สังคมโซเชียลวิกฤตหนัก เมื่อเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์คือ…เยาวชน!

ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คครองเมืองจนเกิดเรื่องดราม่าออนไลน์ไม่เว้นวัน ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ การข่มเหงรังแกกันบนโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) ที่มีเหยื่อเป็นเยาวชน นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการ  ที่สำคัญมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่พ่อแม่หลายคนจะคาดคิด

5H1W9937 rt1

“ครูมิน-ชัชฎาภรณ์ พรมนอก” ครูกระบวนกร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนภายในโรงเรียนเปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อายุ10-12 ปี จำนวน 200 คน พบว่า
100%ของเด็กที่สำรวจมีโทรศัพท์มือถือและเฟซบุ๊ก แม้เฟซบุ๊กจะมีกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้งานก็ตาม และ 188 คนมีประสบการณ์พบเห็นการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต! และนี่คือเหตุผลที่ดีแทคประสานงานขอข้อมูลจากครูมิน เพื่อหาแนวทางที่จะป้องกันเด็กๆ ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามที่อยู่ใกล้ตัวนี้
“ที่เราสนใจเด็กวัยนี้เพราะเป็นวัยที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย แต่กลับใช้งานได้ เพราะมีการโกงอายุหรือให้ผู้อื่นสมัครให้ นอกจากนี้การเลือกโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครก็ทำให้พบว่า แม้ฐานะครอบครัวของเด็กจะไม่ค่อยดี แต่พ่อแม่กลับซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูกๆ ใช้เพราะกลัวลูกจะเข้าสังคมไม่ได้ เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงเจอเหตุการณ์ Cyberbullying ที่บ้านและร้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนมากถึง 188 คน จาก 200 คน โดยมีเคสหนักๆ ที่เจ้าตัวเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์อยู่ 5 ราย
“อย่างเคสของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกนำภาพเปลือยตอนอาบน้ำไปโพสต์ในหน้าวอลล์ของเด็กเอง ที่น่ากลัวคือภาพนั้นถ่ายจากห้องน้ำที่บ้านของเด็ก เข้าใจว่าบ้านที่อยู่ติดๆ กันในชุมชนแออัดอาจมีช่องให้คนอื่นสามารถแอบถ่ายรูปได้ หรือจะเป็นคนในบ้านเองหรือเปล่าเราก็ไม่ทราบแน่ชัด ส่วนคนที่นำไปโพสต์นั้น เด็กรับเป็นเพื่อนโดยไม่รู้จัก แล้วเด็กไม่กล้าบอกพ่อแม่ ได้แต่เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนจึงให้ส่งข้อความไปบอกคนที่โพสต์ว่าช่วยลบให้หน่อย เขาก็ลบให้ แต่เด็กยังหวั่นใจเพราะไม่รู้ว่ารูปไปอยู่ที่ไหนบ้าง ทำให้เขาหวาดระแวงและนอนฝันร้าย ซึ่งเคสนี้เราต้องช่วยซัพพอร์ตทางจิตใจเขาอยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะดีขึ้น ที่เล่านี่เป็นแค่ตัวอย่าง เพราะจริงๆ แล้วยังมีอีกมากมายหลายกรณี
“จากปัญหานี้สรุปได้ว่าเด็กเหล่านี้ใช้งานโซเชียลมีเดียโดยไม่มีความรู้เท่าทันสื่อ เช่นไม่รู้ว่าจะเลือกเพื่อนในเฟซบุ๊กอย่างไร ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไม่เป็น กดปุ่มไหนซ่อนข้อความได้บ้าง พอเราไปทำให้ดู เขาจึงได้รู้ว่า อ้าว มีแบบนี้ด้วยหรือ แต่ถ้าเราจะห้ามไม่ให้เด็กเล่น บอกเลยว่าในความเป็นจริงห้ามไม่ได้หรอก สุดท้ายเขาก็แอบเล่นอยู่ดี อย่างเด็ก 200 คนนี้ ทุกคนมีเฟซบุ๊ค ดังนั้นแทนที่เราจะห้าม สู้ติดอาวุธให้เขาดีกว่าไหม ให้เขารู้จักเล่นอย่างระมัดระวัง และเข้าใจในเรื่องของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต เพราะเรื่องที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเรื่องการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องน่ากลัว รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ขนาดฟังเรื่องเคสหนัก ๆ ของเพื่อน บางคนยังถามว่าร้องไห้ทำไม แค่ลบรูปออกก็จบแล้ว คือเขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ตแล้วมันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไปสิ่งที่คุณลบ คือลบออกจากหน้าวอลล์คุณเท่านั้นเอง อีกอย่างที่เรามักมองข้ามคือการกดไลค์หรือแชร์ ซึ่งเท่ากับเราได้มีส่วนร่วมในการทำร้ายเขาโดยไม่รู้ตัว การโพสต์แกล้งนั้นเกิดแค่ครั้งเดียว แต่การกดไลค์หรือแชร์เหมือนกับเป็นการซ้ำเติมและขยายวงออกไป แต่เด็กวัยนี้กดไลค์เพราะอะไรรู้ไหมคะ ไม่ใช่ว่าชอบนะ แต่แปลว่า ‘ได้อ่านแล้วค่ะ’ ดังนั้นเราต้องให้ความรู้เขา ต้องคิดก่อนไลค์หรือแชร์
“นอกจากนี้พ่อแม่เองก็มีส่วนสำคัญ ดิฉันดีใจที่ดีแทคทำโครงการ Safe Internet ให้ความรู้กับผู้ปกครองและเด็ก เพราะเด็กๆ ต้องการพึ่งคนที่จะแนะนำเขาได้ ที่สำคัญคือ ลูกกับพ่อแม่ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันสร้างเสริมให้เด็กมีความมั่นคงในจิตใจ และพ่อแม่ต้องรู้จักเข้าหาลูกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ให้เขารู้สึกสบายใจ ซึ่งเท่าที่อ่าน ดีแทคมีข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างครบถ้วน

“จะช่วยให้เด็กรู้จักป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากการคุกคามทางไซเบอร์ค่ะ”

เรื่อง : Tomalin

ภาพ : นิตยสารแพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up