รักษ์โลกเริ่มได้จากสิ่งเล็กๆ เหตุผลที่ “โตโน่-ภาคิน” เดินหน้าภารกิจเก็บขยะ

Alternative Textaccount_circle

“โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” เขาเริ่มต้นจากการทำสิ่งเล็กๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกผู้คนให้กลับมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือพวกเรา อันเป็นที่มาของโครงการ “เก็บรักษ์” ลงมือเก็บขยะตามที่สาธารณะด้วยตัวเอง

โตโน่-ภาคิน

“รักชาติ” ด้วยการเก็บขยะ

“จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมอยากทำให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น อยากทำให้ประเทศเราน่าอยู่ ซึ่งถ้าคนไทยทุกคนทุกอาชีพ ไม่ว่าจะรวยหรือจนช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทยให้สะอาด มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลที่สวยงาม ทำให้สิ่งแวดล้อมในบ้านเมืองดีขึ้น ผมเชื่อว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

“สิ่งเหล่านี้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ แต่ทุกคนช่วยกันรักษาได้ด้วยการลดการทำลาย ทิ้งขยะให้ถูกที่ ใช้ของให้ถูกประเภท อะไรที่ไม่ได้มาตรฐานก็ช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนเห็นและตั้งคำถามมาตลอดว่า ทำไมกรุงเทพฯจึงมีสายไฟรกเต็มไปหมด ทำไมขยะเต็มข้างถนน บนทางด่วนก็มีขยะ ทำไมแม่น้ำลำคลองถึงเน่าเสีย ทำไมน้ำท่วมทำไมท่อตัน ทะเลไม่สวย ทำไมปะการังตาย คือมีแต่คำว่าทำไม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้ทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกทำลายได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘เก็บรักษ์’ ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นแค่โครงการหนึ่งหรือทำแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่อยากทำตลอดไป ให้ประเทศของเราน่าอยู่ขึ้น อยากให้คนที่เรารักได้อยู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ได้หายใจอากาศที่ดี ถ้าเรารักพวกเขาจริงๆ รักแผ่นดินไทยจริงๆ เราต้องช่วยกันทำตอนนี้ ก่อนที่จะไม่เหลืออะไร”

โตโน่-ภาคิน

เริ่มจากการเก็บขยะ

“ผมเริ่มจากเห็นขยะตรงไหนก็เก็บตรงนั้น เพราะเวลามีขยะจะมีกลิ่นเหม็น พอมีคนเห็นผมเดินเก็บขยะจึงแท็กมาว่ามีขยะตรงนี้ตรงนั้น ทำให้ผมเริ่มคิดถึงการกำจัดขยะที่ถูกต้อง จึงไปตามหาบริษัทกำจัดขยะที่มีบ่อพัก ใช้เงินส่วนตัวจ้างเก็บขยะรอบละ 2,000 บาทแต่พอเขารู้ว่าเราตั้งใจทำสิ่งนี้ก็ลดให้เหลือรอบละ 1,500 บาท ถ้าครั้งไหนผมไม่ได้ไปเก็บขยะเอง จะจ้างบริษัทให้ไปเก็บ หรือถ้าผมพอมีเวลาไปเก็บขยะเอง แต่ขยะเยอะ จะให้รถขยะมารับไปกำจัด

“การที่ผมทำสิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าพนักงานเก็บขยะทำงานไม่ดีนะครับ ผมแค่มองว่างานนี้ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานเก็บขยะหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ประเทศนี้เป็นของเราทุกคน จึงควรช่วยกัน เริ่มจากทำสิ่งที่ทำได้เอง อย่างในกรุงเทพฯผมออกไปเก็บขยะมาหลายครั้งแล้ว โดยทำในทุกวันที่ว่างและในพื้นที่ที่ทำได้ เช่นบ้านผมอยู่สุวรรณภูมิ ก็จัดการในส่วนนั้น แต่ถ้าคนแจ้งมาว่ามีขยะแถวจตุจักร ผมไปเองไม่ได้ ก็จะโทร.เรียกรถให้ช่วยเก็บ

“แต่ถ้าไปเก็บขยะที่ต่างจังหวัด เราจะวางแผนล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อผมจะได้หาวันไปทำด้วยตัวเอง เริ่มจากไปดูพื้นที่จริงว่าตรงไหนควรช่วยเหลือ ยิ่งเร่งด่วนยิ่งดี ยิ่งสกปรกยิ่งต้องระดมความคิด ว่าจะทำอย่างไรให้สะอาด กลับมาประเมินว่าสกปรกขนาดไหน ต้องใช้เวลากี่วัน และผมจะล็อกคิวตัวเองสำหรับงานนี้ การลงพื้นที่แต่ละครั้งเรามีทีมงานนะครับ แต่จำนวนน้อยมาก จนแทบจะเรียกเป็นทีมไม่ได้ (หัวเราะ) ผมคิดว่าทีมที่แท้จริงของเราคือคนไทยครับ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นความสำคัญของทีมตอนไหน เมื่อไหร่ที่คนไทยมองเห็นความสำคัญของแผ่นดินไทยจึงจะเป็นทีมที่สมบูรณ์

“ผมหวังว่าเมื่อมีคนเห็นหรือรู้สิ่งที่เราทำแล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือ วันหนึ่งข้างหน้าผมจะไม่ต้องมาเดินเก็บขยะหรือจ้างรถเก็บขยะอีกต่อไป ผมเป็นแค่คนธรรมดาคนคนเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นประเทศที่สะอาดที่สุดในโลกอย่างที่ผมอยากทำหรอก แต่ทุกคนช่วยกัน ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งต้องเห็นผล”

“ขยะ” สร้างผลร้ายเกินคาดคิด

“พอมาทำตรงนี้ทำให้ผมได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นว่าขยะส่งผลกระทบรุนแรงอย่างมาก เช่น ถ้าเราทิ้งขยะไม่ลงถัง เวลาฝนตก ขยะเหล่านี้จะถูกทับถมเรื่อยๆ ไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล ซึ่งบางคนอาจคิดว่ามีพลาสติกบางชนิดย่อยสลายได้ แต่ความจริงคือพลาสติกไม่ได้ย่อยสลาย แค่เปลี่ยนรูปลักษณ์จากชิ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นพลาสติกสีใสชิ้นเล็กๆ ที่ตาเรามองไม่เห็น และมีจำนวนเยอะมากในทะเล ทั้งแพลงก์ตอน หอย ปู กุ้ง รวมถึงปลากินพลาสติกเหล่านี้เข้าไป แล้วคนก็กินกุ้งหอยปูปลาเหล่านั้นเข้าไปอีกที เท่ากับร่างกายเรารับไปเต็มๆ มีงานวิจัยพบว่า ร่างกายคนไทย 1 คน มีขยะ 20,000 ชิ้น มาจากพลาสติกที่เชื่อกันว่าย่อยสลายได้ และก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย”

โตโน่-ภาคิน

ลดขยะได้ด้วยการ “เปลี่ยน” พฤติกรรม

“หลังจากรู้ปัญหาเรื่องพลาสติก ผมไปที่ศูนย์วิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์ทะเลแห่งทะเลไทย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทำให้ได้รู้เพิ่มเติมว่าทะเลของเราได้รับผลกระทบอย่างไร มีเจ้าหน้าที่พาผมข้ามเรือไปดูที่เกาะแสมสาร เห็นหาดสวยมาก แต่ที่เห็นว่าทะเลสะอาดเพราะทหารเรือเก็บขยะ เหมือนกับสถานที่ ท่องเที่ยวทางทะเลอื่นๆ ที่สะอาดอยู่ตอนนี้เพราะมีคนเก็บ ถ้าหาดไม่สวยก็ไม่มีคนมาเที่ยว ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากนิสัยของการไม่รักษาความสะอาด ณ พื้นที่ตรงนั้น รวมถึงความไม่รู้ ความมักง่ายของคนเมืองที่ทิ้งขยะมั่วซั่ว ใช้พลาสติกแล้วปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล ทำให้ผมคิดว่าเราไม่มีทางเก็บขยะได้หมดและคงต้องเก็บทุกวัน ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดและการใช้ชีวิต จึงตั้งใจว่าไหนๆ ได้มาเห็นขยะในทะเลจำนวนมากขนาดนี้ ผมจึงเลือกใช้เกาะแสมสารเป็นที่แรกในการเก็บขยะในทะเล เพราะได้รู้ปัญหา ได้เห็นแล้วว่าขยะในทะเลเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าประชากรทั้ง 70 ล้านคนยอมเปลี่ยนพฤติกรรม จะช่วยลดขยะได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตพลาสติกมากที่สุดในโลก แต่ทำไมพลาสติกที่เหลือใช้ของเขามีไม่ถึง 0.7 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขามีการจัดการที่ดี ส่วนประเทศ ของเรามีทุกอย่างไม่แพ้ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทะเล ภูเขา วัฒนธรรม แต่สิ่งที่เราแพ้เขาคือจิตสำนึกและระเบียบวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทย ทุกคนต้องรู้ ต้องตื่นตัว ถ้ารักประเทศจริง ต้องช่วยกันทำให้ประเทศเราน่าอยู่ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าพวกเราช่วยกันจริงๆ”

แยก-ลด-ทิ้งให้ถูกต้อง

“ก่อนจะไปถึงโรงงานกำจัดขยะหรือระบบการจัดการที่ถูกต้อง ทุกอย่างเริ่มที่มือพวกเรา ทุกคนช่วยกันทำตั้งแต่อยู่ในบ้าน เวลาจะทิ้งขยะต้องแยก หาวิธี ลดปริมาณขยะก่อนนำไปทิ้งให้ถูกต้อง กำจัดขยะให้ถูกวิธี เลิกใช้พลาสติก เปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้ถุงผ้าแทน

“ประเทศเราติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีแม่น้ำสกปรกที่สุดในโลก โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง สองสายมารวมกันมีจำนวนขยะหลายล้านตัน และตอนนี้ประเทศไทยก็ติดอันดับประเทศที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูง ถ้าไม่ช่วยกันเปลี่ยนตอนนี้ จะเปลี่ยนตอนไหน ผมมีโอกาสไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย อังกฤษ ทุกประเทศมีคนรวย คนจน คนลำบากเหมือนกันทั้งนั้น แต่เขาวัดคุณภาพชีวิตคนในประเทศนั้นๆ ที่ การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าบ้านเราสามารถดูแลสิ่งเหล่านี้ได้ ทุกคนมีจิตสำนึก คิดดูสิว่าประเทศเราจะน่าอยู่ขนาดไหน”

โตโน่-ภาคิน

สิ่งแวดล้อมเลวร้ายเพราะน้ำมือมนุษย์

“ฝุ่น PM2.5 ปัญหาควันดำ น้ำท่วม ไม่ได้เกิดเพราะธรรมชาติสร้าง แต่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้นมาเองกับมือ เราทิ้งขยะ ทำให้ท่อน้ำอุดตัน แม่น้ำ ลำคลองตื้นเขิน ระบายไม่ทัน เกิดภาวะแล้งจัด เพราะป่าไม้ถูกทำลาย สัตว์ป่าถูกฆ่า จึงอยากให้พวกเราช่วยกันทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ทุกตารางเมตร เดินไปไหนก็สบายใจได้ว่า วันหนึ่งตายไป ลูกหลานจะยังได้สูดดมอากาศที่ดี ดีกว่าไม่คิดทำอะไรเลย

“เมื่อถึงวันหนึ่งคนไทยต้องรู้จักการเสียสละ ผมอยากเสนอให้คนตามเมืองใหญ่มีวันงดใช้รถยนต์ส่วนตัว 1-2 วันต่อเดือน ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเขาจะได้วางแผนการใช้ชีวิตและหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น ประชาชนเองก็ต้องเรียนรู้และรู้จักการปรับตัว หน่วยงานรัฐหันมาเห็นความสำคัญของการพัฒนารถโดยสาร รถที่ใช้รับ-ส่งต้องอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีควันดำ เพื่อคนจะได้เลิกใช้รถส่วนตัว ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ๆ เมื่อไม่มีรถติดก็ทำให้คนกล้าออกมาเดินถนนมากขึ้น ได้เห็นวันที่กรุงเทพฯไม่มีรถติด อากาศสดใส ไร้มลพิษ

“แผนการต่อไปของผมคือ ถ้าโครงการเก็บรักษ์ทำไปได้สัก 7–8 เดือน ผมอยากนำข้อมูลความรู้และคลิปต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อมนุษย์ ไปให้ความรู้น้องๆ ชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ แล้วชวนกันทำเรื่องขยะ มีวิธีการวัดผลสิ่งที่ทำอย่างเป็นรูปธรรม ดูว่ากลับมาสกปรกไหม ถ้ากลับมาสกปรกอีก เราต้องแก้ที่ตรงไหน เพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจน

“ผมฝันอยากเห็นประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงยอดเยี่ยม ซึ่งผมเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้วัดกันที่มีตึกใหญ่เท่าไหร่ แต่วัดกันที่คุณภาพชีวิตคนในประเทศนั้น ต่อให้เป็นกรรมกรแบกหามหรือขี่ซาเล้ง แต่ถ้าทุกคนอยู่ในสภาพแวดล้อมและคุณภาพอากาศที่ดี เราได้เปรียบประเทศอื่นแล้ว ผมอยากเห็นวันนั้น วันที่ผู้คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไทย’ คือหนึ่งในประเทศที่สะอาดที่สุดในโลก”


 

นิตยสารแพรว ฉบับ 946

Praew Recommend

keyboard_arrow_up