คำว่า “ชาตรี” หมายถึง นักรบ ซึ่งน่าจะใช้บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของ “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ได้เป็นอย่างดี จากเด็กที่ต้องดิ้นรนไปสร้างชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ได้กินข้าววันละหนึ่งมื้อ ก่อนจะฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ เป็นนักการเงินชั้นนำในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท
แต่เงินไม่ได้ทำให้หัวใจของเขาอิ่ม ชาตรีจึงตัดสินใจหันหลังให้วอลล์สตรีท แล้วมุ่งหน้าทำธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะป้องกันตัว พร้อมคำปรามาสว่านั่นเป็นการตัดสินใจผิดครั้งใหญ่
แต่วันนี้เขาคือเจ้าของ ONE Championship ผู้ผลิตสื่อรายการกีฬาเบอร์หนึ่งของทวีปเอเชีย ที่มีมูลค่ากิจการกว่า 1,000 ล้านเหรียญ และเจ้าของ Evolve MMA ยิมฝึกสอนศิลปะป้องกันตัวชั้นนำ ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ แพรว ได้คุยกับเขาถึงทุกๆ เรื่องราวในชีวิต
กีฬามวยเข้ามาในชีวิตของคุณตั้งแต่เมื่อไร
“ตอนนั้นผมอายุ 9 ขวบครับ คุณพ่อพาไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินี ความรู้สึกตอนนั้นสุดยอดมาก ได้เห็นทั้งความแข็งแกร่ง ความรวดเร็ว และพลังงานของนักมวยที่พุ่งเข้าใส่กัน ขณะที่แฟนๆ ก็ส่งเสียงเชียร์ดังมาก ก่อนหน้านั้นผมเคยดูในโทรทัศน์ แต่บรรยากาศสู้ในสนามจริงไม่ได้เลย
“หลังจากวันนั้นผมขอคุณพ่อคุณแม่เรียนมวยไทย แต่ท่านไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ายังเด็กเกินไป กลัวจะเจ็บตัว ผมต้องรอจนถึงอายุ 13 ปี จึงได้เรียนกับค่ายศิษย์ยอดธง ซึ่งเป็นค่ายมวยที่ดังที่สุดและได้แชมป์มากที่สุดในขณะนั้น โดยใช้เวลาเรียนช่วงปิดเทอมฤดูร้อน วันละ 6 ชั่วโมง
“พออายุ 15 ปี ผมได้ขึ้นชกครั้งแรกที่เวทีมวยเทพประสิทธิ์ จำได้ว่าก่อนขึ้นชกรู้สึกกลัวมาก ยังจินตนาการไม่ออกว่าการแข่งจริงจะเจ็บตัวขนาดไหน ผมไม่มั่นใจว่าการซ้อมหนักมาตลอดจะพอหรือเปล่า ถ้าผิดพลาดขึ้นมาจะเป็นอย่างไร มวยไทยนี่ถึงตายได้นะ แต่พอระฆังยกแรกดัง เหมือนสมองกับร่างกายทำงานอัตโนมัติ ความกลัวหายไปหมด แล้วโชคดีที่ผมได้เรียนกับครูมวยที่เก่ง ทำให้ไฟต์แรกจบลงด้วยชัยชนะ รวมที่ผมขึ้นชกทั้งหมด 30 ไฟต์ ชนะ 22 ครั้ง แพ้ 9 ครั้ง ผมเคยแพ้น็อกด้วยนะ ตอนนั้นไม่รู้สึกเจ็บ เพราะที่จำได้คือจู่ๆ ก็ไม่รู้สึกตัว (หัวเราะ) จากนั้นก็ปวดหัวอยู่ 2-3 สัปดาห์”
ทราบว่าชีวิตวัยเด็กของคุณต้องเจอความลำบากมาไม่น้อยด้วย
“ใช่ครับ คุณพ่อผมเป็นคนไทยทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน ส่วนคุณแม่เป็นคนญี่ปุ่น ฐานะครอบครัวเราค่อนข้างดี กระทั่ง 2-3 ปีก่อนเกิดต้มยำกุ้ง (วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำปี พ.ศ. 2540) ธุรกิจของคุณพ่อเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จนล้มละลาย ในที่สุดเราถูกยึดทุกอย่าง ทั้งบ้าน รถ ไม่มีอะไรเหลือเลย แล้ววันหนึ่งคุณพ่อก็ทิ้งครอบครัวไปโดยไม่กลับมาอีก ผมโมโหพ่ออยู่ 20 ปี ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อทิ้งเราเหมือนทิ้งขยะ แต่พอผมโตและมีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น ก็ทำให้เปลี่ยนความคิดว่าตอนนั้นคุณพ่อคงรู้สึกทรมานมากเหมือนกันที่ดูแลครอบครัวไม่ได้ ทรัพย์สินเงินทองที่สร้างมาหายวับไปกับตา เพราะฉะนั้นในตอนนี้ผมจึงไม่มีความโกรธในหัวใจแล้ว รู้สึกเข้าใจคุณพ่อมากกว่า
“แต่ตอนนั้นพอคุณพ่อทิ้งไป คุณแม่ก็ลำบากมาก ต้องขอยืมเงินจากเพื่อน แล้วพาผมกับน้องไปอาศัยบ้านเพื่อน คุณแม่บอกว่าในฐานะที่ผมเป็นลูกคนโต อยากให้ไปเรียนหนังสือและสร้างชีวิตที่อเมริกา เพื่อช่วยครอบครัวหนีจากความจน แล้วพอดีผมสอบเข้าคณะ MBA ที่ Harvard Business School ได้ ด้วยความที่เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง ธนาคารของสหรัฐฯจึงให้กู้เงินสำหรับจ่ายค่าเทอม แต่ก็ยังไม่พอในการใช้ชีวิตอยู่ดี ตอนนั้นคุณแม่ขอยืมเงินจากเพื่อนๆ หลายคนมาได้ 1,000 เหรียญสหรัฐเพื่อให้ผมติดตัวไป จำได้ว่าวันที่ไปถึง นอกจากเงินจำนวนนั้น ผมมีแค่กระเป๋าใบเดียวที่ใส่ของทุกอย่างที่มีในชีวิต รวมถึงนวมชกมวยอีก 1 คู่ ผมไปด้วยความรู้สึกกลัวว่าตัวเองอาจไม่ฉลาดพอที่จะเรียนจบฮาร์วาร์ด นอกจากนี้ยังต้องหาเงินให้ได้เร็วที่สุดเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย”
(พยักหน้าพร้อมยิ้ม) “ผมสมัครเป็นครูสอนมวยไทยที่ฮาร์วาร์ด ได้เงิน 20 เหรียญต่อชั่วโมง และทำงานอีกหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นครูสอนพิเศษ GMAT ที่สถาบัน Kaplan และขี่จักรยานส่งอาหารจีนตามบ้าน พอผมเรียนปี 2 น้องชายก็สอบได้ทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล คุณแม่จึงย้ายมาอยู่กับผมที่อเมริกา แต่ความที่เราไม่มีเงิน คุณแม่จึงต้องมาอยู่กับผมที่หอพัก ในห้องเล็กๆ ที่วางแค่เตียง ตู้เสื้อผ้า และโต๊ะเขียนหนังสือก็เต็มแล้ว ตอนนั้นผมให้แม่นอนบนเตียง แล้วผมนอนพื้น
“พูดตรงๆ ว่าตอนนั้นผมไม่มั่นใจเลยว่าจะช่วยให้ครอบครัวหนีจากความจนได้ แต่ผมไม่ท้อนะครับ โชคดีที่ผมได้เรียนมวยไทย บางคนอาจคิดถึงมวยไทยแค่การต่อสู้หรือศิลปะป้องกันตัว แต่สิ่งที่มวยไทยให้จริงๆ คือความมีวินัย ความกล้า และใจสู้ ตอนนั้นผมบอกตัวเองว่าต้องสู้และอดทน ผมประหยัดมาก พยายามใช้เงินแค่วันละ 4 เหรียญ โดยกินข้าววันละหนึ่งมื้ออยู่นาน 3-4 ปี”
ชีวิตหลังเรียนจบเป็นอย่างไร
“มีบริษัท 5 แห่งยื่นข้อเสนอให้ผมทำงานด้วย คุณแม่บอกว่าอยากให้เลือกบริษัทที่ค่อนข้างมั่นคงและความเสี่ยงน้อย แต่สุดท้ายผมไม่ได้เลือกที่ไหน เลย เพราะมีเพื่อนที่ฮาร์วาร์ดชื่อซูลูชวนก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตชื่อ NextDoor Networks ที่ซิลิคอนวัลเลย์ พอคุณแม่รู้ก็โกรธมาก เพราะไม่อยากให้ผมทำธุรกิจแล้วจบลงแบบพ่อ แต่ผมบอกท่านว่าขอลองดูสักตั้ง จากนั้นเราจึงย้ายไปอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ แต่ผมไม่มีเงินพอสำหรับเช่าบ้าน ทั้งผม เพื่อน และคุณแม่จึงนอนในถุงนอนบนพื้นที่ออฟฟิศนั่นแหละ
“หลังจากนอนในถุงนอนอยู่ 2 ปี เราหาผู้ร่วมทุนได้เงินถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทเติบโตเร็วมาก มีพนักงานเพิ่มเป็น 150 คน และถึงปีที่ 3 ผมก็ตัดสินใจขายหุ้นของตัวเอง ได้เงินมา 1 ล้านเหรียญ ตอนนั้นผมบอกตัวเองว่า เราหนีจากความจนได้แล้ว”
ตอนนั้นมีแผนการอะไรต่อ
“ตอนเรียนอยู่ฮาร์วาร์ดผมคุยกับคุณแม่บ่อยว่าถ้ามีโอกาสผมอยากอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่แพงที่สุดในอเมริกา พอถึงวันที่ผมได้เงินจากการขาย บริษัท ผมก็ซื้อคอนโดที่นิวยอร์กเพื่อเซอร์ไพร้ส์แม่ ผมจำได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ ตอนบ่ายๆ ผมพาคุณแม่ไปที่คอนโด ไขประตูแล้วบอกว่า ‘Mom, this is your house.’ แม่ทั้งตกใจและดีใจมาก เรากอดกันแล้วร้องไห้ (ยิ้ม)
“หลังจากขายบริษัท ผมคิดต่อว่ามีอะไรที่ผมชอบอีกบ้าง ซึ่งตอนอายุ 19 ผมเคยถามตัวเองแบบนี้แล้ว สิ่งที่ผมฝันไว้มี 3 อย่าง ข้อแรกที่ชอบที่สุดคือ มวยไทย ข้อที่ 2 คือการทำงานในตลาดหุ้น และข้อที่ 3 คือการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผมทำได้แล้ว ตอนนั้นผมจึงตัดสินใจไปทำงานที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เป็นผู้จัดการดูแลกองทุนที่ Maverick Capital ดูแลกองทุนเฮดจ์ฟันด์มูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ก่อนจะเริ่มทำบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของตัวเองในชื่อ Izara Capital Management ซึ่งประสบความสำเร็จมาก บริษัทมีมูลค่าถึง 500 ล้านเหรียญ
“ตอนนั้นผมอายุ 35 ปี มีเงินเยอะ มีบ้านหลายหลัง รถหลายคัน แต่ในหัวใจกลับรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความสุข ตอนนั้นก็สงสัยตัวเองว่าเพราะอะไร ทั้งที่เรามีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว จนได้คำตอบว่าการทำงานที่วอลล์สตรีทเป็นเรื่องของเงินและกำไรอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับชีวิตผมเลย พออายุ 37 ปี ผมจึงบอกคุณแม่ว่าจะรีไทร์จากวอลล์สตรีท อยากกลับไปเอเชีย แล้วทำธุรกิจที่เกี่ยวกับมวยไทยและศิลปะป้องกันตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรัก คุณแม่ไม่เห็นด้วย เพราะงานที่ตลาดหุ้นกำลังรุ่ง ทำไมจะเลิกไป แต่ที่สุดผมก็ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองคิด”
“ที่ผ่านมาผมได้รับโอกาสที่ดีมาเยอะ ผมอยากใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ผมจึงคิดถึงความฝันในสมัยเด็กที่ยังไม่ได้ทำคือเรื่องของมวยไทย ผมอยากสร้างค่ายที่ดูแลนักมวยอย่างมีน้ำใจ เหมือนค่ายศิษย์ยอดธงที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ขณะที่บางค่ายเอาเปรียบนักมวย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนต่างจังหวัดก็เยอะ ทำให้โดนโกงอยู่เป็นประจำ และที่น่าเศร้าคือมีนักมวยไทยที่เป็นแชมป์เวทีลุมพินีหลายคน ตอนต่อยมวยมีเงินใช้ แต่ พอรีไทร์ต้องไปขับรถสามล้อบ้าง เป็น รปภ. บ้าง ทั้งที่เขามีความรู้ในเชิงมวย เป็นชีวิตที่ไม่แฟร์เลย”
นั่นเป็นที่มาของการก่อตั้งยิม Evolve ที่สิงคโปร์ใช่ไหม
“ใช่ครับ ปี 2552 ผมเดินทางมาที่ประเทศสิงคโปร์และก่อตั้งยิมฝึกสอนศิลปะป้องกันตัวแขนงต่างๆ ในชื่อ Evolve MMA (Evolve Mixed Martial Arts) ผมวางเป้าหมายให้ที่นี่เป็นยิมที่ดีที่สุด ใช้อุปกรณ์ทันสมัย และนำอดีตแชมป์โลกของศิลปะการป้องกันตัวในแขนงต่างๆ มาเป็นครู อย่างมวยไทยผมกลับไปที่ค่ายศิษย์ยอดธง เพื่อชวนครูมวยและเพื่อนเก่าหลายคนให้มาทำงานด้วยกัน”
ทำไมจึงเลือกตั้งบริษัทที่สิงคโปร์
“ที่นี่มีความเป็น International City มีทั้งคนเอเชียและยุโรป น่าจะปรับตัวได้ง่าย เพราะผมเคยอยู่เมืองไทยมา 18 ปีและอยู่ที่อเมริกาอีก 18 ปี อีกอย่างคือสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการทำธุรกิจระดับโลก และจริงๆ วันที่ตัดสินใจย้ายกลับมาเอเชีย ผมไปทั้งกรุงเทพฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ แต่พอมาที่เมืองไทย ผมยอมรับว่าข้างในใจยังรู้สึกเศร้า ผมยังไม่ลืมภาพของความยากจน และเรื่องราวไม่ดีที่เกิดขึ้นที่นั่น นอกจากนี้ยังรู้สึกอายที่ต้องบอกว่ามาจากครอบครัวที่ล้มละลายและโดนคุณพ่อทิ้ง ผมคิดเองว่าสำหรับคนเอเชียนี่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากฟัง ผมจึงยังไม่อยากกลับไปเมืองไทย ขนาดในปี 2554 ที่ผมเริ่มทำธุรกิจใหม่คือ ONE Championship ที่มีการจัดการแข่งขันศิลปะป้องกันตัวในหลายประเทศของเอเชีย แต่ผมใช้เวลาถึง 5 ปีจึงมาเริ่มจัดที่ประเทศไทย”
จุดเริ่มต้นของ ONE Championship เกิดขึ้นได้อย่างไร
“ด้วยความรักที่ผมมีให้กับศิลปะป้องกันตัวนี่ละ แล้วเอเชียก็ถือเป็นบ้านเกิดของศิลปะป้องกันตัวที่มีอายุกว่า 5,000 ปี อย่างประเทศจีนมีกังฟู ญี่ปุ่นมีคาราเต้กับยูโด เกาหลีมีเทควันโด และไทยมีมวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติ ผมจึงคิดทำสื่อรายการกีฬาที่จะเชื่อมคนเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเกิดเป็น ONE Championship ซึ่งไม่ง่ายเลย ในช่วงปีแรกๆ ผมกับหุ้นส่วนลงทุนไป 50 ล้านเหรียญ เพื่อจัดแข่งขันครั้งแรกที่สิงคโปร์ ในปีที่ 2-3 ก็จัดการแข่งขันเล็กๆ ในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นักลงทุน ลูกค้า และสถานีโทรทัศน์ไม่มีใครเอาด้วย รายการแทบไม่มีเรตติ้ง ไม่มีใครเชื่อว่า ONE Championship จะประสบความสำเร็จ
“แต่ผมโชคดีที่ปีต่อมาโซเชียลมีเดียเริ่มบูม ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แล้วคอนเทนต์ของเราเป็นแบบสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ นี่คือข้อได้เปรียบที่สำคัญ เพราะถ้าคุณจะดูฟุตบอลหนึ่งแมตช์ใช้เวลาดู 90 นาที ขณะที่การชกมวย MMA ใช่เวลาแค่ 2-3 นาที โซเชียลมีเดียจึงช่วยให้รายการของเราซึ่งเหมาะกับเด็กรุ่นใหม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ถ้าสรุปเป็นตัวเลขในปีที่ 3 รายการของเรามียอดชมทางออนไลน์ประมาณ 300,000 วิว แต่ถึงปี 2560 เพิ่มเป็น 1,500 ล้านวิว ตัวเลขพุ่งเร็วแบบไม่น่าเชื่อ หลายคลิปเป็นไวรัลที่ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ”
เสน่ห์ของ ONE Championship ที่ต่างจากรายการ MMA อื่นๆ คืออะไร
“คนที่ไม่ได้เป็นแฟนรายการจะนึกว่า ONE Championship เป็นบริษัทที่นำเสนอเรื่องศิลปะการป้องกันตัวอย่างเดียว แต่ความจริงเราเป็นบริษัทที่สร้าง คอนเทนต์แรงบันดาลใจว่าทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยนำเสนอเนื้อหาผ่านนักกีฬาหลายๆ คน ซึ่งเคยมีชีวิตที่ลำบากยากจน บางคนไม่มีพ่อแม่ แต่วันนี้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยความพากเพียร เราต้องการสร้างฮีโร่ที่ไม่ได้ต่อสู้กันแบบเลือดตกยางออก แต่เป็นการต่อสู้ที่สะท้อนจิตวิญญาณของชาวเอเชียที่มีความกล้าหาญ อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เป็นรายการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวดูได้ บวกกับนำเสนอในรูปแบบของ Sport Entertainment โดยนำแสงสีและเสียงเพลงเข้ามาสร้างสีสันให้กับรายการ”จาก 3 ปีแรกที่แทบไม่มีเรตติ้ง วันนี้ ONE Championship เติบโตขึ้นขนาดไหน
“เราเป็นผู้ผลิตสื่อรายการกีฬาเบอร์หนึ่งของเอเชีย มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก มีบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นพันธมิตร เช่น Marvel, Universal Music, Disney และเมื่อ 2 ปีก่อนมีบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งมาร่วมลงทุนกับเรา เช่น Sequoia Capital ซึ่งเคยลงทุนใน Apple, Google, Airbnb, Uber และอีกหลายธุรกิจสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ ผมไม่คิดว่าเราจะโตเร็วขนาดนี้ ถึงขนาดที่รัฐบาลสิงคโปร์ก็อยากลงทุนด้วย ทำให้ผมเป็นผู้ประกอบการไทยคนแรกที่สร้างบริษัทสตาร์ตอัพให้ประสบความสำเร็จในระดับ 1,000 ล้านเหรียญ และผมเชื่อว่า ONE Championship จะมีโอกาสมีมูลค่าถึงหลัก 4-5 หมื่นล้านเหรียญได้ในอนาคต”
เหมือน ONE Championship ได้เปลี่ยนชีวิตของอดีตนักการเงินในวอลล์สตรีทไปเลย
“ใช่ (ยิ้ม) ชีวิตผมเปลี่ยนไปจากตอนทำงานที่วอลล์สตรีทเยอะมาก ตอนนั้นมีรถยนต์และทรัพย์สินมากมาย แต่หัวใจว่างเปล่า ส่วนตอนนี้ผมมีบ้านหนึ่งหลัง รถโตโยต้าหนึ่งคัน และนาฬิกา G-Shock ราคา 500 เหรียญหนึ่งเรือน นอกจากนี้ไม่อยากซื้ออะไรแล้ว แต่ในหัวใจรู้สึกอิ่มมาก”
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 946