บุกห้องทำงาน! “พี่ถา – สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์คู่จิ้นฟีเวอร์ และกระแสซีรีส์วัยรุ่น

บุกห้องทำงาน! “พี่ถา – สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV

ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์สำคัญในวงการบันเทิง ทั้งกระแสคู่จิ้นฟีเวอร์ ความนิยมของซีรีส์วัยรุ่น และการแจ้งเกิดของศิลปินจำนวนมาก

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายปรากกฏการณ์เกิดขึ้นในวงการบันเทิง ไมว่าจะเป็นกระแสนิยมซีรีส์วาย (Series Y) ที่โด่งดังแบบสุดๆ อย่าง SOTUS The Series, Theory of Love ทฤษฎีจีบเธอ, Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว และเพราะเราคู่กัน  2gether The Series ที่แจ้งเกิดเหล่าศิลปินวัยรุ่น จนมีแฟนคลับมากมาย พร้อมกับที่ซีรีส์ไทยได้สร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ

ซึ่งหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้นคือ “สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ที่สะสมประสบการณ์การทำงานมากว่า 33 ปีในวงการบันเทิง  ตั้งแต่ตำแหน่งครีเอทีฟ หัวหน้า ผู้จัดการ จนถึงตำแหน่งผู้บริหาร

คู่จิ้น ซีรีส์วาย
สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV

ทราบว่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน เริ่มจากการเป็น นักเขียน ตั้งแต่สมัยเรียนใช่มั้ยคะ

“ใช่ครับ เริ่มจากความชอบส่วนตัว ผมชอบดูหนัง และอ่านหนังสือมากๆ ผมอ่านหนังสือได้ทุกแนว แต่ที่ชอบเป็นพิเศษคือ นิยาย เรื่องสั้น บทกวี และสารคดี ทำให้ผมมีความฝันอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็ก ผมเริ่มโตขึ้นมาหน่อย ก็ชอบดูหนังมากๆ ด้วย (ยิ้ม) จึงตัดสินใจเรียนด้านนี้ ที่ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (ภาพยนตร์และภาพถ่าย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ซึ่งทำให้ผมชัดเจนมากขึ้นว่าตัวเองชอบด้านนี้ บวกกับความที่ชอบอ่าน ชอบดู และอยากเป็นนักเขียนด้วย ตอนประมาณ ม.5 จึงเริ่มจากการเขียนเรื่องสั้น บทกวี ส่งไปนิตยสาร อย่างแพรวสุดสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ (ยิ้ม) และจากนั้นก็เขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ส่งไปยังนิตยสารต่างๆ  ซึ่งตอนนั้นคนมักจะเขียนวิจารณ์หนังฮอลลีวู้ดมากกว่า ไม่ค่อยมีใครวิจารณ์หนังไทยเท่าไร แต่ตอนนั้นผมไฟแรงมาก บวกกับเป็นยุคที่หนังไทยกำลังบูม ผมจึงเลือกเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยอย่างเดียว และก็ได้รับคัดเลือกบทความลงในนิตยสารเอนเตอร์เทน

“การเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 2 ยังจำได้ว่า เรื่องแรกที่ได้เขียนลงนิตยสารคือ ภาพยนตร์เรื่อง วงศาคณาญาติ (พ.ศ. 2530) จากนั้นก็ได้เขียนลงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีรายได้ต่อเดือนเป็นค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ (ยิ้ม) และพอทำไปสักพัก บก. ก็ให้โอกาสไปสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน หรือดาราดังๆ ในยุคนั้น เพื่อมาเขียนคอลัมน์ด้วย อย่าง ทมยันตี, สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์

“พอเรียนปี 4 เทอม 2 มีเพื่อนชวนไปทำงานตำแหน่งครีเอทีฟ พ่วงนักเขียน ทำนิตยสารให้กับโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษชื่อ โอต้าเฮ้าส์ น้องๆ น่าจะไม่ทันกัน (หัวเราะ) โดยผมรับหน้าที่ดูเนื้อหากับเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ระหว่างนั้นก็ฝึกงานที่บริษัท มีเดียพลัส ไปด้วย เนื่องจากเขาเห็นผลงานเขียนของผมในนิตยสารเอนเตอร์เทน ผมจึงได้ฝึกเขียนสปอตวิทยุ โปรโมทคอนเสิร์ต

“และระหว่างนั้นผมก็ยังเขียนบทวิจารณ์หนังไทยควบคู่ไปด้วย ซึ่งก่อนที่หนังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ทางค่ายจะเชิญนักเขียน นักวิจารณ์ ไปชมก่อนในห้องฉายของบริษัท เพื่อให้เขียนลงนิตยสารได้ทัน ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ๆ ในแวดวงนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พีอาร์ ของบริษัท RS เขาเห็นว่าผมเขียนบทความได้ เขียนสปอตรายการวิทยุได้ จึงชวนให้ไปทำตำแหน่งประชาสัมพันธ์ แต่พอเข้าไปสัมภาษณ์ เขาบอกว่าผมเหมาะจะทำตำแหน่งครีเอทีฟมากกว่า ผมจึงลาออกจากที่โรงเรียนสอนภาษา แล้วไปเริ่มงานประจำแบบเต็มตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ที่บริษัท อาร์ เอส โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน)”

หน้าที่ตอนนั้นทำอะไรบ้างคะ

“ช่วงแรกเขียนสปอตโฆษณาครับ ตามด้วย Copy ต่างๆ อย่างคิดชื่ออัลบั้มใหม่ๆ อัลบั้มรวมฮิต ชื่อคอนเสิร์ต รวมถึงข้อความสำหรับโปรเจ็คท์ต่างๆ ในบริษัทครับ อย่างชื่ออัลบัมของ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ‘Thunder’ หรือ คอนเสิร์ตพายุสายฟ้า ประมาณนั้นครับ (ยิ้ม)

“ถือเป็นการเปลี่ยนแนวของงานจากเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ มาทำงานเพลงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ และขยับตำหน่งจากครีเอทีฟ มาเป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเป็นรองกรรมการผู้จัดการ (กลุ่มธุรกิจเพลง) รวมระยะเวลากว่า 16 ปีครับ”

แล้ว…ก็ย้ายมาที่บ้านใหม่หลังนี้

“เหมือนถึงจุดอิ่มตัวครับ จึงตัดสินใจลาออกมาพัก ช่วงนั้นใช้เวลากลับไปเขียนหนังสืออีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนาน (ยิ้ม) แต่ก็พักได้ไม่ถึงสองเดือนก็ได้รับคำชวนให้มาทำงานที่แกรมมี่ จึงกลับมาทำงานประจำเต็มตัวอีกครั้ง

“แต่งานเปลี่ยนจากที่ดูแลเรื่องเพลง มาเป็นรายการโทรทัศน์ ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทแกรมมี่เทเลวิชั่น (ชื่อ ณ ตอนนั้น) โดยเน้นทำรายการสำหรับวัยรุ่นเป็นหลัก แต่ก็ยังเป็นเนื้อหาที่ซัพพอร์ตธุรกิจเพลงอยู่นะครับ อย่างรายการ five live, OIC (โอไอซี) และ รายการรถโรงเรียน ที่ยังออนแอร์มาถึงปัจจุบันครับ และที่เพิ่มเติมจากเดิมก็คือ การทำละคร และซีรีส์ ซึ่งถือเป็นงานใหม่ที่ผมไม่เคยทำมาก่อน จะมีก็แต่พื้นฐานเรื่องภาพยนตร์ จากการที่ชอบดูหนัง ดูละคร”

คู่จิ้น ซีรีส์วาย GMMTV

การทำงานในบ้านแกรมมี่เป็นอย่างไรคะ

“ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมาตลอด และด้วยตัวเลขประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ค่อนข้างชัดเจนว่าเรารักในสิ่งที่ทำจริงๆ ที่สุดก็ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด

“เพราะผมมองว่า โพซิชั่นนิ่งของบริษัทเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์สำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ เราจึงมีการพัฒนาอยู่ตลอด เริ่มทำรายการใหม่ๆ มาเสิร์ฟมากขึ้น ทำละคร ทำซีรีส์ที่หลากหลาย เราผ่านจุดเปลี่ยนมาตั้งแต่ยุคอนาล็อค มาเป็นยุคทีวีดาวเทียม อย่างช่องแบงแชนแนล และพอยุคทีวีดิจิทัลเข้ามา เราก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็น content provider แบบเต็มตัว ผลิตคอนเทนต์จำนวนมากให้กับช่องทีวี และวางรูปแบบการสร้างนักแสดงอย่างจริงจัง…จนถึงวันนี้ครับ”

ถ้าแบ่งเป็นการทำงานออกเป็นส่วนๆ มีอะไรบ้างคะ

“หน้าที่หลัก คือการผลิตคอนเทนต์ ส่วนใหญ่เป็นละครและซีรีส์ รองลงมาเป็น รายการวาไรตี้ ทั้งแบบออนแอร์ และออนไลน์ ตามด้วยส่วนการบริหารจัดการศิลปิน นักแสดง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และอีกส่วนคือ การบริหารจัดการงานอีเว้นท์ต่างๆ ตั้งแต่งานแฟนมีตติ้ง จนถึงคอนเสิร์ตครับ”

ขอโพกัสที่ส่วนที่ใหญ่สุด ซึ่ง GMMTV ถือเป็นหนึ่งในผู้สร้างกระแสซีรีส์วายในเมืองไทย

               “ขอบคุณมากๆ สำหรับกระแสตอบรับที่ดีครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่ทำซีรีส์วายในเมืองไทย แต่เราต่อยอดและทำซีรีส์วายออกมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งเรื่องแรกที่ทำและถือเป็นจุดเปลี่ยนก็คือ SOTUS The series (พ.ศ. 2559)

“ถือว่าได้รับกระสตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จสูงเป็นประวัติการณ์ และความที่เราเป็นองค์กรใหญ่ มีเครื่องไม้เครื่องมือทุกสิ่งค่อนข้างครบวงจร เราจึงต่อยอดถ่ายทำซีซั่นสอง ทำอีเว้นท์ และพัฒนาบริหารจัดการนักแสดงอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้ว่าซีรีส์จะจบแล้ว แต่น้องๆ นักแสดงยังมีงานต่อเนื่องตลอด”

คู่จิ้น ซีรีส์วาย GMMTV

ตอนตัดสินใจทำ SOTUS The series มองเห็นอะไรในตลาดนี้คะ

“ผมพูดเสมอว่า ซีรีส์วายคือ หนึ่งในความหลากหลายของเนื้อหาที่เราอยากนำเสนอออกไป ซึ่ง โซตัส คือหนึ่งในความหลากหลายนั้น เพราะจริงๆ เราทำซีรีส์มานานแล้ว ช่วงที่เห็นชัดเจนคือ ช่วงซีรีส์เรื่อง รักนะเป็ดโง่ (พ.ศ.2558) ต่อด้วย U-Prince Series (พ.ศ. 2559) ที่มีความหลากหลายมากขึ้น  ตอนนั้นเราจึงคิดว่าควรมีซีรีส์ใหม่ๆ  เกิดขึ้นอีก เพื่อให้มีความแตกต่าง ซึ่ง โซตัส คือหนึ่งในนั้น จึงทำให้ตัดสินใจทำครับ”

จากผลตอบรับที่เกินคาดในเรื่องแรก แผนต่อไปคืออะไรคะ

“ถัดจากเรื่องนั้น ในปีต่อมาเรายังมุ่งมั่นทำซีรีส์อีกมาอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ซึ่งผมมองว่า ซีรีส์วายเป็นหนึ่งในความหลากหลายที่ควรมี จึงทำอีกเรื่อง (ทฤษฎีจีบเธอ) ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเพิ่มปริมาณขึ้นตามความต้องการของผู้ชม

“ซึ่งจริงๆ จีเอ็มเอ็มทีวี มีซีรีส์หลายรูปแบบนะครับ ทั้งดราม่า โรแมนติก คอมเมดี้ อย่างเรื่อง The Gifted ที่เป็นแนวแฟนตาซีหน่อยๆ ก็ได้รับกระแสดีมากๆ สามารถไปคว้ารางวัลในระดับเอเชีย เพียงแต่ซีรีส์วาย เป็นกระแสที่มาแรงในขณะนั้น จึงทำให้โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง”

นอกจากกระแสตอบรับในประเทศไทย ในต่างประเทศก็ดีมากๆ เช่นกัน

“ใช่ครับ เรามีซีรีส์หลายๆ เรื่องที่ประสบความสำเร็จ และได้กระแสตอบรับที่ดีมากจากผู้ชมต่างประเทศครับ ซีรีส์วายทุกเรื่องของเราทั้ง เพราะเราคู่กัน, Sotus the series, ทฤษฎีจีบเธอ, Dark Blue Kiss, นิทานพันดาว หรือที่ไม่ใช่ซีรีส์วายหลายๆ เรื่อง ก็มีกระแสตอบรับที่ดีมาก อย่าง The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์ , Friend Zone หรือ Happy Birthday ซึ่งทุกเรื่องนอกจากตัวซีรีส์จะเป็นที่ชื่นชอบแล้ว นักแสดงในเรื่องก็ยังได้รับความนิยม มีแฟนคลับจากทั่วโลกด้วยครับ

“ซึ่งซีรีส์ทุกเรื่องของ GMMTV หรือแม้แต่คอนเทนท์หลายๆ ชิ้นงาน เราก็ตอบสนองผู้ชมต่างประเทศด้วยการมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ก็ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ฟิลิปปินส์ หรือญี่ปุ่น อย่างตอนนี้ก็มีการจัด GMMTV Exhibition ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการขยายฐานผู้ชม และส่ง Soft Power ของไทยไปเติบโตทั่วโลกด้วยครับ”

ในมุมมองของผู้บริหาร คิดว่ากระแสความนิยมซีรีส์วายในอนาคตจะเป็นอย่างไรคะ

“ซีรีส์วายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ครับ อย่างปีที่แล้วถือว่ามาแรงมากจริงๆ และมีผู้ผลิตจำนวนมากที่เข้าในตลาดนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าสังคมให้การยอมรับ เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้มีเนื้อหามีความหลากหลายมากขึ้นด้วย

“ซึ่งถ้าถามผม คงเร็วไปที่จะบอกว่า ตลาดนี้จะไปถึงจุดไหน เพราะด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมา มีหลายทีมที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตคอนเทนต์  แต่ยังไม่ได้ปล่อยผลงานออกมาค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นต้องรอดูครับว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร”

สำหรับสถานการณ์โควิด-19  ในฐานะผู้บริหารมีวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างไรคะ

“ที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็มทีวี เคยเจอกับวิกฤต หรือการเปลี่ยนผ่านมาหลายครั้ง ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เราเตรียมพร้อมอยู่เสมอ สำหรับวิกฤติครั้งใหญ่ของประเทศและโลก อย่างโควิดไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

“สิ่งที่กระทบกระเทือนหนักที่สุดคือ ไม่สามารถจัดอีเว้นท์ได้ ทั้งที่ช่วงหลัง อีเว้นท์ ถือเป็นงานสำคัญของบริษัท เราจึงต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยร่วมมือกับแอพพลิเคชั่น V LIVE เพื่อปรับรูปแบบเป็นแฟนมีตติ้งผ่านออนไลน์ และเราก็ทำรายการออนไลน์ที่ตอบสนองคนที่ต้องล็อคดาวน์อยู่ที่บ้านคือรายการ Live! At Lunch โดยให้ศิลปิน Live สดผ่านออนไลน์ จากที่บ้านของตัวเอง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีศิลปินมานั่งกินข้าวด้วยกัน

“กลายเป็นว่าปีที่แล้วบริษัทเติบโตสูงสุด ซึ่งก็มาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ส่วนหนึ่งเพราะเรามีการพัฒนาศิลปินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานหนักมาหลายปี มีซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จมากๆ (เพราะเราคู่กัน) บวกกับการเตรียมพร้อมที่ดีอยู่เสมอ และสิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อเกิดปัญหา…ต้องแก้ให้เร็วและดี จึงจะสามารถพาบริษัทผ่านวิกฤติไปได้”

ตลอดอายุงานกว่า 30 ปี อะไรคือความท้าทายในการทำงานของพี่ถาคะ

“แต่ละครั้งมีความรุนแรงเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน (หัวเราะ) ผมมองว่าท้าทายและสนุกทุกครั้งนะ แน่นอนว่าเราห้ามตัวเองไม่ให้คิดมาก ไม่ได้หรอก เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ แต่พอเจอ แล้วก็ต้องแก้กันไปให้ดีที่สุด

“ผมว่าปัญหาที่เข้ามา คือความสนุกในการทำงาน เพราะว่าอาชีพนักบริหาร นอกจากวางแผน วางเป้าหมาย อีกอย่างก็คือการแก้ปัญหานี่แหละครับ ปกติคนทำงานเวลามีปัญหา เขาก็แก้กันเองอยู่แล้ว แต่ถ้าปัญหานั้นมาถึงผู้บริหารเมื่อไหร่ แสดงว่ามันใหญ่ละ

“เป็นความเครียดที่สนุก ตอนแก้ก็จริงจังแหละ แต่พอแก้ได้แล้วรู้สึกดีนะ (ยิ้ม) ฉะนั้นอาชีพผม จึงมีหน้าที่แก้ปัญหาครับ เป็นแบบนี้ทุกๆ วัน บางทีก็วันละหลายๆ ครั้ง (หัวเราะ)”

สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV

พี่ถา ตั้งเป้าในการทำงานไว้อย่างไรคะ

“ถ้าเป้าหมายของตัวเองตอบยากครับ เพราะเป้าหมายของผมก็คือเป้าหมายของบริษัท แยกกันไม่ออก ในแต่ละปีผมมีเป้าที่ตั้งไว้หลายอย่าง แต่ส่วนหนึ่งผมอยากให้ทุกผลงานรวมถึงนักแสดงทุกคนประสบความสำเร็จ มีคนรัก ชื่นชอบและซัพพอร์ตพวกเขา เพราะนั่นหมายถึงผลอื่นๆ จะตามมาเอง

“เวลาเห็นนักแสดงเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง ผมจะมีความสุขมากๆ ทุกครั้ง ดีใจที่เขาไปถึงจุดที่ตั้งใจได้ มีคนรักเขาขนาดนั้น บางคนทำงานจนสามารถดูแลคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงครอบครัวได้เลย ความภูมิใจของผมในการทำงานทุกวันนี้ จึงไม่ใช่แค่สร้างความบันเทิงให้ผู้ชมอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างงาน สร้างอนาคตที่ดีและ สร้างความสำเร็จให้กับหลายๆ คนด้วย

              “นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน”

 

/ส่วนหนึ่งจาก คอลัมน์ Special Interview ใน นิตยสารแพรว มิ.ย. 64

เรื่อง Minim

ภาพ อิทธิศักดิ์   ผู้ช่วยช่างภาพ อัครชัย แก้มสมนึก

Praew Recommend

keyboard_arrow_up