NADAO ACADEMY

ไขข้อข้องใจ “เด็กฝึก” (Trainee) ในแบบฉบับของ NADAO ACADEMY

Alternative Textaccount_circle
NADAO ACADEMY
NADAO ACADEMY

“ย้ง-ทรงยศ” นำทีมผู้บริหารและตัวแทนนักแสดง “นาดาว บางกอก” เปิดโปรเจ็กต์ “นาดาว อะคาเดมี” ( NADAO ACADEMY ) พร้อมไขข้อข้องใจทำไมถึงใช้คำว่า “เด็กฝึก” (Trainee)   

สร้างเซอร์ไพร้ส์กันตั้งแต่ต้นปีกับการเปิดตัวโปรเจ็กต์ “NADAO ACADEMY” การค้นหา “เด็กฝึก” (Trainee) เพื่อพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นนักแสดง นาดาว บางกอก และศิลปิน นาดาว มิวสิค งานนี้ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ นำทีมผู้บริหาร เบล-สุพล พัวศิริรักษ์, ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ,บอมบ์-จงจิตต์ อินทุ่ง พร้อมด้วยนักแสดงรุ่นพี่ ที่เคยผ่านการออดิชั่นอย่าง แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์, ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง และ แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ มาร่วมพูดคุยถึงที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์ ที่จะเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เข้ามาเป็น  “เด็กฝึก” (Trainee) ในสังกัดของนาดาว บางกอก 

NADAO ACADEMY

ทำไมถึงเปิดโปรเจ็กต์ “NADAO ACADEMY”?

ย้ง ทรงยศ :  ที่ผ่านมาเราเคยทำโปรเจ็กต์ค้นหานักแสดงตอนที่เราทำซีรีส์ฮอร์โมน และตอนนั้นเราก็ได้  “แบงค์-ธิติ”, “ต้าเหนิง-กัญญาวีร์” และ “แพรวา-ณิชาภัทรน์” และน้องๆ อีกกลุ่มมาเป็นนักแสดงและศิลปินในสังกัด “นาดาว บางกอก” ทีนี้ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้มันผ่านไปประมาณ 6 ปีแล้ว  ตอนแรกเราก็ถูกถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ทำทุกปี  แต่พอเราทำจริงๆ แล้วน้องเข้ามาเยอะมาก เมื่อได้น้องมาแล้วเราก็อยากให้เวลาในการพัฒนากับเขาให้เต็มที่ เพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นนักแสดงและศิลปินที่ทุกคนอยากชวนเขาไปทำงานด้วย เพราะจริงๆ นาดาวไม่ใช่สตูดิโอ หรือบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์การทำหนังหรือละคร เราเป็นบริษัทดูแลและพัฒนาศิลปิน ดังนั้นเมื่อเราได้ศิลปินมา เราก็ต้องพัฒนาเขาให้พร้อม และตอนนี้น้องๆ รุ่นที่เรารับเข้ามาแต่ละคนเติบโตในวงการได้อย่างแข็งแรง ก็เลยรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหาน้องๆ รุ่นใหม่มาพัฒนา

NADAO ACADEMY

เพราะอะไรถึงใช้คำว่า เด็กฝึก (Trainee) ไม่ใช้คำว่านักแสดงหรือศิลปิน ?

ย้ง ทรงยศ :  ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ว่าน้องๆ ที่อยากทำอาชีพนักแสดง หรือศิลปิน เป็นอาชีพของตัวเองในอนาคต วันหนึ่งเขาออดิชั่นเข้ามาและได้ทำงานกับเรา ในวันที่เขาเข้ามา เขายังไม่ได้เป็นนักแสดงหรือศิลปินที่ทำงานได้จริงหรอก เราก็เลยรู้สึกว่า ในวันที่เราค้นหาเจอแล้ว เด็กที่ได้เข้ามาแล้วเขาก็ยังเป็นนักเรียนอยู่ เราก็เลยเรียกว่าเด็กฝึกให้เขามาเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลาที่อยู่กับนาดาว

เด็กฝึกในสังกัด นาดาว บางกอก ต้องเป็นคนแบบไหน?

ย้ง ทรงยศ :  เราต้องการเด็กช่วงอายุที่เราต้องการ คือ 13 – 22 ปี เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มพัฒนา เติบโต เรียนรู้ ไปพร้อมกับเรา นาดาวจะเปรียบเหมือนเป็นโรงเรียน วิทยาลัย ที่สนใจอยากทำอาชีพนักแสดงและศิลปิน เข้ามาเรียนรู้ เหมือนสถาบันส่งออก นักแสดง และศิลปินดีๆ ให้คนในวงการบันเทิงได้เห็น

บอมบ์ จงจิตต์ : คือเบื้องต้นสำหรับการออดิชั่นในครั้งนี้ เรารับเข้ามาเพื่อเป็นเด็กฝึกก่อน ขั้นตอนของเด็กฝึกก็คือเข้ากระบวนการรับสมัครต่างๆ จนกระทั่งผ่านไฟนอลออดิชั่น จนเราได้เด็กฝึกมา เราจะเซ็นสัญญากับเขาในรูปแบของเด็กฝึก ระยะเวลาประมาณ 1- 3 ปี หลังจากนั้นผ่านขั้นตอนของการพัฒนาฝึกฝนและเรียนรู้แล้วสุดท้ายคือสิ่งสำคัญที่สุด เราจะประเมินเขาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าคนนั้นจะได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของนาดาวหรือเป็นศิลปินของนาดาวมิวสิคแบบเต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง

ปิง เกรียงไกร : คนที่จะมาสู่โปรเจ็กต์นี้ พื้นฐานที่ต้องมี คืออยากเป็นนักแสดง มีเป้าหมายชัดเจน เราตั้งใจจะหานักแสดงอาชีพและศิลปินอาชีพ คนที่มองจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพในอนาคต การเป็นนักแสดง มันเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน เอาจริง พร้อมที่จะเรียนรู้ และทำให้ตัวเองเก่งขึ้นเรื่อยๆ ในระดับที่เป็นอาชีพได้ และเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างน้องในนาดาวที่ผ่านมา ผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ที่กว่าจะได้มาแสดงซีรีส์ หรือแต่งตัวสวยหล่อ ออกงานต่างๆ อยากให้น้องๆ ที่จะมาสมัคร ถามตัวเองดีๆ เราอยากเป็นนักแสดงเพราะอะไร

อย่างไรก็ตาม  “นาดาว บางกอก” ยังได้ฝากเตือนผู้ปกครอง และคนที่สนใจว่าไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ระวังโดนแอบอ้าง ด้าน แพรวา, ต้าเหนิง และแบงค์ เผยผ่านมาจากการออดิชั่นเหมือนกัน กว่าเราจะมีวันนี้คิดว่าทุกอย่างจะง่าย แต่จริงๆ เป็นอาชีพที่ยาก มองเป็นโอกาสดีของคนที่สนใจอยากให้มาสมัคร โดยสามารถติดตามรายละเอียดในโปรเจ็กต์ NADAO ACADEMY เพิ่มเติมได้ที่ NadaoBangkok


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up