ครูก้อย ในดวงตา

ครูก้อย ในดวงตา ตีแผ่การศึกษาไทยจากปัญหาระดับชาติ

Alternative Textaccount_circle
ครูก้อย ในดวงตา
ครูก้อย ในดวงตา

ครูก้อย ในดวงตา ปัทมสูติ เผยปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ได้มีหลายหมื่นคนทั่วประเทศ โดยช่องโหว่ใหญ่คือ ระบบการศึกษาที่เร่งรัด ทำให้เด็กรีบอ่านออกเขียนได้ จนครูต้องรีบสอน ไม่ได้โฟกัสอย่างเต็มที่

ครูก้อย ในดวงตา

เมื่อปีที่แล้วมีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับผลสำรวจการอ่านของประชากรไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป โดยอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนบ้านเราใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน โดยอ่านจากหนังสือเล่มร้อยละ 88 และอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 75.4

 ครูก้อย ในดวงตา

แม้ตัวเลขภาพรวมของการอ่านจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ยังมีถึงร้อยละ 21.2 ที่ไม่อ่านหนังสือ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการที่เด็กติดมือถือ หรือสภาพแวดล้อมไม่สนับสนุนการอ่าน แต่เกิดจากการอ่านไม่ออก! อย่างที่มีการสุ่มตรวจพบว่า เด็กกว่า 2 หมื่นคนในกรุงเทพฯอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่นับรวมอีกหลายหมื่นคนทั่วประเทศ

เพราะเหตุนี้เอง คุณศิวกานท์ ปทุมสูติ จึงริเริ่มโครงการ ‘อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แก้ได้นิดเดียว’ ขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว โดยเขียนเป็นตำราชื่อ ‘อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แก้ได้นิดเดียว’ แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่ออก จากนั้นก็จัดโครงการเดินสายลงพื้นที่เพื่ออบรมครูทั่วประเทศ โดยทำจดหมายยื่นหนังสือส่งไปที่สำนักงานพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีโรงเรียนหลายแห่งสนใจ คุณศิวกานท์จึงทำหน้าที่วิทยากร เน้นการปูพื้นฐานการอ่านที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กป.1-มัธยมที่ 3 ซึ่งนับจนถึงวันนี้มีโรงเรียนหลายร้อยแห่งและครูนับหมื่นคนที่ผ่านการอบรม  ทุกวันนี้ ครูก้อย ในดวงตา ปัทมสูติ บุตรสาวได้เข้ามาเป็นวิทยากรสืบทอดโครงการต่อจากคุณพ่อที่อายุมากแล้ว

ครูก้อย ในดวงตา

“ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้นมีอยู่จริง พออ่านไม่ออก ก็เรียนวิชาอื่นไม่รู้เรื่องกลายเป็นเด็กท้ายห้อง แต่ที่เด็กสอบผ่านและได้เลื่อนชั้นก็เพราะบางโรงเรียนไม่มีนโยบายให้เรียนซ้ำชั้น แต่ให้ใช้วิธีสอบซ่อม เพราะฉะนั้นปัญหาหลักนอกจากทางบ้านมีฐานะยากจนไม่มีเงินเรียนหนังสือ หรือเด็กมีปัญหาครอบครัว ยังอยู่ที่ครูสอนถูกวิธีหรือเปล่า รวมไปถึงการที่กระทรวงฯ วางระบบเร่งรัดให้เด็กป.1 รีบอ่านออกเขียนได้ ทำให้ครูต้องรีบสอน ไม่ได้โฟกัสเต็มที่

“วิธีการสอนสมัยนี้คือ ให้เด็กจำรูปคำ เช่น คำว่า ‘กา’ เด็กจะอ่านออกเฉพาะคำนี้ แต่พอเป็นคำว่า ‘มา’ เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะเขาอ่านและเขียนได้เฉพาะคำที่จำเอาไว้ เด็กไม่รู้จักวิธีการสะกดคำ (เช่น ก-อา- กา) ซึ่งเป็นกระบวนการผันเสียงแบบดั้งเดิม โครงการของเราก็จะเข้าไปอบรมครู เพื่อสอนเด็กสะกดคำให้เป็น ซึ่งถ้าครูนำวิธีนี้ไปใช้ เด็กจะอ่านหนังสือได้ภายใน 4 เดือน เริ่มเดือนแรกด้วย แม่ก-กา  แล้วไล่สระไปเรื่อยๆ เดือนที่สอง หัดอ่านตัวสะกด ‘คำเป็น’ (คำเป็นคือ คำที่ประสมสระเสียงยาว เช่น แม่ก.กา  และคำที่สะกดด้วยแม่ กง กน กม เกย เกอว  พอเดือนที่สาม หัดอ่านตัวสะกดคำตาย (คำตายคือ คำที่ประสมสระเสียงสั้น และสะกดด้วยแม่ กด กก และ กบ)  และเดือนที่สี่ หัดอ่านสระเปลี่ยนรูป สระลดรูป คำควบกล้ำและอักษรนำ ที่สำคัญคือ ครูต้องฝึกให้เด็กอ่านย้ำ คัดลายมือ และเขียนคำตามที่ครูบอกทุกชั่วโมง ถ้าเด็กไม่สามารถเขียนได้ ก็ห้ามข้ามไป ต้องฝึกให้ผ่านทั้งหมด”

ครูก้อย ในดวงตา

“นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องเด็กอ่านไม่ออกแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านมากขึ้นคือ ครอบครัว ถ้าเด็กเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่รักการอ่าน เชื่อว่า 90 เปอร์เซ็นต์ลูกจะชอบอ่านด้วย แต่ถ้าพ่อแม่ตื่นเช้ามานั่งกดมือถือ หรือซื้อมือถือให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก อย่างเด็กอนุบาลสมัยนี้มีโทรศัพท์กันแล้ว หรือบางคนก็เลี้ยงลูกด้วยทีวี เด็กจะเติบโตมากับเทคโนโลยีที่เป็นภาพเคลื่อนไหวเร็ว มีผลต่อสมาธิและจิตใจของเด็ก

ครูก้อย ในดวงตา

“จุดเริ่มต้นที่ดีคือ อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เขายังอยู่ในท้อง หรือเขายังเล็กๆ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่านนิทานให้ฟัง เด็กจะไม่เกิดความสนใจในหนังสือ ไม่เกิดภาพจำ ทั้งวุฒิภาวะ สมาธิ และการสื่อสาร ต่างจากเด็กที่ได้ฟังนิทานตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง พวกเขามักจะสื่อสารได้เร็วเพราะมีคลังคำ เมื่อครูสั่งให้แต่งประโยค ก็สามารถแต่งได้หลากหลาย ซึ่งในกรณีที่ครอบครัวไม่ได้เป็นต้นแบบในการอ่านหนังสือ ครูก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ต้นแบบอ่านนิทานให้เด็กฟัง แต่ก็ประสบปัญหาอีกว่า พอเด็กขึ้นชั้น ป.1  ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนแทบไม่มีบรรยากาศของการรักการอ่านเหลืออยู่เลย แต่กลับใช้วิธีสั่งให้เด็กทำบันทึกรักการอ่าน ซึ่งไม่แนะนำ เพราะถ้าครูโดนสั่งให้ทำอย่างนั้นก็คงไม่ชอบเช่นกัน”

“การจะปลูกฝังการอ่านต้องทำเป็นเรื่องธรรมชาติ และอย่างที่บอกว่า ครูต้องเป็นต้นแบบของการอ่าน ถือหนังสือมาแนะนำเด็กว่า สนุกอย่างไร เด็กจึงจะอยากอ่าน แล้วอาจใช้วิธีให้เด็กเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังหน้าชั้นเรียนแทนการส่งบันทึก ที่สำคัญครูควรส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือทุกประเภท โดยเฉพาะวรรณกรรม ที่เป็นประตูบานใหญ่พาเด็กไปสู่โลกกว้าง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระยะเวลาในการอ่านไม่ควรจำกัด เพราะการอ่านเป็นเรื่องธรรมชาติ มันคือความสุขและขึ้นกับเหตุปัจจัยว่าเรามีเวลาให้แค่ไหน…มาส่งเสริมและสร้างความสุขด้วยการอ่านกันเถอะค่ะ”


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up