจะทำงานไต่เต้าไปในองค์กรก็เปลี่ยนมาสนใจการทำสตาร์ทอัพ รู้สึกว่าเหมาะกับตัวเรามากกว่า อย่างที่บอกว่า ผมค่อนข้างขบถมาตั้งแต่เด็ก ไม่ตามคนอื่น แต่ชอบเซ็ตกฎของตัวเองขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ตัวหรอก แต่พอมองย้อนกลับไปก็เข้าใจ จึงเปลี่ยนมาทำบริษัทเกี่ยวกับบิทคอยน์ โดยบริษัทแรกเป็นศูนย์การซื้อขายบิทคอยน์ ชื่อ coins”

ประสบการณ์การเป็นเจ้าของกิจการครั้งแรกในวัยยี่สิบต้นๆ เป็นอย่างไรคะ

“ผมเป็น CEO ครั้งแรกในวัย 23 ปี คำว่า CEO ในที่นี้ หมายถึง Chief Everything Officer (หัวเราะ) คือทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่จดทะเบียนบริษัท ทำบัญชี process operation การตลาด ทำมาแล้วทุกตำแหน่ง ทุกข์ทรมานมาก แต่ทำให้ผมรู้ทุกด้านของการทำบริษัทแบบลงลึก มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เก่าๆ 1 เครื่อง โต๊ะเก้าอี้ที่ญาติบริจาคให้ ออฟฟิศคือชั้นลอยในร้านเสื้อผ้าที่ประตูน้ำของคุณพ่อคุณแม่ ส่วนการทำงาน ผมใช้วิธีสร้างแค่หน้ากากเว็บไซต์ แล้วไปใส่ลิงค์ไว้ตามกรุ๊ปต่างๆ ของเฟสบุ๊ค เพื่อให้คนคลิกลิงค์เข้ามา พอเขากดซื้อ เราก็แอบไปซื้อบิทคอยน์จากเว็บอื่นมาให้ เรียกว่าทั้งบริษัทมีแต่หน้ากาก ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย กินค่าต่างอย่างเดียว ไม่นานแบงค์ชาติก็ส่งจดหมายเตือนแบงค์พานิชทั่วประเทศว่าบิทคอยน์อาจเป็นแชร์ลูกโซ่ มูลค่าอาจเหลือ 0 ได้ไม่นาน อย่าไปยุ่ง คุณพ่อเห็นจดหมายก็ทะเลาะกับผม ช่วงนั้นก็มีท้อ มีน้ำตา แต่ผมไม่ชอบแพ้ ผมเชื่อในสิ่งที่ทำและเชื่อว่า บิทคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก ก็เลยยืนยันทำต่อ

“ผมทำคนเดียวอยู่พักใหญ่ ก่อนจะได้พนักงานมาช่วย 2 คน ซึ่งก็คือลูกพี่ลูกน้อง เพราะจ้างใครก็ไม่มีใครมา พอผ่านไปสิบเดือนก็มีเงินเก็บราว 6-7 แสนก็ย้ายจากชั้นลอย ไปใช้ออฟฟิศที่ co-working space แถวเอกมัย แล้วจ้างคนเพิ่มเรื่อยๆ จนมีทีมประมาณ 9-10 คน สักพักก็โดน ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ส่งจดหมายมาเรียกตัวไปสอบสวน ผมนี่มือสั่นเลย พอให้คุณพ่อดูท่านถามว่า ทำไมครอบครัวเราต้องเสี่ยงขนาดนี้ ทำไมต้องเอาขาข้างหนึ่งไปไว้ในตะราง ปิดบริษัทเดี๋ยวนี้ แต่ผมยังยืนยันว่าบิทคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก ตอนนั้นโทรไปปรึกษาเพื่อนที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ ด้านกฎหมาย พอเขารู้ว่าเป็นเรื่องบิทคอยน์ แม้ผมจะมีเงินจ่าย แต่ไม่มีใครกล้ารับ เพราะตอนนั้นคนยังมองเป็นเรื่องฟอกเงิน ตลาดมืด เงินของเล่น ผมจึงหาข้อมูลไปแก้ต่างเอง ช่วงนั้น ผมทำงาน 10โมงเช้า -1 ทุ่ม พอทุกคนกลับ ผมก็แอบอยู่ออฟฟิศต่อถึงตี 3 ทุกวันอยู่ 3 เดือน เพื่ออ่านกฎหมายเรื่องการฟอกเงิน แล้วทำรีพอร์ตส่งไปให้ ปปง. เพราะแบงค์ไม่เคยมี reporting system ของบิทคอยน์ ผมต้องแก้ต่างให้ตัวเอง โดยมีคุณพ่อขับรถไปส่ง

“พอผมกลับมาจาก ปปง. พนักงานขอลาออกครึ่งบริษัท ซึ่งทำให้ผมท้อมาก อุตส่าห์สร้างทีมมาอย่างยากลำบาก เรื่องทำงานหนักจนไม่ได้พักผมเฉยๆ นะ แต่การที่ทีมแตกนี่ ผมไม่เคยเจอมาก่อน เจ็บปวดมาก บวกกับความเครียดที่ ปปง. เรียกตัว เราจะติดคุกไหม เครียดไปหมด แต่พอผ่านมาได้ก็พบว่าประสบการณ์เหล่านี้ทำให้แกร่งขึ้น จากนั้นแบงค์ชาติก็เรียกตัว ตามมาด้วยสรรพากร ตอนนี้เป็น กลต. เรียกว่าผมน่าจะมีประสบการณ์กับทุกหน่วยงานกำกับดูแลในไทยแล้ว”

ตอนนั้นอะไรที่ทำให้คุณท๊อปเชื่อว่าบริษัทจะไปต่อได้คะ

“ผมว่าคริปโตเคอร์เรนซี่คือ ทิศทางความเป็นไปของโลก บิทคอยน์และคริปโตฯ คือโลกอนาคตของการเงิน แน่นอนว่าโลกต้องเปลี่ยนแปลง แต่จากการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อคนจำนวนมาก มันจะมาในแพทเทิร์นเดียวกัน คือคนจะกลัวและต่อต้าน อย่างสมัยรถยนต์ออกมาใหม่ๆ เขาให้คนถือธงวิ่งนำหน้ารถ ซึ่งไม่เมคเซนส์เลย ถ้าให้คนวิ่งนำก็วิ่งได้ช้ากว่าม้าอยู่ดี แล้วจะใช้รถทำไม หรือตอนมี Airbnb มี grab ใหม่ๆ ตอนแรกก็ผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ถูกแล้ว เพราะกฎระเบียบนั้นสร้างมาโดยคน แต่พอถึงวันหนึ่งสิ่งที่ถูกสร้างมาแล้วไม่สมเหตุสมผลก็ต้องเปลี่ยนไปตามโลก สุดท้ายเทคโนโลยีเหล่านั้นจะมาเปลี่ยนวงการนั้นๆ ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่กลัว ทำไมเราต้องกลัวสิ่งที่จะเป็นความจริงของโลก ผมแค่เป็นคนส่วนน้อยที่ไม่คิดตามใคร

“ซึ่งผลจากความเชื่อของผม ก็ทำให้ผมสามารถขายบริษัทแรกให้ Gojek ไป ซึ่งถือเป็นดีลที่เรียกว่าใหญ่ที่สุดในวงการสตาร์ทอัพของเอเซียนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ต่อมา ผมก็เปิดบริษัทที่สอง คือ Bitkub ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าผมขี่จักรยานเป็นแล้ว เพราะทำผิดพลาดมาเยอะในบริษัทแรก จึงรู้ว่าต้องวางแผนยังไง ต้องลงทุนอะไรบ้าง เตรียมไว้หมดแล้ว พอวันหนึ่งที่บริษัทเติบโตได้ ก็สามารถไปได้ไวโดยใช้เงินน้อยมาก ระดมทุนได้ 327 ล้านบาท แต่ใช้เงินจริงๆ แค่ 117 ล้าน ก่อนที่จะกำไรนะ ซึ่งการจะสร้างบริษัทมูลค่า 4 หมื่นล้าน โดยใช้เงินแค่ 117 ล้านนี่ ถือว่ามีประสิทธิภาพมาก ปกติในอเมริกา จะสร้างบริษัทยูนิคอร์น ต้องใช้เงินอย่างน้อย 400-500 ล้าน USD แต่ผมใช้เงินแค่ 3.2 ล้าน USD เพราะผมรู้แล้วว่าต้องทำยังไง ทำมา 8 ปี เปิดมา 2 บริษัท ก็ประสบความสำเร็จทั้งสองบริษัท ซึ่งผมก็ดีใจว่าปกติสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะมีรอดแค่ 1 ในพันเท่านั้น ถือว่าผมโชคดี”

ตอนทำ Bitkub ช่วงไหนที่ถือว่าโหดหินที่สุด

“มีหลายเคส เคสแรกคือช่วงกัดก้อนเกลือกินจนลำบากสุดๆ คือช่วงปีที่สอง ย้อนกลับไป Bitkub ปีแรกทำเงินได้ 3 ล้าน ใช้เงินไป 40 ล้าน, ปีที่สองทำเงินได้ 33 ล้าน แต่ใช้เงินไป 50 ล้าน ถือว่ารายได้โต 1,000% เรียบร้อยแล้ว แต่ดันใช้เงินไป 50 ล้าน เพื่อวางโครงสร้างบริษัท คือผมรู้แล้วว่าต้องใช้อะไรบ้าง ก็ทำเผื่อไว้เลยเพื่อที่พอบริษัทเติบโจะได้ไปเร็ว จึงขาดทุน ซึ่งตอนปลายปีที่สองนี่หนักมาก เพราะเราเหลือเงินแค่ 2 เดือนสุดท้าย ก็ต้องปิดบริษัท เพราะเงินจะหมด ความจริงมีคนเสนอให้เงิน แต่เขาให้มูลค่าบริษัทเราน้อยกว่าที่ผมทำไว้ ผมจึงดื้อไม่รับ แล้วไปวิ่งหาเงินทุกวัน จนพนักงานตกใจว่าคุณท๊อปหายไปไหน จะได้โบนัสไหม (หัวเราะ) ตอนนั้นคิดทางเลือกไว้ 2 ทาง คือขายบิทคอยน์ให้หมดแล้วคืนเงินผู้ถือหุ้นดีไหม จะได้ไม่มีใครเจ็บตัว หรือ ขายบิทคอยน์มาแล้วนำเงินใส่เข้าไปเพื่อช่วยบริษัท แต่สุดท้ายก็มีนักลงทุนที่เชื่อใจในบริษัทเรา ให้ทุนมา 50 ล้าน โดยให้มูลค่าบริษัทสูงถึง 750 ล้านบาท (จาก 525 ล้าน) ช่วยต่อลมหายใจไปได้อีก 6 เดือน แต่ระหว่างนั้นผมก็ผลักดันจนบริษัททำกำไรได้ พอเข้าปีที่สาม บริษัททำเงินได้ 350 ล้าน จากเดิมปีก่อนที่ทำได้ 33 ล้าน เรียกว่าโตขึ้นอีกพันเปอร์เซ็นต์ โดยมีค่าใช้จ่าย 250 ล้าน เหลือกำไร 100 ล้าน ถือเป็นปีแรกที่ทำกำไรได้ ที่สำคัญ เงิน 50 ล้านที่ระดมทุนมาได้ก็ไม่ได้ใช้ เพราะหลังจากนั้นมา Bitkub ก็ทำรายได้ทะลุเป้าทุกเดือน แต่อย่างน้อยก็สบายใจว่ามี 50 ล้านติดกระเป๋าไว้ มีอะไรขึ้นมาก็ได้จ่าย

“อีกเคสคือปีที่แล้ว ถือเป็นช่วงที่ผมเครียดและเหนื่อยมากที่สุด เพราะบริษัทโต 2,000 เปอร์เซ็นต์ ในทุกด้าน แล้วพื้นฐานบริษัทเราเดิมก็ใหญ่อยู่แล้ว การที่โตขึ้นอีก 2,000 เปอร์เซ็นต์ นี่คือ ถ้าให้เปรียบเทียบ ปีที่แล้วเราทำเงินได้มากกว่าแบงค์เล็กๆ ในไทยที่เปิดมาไม่รู้กี่ปีแล้วอีก แต่เราใช้เวลาแค่ 4 ปีในการทำทุกอย่างให้ได้สเกลเท่าแบงค์ เหมือนเราขับรถยนต์ที่เหยียบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเครื่องจักรพัง แต่เหยียบเบรกไม่ได้ ชิ้นส่วนหลุดไปหมดแล้วยังต้องไปต่อ แล้วเราก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ในไทยไม่มีใครเคยมีประสบการณ์แบบนี้ คนเดียวที่พอคุยกันได้คือ คุณคมสัน ลี (ผู้ก่อตั้ง Flash Express) เพราะเขายิ่งกว่าผมอีก ก็เหมือนได้แชร์ความทุกข์และความคิดกัน

“ปีที่แล้วนี่เหมือนมีไฟไหม้ทุกวัน ดับไฟเรื่องนี้ได้ เรื่องใหม่มาอีกแล้ว ผมวิ่งดับไฟวุ่นไปหมด อย่างตอนที่มีลูกค้าสมัครเข้าบิทคับเยอะมากจนแพล็ตฟอร์มจะระเบิด คือวันหนึ่ง มีคนเข้ามา 45,000 ทุกวัน แต่พนักงานทั้งบริษัทมีอยู่ 200 คน แล้วคนยังเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราต้องปิดการให้บริการเพราะทำทุกอย่างไม่ทันจริงๆ ตอนนั้นคนด่าทั้งประเทศว่าหายไปไหน ส่วนผมก็ออกสื่อไม่ได้เพราะขออนุญาตอยู่ กลต. ตอนนั้นเหลือวันทำงาน 5 วัน ที่ต้องอัพเกรดระบบเพื่อให้รับคนจำนวนมากได้ทั้งหมด ตอนนั้นผมบอกพนักงานว่า 5 วันนี้ ต้องทำงานให้หนักที่สุดในชีวิต คือเราต้องทำงานที่ปกติใช้เวลาทำ 6 เดือนให้จบภายใน 5 วัน ซึ่งสุดท้ายก็ยืดเยื้อไปอีก เลยต้องควักเงิน 200 ล้านให้ลูกค้าเพื่อแก้ปัญหา แต่เราก็ผ่านกันมาได้ ผมไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร นอกจากคำว่า ปาฏิหาริย์ ผมโชคดีมากที่ทีมงานเต็มที่กับการแก้ปัญหาจนผ่านทุกวิกฤติมาได้”

คุณท๊อปพูดมาตลอดว่า อยากให้ Bitkub กลายเป็นยูนิคอร์นของไทย พอมาเดินถึงเส้นชัยจริงๆ แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้างคะ ได้ใช้ชีวิตแบบยูนิคอร์นแล้วหรือยัง

“รู้สึก Grateful ครับ คือทั้งดีใจและขอบคุณที่สุด รู้สึกว่าชีวิตมีประโยชน์ แต่ยอมรับว่า ตอนปีใหม่ผมมองย้อนกลับไปปีที่แล้ว รู้สึกว่าเป็นปีที่เหนื่อยและผจญภัยมาก โมเมนต์เหมือนตอนเรียนจบจากออกซ์ฟอร์ด คือ เป็นหนึ่งเรื่องในชีวิตที่ฉันทำได้แล้ว แต่ถ้าให้กลับไปทำอีก คือไม่เอาแล้ว ชีวิตนี้ขอครั้งเดียวพอ ถือเป็นประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้ ในห้องเรียนก็ไม่มีสอน มันหล่อหลอมให้เราเป็นตัวเราที่แตกต่างจากคนอื่นมากๆ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม แต่ขอทีเดียวพอนะ (ยิ้ม)

“ส่วนปีนี้ พูดตามตรง ผมยุ่งกว่าเดิม ทำงานหนักกว่าเดิม ก็ยังงงๆ อยู่ว่าจะหนักขึ้นกว่านี้ได้ยังไง เมื่อก่อนหนักแบบยังพอรับไหว อย่างที่ผ่านมาสื่อไหนขอสัมภาษณ์หรือให้ไปพูดที่ไหน จะคนเยอะคนน้อย ผมรับหมด เพราะรู้สึกว่าเขาให้เกียรติ ทำงานไปด้วย ให้ความรู้ไปด้วย ใครฟังจะได้โชคดี แต่ทุกวันนี้ยุ่งจนผมรู้สึกว่าเวลา 24 ชั่วโมงต่อ 7 วัน ไม่พอ จึงต้องปฏิเสธไปหลายงานเลยครับ ซึ่งความจริงไม่ชิน รู้สึกผิด แต่ผมรับไม่ไหวแล้วจริงๆ มีโจทย์ใหม่มาทุกวัน ผมต้องจัดทัพใหม่ทุกสัปดาห์ อย่างล่าสุด ผมประชุมไป 5-6 วงประชุมต่อวัน ซึ่งไม่ได้ชอบ แต่ก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน เหนื่อยแบบภาคภูมิใจ ไม่รู้จะอธิบายยังไง เหมือนเราเสียสละเพราะมันมีความหมาย เป็นชีวิตที่มีประโยชน์ เป็น A life of service คือเพื่อสร้างฐานเงินให้กับคนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แค่หวังว่าปีนี้จะไม่หนักเท่าปีที่แล้ว” (ยิ้ม)

ปัจจุบันกลุ่มบริษัท Bitkub เติบโตไปถึงไหน จากบริษัทที่เริ่มต้นเพียงคนเดียว สู่พนักงานกว่าพันชีวิต คุณท๊อปต้องใช้กลยุทธ์ใดในการบริหารบ้างคะ

“ปีนี้ Bitkub มีอายุ 4 ปี นิดๆ แล้ว เราโตขึ้นมา 2,000 เปอร์เซ็นต์ แล้ว โดยทำรายได้ทั้งหมด 6,000 ล้าน กำไรสุทธิ 3,000 ล้าน พนักงานจาก 40 คน ขึ้นมาเป็น 1,600 คนแล้ว โดยปัจจุบันเรามี 9 บริษัท ส่วนใหญ่ทำเกี่ยวกับบล็อคเชนทั้งหมด  ทั้งตลาดซื้อขายคริปโตฯ, ตลาด NFT, Bitkub chain, Bitkub Academy, Bitkub Ventures ลงทุนในสตาร์ทอัพรุ่นน้อง, Bitkub M ที่เราไปพาร์ทเนอร์กับ The Mall, Bitkub World ที่พาร์ทเนอร์กับคุณวิชัย ทองแตง เปลี่ยนกลุ่มอาชีวะให้เขียนบล็อคเชนเป็น, Bitkub Tech ที่เปิดในเวียดนาม, Bitkub Infinity เป็น private fund ซึ่งอยู่ในช่วงขอใบอนุญาติ และ Bitkub Holdings อยู่บนสุด ถือ 100 เปอร์เซ็นต์  ในบริษัททั้งหมด ผมว่าเราน่าจะเป็นกลุ่มที่โตเร็วที่สุดในประเทศไทย ปีนี้ตั้งใจว่าจะเพิ่มพนักงานเป็น 2,000 คน

“ส่วนเรื่องการบริหาร ด้วยความที่ผมทำมาแล้วทุกเฟส รู้ว่าเฟสนี้ต้องทำตัวยังไง บริหารยังไง ตัดสินใจยังไง เหมือนเปลี่ยนประเภทกีฬาที่เล่นทุก 1 ปี เพราะบริษัทที่โต 1,000 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับทุก 1 ปี เราจะกลายเป็นบริษัทใหม่ การบริหารทีม 50 คน ต่างจาก 200 คน 500 คน 2,000 คน เข้าใจกฎใหม่ เปลี่ยนสกิลเซ็ตให้ได้ ก็ผ่านการเรียนรู้จากความผิดพลาดนี่แหละครับ ผมเพิ่งมารู้ทีหลังจากการอ่านหนังสือ Built to Last ของ Jim Collins เขาบอกว่า CEO มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือคนบอกเวลา ประเภทที่ 2 คือคนสร้างนาฬิกา

“ผมเติบโตมาจากการเก็บเงินอย่างยากลำบาก ตั้งแต่ทำบริษัทแรก 10 เดือน ไม่ไปไหน  ได้เงินมา 6 แสนกว่าบาท พอจ้างพนักงานปุ๊บก็ต้องให้คุ้มสุดๆ  คือลงไป 1 บาท ต้องได้กลับมา 10 บาท ไม่อย่างนั้นบริษัทอยู่ไม่รอดครับ เราต้องบี้สุดๆ พอมาทำ Bitkub สองปีแรกนี่ถือเป็นช่วง Wartime คือต้องทำทุกอย่างให้มีกำไรเร็วที่สุด ผมจึงเป็นซีอีโอประเภทบอกเวลา เน้นคอนโทรลไปก่อน เหมือนเป็นเผด็จการ สั่งแบบไหนต้องได้แบบนั้น แต่ข้อเสียคือ พอคนที่บอกเวลาไม่อยู่ บริษัทไม่รู้จะไปต่อทางไหน

“จนพอ Bitkub เข้าปีที่ 3 ถือเป็นช่วง Rescale คือบริษัทเติบโตมหาศาล ดังนั้น ถ้าเห็นอะไรที่ไม่โอเค ผมก็จะทนไปก่อน เพราะน้ำขึ้นต้องรีบตัก เราโตประมาณ 1,000 เปอร์เซ็นต์น่ะ ถ้าจะมีอะไรไม่โอเคสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา 10 เปอร์เซ็นต์ พนักงานมี Culture Core Values ไม่เหมาะบ้าง ผมก็จะยอมปิดตาไปข้างหนึ่ง หรืออะไรที่ไม่ได้ทำเต็มที่ ผมก็จะโน้ตไว้แล้วเดี๋ยวตามคุยทีหลัง เพราะเรากำลังเติบโตมหาศาล

“ถัดมาคือช่วง Peace time หลังจากตักน้ำมาหมดแล้ว เราต้องทำอย่างไรให้บริษัทเป็น Long lasting company เผื่อว่าถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่ บริษัทก็ยังยิ่งใหญ่ต่อไปได้ เหมือนกับแอปเปิ้ลที่แม้ สตีฟ จ๊อบจะไม่อยู่แล้ว แต่ยังเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อยู่ ดังนั้นเราต้องเน้นเรื่อง Core Value, Purpose, Mission, และ Vision ให้มากๆ รวมถึงกระจายอำนาจการตัดสินใจออกไปให้คนอื่นบ้าง (Decentralize decision-making) อย่างเมื่อก่อนผมมีประชุมทุกวันพุธ ที่ผมจะฟังทุกอย่างแล้วตัดสินใจเองคนเดียว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประชุมทุกวัน จันทร์ อังคาร พุธ โดยแต่ละวันจะมีแต่ละทีมนำ และมีซีอีโอของแต่ละบริษัทลูกมาช่วยกันออกความเห็น พอถึงวันพุธ ผมจะเข้าประชุมด้วย แต่เป็นการฟังสรุป ผมแค่รีวิวอย่างเดียว ไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่ถ้าเรื่องไหนไม่เมคเซนส์ ผมก็มีสิทธิคัดค้านได้ ซึ่งเขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าถ้าเรื่องไหนโดนค้านบ่อย ก็จะรู้แล้วว่าบอร์ดคิดอย่างไร ผมคิดอย่างไร จนนำไปสู่การตัดสินใจแบบเดียวกัน

“เพราะฉะนั้นมันก็จะเปลี่ยนวิธีการทำงาน เราเรียกว่า Organizational Design ในบริษัท เพื่อการสร้างนาฬิกา คราวนี้จะประชุมกันเยอะหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะการตัดสินใจหนึ่งครั้ง ถ้าพลาดจะเสียหายมหาศาล ยิ่งบริษัทใหญ่มากเท่าไร ผู้นำต้องตัดสินใจให้น้อยที่สุด แต่ต้องแม่นยำที่สุด และต้องกระจายอำนาจให้ถูกคน”

เป้าหมายต่อไปของ Bitkub คืออะไรคะ แล้วทำไมเราจึงตั้งเป้าไว้แบบนั้น

“Bitkub มี mission ที่ยึดมาตลอดไม่เคยเปลี่ยนคือ เราเปิดมาเพื่อมุ่งสร้างโอกาสให้มากที่สุด ซึ่งโอกาสมีหลายรูปแบบ โอกาสทางความรู้ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดี ดังนั้น 9 บริษัทในกลุ่มบิทคับจะทำมาเพื่อสร้างโอกาสทั้งหมด แต่ Vision ของกลุ่มนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เดิมเราตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นยูนิคอร์นของประเทศไทย พอเป็นได้แล้ว เราก็เปลี่ยน Vision ใหม่ โดยมองให้ไกลกว่าเดิม คือ เราจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับ World 3.0 เพราะผมเห็นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การมาของเว็บ 3.0 จะทำให้เราเข้าสู่เฟส 3 ของโลก อินเตอร์เน็ตจะเป็น 3 มิติ ไม่ใช่ 2 มิติเหมือนเดิม อย่างโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็น 2 มิติ คืออ่านตัวหนังสือ แชร์รูปภาพและวิดีโอ ไลฟ์สตีมมิ่งได้ พอเข้าสู่เว็บ 3.0 มันจะเป็น Hologram ผมสามารถให้สัมภาษณ์เสมือนผมนั่งอยู่ด้วยได้ แล้วเครื่องใช้ทุกอย่าง โต๊ะ เก้าอี้ ก็จะฉลาดหมด ถึงตอนนั้น เราจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“ดังนั้นเราต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับไว้ คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เห็นภาพ หรือเข้าใจว่า โครงสร้างนี้จำเป็นอย่างไรต่อสังคมหรือประเทศ แต่ผมเข้าใจ จึงต้องสร้างเตรียมไว้ ผมมองว่าจากนี้ไปเศรษฐกิจแบบ Physical คือที่เป็นอยู่นี้จะเล็กลงเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจดิจิทัลจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงไว้รองรับ เหมือนยุคก่อนที่มีธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ ทางด่วน เราก็จะสร้างสิ่งเหล่านี้ในเศรษฐกิจ Digital เช่นกัน เราจึงตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า เราจะไม่สร้างบริษัทที่เป็น Nice to have แต่สร้างบริษัทที่เป็น Must have คือจำเป็นต้องมี คือสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศ ที่เซ็ตเป้าหมายไว้ขนาดนี้ เพราะมันต้องยิ่งใหญ่มากพอที่จะดึงคนที่เก่งไปรวมกันได้ เพราะสำหรับคนเก่ง เงินอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก ใครก็ให้เงินได้ สิ่งที่ต่างคือบริษัทนั้นทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน จะทิ้งอะไรไว้ให้สังคม ทุกคนล้วนอยากเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมในวงการ อยากโม้ให้ลูกหลานฟังว่าฉันเป็นทีมที่สร้างยูนิคอร์นของไทยนะ เราเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่เห็นว่าอะไรจำเป็นในโลกอนาคต แล้วเราก็มีครบทั้ง ความรู้ ทรัพยากร เวลาที่ใช่ และกลุ่มคนที่มีความสามารถ ซึ่งไม่มีบริษัทไหนมีครบขนาดนี้นี้ ก็ต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่”

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ผ่านมาหลายพายุแล้ว ยังมีเรื่องอะไรในการทำงานที่คุณท๊อปกลัวอีกไหมคะ

“เรื่องเซอร์ไพรส์…. ผมรู้สึกว่าผมเจอมาบ่อยจนไม่อยากเจอแล้ว เช่น การได้จดหมายจาก ปปง. จนมือสั่น คือถ้าเจอเรื่องเดิม ผมก็คงไม่สั่นแล้ว แต่แค่ไม่อยากเจออารมณ์แบบนั้นอีก คือทุกคนจะมีจุดทดสอบขีดจำกัดของตัวเอง ผมแค่ไม่รู้ว่าเรื่องต่อไปของเราคืออะไร จะมีเซอร์ไพรส์อะไรที่ทำให้ตกอกตกใจอีกไหม คือกลัวสิ่งที่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเจออะไรเหมือนกัน

“แต่เรื่องเครียด นี่เครียดจนชินละ ทุกวันนี้ถ้าไม่เครียดสิแปลก เพราะถ้าเราแคร์เรื่องไหนมากๆ เราจะเครียด ถ้าไม่เครียดคือไม่แคร์ ถ้ามีเรื่องอะไรเข้ามา เราก็ทำไปด้วยความเคยชิน ยิ่งอุปสรรคเข้ามาเยอะๆ ก็ยิ่งทำให้เราปรับตัวได้ดีขึ้น ผมกลับมองว่า ถ้าไม่เคยโดนอะไรมาเยอะๆ ในบริษัทแรก Bitkub ก็คงมาไม่ถึงจุดนี้เหมือนกัน เราคงทนไม่ไหว ยอมรับว่าผมก็มีวันที่รู้สึกว่ามืดไปหมดทุกด้าน หาทางออกไม่ได้ แต่ผมเชื่อเสมอว่าสุดท้ายจะต้องมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือถ้าแย่ที่สุดจนแย่กว่านี้ไม่ได้แล้ว มันก็ต้องหักหัวขึ้นน่ะครับ เป็น Logic ของชีวิต เราแค่ทำของเราให้เต็มที่ที่สุด ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราก็จะไปต่อได้

ว่ากันว่า ชีวิตคนยิ่งสูงยิ่งหนาว คุณท๊อปเป็นอย่างนั้นไหมคะ

“ผมว่านี่คือเรื่องปกติของชีวิตอีกเหมือนกัน ทุกคนคงเจอเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าเราจะรับมืออย่างไร ผมเพิ่งไปคุยกับพระอาจารย์ชยสาโร ท่านบอกว่า ยิ่งผมมีชื่อเสียง และมีคนรู้จักมากขึ้น จะมีคน 5 ประเภทเข้ามา ประเภทที่ 1 คือคนที่ชอบเรามาก ๆ แบบไม่ลืมหูลืมตา ชอบเราโดยที่ไม่มีเหตุผล  ประเภทที่ 2 คือคนที่ชอบเราแบบมีเหตุผล ได้ผลประโยชน์จากเรา จึงชอบเรา ประเภทที่ 3 คือ Neutral กลางๆ ไม่ชอบ ไม่แคร์ ไม่สนใจ ประเภทที่ 4 คือ ไม่ชอบเราแบบมีเหตุผล เพราะเขาเสียผลประโยชน์ ประเภทที่ 5 คือไม่ชอบแบบไม่มีเหตุผล แค่เห็นก็เหม็นหน้าแล้ว ดังนั้น ต่อให้เราทำตัวดีหรือไม่ดีแค่ไหน ก็ยังมีคน 5 ประเภทนี้อยู่ดี เราเปลี่ยนไม่ได้ ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังมีคนไม่ชอบเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปใส่ใจ พอเราเข้าใจแบบนี้ก็ ต่อให้ยิ่งสูงยิ่งหนาว เราก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้”…..

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆ ต่อได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับเดือน เมษายน 2565

นิตยสารแพรวปกพีพี

Praew Recommend

keyboard_arrow_up