สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเจ้าหญิงนักดนตรี ความข้อนี้เชื่อว่าเป็นที่แจ้งประจักษ์แก่พสกนิกรไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว
ครั้งหนึ่ง อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติได้กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีที่มีในองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วทรงเอาใจใส่”
เล่ากันว่าสมัยที่พระองค์ทรงเริ่มเรียนดนตรีใหม่ๆ ที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้พระอาจารย์สองท่านคือ ครูนิภา อภัยวงศ์ และครูจินดา สิงหรัตน์ถวายการสอนเครื่องสายคือ ซอด้วง ทั้งที่พระองค์โปรดระนาดมากกว่า แต่เพราะครูเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิง จะมาตีระนาดดูไม่เหมาะ ยิ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระราชธิดา เกรงว่าจะดูเป็นนักเลงมากเกินไป ไม่สมพระเกียรติยศตามแบบโบราณ จึงอาจกล่าวได้ว่าการทรงซอในชั้นต้นนั้นค่อนข้างจะเป็นการฝืนพระทัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีอยู่บ้าง แต่ด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ทรงอ่านโน้ตเพลงไทยออกทุกรูปแบบ
กระทั่งปี 2528 พระองค์จึงทรงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้เสด็จฯเพื่อทรงดนตรีไทย ณ บ้านปลายเนิน ซึ่งเป็นวังของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยมีครู สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ เป็นพระอาจารย์
เล่ากันอีกว่าทุกวันภายหลังจากตื่นบรรทม พระองค์ต้องทรงทำการบ้านด้วยการไล่ระนาดทุกเช้า จนกระทั่งปีถัดมาพระองค์จึงทรงบรรเลงระนาดเอกร่วมกับครูอาวุโสของวงการดนตรีไทยหลายท่านต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเพลงที่ทรงบรรเลง คือ เพลง นกขมิ้น (เถา)
นับจากนั้นมา การทรงดนตรีไทยก็กลายเป็นงานอดิเรกที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงโปรดปรานเรื่อยมา และได้ทรงดนตรีไทยในวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ งานปิดภาคเรียนของโรงเรียน งานวันคืนสู่เหย้าโรงเรียนจิตรลดา ฯลฯ จวบจนทรงเข้าศึกษาที่คณะอักษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ก็ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ อักษรศาสตร์ โดยทรงซอด้วงเป็นหลัก และต่อมาก็ทรงหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่นอีกหลายชิ้น รวมทั้งทรงฝึกขับร้องเพลงไทยและรำไทยด้วย
เกี่ยวกับเรื่องความสนพระทัยงานนาฏศิลป์ดนตรีไทยนี้ พระองค์เคยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ“มณีพลอยร้อยแสง” ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จํากัด จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2533 เกี่ยวกับเรื่อง“เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย” ว่า แม้พระองค์จะทรงได้ยินเสียงดนตรีมาตั้งแต่ประสูติ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ทรงสนพระทัยมากนัก กระทั่งทรงได้เห็นและได้ฟังอย่างตั้งใจแล้วนั่นแหละ จึงทรงรู้แจ้งว่าเพลงไทยนั้นมีความไพเราะและสนุกมากเพียงไหน
นอกจากนี้ยังทรงเคยมีรับสั่งอีกว่า “ดนตรีไทยนี้เล่นแล้วติด ที่ติดนั้นไม่ใช่เพราะสนุกเท่านั้น แต่เพราะมีผู้ที่ถูกพระราชอัธยาศัยร่วมในกิจกรรมดนตรีนั้นด้วย
ในโอกาสนี้ แพรวดอทคอมจึงขออัญเชิญพระฉายาลักษณ์ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านนาฏศิลป์ดนตรีไทยมาให้พสกนิกรได้ร่วมชื่นชม
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน










ที่มาข้อมูล : พระราชนิพนธ์ ‘มณีพลอยร้อยแสง’ และ www.yavf.or.th