อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

ก่อนชนะ ต้องรู้จักแพ้! “ขาบ-สุทธิพงษ์” นักปั้น ตำราอาหารLocal สู่เลอค่า คว้าที่1ของโลก

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ
อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

ถ้าความสำเร็จของกลุ่มคนในแวดวงการทำอาหาร หมายถึง การเป็นเชฟที่คนรู้จักในระดับโลก ได้รางวัลระดับมิชลินสตาร์ วันนี้ แพรว The People อาจจะทำให้คุณต้องเปลี่ยนความคิดนี้ใหม่ เพราะจริงๆ แล้วสายอาชีพที่เกี่ยวกับการทำอาหาร ไม่ได้มีแค่เชฟเท่านั้นที่เป็นหน้าเป็นตา และก้าวไปสู่ระดับเวิลด์คลาสได้ เพราะอีกอาชีพหนึ่งอย่างการเป็น Food Stylist คนไทยเราก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก ทั้งยังสามารถคว้ารางวัลที่หนึ่งของโลกมาหลายสมัยแล้ว

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ชื่อเสียงเรียงนามของเขาเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการทำอาหาร เขาเป็นทั้ง Food Stylist เป็นอาจารย์ เป็นจิตอาสา เป็นศิลปินผู้สร้างงานศิลปะอาหาร และการตกแต่งบ้าน ซึ่งทุกอย่างที่เขาเป็นหากจะขมวดให้สั้นและเข้าใจถึงความเป็นตัวตนของชายวัยกลางคนนี้มากที่สุด ก็อาจจะบอกได้ว่าเขาคือ นักสร้างสรรค์ น่าจะครบถ้วนที่สุดแล้ว ซึ่งล่าสุด เขาก็เพิ่งได้รางวัลจากเวทีระดับโลกอย่าง Gourmand World – UNESCO headquarter Paris 2020 จากตำราอาหาร ชื่อ Poor Chef ที่เขาได้นำวัตถุดิบท้องถิ่นของทางภาคอีสาน มาให้เชฟสร้างสรรค์อาหารสไตล์ฝรั่งเศส จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ก่อนชนะ ต้องรู้จักแพ้! “ขาบ-สุทธิพงษ์” นักปั้น ตำราอาหารLocal สู่เลอค่า คว้าที่1ของโลก

 

เด็กอีสาน อาหารบ้านนอก

“ผมเกิดอยู่ในชุมชนที่จังหวัดบึงกาฬ สมัยเด็กๆ ก็มีโอกาสได้มาร่ำเรียนทางด้านศิลปะ และผมเองก็มีความสนใจในเรื่องของศิลปะที่เกี่ยวกับอาหาร และจังหวัดที่ผมอยู่มันคือพื้นที่แถบอินโดจีนที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรม ก็จะมีทั้งอาหารลาว อาหารเวียดนาม และอาหารไทยอีสานก็เลยซึมซับมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”

จากพนักงานขาย กลายเป็น Food Stylist

“ผมเริ่มต้นทำอาชีพ Food Stylist ตอนอายุสามสิบต้นๆ แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงที่ผมเรียนจบใหม่ๆ ผมเริ่มจากอาชีพพนักงานฝ่ายขายกลุ่มกระดาษของเครือซีเมนต์ไทย หน้าที่ตอนนั้นก็คือ ต้องไปนำเสนอขายกระดาษพิมพ์เขียนให้กับโรงพิมพ์ต่างๆ ที่พิมพ์นิตยสารนี่แหละ จะเป็นแพรว หรือบ้านและสวน ทั้งนั้นแหละ ผมก็จะเห็นเวลาไปโรงพิมพ์ เพื่อเอากระดาษไปให้ทางนั้นเขาทดลองดูว่าเวิร์คไหม และในนิตยสารมันก็มีคอลัมน์อาหารทุกอย่าง ก็เลยได้เห็นอาหารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ตอนที่เห็นภาพอาหารมันผ่านแท่นพิมพ์ออกมา คือมันกระแทกตามาก ก็รู้สึกว่ามันเป็นความชอบแล้วล่ะ อีกอย่างสมัยนั้นผมมีคอนโดอยู่ห้องหนึ่ง ก็ตกแต่งเองอะไรเอง ทางนิตยสารบ้านและสวนก็ติดต่อขอมาถ่าย เราก็จัดบ้านให้สวยเลย และก็เลี้ยงข้าวขอบคุณทีมงานที่มาถ่ายที่บ้านด้วย ตอนนั้นจำได้ว่าทำอาหารเวียดนามเลี้ยง”

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

ได้อาชีพใหม่เพราะอาหารเวียดนาม

“อย่างที่ผมเล่าไปว่าตอนนั้นที่บ้านและสวนมาถ่าย ผมก็ทำอาหารเลี้ยงเขา คือเราไม่ได้คิดหรอกว่าทำเพื่อให้เขาเอาไปถ่ายต่อหรืออะไร แต่เราเป็นคนทำอาหารและชอบดีไซน์อาหารด้วย ก็อยากให้เขาได้กินทั้งของอร่อย และได้เห็นอาหารตาด้วย แต่มันกลายเป็นว่าอาหารเวียดนามของผม ทำให้ทีมงานเอาไปขยายเป็นคอนเท้นต์อื่นต่อ จริงๆ แล้วรสชาติดั้งเดิมนี่แหละ แต่มันมีดีไซน์ที่ร่วมสมัย หลังจากนั้นก็เริ่มมีนิตยสารเล่มอื่นๆ ติดต่อมาขอถ่าย ทั้งนิตยสารของสายการบินเวียดนาม และญี่ปุ่น รวมถึงนิตยสารตกแต่งบ้านด้วย ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามาสู่วงการสื่อสิ่งพิมพ์อาหารเลย และก็เริ่มมีคนเชิญผมไปเป็นแขกรับเชิญตามรายการอาหาร ไปเป็นคอลัมน์นิสต์ และก็ได้โอกาสมาทำตำราอาหารด้วย คือต้องบอกเลยว่าสำนักพิมพ์ที่ให้โอกาสผมจริงๆ เลยก็มี บ้านและสวน ของอมรินทร์พริ้นติ้งฯ อันนี้ต้องขอบคุณเขามากๆ เลยที่ให้โอกาสผม เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว”

Food Stylist โนเนม

“ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้กันว่าอาชีพนี้คืออะไร  ผมเองก็รู้แค่ว่าสิ่งที่ผมทำ มันคือสิ่งที่เรารักและมันเป็นจิตวิญญาณของเรา ผมรู้นะว่าอาชีพนี้มันไม่ได้ทำเงินมากมายอะไร แต่ตัวผมเป็นคนที่สนใจเรื่องศิลปะด้วย ก็เลยคิดว่าตัวเราเองก็ต้องทำงานที่มีความหลากหลาย ก็ไปรับจ้างทำหลายอย่างเลย ทั้งรับทำตกแต่งบ้านให้กับลูกค้า รับทำออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย และก็ทำfood stylistด้วย  คือผมทำทุกอย่างเลย และผมเองก็ติดตามงานของครูโต (หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ) จนวันนึงมีโอกาสได้เจอ ก็เข้าไปแนะนำและบอกกับท่านว่า อยากจะขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เพราะครูโตเป็น Food Stylist ที่เก่งและมืออาชีพมาก ซึ่งครูโตก็เห็นผมซื่อๆ เป็นเด็กบ้านนอกคนนึง ท่านก็เลยให้โอกาสผม จนทุกวันนี้ก็เพราะครูโตที่ทำให้ผมได้เข้าใจวิธีการทำงานของ Food Stylist ได้อย่างครบสมบูรณ์ทุกอย่างเลย”

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

ความสำเร็จไม่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่นับหนึ่ง

“อาชีพนี้ ไม่ใช่ว่าผมทำแล้วจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง ผมเองก็ผิดหวังมาเหมือนกัน ผมเริ่มต้นเอาผลงานส่งเข้าประกวดในเวทีระดับโลก สมัยแรกๆ ที่ส่งไป ผมไม่ได้รางวัลอะไรเลย แต่ก็ได้ไปร่วมงาน ซึ่งการที่ได้ไปร่วมงานใหญ่ระดับโลกแบบนั้นมันก็เป็นรางวัลที่คุ้มค่าแล้วสำหรับผม เพราะการที่เราได้เข้าไปถึงจุดนั้น มันมีอะไรอีกหลายอย่างที่ให้เราได้เรียนรู้ และมีมิตรภาพที่ดีเยอะมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาเจอไหม สองปีแรกที่ผมไปไม่ได้รางวัลและก็เป็นน้องใหม่ เราเป็น Nobody  ผมก็มองดูว่าคนไหนที่เขาได้รางวัลผมก็จะเข้าไปแนะนำตัวเป็นเพื่อนกับเขา  ผมมองว่าเราต้องออกมาจากประเทศไทย มาเจอโลกอีกใบในระดับ Gourmand World ด้วย เพราะมันคือที่สุดของโลกแล้ว”

“หลังจากนั้นผมเริ่มศึกษาเรื่องการทำตำราอาหารอย่างจริงจัง พยายามหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้ตำราอาหารพวกนั้นได้รางวัลระดับโลก ผมเลยหาซื้อตำราอาหารที่เคยได้รางวัลมาเปิดดู อ่านทุกหน้า พยายามตั้งคำถามกับมันว่า เพราะอะไรถึงได้ จนกระทั่งเจอว่ามันมีคีย์หลักอยู่สามข้อก็คือ

“คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังเสมอไป ทุกคนสามารถไปยืนอยู่ในจุดนั้นได้ถ้าเข้าใจแก่นแท้ของคำว่า “ความเรียบง่าย คืออมตะ” ต่อมาก็คือการสื่อสารเรื่องอาหาร อย่าสื่อสารแค่สูตรกับรูป แต่ให้สื่อสารในลักษณะของการเป็น  Story Telling เล่าเรื่องอาหารผ่านไลฟ์สไตล์ เห็นอะไรก็สื่อสารแบบนั้น อย่าประดิษฐ์หรือปรุงมันจนเกินไป สุดท้ายก็คือ ต้องสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ได้ประโยชน์อะไรกลับคืนสู่ท้องถิ่นบ้าง อย่าทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว”

คว้าที่ 1 รางวัล Gourmand World – UNESCO headquarter Paris 2020

“รางวัลนี้ถ้าจะเทียบก็เหมือนรางวัลออสการ์ แต่เป็นสายสื่อสิ่งพิมพ์อาหารครับ เขาจะเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานในสายอาหารส่งผลงานที่เป็นตำราอาหารมาเข้าประกวด เชฟบางคนที่ได้รางวัลระดับมิชลินมาแล้ว หรือทำอาหารระดับเวิลด์คลาสแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รางวัลนี้นะครับ เพราะเชฟมีหน้าที่คือ ทำอาหารให้อร่อย อาจจะไม่ได้มีทักษะในการออกแบบรูปเล่ม หรือการเขียนเล่าเรื่อง และการทำบรรณาธิการของสไตล์หนังสืออะไรแบบนี้ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันใหญ่มากเวลาที่เราจะทำตำราอาหาร ผมเองได้รางวัลจากเวทีนี้มาก่อนแล้ว 11 รางวัล แต่กว่าที่จะได้รางวัลในแต่ละครั้งที่ส่งไปประกวด อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่าผมเองก็เคยผิดหวังมาเหมือนกัน”

“อย่างที่ได้รางวัลมาในปีนี้คือตำราอาหาร Poor Chef ผมเป็นคนประกอบร่างตำรานี้เองทั้งหมด ตั้งแต่เลือกเชฟมาปั้นเลย และเชฟคนนี้เขาก็มีพื้นฐานการทำอาหารฝรั่งเศสด้วย เลยเอาเขามาทำอาหารฝรั่งเศสโดยใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ และในละแวกริมน้ำโขง ซึ่งก็เป็นจังหวัดบ้านเกิดของผมเองอยู่แล้วด้วย จนกลายมาเป็นตำราอาหารเล่มนี้ ”

poor chef by Kharb

ก่อนชนะต้องรู้จักคำว่า “แพ้”

“ผมไม่เคยคิดเลย จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ และมีโอกาสไปได้รางวัลระดับโลกหลายปีติดต่อกัน จริงๆ มันเกิดจากการที่เราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผมตั้งใจทำงานนี้เพราะผมรัก ถ้ามัวแต่คิดว่าทำเพื่อจะเอารางวัล เราอาจจะกลายเป็นผู้แพ้ เพราะเราจะมีความคาดหวังสูง ชีวิตคนเราต้องเรียนรู้การเป็นผู้แพ้ก่อน รู้ว่าแพ้ยังไง แพ้เพราะอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะชนะมันยังไงในวันข้างหน้า และจะต้องเป็นผู้ชนะที่ยั่งยืนด้วย”

เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่แค่รางวัล

“ผมมีเป้าหมายในชีวิตว่า นอกจากเรื่องการทำงาน เราไม่ได้มองแค่ว่าจะต้องประสบความสำเร็จอย่างเดียว แต่การสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย บางครั้งก็มีไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือบ้าง เป็นอาสาสมัครบ้าง สุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ รากเหง้าของเราเองที่ต้องไม่ลืมว่าเราเกิดที่ไหน เมื่อเรามีความพร้อมเลยกลับมาสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้กับชุมชนบ้านเกิดตัวเอง”

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ

“ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา” ปรัชญาแห่งความสำเร็จ

“ผมมีปรัชญาในการใช้ชีวิตอยู่ 3 ข้อคือ ธรรมะ ธรรมชาติ และธรรมดา ผมสนใจเรื่องของแก่นธรรม ข้อคิดคำสอน เพราะเราโชคดีที่พ่อแม่พาเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเรามีธรรมอยู่ในใจเราจะรู้ว่าความดีใจ ความเสียใจเป็นธรรมชาติของมนุษย์โลก ไม่ต้องยึดติดกับมัน ผลลัพธ์จะออกมาถึงแพ้ก็ไม่ใช่ประเด็น ต่อมาก็คือ ธรรมชาติ ผมอยู่ในแวดล้อมที่เป็นความงามที่ไม่ต้องปรุงแต่งก็คือ บ้านเกิดของผม ที่จังหวัดบึงกาฬ และอย่างสุดท้าย ธรรมดา ก็คือ ผมเป็นคนต่างจังหวัดคนนึงที่ได้มาทำงานที่รัก ต่อให้มีชื่อเสียงแค่ไหน กลับบ้านมา ผมก็ยังกินปลาร้า ข้าวเหนียว จกปลาแดก นี่คือตัวตนของเรา เราต้องไม่มีหัวโขน ถ้าเราเข้าใจบริบทนี้แล้ว ก็จะรู้ว่าคนเรามันมีทั้งขึ้นและลง มันคือวัฏจักรชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นต้องเดินทางสายธรรม และเดินทางสายกลาง”

 

 

 

เรื่อง : SRIPLOI / ภาพ : อาจารย์ขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up