มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

มันนี่โค้ชตัวพ่อ ‘จักรพงษ์ เมษพันธุ์’ แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

Alternative Textaccount_circle
มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้
มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

เปิดคำแนะนำของ ‘จักรพงษ์ เมษพันธุ์’ Money Coach กับเรื่องเงินที่คนไทยไม่รู้ และทางรอดที่จะผ่านพ้นวิกฤตการเงินในยุคนี้ไปได้

ปี 2562 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 79.1 เปอร์เซ็นตต่อจีดีพี ถือว่าสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ส่วนปี 2563 นี้ คาดว่าหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี พูดง่ายๆ ว่าหนี้ของคนในประเทศพุ่งเร็วยิ่งกว่าการเติบโต ของเศรษฐกิจ (อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ วันที่ 27 มกราคม 2563)

ในวันที่หลายฝ่ายมองว่าปีนี้เศรษฐกิจจะดำดิ่งลงเหว ด้วยสถานการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ในอนาคตล้วนคาดเดาไม่ได้ แต่คนไทยกลับมีหนี้ส่วนตัวเพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง แถมยังเป็นหนี้หลายประเภทพร้อมกัน ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ ฯลฯ ถามถึงเงินออมหรือวิธีการทำให้เงินงอกเงย ถ้าคำตอบดูตื้อๆ ตันๆ ก็อยากให้อ่านเรื่องราวของผู้ชายคนนี้ และความรู้ด้านการเงินที่มีประโยชน์จากเขากันค่ะ

มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

หนุ่ม – จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม Money Coach โค้ชด้านการเงินที่ช่วยให้ความรู้และคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาด้านการเงินให้บุคคลทั่วไปทางออนไลน์ รวมถึงเดินทางไปบรรยายเพื่อช่วยเหลือผู้คนมาทั่วประเทศ มีทอล์คโชว์ด้านการเงินของตัวเองมาแล้วหลายครั้ง เป็นผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก เวอร์ชั่นภาษาไทย และเป็นอาจารย์พิเศษด้านการเงินในหลายมหาวิทยาลัย ยังไม่นับอีกหลายธุรกิจที่เจ้าตัวเป็นผู้ก่อตั้งและดำเนินการอยู่ แต่กว่าจะมีวันนี้ เขาเคยแบกหนี้ 18 ล้านแทนครอบครัวตั้งแต่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ผ่านการลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน ก่อนจะพบว่ายิ่งแก้ยิ่งมีปัญหา ยิ่งหาเงินยิ่งไม่พอใช้ แถมหนี้ก็ไม่ลด นั่นเพราะ “ขาดความรู้ด้านการเงิน” นั่นทำให้เขาต้องหาความรู้และสู้จนเป็นอิสระทางการเงินได้ในวัย 34 ปี แต่สิ่งที่เขาทำต่อจากนั้นคือการหวนกลับมาทำทุกอย่าง เพื่อติดอาวุธความรู้ด้านการเงินให้คนไทยทั้งประเทศ เพราะเขาเชื่อว่า “ความมั่งคั่งเป็นสิทธิ์ของทุกคน”

คำว่า Money Coach หรือโค้ชด้านการเงิน มีที่มาอย่างไร ต่างจากที่ปรึกษาทางการเงินไหมคะ

ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ใช่โค้ชที่มาจากการสอบใบอนุญาตด้านการเงินนะครับ ที่มาของคำว่า “โค้ช” คือเหมือนโค้ชฟุตบอลที่คอยตะโกนว่าฝึกแบบนี้ เล่นแบบนี้ ทำแบบนี้สิ ส่วนคำว่าที่ปรึกษาด้านการเงิน เป็นการให้คำปรึกษาแบบให้คำตอบแล้วรับเงินไป เราไม่ได้สอนให้เขาคิด แต่เรื่องเงินจะอยู่กับคนคนนั้นตลอดชีวิต ถ้าวันหนึ่งเขาไม่เจอเรา เขาจะจัดการอย่างไร ผมอยากสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันทางการเงินให้อยู่กับตัวเขา ให้เขารู้และตัดสินใจอย่างมีหลักคิดว่า จะซื้อสิ่งนี้ดีไหม กู้หรือลงทุนอย่างไร ส่วนนักวางแผนทางการเงิน ผมก็ไม่ชอบ เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครจะวางแผนการเงินได้ดีเท่าเจ้าของเงิน เพราะเงินเป็นเรื่องส่วนตัวและเฉพาะตัวมากๆ เราไม่บอกกันหมดหรอก หรือต่อให้สองคนมีรายได้เท่ากัน ก็ใช้ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราติดความรู้เรื่องการเงินให้เขาดีกว่า แล้วให้ไปปรับใช้เอง ใครถามอะไรมาผมก็ตอบ ไม่คิดเงินด้วย แค่ใช้เวลาหน่อย

มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

ความรู้ทางด้านการเงินที่ถูกต้องครบถ้วนคือต้องมีอะไรบ้างคะ

ต้องมี 4 ด้านครับ คือ หารายได้ ใช้จ่ายให้เป็น จัดการเรื่องเงินออม และต้องลงทุนเป็น เริ่มจากข้อหนึ่ง ต้องหารายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก่อน ถ้าไม่พอต้องหาเพิ่ม ซึ่งอาจไม่ใช่รายได้ที่มาจากการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการสร้างทรัพย์สินของเราด้วย เพื่อให้ทรัพย์สินเลี้ยงดูเรา สอง การบริหารการใช้จ่าย ไม่ได้หมายถึงต้องกินประหยัด แต่ให้ตอบสนองความสุขแบบไม่เกินกำลังและมีการจัดสรร คิดถึงวันข้างหน้าไว้หน่อย บางรายจ่ายมีภาระผูกพันกับเราในระยะยาว ต้องระมัดระวังให้ดี

สาม การออม ซึ่งไม่ใช่แค่มีเงินเหลือในบัญชีแล้วจบ เงินออมควรจัดแบ่งให้เป็นพอร์ตตามวัตถุประสงค์ ให้รู้ว่าเมื่อเกิดเรื่องอะไรเราต้องหยิบตรงไหน เช่น พอร์ตเงินสำรองฉุกเฉิน เวลาฉุกเฉินเดือดร้อนขึ้นมาแล้วไม่ต้องยืมใครคือสุดยอด เงินตัวนี้ไม่ต้องใหญ่มาก ให้มีไว้ประมาณ 6 เท่าของรายจ่าย ถัดมาคือเงินเก็บสำหรับการเกษียณ ค่อยๆ ทยอยเก็บและลงทุน อาจใช้เครื่องมือช่วย เช่น กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือพวก RMF/LTF อะไรก็ได้ที่สะสมไว้ให้เรามีใช้หลังเกษียณไม่เดือดร้อน และเงินออมเพื่อสร้างความมั่งคั่งของตัวเอง นำไปสู่ข้อที่สี่คือเรื่องการลงทุน ซึ่งสำคัญมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้เวลากับการหาความรู้เรื่องนี้

ผมขอพูดอย่างนี้นะ เราเรียนหนังสือกันมา 15-16 ปี เพื่อแลกกับเงินเดือนหมื่นสองหมื่น แต่การต่อยอดเงินเก็บให้เป็นหลักแสนหลักล้าน เรากลับไม่เรียน จริงอยู่ที่ศาสตร์การลงทุนนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากถึงขั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ แค่อยากให้คนเปิดใจเรียนและศึกษา ผมพูดเสมอว่า เรื่องการเงินคือความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม แต่ผมจะทำให้เป็นธรรม โดยทำให้ทุกคนเข้าใจว่าความมั่งคั่งเป็นสิทธิ์ของทุกคน เพียงแต่ที่ชีวิตเราตุปัดตุเป๋ไปบ้าง เพราะเราไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องการเงิน

คิดว่าปัญหาใหญ่เรื่องการเงินของคนไทยคืออะไรคะ

มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือมีเงินไม่พอใช้ โดยไล่ระดับความรุนแรงต่างกันไป บางคนใช้หมดพอดีไม่เหลือเก็บเลย กลุ่มนี้แค่ปรับพฤติกรรมนิดหน่อยก็ผ่านแล้ว แต่บางคนไปไกลถึงขั้นที่ว่า เงินเดือนออกมาแล้ว หักรายจ่ายภาคบังคับไปหมดแล้ว เหลือเงินเดือนแค่ 17-30 บาท แบบนี้หนักหน่อย แต่ถ้าเปิดใจที่จะเรียนรู้ก็ไม่ยาก ส่วนใหญ่พวกนี้จะเป็นกลุ่ม “หนี้คนดี” คือเขาต้องอุปการะชีวิตคนรอบตัวอีกไม่รู้เท่าไร บ้านเรามีระบบอุปถัมภ์พึ่งพิงที่รุนแรงมาก บางคนทำงานส่งทั้งพ่อแม่ ทั้งลูก หลาน แฟน เยอะไปหมด คือเราทั้งไม่มีความรู้และไม่มีการวางแผน แถมยังมีระบบแบบนี้อีก ถ้าไม่แก้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ วิชาหนึ่งที่ผมอยากจะให้มีอยู่ในตำราหนังสือเรียนมากที่สุดคือ วิชาการเงินส่วนบุคคล แล้วผมจะขีดเส้นใต้คำว่าส่วนบุคคล หมายถึงพ่อแม่เองต้องไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน เราควรสร้างเนื้อสร้างตัวให้ดูแลตัวเองได้หลังเกษียณ ไม่ต้องเบียดเบียนลูก ลูกจะได้มีโอกาสไปสร้างเนื้อสร้างตัวของเขาเอง

แต่ปีนี้ผมกลัวปัญหาหนี้ครัวเรือนจะหนักขึ้นอีก พูดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้เรามีหนี้อยู่ในระบบสถาบันการเงินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจัดว่าแย่แล้ว ยังไม่นับหนี้ที่ซ่อนอยู่ คือหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งใหญ่มาก สาหัสไม่แพ้กัน แต่ไม่อยู่ในระบบจึงไม่มีตัวเลขรายงานให้เห็นชัดๆ ไหนจะหนี้นอกระบบอีก ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเป็นลักษณะที่กำลังซื้อจะหายไปเลย แล้วคนจะดูแลตัวเองไม่ได้ เป็นหนี้หนักขึ้นอีก ทำให้ไม่ซื้อ ไม่กิน ไม่ใช้ ส่งผลกระทบกับธุรกิจ พอธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็ต้องให้คนออก พอคนว่างงาน ปัญหาก็วนอยู่แบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีไว้ป้องกันตัวเองคือความรู้ความเข้าใจในด้านการเงิน จะทำให้คุณเอาตัวรอดในยามวิกฤตได้

มันนี่โค้ชตัวพ่อ 'จักรพงษ์ เมษพันธุ์' แนะคนไทยถึงทางรอดวิกฤตการเงินยุคนี้

ขอตัวอย่างเคสยากสำหรับโค้ชหน่อยสิคะ

ผมว่าจนเงินไม่เท่าไร แต่ถ้าจนความคิดนี่ยากที่สุดแล้ว เพราะพอเราอธิบายหรือแนะนำอะไรไป เขาก็จะกอดอกแล้วบอกว่า “โอ๊ย ถ้าจะดี มันดีมานานแล้วมั้ง!” หรือเราแนะนำให้ลดรายจ่ายก็แล้ว ให้หารายได้เพิ่มก็แล้ว แต่เขาบอกว่าทำงาน 5 วัน ก็เหนื่อยจะแย่แล้ว นี่คือจบเลย ใครจะช่วยคุณได้ล่ะครับ ชีวิตคุณนี่ แสดงว่าคุณอยู่ถูกที่ถูกทางแล้ว เพราะไม่ทำอะไรเลย แล้วจะหลุดออกไปได้อย่างไร ผมจึงรู้สึกว่าการเข้าไปช่วยคนที่มีปัญหาแล้วค่อนข้างเหนื่อย เหนื่อยตรงที่เราต้องไปปลุกใจให้เขากลับขึ้นมาใหม่ เพราะเงินทำร้ายเขามานาน เขาจมอยู่กับปัญหาหนี้สินมานานจนมันทำลายความเชื่อมั่นของเขาไปเลย

ผมบอกทุกคนเสมอว่า ไม่มีใครทำให้เรารวยได้ ถ้าเราไม่อยากรวย และไม่มีใครทำให้เราจนได้ ถ้าเราไม่ยอม บางคนบอกไม่มีแรงบันดาลใจ ผมถามว่าทุกวันนี้พ่อแม่คุณสบายดีหรือยัง ลูกเมียมีกินดีไหม สู้บ้านอื่นเขาได้หรือเปล่า อยากได้อะไรแล้วได้หรือยัง นี่ไงแรงบันดาลใจ คุณไม่ทำก็เรื่องของคุณ ที่ผ่านมาผมมีลูกศิษย์หลายคนที่พิสูจน์ว่า ถ้าพยายามจริงๆ เขาก็ทำได้ อย่างบางคนเป็นยาม บางคนเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ เงินเดือนยังไม่ถึงหมื่น เป็นหนี้หลายแสน แต่เขาก็พาตัวเองพ้นหนี้ มีเงินลงทุนในหุ้นสม่ำเสมอ ทุกวันนี้มีเงินเป็นล้านกันหมดแล้ว

อีกเรื่องที่ชวนหนักใจคือ เวลามีคนถามว่ามีเงินหนึ่งแสนจะใช้ทำอะไรดี เจอแบบนี้ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะผมไม่รู้เป้าหมายในชีวิตคุณว่าคุณอยากให้หนึ่งแสนนี้ไปอยู่ตรงไหน ผมต้องถามกลับว่า คุณจะนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไร วัตถุประสงค์จะเป็นตัวเลือกเครื่องมือ สอง คุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ถ้าระหว่างทางเงินก้อนนี้หายไปครึ่งหนึ่ง คุณไหวไหม ถ้าไม่ไหว คุณก็อย่าไปยุ่งกับหุ้น สาม คุณรู้จักเครื่องมืออะไรบ้าง ผมจะไม่แนะนำให้ใครกระโดดไปหาเครื่องมือที่เขาไม่รู้จัก เช่น ซื้อหุ้นสิ กำไรสุดแล้ว เราถูกหลอกด้วยคำว่า high risk, high return เสี่ยงให้มาก ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมาก ซึ่งไม่จริง ที่เสี่ยงเพราะความไม่รู้ต่างหาก โลกนี้มีแต่ high understanding, high return ยิ่งคุณเข้าใจในสิ่งที่ทำมากเท่าไร ก็ยิ่งได้คืนมาเท่านั้น ก็เหมือน การทำงาน ยิ่งคุณทำงานในสายงานตัวเองมานานและเรียนรู้มากเท่าไร คุณก็ยิ่งเชี่ยวชาญมากเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นควรเริ่มตั้งเป้าหมายด้านการเงินในชีวิตจากตรงไหนคะ

คนทั่วไปเวลาวางแผนการเงินจะตั้งเป้าเป็นตัวเลข อยากมี 10 ล้าน 100 ล้าน ซึ่งไม่ถูก ผมก็เคยตั้งเป้าจนเขียนเป็นกระดาษติดฝาห้องว่า จักรพงษ์จะมีร้อยล้าน มีชื่อเป็นมหาเศรษฐีเมืองไทย ปรากฏแม่เดินผ่านแล้วถามว่า “จะเอาไปทำอะไร…ร้อยล้าน” ผมจึงคิดแบบลงดีเทลว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ มีบ้านหนึ่งหลังอยู่กับครอบครัว มีรถดีๆ 1 คัน มีเวลาอยู่กับลูก ไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง ทำนั่นทำนี่ แล้วเอายอดทั้งหมดมารวมกัน อ้าว ไม่ต้องถึงสิบล้านยังอยู่ได้เลย นี่คือเปลี่ยนวิธีคิดผมเลย

ฉะนั้นถ้าอยากวางแผนทางการเงิน ให้เริ่มจากการวางแผนชีวิตและกำหนดเป้าหมายชีวิตให้ชัดก่อน ถ้า 20-40 ปี ไกลไป ยังไม่ชัด ลองเริ่มจาก 5 ปี ว่าคุณจะไปอยู่ตรงไหน อยากมีอะไรบ้าง แล้วค่อยดูว่าชีวิตที่อยากได้นั้นต้องมีเงินสนับสนุนเท่าไร ถ้าอยากซื้อบ้านราคา 3 ล้าน คุณอาจไม่ต้องมี 3 ล้านทันที แต่ผ่อนเดือนละ 16,000-18,000 ไหวไหม ถ้าไหว คุณก็มีสิทธิ์ได้ฝันนั้นมา ต้องบอกว่าการเป็นหนี้ไม่ผิด แต่จะผิดถ้าผ่อนไม่ไหวเพราะไม่ได้เตรียมการ หรือพอเห็นเป้าหมายแล้ว เราต้องทำอะไรเพิ่มหรือเปล่าเพื่อให้ถึงเป้านั้น ถ้างานที่ทำไม่ตอบ โจทย์ ต้องหางานเพิ่มไหม หรือย้ายที่ทำงานดี ต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไร คือมันต้องมีเป้าหมายชีวิต เป้าหมายการเงิน และเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ว่าเราต้องลงมือทำอะไรบ้าง ความจริงการเงินก็ง่ายๆ แค่นี้

โค้ชอยากแนะนำคนไทยในด้านไหนอีกไหมคะ

พอทำงานเรื่องเงินมาถึงจุดหนึ่ง ผมพบว่าการเงินนั้นผูกพันกับหลายด้านของชีวิตมาก ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ เงินมีส่วนในการทำให้คนมีความสุข สมัยหนุ่มสาวเราอาจมองความรักเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอแต่งงานแล้ว เรื่องเงินเรื่องใหญ่นะ หลายครอบครัวไม่รักกันก็ได้ ขอให้จ่ายเงินกันให้ครบก็มี เงินจึงถูกผูกเข้ากับความสุขอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้ผมเองก็ไม่ได้เป็นกูรูทางการเงินอย่างเดียวแล้ว ผมเริ่มเป็นโค้ชทางชีวิตด้วย ไม่ได้บอกว่าชีวิตผมดี ผมแค่อยากบอกว่า ชีวิตแต่ละคนนั้นโดดเด่นและแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ใครที่สามารถหาความสุขในแบบของตัวเองได้ คนนั้นโคตรโชคดีเลย อะไรที่ทำแล้วทำให้เราเห็นความสุขชัดขึ้นโดยไม่เบียดเบียนคนอื่น การเงินจะกลายเป็นเรื่องง่ายเลย

อย่างผมเคยไปบรรยายที่บริษัทหนึ่ง พนักงานคนหนึ่งบอกว่า หลังเกษียณเขาขอแค่มีเงินใช้เดือนละ 3 พันก็พอ ผมบอกว่า เดี๋ยว พี่จะอยู่อย่างไร ปรากฏ เขาแจกแจงออกมาได้หมด มีเงินประกันสังคมเดือนละเท่านี้ ผมมีสวน มีนาข้าว มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ฉะเชิงเทรา หาทุกอย่างกินเองได้ บ้านกับรถกระบะก็มีแล้ว ผมคำนวณแล้ว 3,000 ก็พอ เออ…จริงของเขา พอความสุขเขาชัด การเงินก็ไม่ต้องดิ้นรนเกินเหตุ ภาษาผมเรียกว่าความสุขที่แท้จริง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว อาจเป็นเรื่องของเวลาที่มีให้กับบางอย่าง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนความสุขอีกแบบคือความสุขสัมพัทธ์ หมายถึงคุณจะมีความสุขเมื่อมีได้เท่ากับคนอื่น คือต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา ความสุขแบบนี้จะเหนื่อยมากเพราะไม่จบ ดังนั้นถ้าอยากมีชีวิตที่ดีก็ต้องหาความสุขที่แท้จริงให้เจอ


 

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 956

Praew Recommend

keyboard_arrow_up