มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

วิกฤติช้างเสี่ยงอดตาย! “เล็ก-แสงเดือน” นางฟ้ากลางหุบเขา ทุ่มเททั้งชีวิตดูแลเพื่อนร่วมโลก

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่
มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่เราทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 เชื่อว่า บางคนอาจท้อแท้ สิ้นหวังกับสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น บางคนถึงขั้นตกงาน รายได้แทบเป็นศูนย์ แต่ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ขนาดเราเองที่เป็นมนุษย์ ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

เช่นเดียวกัน..เพื่อนร่วมโลกที่อยู่กับเรา อย่างบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็ย่อมเกิดผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งในเวลานี้ จำนวนสัตว์ต่างๆ ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะของความอดยากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ช้าง ที่ตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติเสี่ยงอดตายสูงมาก

วิกฤติช้างเสี่ยงอดตาย! “เล็ก-แสงเดือน” นางฟ้ากลางหุบเขา ทุ่มเททั้งชีวิตดูแลเพื่อนร่วมโลก

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับช้าง และสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ตอนนี้ว่า หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 ได้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์ของช้างไทย ที่เดิมที ก็ต้องอาศัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ กำลังจะอดตายในไม่ช้า เนื่องจากถูกทอดทิ้งจากนายทุนที่ทำธุรกิจปางช้างขนาดใหญ่ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ควาญช้างตกงาน ขาดรายได้ที่จะมาเลี้ยงดูช้างให้กินอิ่มเหมือนที่ผ่านมา

“บ้านเรานั้นช้างอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แล้วตอนนี้มีมากกว่า 3,000 เชือก พวกควาญช้างและชาวบ้านที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ก็เจอผลกระทบหนัก รายได้ที่เอามาเลี้ยงช้าง ก็มาจากนักท่องเที่ยว พอเกิดวิกฤตินี้ขึ้นมา นักท่องเที่ยวก็ไม่มี

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักเลย ทั้งในภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ซึ่งผลกระทบมันเริ่มตั้งแต่ที่ทางจีนเองเขาประกาศปิดประเทศแล้ว คนเลี้ยงช้างก็ได้รับผลกระทบทันทีเลย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวบินเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาเวลาเจอวิกฤติโรคระบาด เราก็ยังสามารถพยุงไปได้บ้าง แต่ครั้งนี้มันลามไปทั่วโลกถึงขั้นปิดเส้นทางการบิน และกินเวลานาน รายได้ที่เคยรับมาจากการท่องเที่ยวมันเป็นศูนย์ แต่ขณะเดียวกันเรายังมีรายจ่ายที่จะต้องเลี้ยงช้างอยู่ 100% ไม่เหมือนปางช้างใหญ่ที่มีพวกนายทุน ซึ่งตรงนั้นส่วนใหญ่เขาใช้วิธีเช่าช้างให้มาอยู่ในปาง พอเจอเหตุการณ์นี้เขาไม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูช้าง เขาแค่ส่งให้ช้างกลับบ้านไปอยู่กับเจ้าของ คนที่เดือดร้อนจริงๆ จึงเป็นเจ้าของช้างค่ะ”

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

ด้วยเหตุนี้ทำให้ทางมูลนิธิฯ ที่คุณเล็ก-แสงเดือนเป็นผู้ดูแล กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของช้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ โดยล่าสุดเดิมทีทางมูลนิธิฯ มีช้างที่ต้องดูแลมากถึง 84 เชือกแล้ว ยังมีช้างที่ควาญช้างนำมาฝากอีกหลายสิบเชือก ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็เป็นผู้ที่เข้ามาดูแล และรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

“ในแต่ละวันมีค่าใช้จ่าย ค่าอาหารของช้างประมาณ 1,000 บาท ต่อเชือก ช้างในมูลนิธิฯ ที่อยู่ในความดูแลของเรามีอยู่ 84 เชือก และมีช้างจากที่อื่นที่ควาญช้างเองไม่สามารถหาที่อยู่และอาหารให้ช้างได้ มาฝากอยู่ที่นี่อีกรวมๆ 35 เชือก แต่ด้วยพื้นที่เรามีไม่พอ ตอนนี้ก็เลยจัดการเอาช้างที่เขาฝากมาไปอยู่ตามมูลนิธิช้างใกล้ๆ กับที่นี่ แต่ทางเราจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงที่พักของควาญช้างเราก็ไปช่วยเหลือเรื่องค่าซ่อมแซมให้”

“ด้วยจำนวนช้างที่มีเยอะ และเขากินทั้งวันทุกวันด้วย เราเลยต้องแบ่งงานกันให้ควาญช้างออกไปหาแหล่งอาหารตามธรรมชาติด้วย อะไรที่ช้างเขากินได้ก็ต้องเอามาทั้งข้าวโพด ต้นกล้วย ไผ่ เพราะถ้าเราจะมาหวังเอาแต่เงินบริจาคเพื่อมาซื้ออาหารให้ช้างอาจจะไม่ได้ ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย เราทำทุกอย่างเพื่อให้ช้างได้กินอิ่ม

วันนึงช้างต้องกินอาหารอย่างน้อย 10% ของน้ำหนักตัว อย่างช้างหนัก 4 ตัน เขาก็ต้องกินอาหารวันนึง 400 กิโลกรัม  ดื่มน้ำหลายร้อยลิตร พอเจ้าของไม่มีรายได้ ก็ทำให้ไม่มีเงินมาซื้อวัตถุดิบเพื่อมาทำอาหารให้ช้างกิน ตอนนี้ก็เลยต้องลดปริมาณอาหาร แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เขายังพออิ่มในแต่ละวันได้ และด้วยจำนวนของควาญช้างที่ตกงานด้วย การดูแลช้างก็ไม่ทั่วถึง ก็ต้องล่ามโซ่บางตัวไว้บ้าง ซึ่งช้างเองก็จะเกิดความเครียด”

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

นอกจากปัญหาเรื่องปากท้องของช้างแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ ปัญหาช้างแก่และป่วย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าช้างที่ยังแข็งแรงมีร่างกายปกติ โดยช้างกลุ่มนี้ คุณเล็กเล่าว่า ต้องใส่ใจเรื่องการให้อาหารมากกว่าช้างปกติทั่วไปด้วย

“เรามีช้างที่ป่วยอยู่เยอะ เรื่องนี้คือปัญหาที่หนักใจมาก เพราะ 70% ช้างที่อยู่ที่นี่คือช้างแก่ ส่วนใหญ่เป็นช้างที่ปลดระวางมาจากการทำงานลากซุงและจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สภาพก่อนที่เขาจะมาอยู่ที่มูลนิธิฯ ก็คือ ตาพร่ามัว ไม่มีฟัน หูไม่ได้ยินแล้ว และช้างคุณยายส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องระบบการขับถ่าย ซึ่งถ้าท้องผูกขึ้นมาเขาจะตายทันที บางเชือกก็เดินไม่ตรงแล้ว และยังมีที่เรารับมาช่วยเหลืออีก ซึ่งป่วย พิการ บาดเจ็บมา การดูแลช้างเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องให้อาหารอ่อน ให้อาหารปกติไม่ได้เลยค่ะ”

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

“นอกจากนี้ที่มูลนิธิฯ ก็ไม่ได้มีแค่ช้างอย่างเดียว เรารับหมาและแมวมาดูแลด้วยประมาณ 1,500 ตัว รวมถึงสัตว์อีกหลายชนิดที่อยู่ในมูลนิธิฯ และเรายังมีโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือในการรักษาคนในชุมชนด้วย ตอนนี้ทางโรงพยาบาลเรายังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่างมาก ทั้งเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องช่วยหายใจ คือใครที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ ก็รับหมด ไม่ว่าจะเป็นยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นใช้ในโรงพยาบาล

แม้กระทั่งผ้าเช็ดตัวเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้ว เราก็ยินดี เพราะเรามีหมาแมว พิการเป็นร้อยตัว ซึ่งต้องใช้ผ้าเช็ดตัวเยอะมากในการทำความสะอาดเขาแต่ละวัน หรืออย่างพวกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สึกหรอแล้วทางเราก็รับ เพื่อจะเอามาซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ จะได้เอาเงินไปซื้ออาหารให้มากขึ้น   หรือถ้าจะบริจาคอาหารสัตว์ต่างๆ ให้กับช้าง หมา แมว กระต่าย วัว ควาย ม้า เราก็รับ คือเรามีสัตว์เยอะและหลายชนิดมาก ที่เขาเอามาฝากเลี้ยงให้เราช่วยดูแล”

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

มูลนิธิช้าง แม่แตง เชียงใหม่

หวังว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะผ่านไปโดยเร็ว ซึ่งใครที่อยากช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ สามารถบริจาคได้ทั้งเงิน หรืออุปกรณ์ และอาหารสัตว์ตามที่คุณเล็กแจ้งได้เลย โดยส่งไปที่เลขที่ 1 ถ.ราชมังคลา ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

หรือบริจาคเงินได้ที่เลขบัญชี ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 047-2-93300-0 ชื่อโครงการแพรวแชริตี้โดย บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งฯ และธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 116-406089-7 ชื่อบมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่งโครงการแพรว แชริตี้

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up