กว่าจะถึงฝัน ว่าที่หมอทหาร “วรวิทย์ คงบางปอ” อดีตเด็กเกเร ทำแม่เสียใจ จนต้องเรียน กศน.

Alternative Textaccount_circle

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ “อาร์ม-วรวิทย์ คงบางปอ” นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จะถูกเรียกขานอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “คุณหมออาร์ม” หรือ “คุณหมอวิทย์” (อีกหนึ่งชื่อเล่นที่หนุ่มคนนี้เล่าให้ฟังว่าเพื่อนๆ ติดปากเรียกกันแบบนี้มากกว่า)

จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีพื้นฐานชีวิตแบบบ้านๆ แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแอบเกเร ไม่เอาถ่าน จนถึงขั้นทำให้แม่เสียน้ำตาอย่างหนัก เพราะชีวิตพลิกผันสู่รั้ว กศน. แบบไม่ทันตั้งตัว

แต่คำว่าเด็ก กศน. ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเด็กหนุ่มคนนี้ เขาฮึดสู้แบบทุ่มสุดตัว เพื่อวิ่งไล่ตามความฝันในการเป็นหมอ ซึ่งเคยถูกบางคนยิ้มเยาะในความอาจหาญ แต่ไม่ว่าจะเจอสักกี่คำดูถูกดูแคลน เขาก็ไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจ จนวันหนึ่งก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็ก กศน. คนแรกของประเทศไทยที่สอบติดหมอ

อีกไม่นานนี้ความพากเพียรพยายามกว่า 8 ปีของเขากำลังจะตอกย้ำความสำเร็จอีกขั้นของชีวิต กับการได้เป็นหมอเต็มตัว คว้าความฝันได้ตามความตั้งใจ และลบคราบน้ำตาในวันนั้นของแม่จนหมดสิ้น

ทำไมจู่ๆ ถึงต้องเรียน กศน. คะ

จุดเริ่มต้นมาจากการที่พ่ออยากให้เป็นทหารครับ เลยพยายามผลักดันให้ผมสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย ช่วงเรียน ม. 3 พ่อจึงส่งผมไปเรียนกวดวิชาสำหรับติวสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนั้นส่วนตัวผมเองไม่ได้อยากเป็นทหารสักเท่าไหร่  แต่ก็ไม่มีเป้าหมายในชีวิต พ่ออยากให้เรียนอะไรก็เรียน พ่ออยากให้เป็นอะไรก็เป็น ช่วงที่ไปเรียนติวก็เลยเรียนๆ เล่นๆ และโดดเรียนบ่อยมาก ไปหลบอยู่บ้านเพื่อนบ้าง ที่อื่นบ้าง ส่วนการเรียนในโรงเรียนปกติ ก็เรียนๆ เล่นๆ เหมือนกัน ไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่ตั้งใจเรียน

พอเรียนจบ ม. 3 ถึงเวลาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย ก็ปรากฏว่าสอบไม่ติด ผมก็เลยต้องเรียน ม. 4 ตามปกติต่อไปก่อนที่โรงเรียนเดิม ส่วนพ่อก็ไม่ลดละความพยายาม ยังคงส่งผมไปเรียนติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย เพราะผมยังมีสิทธิ์สอบได้อีกครั้ง ด้วยความที่ไม่อยากทะเลาะกับพ่อ เขาอยากให้ไปเรียนก็ไป แต่ตัวผมเองก็ทำเหมือนเดิม คือเรียนๆ เล่นๆ โดดเรียนเป็นประจำ จนกระทั่งสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยอีกครั้ง ก็ยังคงสอบไม่ติดเหมือนเดิม

พอสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยไม่ติดทั้ง 2 ครั้ง ครูที่ติวให้ที่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสนิทกับเขา ก็เลยชวนมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะเขาจะย้ายมาสอนที่กรุงเทพฯ โดยครูจัดการคุยกับพ่อแม่ให้เรียบร้อย ส่วนตัวผมเองก็ต้องยอมรับว่ารู้สึกเคว้งอยู่พอสมควร ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อดี จึงตัดสินใจตามเขาไป เพราะครูแนะนำว่าเผื่อมาดูลู่ทางการเรียนต่อที่นี่ได้ แต่พอเอาเข้าจริง ปรากฏว่ามาอยู่กรุงเทพฯได้แปบเดียว ยังไม่ทันได้เรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ก็ต้องย้ายกลับระนอง เพราะครูติดปัญหาบางอย่าง ทำให้ต้องย้ายกลับ ซึ่งตัวผมเองก็ไม่มีญาติอยู่ที่กรุงเทพฯเลย จึงต้องย้ายกลับตามเขาไปด้วย

สุดท้ายพอย้ายกลับมาที่ระนอง ก็เกิดปัญหาขึ้น คือผมตั้งใจจะกลับไปเรียน ม. 5 ต่อที่โรงเรียนเดิม แต่เขาไม่รับ โดยให้เหตุผลว่าหน่วยกิต ม. 4 ไม่ตรง ตอนนั้นผมไปไม่ถูกเลย เพราะที่ระนองมีโรงเรียนประจำจังหวัดแค่ 2 โรงเรียน โรงเรียนเดิมไม่รับเข้าเรียน ส่วนอีกโรงเรียนหนึ่งก็จะให้ผมไปตามเรียน ม. 4 ใหม่เกือบ 20 วิชา

จุดนี้เองที่ทำให้ต้องไปเรียน กศน.

ใช่ครับ แต่ก็ไม่ถือว่าใช่ทั้งหมด เพราะยังมีอีกจุดหนึ่งที่กระทบใจผมมาก จากที่เล่าว่าโรงเรียนเดิมไม่รับผมเข้าเรียน ม. 5 โดยให้เหตุผลว่าหน่วยกิต ม. 4 ของผมไม่ตรง ทั้งๆ ที่ผมเรียนจากที่นั่น และจากพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีในช่วงนั้นของผม ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า เคยบอกแล้วใช่ไหมว่าถ้าเลือกที่จะออกไปแล้ว ก็จะไม่รับกลับมาอีก

พอได้ยินแบบนี้ ด้วยความที่ผมยังเด็กและยังไม่รู้ตัวถึงความเกเรของตัวเอง จึงถามกลับไปว่า แล้วจะให้ผมทำยังไง ซึ่งเขาตอบกลับมาว่า ไม่ใช่ปัญหาของเขา ถ้าไม่มีที่เรียนก็ไปเรียน กศน. ตอนนั้นผมโกรธมาก ทำให้คิดเดี๋ยวนั้นด้วยความโมโหเลยว่า ได้ ในเมื่อท้ากันแบบนี้ เดี๋ยวจะทำให้ดู แล้วผมก็ไปสมัครเรียน กศน. วันนั้นเลย ลากพี่สาวไปเป็นเพื่อน โดยที่ไม่ได้บอกพ่อแม่ก่อนด้วย

ตอนนั้นรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียน กศน. บ้าง

ผมรู้เหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ว่าการเรียน กศน. เป็นการเรียนเพื่อเอาวุฒิ ไม่ต้องเรียนอะไรมาก ซึ่งผมยอมรับว่าตอนนั้นก็คิดแค่นั้นจริงๆ คือเรียนเพื่อให้ได้วุฒิ ม. 6 มาก่อน แล้วจะเรียนอะไรต่อก็ค่อยว่ากันอีกที

พอกลับมาบอกพ่อแม่ เขาว่าอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นพอผมกลับมาบอกพ่อกับแม่ แม่ก็ตกใจมาก ถึงขั้นเป็นลมไปเลย เพราะเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นกับผม จากเด็กที่เคยมีที่เรียนในระบบตามปกติ แม้จะเกเรไปบ้าง ไม่ตั้งใจเรียน โดดเรียน ซึ่งเรื่องพวกนี้เขาพอจะทราบจากการรายงานของครูฝ่ายปกครองเป็นประจำอยู่แล้ว แต่อย่างเรื่องยกพวกตีกันหรือยาเสพติด ผมไม่เคยยุ่งเลย ทำให้ผมไม่ได้เป็นเด็กที่แย่ในสายตาแม่ขนาดนั้น

พอมาถึงจุดนี้ที่ผมกลายเป็นเด็กไม่มีที่เรียน ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน ต้องไปเรียน กศน. แม่จึงเสียใจมาก รวมถึงพ่อด้วย แต่แม่จะหนักกว่า วันนั้นผมเห็นแม่ร้องไห้จนเป็นลมไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งนั่นทำให้ผมเสียใจมาก หลังจากนั้นจึงมาคิดทบทวนตัวเองว่า เราทำให้พ่อแม่เสียใจขนาดนี้ จะอยู่เฉยๆ ได้ยังไง จะเรียน กศน. เพื่อให้ได้วุฒิ ม. 6 มาแค่นั้นหรอ ทีนี้เลยคิดต่อว่าต้องสร้างเป้าหมายให้กับตัวเองแล้วว่าจะเป็นอะไรดี

ทำไมเป้าหมายที่ว่านั้นถึงกลายเป็นอาชีพหมอคะ

ความอยากเป็นหมอของผม มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมเคยไปช่วยครูที่สนิททำงานเพื่อสังคม ก็ช่วงเดียวกับตอนที่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯนั่นเองครับ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ผมได้ทำงานเพื่อสังคมเยอะมาก ทั้งช่วยเหลือเด็กกำพร้า ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทีนี้พอต้องคิดว่าตัวเองจะทำอาชีพอะไรดี ก็เลยคิดว่าอยากทำอะไรที่ช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้ด้วย จึงคิดว่าเป็นหมอก็แล้วกัน

ตอนนั้นต้องยอมรับว่าผมคิดเอาแบบง่ายๆ แต่พอดูตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลยครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่าผมไม่ตั้งใจเรียน โดดเรียนตลอด ดังนั้นถ้าเทียบเนื้อหาที่ต้องใช้สอบหมอ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมมีความรู้อยู่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

พอรู้แบบนี้แล้ว ทำยังไงต่อคะ

หลังจากนั้นผมพยายามหาข้อมูลว่า ถ้าจะสอบหมอต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง การเรียน กศน. จะได้ความรู้แค่ไหน แล้วเอาความรู้ที่ต้องใช้ในการสอบหมอทั้งหมดมาวางแผนในการอ่านหนังสือ เพราะผมต้องอ่านหนังสือเองทั้งหมด เรียกว่าจะสะเปะสะปะไม่ได้เลย จำได้ว่าตอนนั้นต้องอ่านหนังสือขั้นต่ำวันละ 7 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาปีครึ่งแบบไม่หยุดพักเลย เพราะผมมีเวลาจำกัด ด้วยเรื่องเกณฑ์ของอายุในการมีสิทธิ์สอบหมอ

ผมวางแผนอ่านหนังสือแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างระยะสั้นคือรายวันว่าวันนี้ต้องอ่านได้แค่ไหน จากนั้นเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน รวมถึงต้องเผื่อเวลาในการทบทวนทุกอย่างอีกรอบด้วย ซึ่งผมวางแผนเองทั้งหมด บวกกับค้นข้อสอบเก่าๆ มาลองทำ

หาข้อมูลจากที่ไหน หรือปรึกษาใครคะ

อินเทอร์เน็ตเป็นที่พึ่งเดียวของผมครับ เพราะข้อด้อยของการเรียน กศน. คือไม่มีครูแนะแนวที่มีข้อมูลการศึกษาต่อ ทำให้ตอนนั้นกูเกิ้ลกลายเป็นตัวช่วยเดียวของผม แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่เสิร์ชเจอผิดหรือถูก ก็จะใช้วิธีโทร.ไปสอบถาม อย่างตอนที่หาข้อมูลว่าเด็ก กศน. อย่างผมสามารถสมัครสอบหมอที่ไหนได้บ้าง ผมก็โทร.ไปยืนยันข้อมูลกับที่นั้นๆ โดยตรงว่าคุณสมบัติแบบนี้สมัครสอบได้จริงไหม

อีกอย่างหนึ่งคือมีการไปเรียนพิเศษบ้างครับ แต่ที่ระนองไม่มีที่ติวเลย หมายถึงที่ติวดังๆ อย่างในกรุงเทพฯนะครับ ดังนั้นในการไปเรียนพิเศษแต่ละครั้ง ผมต้องนั่งรถตู้จากระนองไปเรียนที่สุราษฎร์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปกลับ 7 ชั่วโมง ตอนนั้นจึงต้องเลือกเรียนเท่าที่จำเป็น หรือเรียนเฉพาะจุดที่ไม่เข้าใจจริงๆ เท่านั้น

ช่วงนั้นรู้สึกกดดันไหม

ตอนนั้นผมอายุ 17 เองครับ ด้วยวัยแค่นี้ ถ้าถามว่ากดดันไหม ก็ต้องตอบเลยว่ากดดันมาก เพราะผมต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองล้วนๆ ไม่มีครูแนะแนว ไม่เคยสอบหมอมาก่อน ไม่เคยรู้ว่าการสอบหมอเป็นยังไง คนใกล้ชิดก็ไม่มีใครรู้ เพราะที่บ้านไม่มีใครเป็นหมอ

โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ผมเครียดมาก รู้สึกว่าทุกอย่างยากไปหมด แต่ทุกครั้งที่ท้อ ผมจะบอกตัวเองเสมอว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวเราและการวางแผน ถ้าตัวเราคิดว่าทำได้ ก็เท่ากับทำได้ไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ หากมีคนมาถามว่าผมจะเรียนอะไร หรือจะทำอาชีพอะไร ผมไม่เคยรู้สึกอายเลยที่จะบอกใครๆ ว่าเด็ก กศน. อย่างผมตั้งใจจะสอบหมอ

แล้วเจอคำถามแบบนี้บ่อยไหม

เจอเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ อย่างเพื่อนหรือญาติที่นานๆ เจอกันที หรือบังเอิญเจอกัน หลายคนมองว่าความตั้งใจของผมเป็นเรื่องตลกที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งทุกครั้งผมเลือกที่จะมองข้ามไป และคิดอีกมุมหนึ่งว่าผมจะมัวแต่อายไม่ได้ เพราะถ้าผมไม่กล้าบอกใครๆ ว่าผมจะทำอะไร ก็เท่ากับว่าผมแพ้ไปครึ่งหนึ่งแล้ว

เคยเหนื่อยจนคิดล้มเลิกความตั้งใจไหม

ต้องยอมรับเลยว่าก็มีบ้างครับ เพราะในช่วงปีครึ่งนั้นที่ผมต้องอ่านหนังสือหนักๆ ผมใช้เวลาแทบจะทั้งหมดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม พออยู่คนเดียวมากๆ เข้า บวกกับอ่านหนังสือเยอะจนเหนื่อย ก็จะมีความคิดฟุ้งซ่านแวบเข้ามาในหัวว่า เราควรไปต่อหรือควรหยุด

ทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกแบบนั้น สิ่งแรกที่ผมทำคือตั้งสติ แล้วถามตัวเองว่าเราแค่เหนื่อยหรืออยากล้มเลิกความตั้งใจจริงๆ ซึ่งผมจะหยุดอ่านหนังสือทันทีเลยด้วย แล้วไปทำอะไรที่อยากทำ ทำอะไรที่ผ่อนคลาย พอรู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาถามตัวเองอีกครั้ง คำตอบที่มาจากใจที่ผ่อนคลายจะช่วยให้ผมไปต่อได้ครับ

ช่วงนั้นกำลังใจที่สำคัญที่สุดคืออะไร

ณ ตอนนั้นกำลังใจที่เป็นแรงผลักดันผมมากที่สุดคือพ่อแม่ครับ เพราะผมเห็นพวกเขาเสียใจมากจากการกระทำของผม จึงตั้งใจกับตัวเองว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเขาภูมิใจให้ได้ และกำลังใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผมที่จะลืมไม่ได้เลย คือการให้กำลังใจตัวเอง ผมบอกตัวเองเสมอว่าผมทำได้ แล้วผมก็ทำได้จริงๆ

พอมาถึงวันที่ความพากเพียรพยายามเป็นผลสำเร็จ รู้สึกอย่างไรบ้าง

พอผลสอบออกมาตามที่หวังไว้ ผมดีใจมากครับ มากแบบอธิบายไม่ได้ ส่วนพ่อกับแม่ก็ดีใจมากเช่นกัน แววตาของแม่ในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมเข้าใจถึงความดีใจสุดขีด ความสุข ความสมหวัง และความภูมิใจ จากรอยยิ้มของพ่อกับแม่ในวันนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมดีใจและมีความสุขมากยิ่งขึ้นไปอีก

ตอนสอบว่ายากแล้ว พอได้มาเรียนจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง

หลายคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเรียนหมอยาก ซึ่งผมก็คิดไว้แล้วแหละครับว่ามันยาก เรียกว่ายากเหมือนที่คิดไว้จึงจะถูกกว่า ส่วนถ้าถามว่าเหนื่อยไหม แน่นอนว่าเหนื่อยครับ แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ต้องกลับมาถามตัวเองว่า คิดผิดหรือเปล่าที่เลือกเรียนหมอ เพราะมันเป็นความเหนื่อยที่ผมรู้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนอื่นได้ในวันข้างหน้า เรียกว่าเหนื่อยแต่มีความสุขครับ

แล้วเด็ก กศน. อย่างเราต้องปรับตัวแตกต่างจากคนอื่นไหม

สำหรับการปรับตัว ผมคิดว่าในเรื่องเนื้อหาทฤษฎีไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะผมก็ผ่านเข้ามาจากการทำข้อสอบเดียวกันกับทุกคน แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องทักษะการปฏิบัติครับ อย่างการใช้ห้องแล็บ เพราะผมอาศัยการอ่านหนังสือเองทั้งหมด ไม่เคยลงมือทำจริง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ได้ยากเกินที่จะปรับตัวครับ

ช่วงเรียนหมอ 6 ปี ที่ทั้งยากและเหนื่อย กำลังใจที่สำคัญที่สุดคืออะไร

อย่างแรกเลยคือการให้กำลังใจตัวเองครับ เพราะผมตั้งใจไว้ว่า ถ้าตัดสินใจที่จะมาเรียนหมอแล้ว ก็ต้องไปให้สุดทาง อีกอย่างหนึ่งคือพ่อแม่ เพราะผมเป็นลูกชายคนเดียว อีกทั้งยังมีพี่สาวกับน้องสาว ซึ่งต่อไปผมอยากทำหน้าที่ดูแลพวกเขา และช่วยกันดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด

ดังนั้นแม้ว่ามันจะยากหรือจะเหนื่อยแค่ไหน ผมก็จะสู้จนถึงที่สุด จะไม่ยอมกลับไปอยู่ในจุดเดิม จะไม่ยอมให้สิ่งที่พยายามมาทั้งหมดสูญเปล่าเด็ดขาด ทั้งหมดนี้เป็นแรงผลักดันให้ผมผ่านปัญหาทุกอย่างมาได้ครับ

ผมมีคติประจำใจด้วยนะครับ ซึ่งมันจะเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตหรือเหตุการณ์ที่เจอ อย่างช่วงเตรียมตัวสอบหมอ ผมมักบอกกับตัวเองว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งผมที่เป็นเด็ก กศน. ก็สามารถฝันที่จะสอบหมอให้ติด เรียนหมอให้ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่ต้องตั้งใจทำตามความฝันให้ดีที่สุด

เพราะความฝันไม่จำเป็นต้องตรงใจใคร ขอแค่ตรงใจเราก็พอ ส่วนตอนนี้คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด และเชื่อใจตัวเองเสมอว่าเราทำได้ครับ


 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : อรจิรา ยิ้มอยู่

ภาพ : วรสันต์ ทวีวรรธนะ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up