ภูฏาน ปลูกต้นไม้ 108,000 ต้น เทิดพระเกียรติเจ้าชายน้อย ย้ำจุดยืนประเทศสีเขียว

ราชอาณาจักรภูฏาน ประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ ชาติเดียวในโลกที่สร้างแนวคิดใหม่ในการนิยามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ด้วยการวัดดัชนี “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” แทนการใช้ค่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” เป็นเครื่องมือชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ การบัญญัติรัฐธรรมนูญในการกำหนดจำนวนพื้นที่ป่าไม้ ฯลฯ อีกมากมาย

อีกประการที่ทำให้ภูฏาน อยู่ในกระแสข่าวช่วงนี้ คือการประสูติของเจ้าชายน้อย พระโอรสในกษัตริย์จิกมี่ เกเซอร์ นัมเกล วังชุก และพระราชินีเจตซุน เปมา วังชุก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ทรงมีพระชันษาครบ 1 เดือนแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งมีการเฉลิมฉลองการประสูติของพระโอรส ด้วยการปลูกต้นไม้จำนวนมากถึง 108,000 ต้น ตอกย้ำความเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดได้เป็นอย่างดี
12728768_10153816481538260_1686938875431754940_n

  • พสกนิกรภูฏานร่วมปลูกต้นไม้ 108,000 ต้น เทิดพระเกียรติเจ้าชายน้อย

ประชาชนชาวภูฏานทั่วทั้งประเทศ พร้อมใจกันออกมาร่วมปลูกต้น 108,000 ต้น เพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระโอรสในกษัตริย์จิกมี่ และพระราชินีเจตซุน และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ที่เจ้าชายน้อยทรงมีพระชนมายุครบ 1 เดือนเต็ม โดยต้นไม้จำนวน 108,000 ต้นนี้ ปลูกตามบริเวณพื้นที่บนเนินเขาภายในประเทศ โดยประชาชนชาวภูฏานจำนวน  82,000 ส่วนอีก 26,000 ต้น ปลูกโดยกลุ่มอาสาสมัคร บริเวณพื้นที่รอบ ๆ ประเทศ

สำหรับที่มาที่ไปของการปลูกต้นไม้จำนวน 108,000 ต้นนั้น มาจากความเชื่อของชาวพุทธในท้องถิ่นที่ว่าเลข 108 ถือเป็นตัวเลขศักดิ์สิทธิ์ และต้นไม้ถือเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ นั้บตั้งแต่การก่อกำเนิดชีวิตของสรรพสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพ ความงาม และความเมตตากรุณา เป็นที่พึ่งพิงได้ การปลูกต้นไม้ครั้งนี้ จึงเป็นการถวายพระพรให้พระโอรส ทรงเจริญวัยด้วยพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เฉลียวฉลาด และทรงเป็นผู้มีพระกรุณาเมตตาเช่นเดียวกับพระบิดา

  • กระทรวงการท่องเที่ยวภูฏาน ใช้โอกาสนี้สานต่อพื้นที่สีเขียวภายในประเทศ

ในโอกาสที่ประชาชนปลูกต้นไม้จำนวนมหาศาลเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติครบ 1 เดือนของเจ้าชายน้อย แห่งราชอาณาจักรภูฏาน รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวภูฏาน จึงถือโอกาสนี้ในการเปิดตัวสวนแห่งความสุข “Happiness Garden” ในกรุงทิมพู เมืองหลวงของประเทศไปพร้อม ๆ กัน

สวน แห่งความสุข หรือ “Happiness Garden” จัดตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 48,400 ตารางยาร์ด (ประมาณ 40,470 ตารางเมตร) โดยตั้งใจให้เป็นสถานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาปลูกต้นไม้แห่งความสุขร่วมกันได้ เพื่อให้ต้นไม้เหล่านั้นเป็นตัวแทนของทุก ๆ ประเทศบนโลกใบนี้

  • ทำความรู้จักภูฏานมากขึ้น ในฐานะประเทศสีเขียว

ภูฏาน เจ้าของฉายาดินแดนมังกรสายฟ้า เป็นประเทศที่รู้จักกันดีในฐานะประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของกินเนสส์เวิลด์เรคเคอร์ด และนอกจากจะเป็นประเทศที่เน้นความสุขและการเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศแล้วนั้น ภูฏาน ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลรักษา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ของโลกด้วย

ภูฏาน มีจุดมุ่งหมายในการผลักดันประเทศให้มีความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ให้คำมั่นว่าจะเป็นประเทศออแกนิค 100% ชาติแรกของโลก โดยปัจจุบัน ภูฏาน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 100% และขณะนี้มีการประกาศใช้ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว

นอกจากนี้ พื้นที่จำนวน 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ ยังถูกออกแบบให้เป็นอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่สงวน เพื่อปกป้องคุ้มครองธรรมชาติให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ ขณะที่รัฐธรรมนูญของประเทศระบุไว้ด้วยเช่นกันว่า พื้นที่ของประเทศจะต้องปกคลุมไปด้วยป่าไม้ จำนวนอย่างน้อย 60% ของพื้นที่ทั้งหมด

12717742_10153816482048260_6049187850121017819_n

อีกสิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่าภูฏาน เป็นประเทศที่ยกให้สิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ คือผลวิเคราะห์ด้านปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่แสดงให้เห็นว่า ภูฏาน เป็นแหล่งในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นดี (Carbon Sink) เพราะมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก หรือมีขีดความสามารถในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่าการผลิตหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนในประเทศ มากถึง 3 เท่าเลยทีเดียว และไม่หยุดยั้งด้วยความพยายามในการพัฒนาเพื่อเป็นประเทศที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย หรือเรียกว่า Zero Emission Nation นั่นเอง

และเมื่อปีที่แล้วภูฏาน ก็เพิ่งมีกิจกรรมน่าสนใจ ในการบันทึกสถิติกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ด้วยการปลูกต้นไม้จำนวน 49,672 ต้น ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และสามารถจารึกซื่อในฐานะประเทศที่ปลูกต้นไม้จำนวนมากได้เร็วที่สุดในโลกไปครองอย่างสมความตั้งใจ

 

เรื่อง : Ladyfern

ภาพ : www.facebook.com/KingJigmeKhesar

Sources: www.treehugger.com , http://zeenews.india.com , www.voanews.com

Praew Recommend

keyboard_arrow_up