เปิดหัวใจสีเขียวของนางเอกรักษ์โลก “เชอรี่-เข็มอัปสร” กับโครงการ Little Forest

Alternative Textaccount_circle

ในแต่ละปีเราเห็นข่าวการบุกรุกพื้นที่ป่าและทำลายสิ่งแวดล้อมกี่ครั้ง สำหรับ “เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ” เมื่อ 3 ปีก่อนเธอเห็นภาพภูเขาหัวโล้นที่ถูกส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดีย จึงตัดสินใจทำโครงการ Little Forest กับกลุ่มเพื่อน เพื่อปลูกป่า สร้างฝาย และสร้างความตระหนักรู้ให้คนในพื้นที่ โดยลงไปทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง จากคำถามแรกนั้น เชื่อว่าเรื่องราวของเชอรี่และ Little Forest ต่อไปนี้ อาจบอกได้ว่าจำนวนของปัญหาที่เกิดขึ้นอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ทำอะไรบ้าง

เชอรี่-เข็มอัปสร

Inspiration Starts Here

“ความจริงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ตัวทุกคนมาก แต่เป็นเรื่องที่ถูกเมินเฉยมากที่สุด แม้แต่เชอรี่ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาเราเป็นเด็กที่เติบโตมาในเมือง พอไปเที่ยวป่าก็รู้สึกว่าธรรมชาติสวยจัง อยากไปอีก แต่ไม่เคยรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราต้องปกป้องหรือร่วมรับผิดชอบ มาวันนี้ยังสงสัยตัวเองว่าโตมากับความคิดนั้นได้อย่างไร เพราะควรเป็นจิตสำนึกที่มีมาตั้งแต่เด็ก จนได้โอกาสร่วมทริปสั้นๆ กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเปลี่ยนมุมมองชีวิตของเชอรี่ไปเลย เพราะได้สัมผัสกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จริง”

2559 กับชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ปี 2559 ที่ประเทศไทยเจอภัยแล้งรุนแรง มีการบุกรุกถางป่า ซึ่งจริงๆ มีมานานแล้วแหละ แต่เป็นปีที่คนได้รับรู้เยอะ เพราะมีการส่งภาพต่อทางโซเชียลมีเดีย ตอนนั้นเชอรี่ได้คุยกับอาจารย์อโนทัย ชลชาติภิญโญ พี่โรจน์-ภูภวิศ กฤตพลนารา และเพื่อนๆ ที่เคยทำโปรเจ็กต์ Little Help Nepal ระดมทุนช่วยเหลือชาวเนปาลที่เจอภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปี 2558 ด้วยกัน ว่าอยากทำอะไรสักอย่าง แต่เราไม่มีข้อมูล

“พอดีมีรุ่นพี่ของเชอรี่ที่ทำงานอยู่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โทร.มาบอกว่ากำลังจัดทริปลงพื้นที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นภูเขาหัวโล้นที่ถูกส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดียนี่ละ เขาหาอาสาสมัครที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ลงพื้นที่ เพื่อนำเรื่องราวไปเล่าต่อ สนใจไปด้วยกันไหม เชอรี่จึงตอบตกลงทันที

“วันที่ไปถึง ทั้งที่เป็นหน้าฝน แต่ก็เห็นถึงความแห้งแล้งและการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง แว่บแรกยังคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่เราจะช่วยได้หรือเปล่า แต่สักพักก็คิดใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นลองย้อนมองที่ตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Little Forest”

เชอรี่-เข็มอัปสร

รวมพลังจิตอาสา

“เป้าหมายหลักของ Little Forest คือการสร้างความตระหนักรู้ให้คนในพื้นที่ไม่บุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม รวมถึงการปลูกต้นไม้ ซึ่งความจริงบริเวณนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์อยู่แล้ว แต่เราเข้าไปปลูกต้นไม้เสริม โดยมีผู้ชำนาญการให้คำแนะนำว่าควรปลูกต้นไม้อะไรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมนั้น จากนั้นก็คอยคุ้มกันไม่ให้ใครมาทำลาย ปล่อยให้ต้นไม้ได้โตจนเป็นป่าที่เต็มระบบนิเวศขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นแนวทางในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ‘ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องทำอะไร ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์’ หลังจากนั้นเราจึงเริ่มกิจกรรมปลูกป่า โดยการเชิญชวนทั้งบุคคลและบริษัทเป็นผู้อุปถัมภ์ป่า ในปี 2559 ปลูกป่าไปแล้วจำนวน 200 ไร่ ในสวนป่าวังชิ้น จังหวัดแพร่

“นอกจากนี้เรายังสร้างฝายน้ำที่หมู่บ้านนาพูน จังหวัดแพร่ ซึ่งไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้เลยนะคะ เพราะการสร้างฝายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือช่วยกักเก็บน้ำ ชะลอการไหลเวียนของน้ำ และยังป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย ส่วนข้อเสียคือถ้าสร้างผิดที่อาจกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เชอรี่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่ช่วยดูพื้นที่ว่าลำน้ำนี้ควรสร้างฝายตรงไหนให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ โดยเชอรี่มีหน้าที่หาสตางค์ในการทำงาน พาตัวแทนชุมชนไปเรียนการสร้างฝายด้วยกัน แล้วนำกลับมาสอนพี่ๆ น้องๆ ในชุมชน

“พอถึงวันทำงาน เชอรี่ก็เปลี่ยนจากเจ้าของโปรเจ็กต์เป็นโฟร์แมน (หัวเราะ) คอยบริหารจัดการเรื่องรถแบ็กโฮว่าเข้าออกทางไหน ขุดตรงไหนก่อน นำหินมาส่งลงตรงไหน ซึ่งทีมงานส่วนหนึ่งก็คือแฟนคลับของเชอรี่ด้วย แต่ละคนต้องเคลียร์ธุระของตัวเองเพื่อมาซัพพอร์ตเรา ช่วยกันต่อแถวส่งหินที่หนักมาก บางคนไปมัดลวดสำหรับทำฝาย อีกคนได้แผลเลือดออกก็มี พอมองไปที่ภาพนั้น เชอรี่รู้สึกซาบซึ้งมากๆ ที่ทุกคนยอมลำบาก ตากแดด เจอฝุ่น ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อาหารกลางวันก็กินกันง่ายๆ โดยพี่ป้าน้าอาในหมู่บ้านที่ช่วยกันทำให้พวกเรา แต่เขาดูมีความสุขและหัวเราะได้ เชอรี่อยากบอกว่าขอบคุณทุกคนมากจริงๆ” (ยิ้ม)

เชอรี่-เข็มอัปสร

Mission is Possible

“นับจากวันแรกที่เริ่มโครงการจนถึงวันนี้ก็ 3 ปีแล้ว พอได้กลับไปยังพื้นที่ แล้วเห็นต้นไม้ที่เราช่วยกันปลูกเติบโต หลายต้นสูงพ้นหัวเชอรี่ไปแล้ว เป็นความรู้สึกที่ชื่นใจมากๆ (ยิ้ม) จากทางเดินที่ผ่านไร่ข้าวโพดกับบริเวณที่ถูกบุกรุก เชอรี่ยังจำได้ว่ารู้สึกร้อนมาก แต่พอเดินเข้าไปถึงพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟู บรรยากาศแตกต่างกันมาก จากความร้อนแผดเผามาจากข้างนอก แต่อากาศข้างในเย็น ทั้งที่อยู่ห่างกันแค่นิดเดียว และพอเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่เล่าว่าต้นไม้นั้นมีประโยชน์อย่างไร มีพืชสมุนไพรช่วยรักษาอะไรได้บ้าง เป็นระบบนิเวศที่เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก แล้วก็ได้ไปเห็นตาน้ำ จากที่เคยนึกว่าน้ำแข็งละลายมาเป็นแม่น้ำ (หัวเราะ) อ๋อ…ที่จริงมีตาน้ำที่ผุดขึ้นมาแบบนี้เอง

“ตอนนี้โปรเจ็กต์ที่แพร่ครบกำหนด 3 ปี ที่เรารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลต้นไม้แล้ว ตอนนี้ทางพื้นที่จะช่วยดูแลต่อ ส่วนเชอรี่ก็กำลังวางแผนว่าจะทำ โครงการอะไรต่อดี คงไม่ได้หยุดแค่นี้ค่ะ ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปเลยก็ได้ เพราะที่ผ่านมาเราโตมากับอาชีพนักแสดงตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่พอได้ทำโครงการสิ่งแวดล้อม รู้สึกเลยว่าโลกใหญ่กว่ารัศมีรอบตัวเราเยอะมาก

“พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกทำงานในวงการบันเทิงแล้วนะคะ เพียงแค่ไม่ได้เล่นละคร แต่มีงานอื่นที่ทำอยู่ เช่น โฆษณา พรีเซ็นเตอร์ อีเว้นต์ บ้าง แต่จะอยู่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เพื่อให้มีเวลาในการอยู่กับครอบครัว ออกกำลังกายให้แข็งแรง แล้วก็ลงพื้นที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นเมื่อไหร่นะคะ ปรับไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม”

เชอรี่-เข็มอัปสร

ปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมไทย

“เชอรี่คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือมนุษย์นี่ละ เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกด้าน แต่หลายคนไม่มีความรู้สึกว่านั่นคือปัญหา นี่จึงเป็นประเด็นที่น่ากลัวที่สุด เพราะถ้าไม่รู้แม้กระทั่งว่านี่คือปัญหาของทุกคน แล้วจะหาทางแก้ได้อย่างไร

“ถ้าย่อภาพของโลกให้เล็กลงเป็นเกาะ ถ้าเราอยู่กันโดยไม่มีการดูแล มีแต่ใช้ ทิ้ง และผลาญทุกอย่าง มันอาจใช้เวลาไม่เกิน 1 ช่วงชีวิตที่จะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมากขนาดไหน แต่โลกที่มีขนาดใหญ่อาจใช้เวลาหลายช่วงชีวิตคนที่จะรับรู้ แต่ความจริงคือปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมมากขึ้นทุกวัน ถ้าเราแค่บอกว่าอากาศไม่ดีเลย ไม่ชอบ แล้วแก้ปัญหาอย่างไรล่ะ ด้วยการปิดโรงเรียน ไม่ไปทำงาน อยู่แต่ในบ้าน นี่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะในระยะยาวปัญหาจะรุนแรงกว่านี้และไม่ใช่แค่เรื่องของอากาศ แต่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพียงเล็กน้อยและร่วมมือกันทุกๆ ฝ่ายอย่างจริงจัง

“ในวันนี้ประเทศไทยมีความเศร้าหมองของเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น ตั้งแต่ป่าถูกทำลาย อากาศเป็นพิษ การปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน การทิ้งขยะลงทะเล ทั้งหมดนี้อาจเป็นมุมมองที่ฟังดูแล้วหดหู่ แต่ถ้ามองในแง่ดีคือเราก็มีโอกาสในการแก้ไขได้ตั้งหลายประเด็น ใครสนใจเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองให้ดีขึ้น”

เชอรี่-เข็มอัปสร

จากป่าสู่เมือง

“Little Forest เปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของเชอรี่ อย่างเรื่องการประหยัดน้ำ ซึ่งเดิมก็ระวังเรื่องนี้อยู่แล้วนะคะ แต่พอได้ลงพื้นที่แห้งแล้ง เห็นชาวบ้านไม่มี กระทั่งน้ำดื่มน้ำกิน น้ำคือของมีค่าสำหรับเขามากๆ ตั้งแต่นั้นจึงเข้มงวดกับตัวเองขึ้น บางครั้งเห็นคนอื่นเปิดก๊อกน้ำหรือไฟทิ้งไว้ แล้วจะถามว่าปิดได้ไหมคะ หรือบางทีไม่พูดแต่ทำเลย อย่างสปาที่เชอรี่ไปนวด พอใช้ห้องเสร็จจะปิดไฟให้ หรือถ้าเห็นห้องไหนไม่มีคนอยู่ก็จะเดินไล่ปิดไฟ พยายามแอบทำ ไม่กระโตกกระตากให้ใครอึดอัดหรือมองเราแปลกๆ ด้วย (หัวเราะ)

“ความจริงยังมีอีกหลายสิ่งที่เชอรี่อยากทำแต่ยังไปไม่ถึง เช่น การลดขยะให้ได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้เชอรี่อาจลดการใช้งานแก้ว ถุง หรือขวดน้ำที่ทำจาก พลาสติก แต่ยังมีโปรดักต์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะของผู้หญิงที่ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีเลือกยี่ห้อที่เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนของอย่างนั้น หรือมีหลายคนที่ใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือไม่สร้างขยะเลย เมื่อก่อนเชอรี่จะมองว่าทำไมสุดโต่งจัง แต่วันนี้รู้สึกชื่นชมเขามาก ซึ่งที่สุดแล้วเชอรี่อาจทำขนาดนั้นไม่ได้หรอก แต่จะเดินไปทางนี้แหละ ตรงไหนที่ทำได้ก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ

“อีกสิ่งที่ตัวเองได้คงเป็นการเติบโตทางจิตวิญญาณในแง่ของความเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ ว่าจริงๆ แล้วทุกคนมีหน้าที่บนโลก เราไม่ได้เป็นผู้ที่มา อาศัยหรือกอบโกยอย่างเดียว แต่ยังมีหน้าที่ดูแลให้บ้านหลังนี้อยู่ไปถึงคนรุ่นหลัง ซึ่งคนรุ่นเรายังเพิกเฉย คำถามต่อมาคือถ้าเราไม่ทำตอนนี้ แล้วจะทำ ตอนไหน ถ้าไม่ใช่เรา แล้วใครจะทำ สิ่งนี้อาจเป็นความรู้สึกที่เชอรี่ได้จากการทำโครงการ Little Forest

“เชอรี่เชื่อว่าทุกคนมีความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในตัว เพียงแต่ว่าสวิตช์กดเปิดอาจถูกบดบังด้วยภาระหน้าที่การงาน เป็นเหมือนวัชพืชที่มาคลุมไว้ แต่พอวันหนึ่งที่ถูกถางทางออกแค่นิดเดียวเท่านั้นแหละ มันจะเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง เพื่อให้บ้านของเราแข็งแรงและสวยงามขึ้น”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 946

ภาพเพิ่มเติม : @cherrykhemupsorn

Praew Recommend

keyboard_arrow_up