เอ-ศุภชัย

เปิดชีวิตสุดขั้วของ “เอ-ศุภชัย” ผู้จัดการดาราที่ฮ็อตเทียบชั้นซุป’ตาร์ได้

Alternative Textaccount_circle
เอ-ศุภชัย
เอ-ศุภชัย

ถ้าต้องให้คำจำกัดความแบบกระชับที่สุดสำหรับ เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ก็อาจเป็นประโยคที่บอกว่า ผู้จัดการดาราอันดับหนึ่งของเมืองไทย แต่ในหนึ่งชีวิตมีเรื่องราวมากกว่านั้น โดยเฉพาะผู้จัดการดาราคนนี้ที่ชีวิตอยู่ห่างไกลจากคำว่าธรรมดาแบบสุดขั้ว ไม่ว่าการทุ่มเงินปั้นดาราหน้าใหม่ในระดับหลายล้านบาท การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก การช้อปปิ้งจนเสื้อผ้าล้นทะลักตู้ (ถึงขนาดต้องทุบห้อง ทำใหม่) หรือวันดีคืนดีก็ลุกขึ้นมาถ่ายวิดีโอเต้น Cover เพลงลงโซเชียลมีเดีย แต่อีกมุมเขาคือคนที่รักการทำงานอย่างบ้าคลั่ง คนที่จัดสรรการใช้เงินอย่างมีวินัย และดูแลศิลปินในสังกัดเหมือนเป็นลูก ซึ่งคงอยู่ที่ว่าเรามองเขาจากมุมไหน แต่ย้ำอีกครั้งว่า คำว่าธรรมดาไม่มีอยู่ในสารบัญชีวิตของผู้จัดการสายแซ่บคนนี้จริงๆ

เอ-ศุภชัย

ตารางชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ทำธุรกิจหลายอย่างค่ะ ที่เห็นชัดเจนคือร้านอาหาร ตั้งแต่ร้านตำแหลที่เปิดมา 5-6 ปี และขยายสาขาไปเรื่อยๆ นอกจากนี้มีกินแหลชาบู ชาไต้หวันบับเบิ้ลทีที่เรานำมาเปิดเมืองไทย ร้านปิ้งย่าง Nice Two Meat U ร้านอาหารใต้ Let’s Sator ร้านลมโชย @ล้ง1919 ที่หุ้นกับเพื่อน ฯลฯ

ในอนาคตอาจนำธุรกิจอาหารเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังไม่ได้วางแผนว่าเมื่อไร เพราะยังพอใจกับรูปแบบการทำงานในตอนนี้และกำไรที่ได้ ถ้าเข้า ตลาดหลักทรัพย์คงต้องใช้พลังในการทำงานเยอะขึ้น เหมือนมีใครนำไฟมาลนก้นตลอดเวลา ขอทำสบายๆ แบบนี้ก่อนดีกว่า

นอกจากนี้ก็ทำธุรกิจเสื้อผ้ากับขายข้าว เรามีโรงสีข้าวที่จังหวัดสุพรรณบุรี และที่ดินเกือบ 100 ไร่แถววัชรพล ตอนแรกวางแผนพัฒนาที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่ตัดสินใจทำนาก่อน ข้าวสารที่ได้ก็นำมากินด้วย ขายด้วย

จัดตารางชีวิตให้ทำทุกอย่างได้ทันอย่างไร

จริงๆ ไม่ยากเลย ตื่นนอนก็ออกกำลังกาย เสร็จแล้วเข้าไปดูที่นาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเท่าไร ต่อด้วยโทร.เช็กกับคนดูแลศิลปินว่าน้องๆ เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้น้องณเดชน์อยู่ไหน โฆษณาที่คุยไว้โอเคไหม ส่วนเรามีหน้าที่โทร.ไปคุยกับลูกค้าหรือเจ้าของแบรนด์ ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ ตอนนี้เป็นเพื่อนกันหมดแล้ว การที่เราคุยเองจึงง่ายกว่า ถามเขาว่าช่วงนี้ต้องใช้พรีเซ็นเตอร์อะไรบ้างไหม ก็เป็นหน้าที่ของเราในการบอกว่าศิลปินของเราดีอย่างไร ถ้าคุณใช้งานจะคุ้มค่ามาก

พอ 4-5 โมงเย็นก็เข้าบริษัทที่สยาม โทร.เช็กร้านอาหารแต่ละแห่งว่าเป็นอย่างไร ถ้าร้านไหนมีปัญหาก็จะส่งคนไปตรวจบัญชีและรายละเอียดต่างๆ ว่ามีการโกงเกิดขึ้นไหม พนักงานตั้งใจทำงานหรือเปล่า ถึงสิ้นเดือนก็ให้คนเข้าไปจ่ายเงินเดือน เพราะมีผู้จัดการบางสาขาเคยโกงโดยใช้วิธีให้หน้าม้ารับเงิน แทน

เอ-ศุภชัย

ในแต่ละวันตารางงานยาวเหยียดแบบนี้ กว่าจะได้พักคือกี่โมง

ถ้าไม่อยู่ออฟฟิศ เราจะตระเวนไปดูร้านอาหารต่างๆ จนถึง 4 ทุ่ม พร้อมกับหาธุรกิจใหม่ๆ ทำอยู่ตลอด อย่างน้ำจิ้มที่ร้านอาหารของเราอร่อย ก็เลยคิดโปรเจ็กต์ผลิตน้ำจิ้มแบ่งใส่ถุงขายด้วย นอกจากนี้ยังทำเครื่องสำอาง จับมือกันกับเพื่อนที่เกาหลีเปิดคลินิกศัลยกรรมที่โน่น

ความจริงคุณน่าจะมีเงินใช้ชีวิตได้แบบสบายๆ ทำไมยังคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อยู่ตลอด

มีคนถามเยอะเหมือนกัน ตอนนี้เราทำธุรกิจกับเด็กรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งถามเราแบบนี้ว่า พี่เอไม่พออีกเหรอ เราจึงยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า น้องคิดดูนะ ถ้าพี่เอซื้อกระเป๋าวันละใบ ราคาใบละ 1 ล้านบาท แล้วพี่เอซื้อกระเป๋า 365 วัน เงินหมดไป 365 ล้านแล้ว แบบนี้จะหยุดทำงานได้อย่างไร

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าซื้อกระเป๋าแบบนั้นจริงๆ นะ แต่อธิบายให้เห็นภาพว่าถ้าจู่ๆ หยุดทำงาน แล้วเกิดเรื่องฉุกเฉินกับธุรกิจหรือตัวเรา แล้วจะหาเงินที่ไหนมาจัดการ เพราะฉะนั้นในเมื่อวันนี้ยังแข็งแรงก็อยากทำงานให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล ถ้าพรุ่งนี้ต้องใช้เงิน ก็รู้ว่ามีเงินสแตนด์บายอยู่แล้ว หรือถ้าธุรกิจไหนไปไม่รอด จะได้ล้มบนฟูก ไม่ต้องลงบนพื้นแข็งๆ แต่ก็ต้องมีความสุขในการทำงานด้วยนะ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รู้สึกเหนื่อย มีความสุขทุกวัน ได้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเดือนละครั้ง อยากกินอะไรก็ได้กิน

เอ-ศุภชัย

ถ้าคิดมุมกลับว่า ทำไมไม่ใช้เงินในแต่ละวันให้น้อยลงล่ะ

ไม่เอาอะ แบบนั้นไม่สนุก เหมือนไม่ใช่ตัวเอง เราว่าชีวิตเปลี่ยนไปตามเวลาด้วย อย่างย้อนกลับไปสมัยที่เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯใหม่ๆ เรามาแค่ตัว พยายามหางานทำ เริ่มจากเป็นตัวประกอบละคร ได้เงินวันละ 300-500 บาท จากนั้นก็ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย จากเงินออม 500 บาทก็เป็น 50,000 บาท ซึ่งทุกครั้งที่หาเงินได้จะแบ่งเป็น 3 ก้อน ส่วนแรกฝากธนาคาร ส่วนที่สองนำไปลงทุน ส่วนที่สามใช้จ่ายเพื่อตัวเอง ซึ่งในวันนั้นเราก็ไม่ได้ใช้เงิน เท่าวันนี้ กินข้าวมื้อหนึ่งอย่างมากก็ 300 บาท

มาถึงวันนี้จริงๆ ก็ไม่ได้ใช้เงินเกินตัวหรือไม่ประหยัด แต่ที่กล้าใช้เยอะขึ้น เพราะทำงานหนักและหาเงินได้มากขึ้น แต่เราก็ยังมีวินัยในการแบ่งเงินเป็น 3 ก้อนเหมือนเดิม นอกจากใช้จ่ายเพื่อตัวเอง ยังมีเงินเก็บและส่วนที่ใช้ลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ร้านอาหารที่เจ๊งก็มี เมื่อไปต่อไม่ได้ก็รีบปิด ไม่เก็บไว้เป็นเนื้อร้าย

และเมื่อชีวิตเดินทางถึงอายุ 60-70 ปี เราก็คงไม่ได้ไปเที่ยวไกลๆ หรือถือกระเป๋าหนักไม่ไหวแล้ว ทุกอย่างคงเป็นไปตามสเต็ป เอ-ศุภชัย ในวันนั้นก็อาจเป็นอีกแบบ แต่วันนี้ขอใช้ชีวิตเต็มที่ก่อน อย่างเวลาไปเที่ยวเมืองนอก ก็เตรียมเสื้อผ้าไปแบบจัดเต็ม บางทริปใส่ไม่หมดก็มี ช่วงนี้ชอบแบรนด์ Vetements ซื้อทุกตัวเลย แล้วก็ซูเปอร์แบรนด์ พวก Balenciaga กับ Prada

เอ-ศุภชัย

พูดถึงบทบาทผู้จัดการดาราบ้าง คุณยังดูแลน้องๆ นักแสดงใกล้ชิดเหมือนเดิมไหม

ใกล้ชิดค่ะ เราเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เด็กในสังกัดจะซื้อบ้านละแวกเดียวกัน เพราะเขาคุ้นเคยโลเกชั่นนี้ตั้งแต่สมัยอยู่บ้านเรา อย่างบ้านณเดชน์ก็อยู่ใกล้ๆ กัน บางทีแม่แก้วไปเที่ยวไหนก็ซื้อของมาฝาก หรือเวลาเราไปเที่ยวบ้างก็ซื้อของมาให้

ถ้าในความรู้สึกเรา เหมือนไม่ได้เป็นแค่ผู้จัดการกับดาราแล้ว เป็นคนในครอบครัวที่คอยดูแลกันมากกว่า เรื่องไหนที่เห็นว่าทำไม่ถูกต้องก็จะพูดกันตรงๆ และโทรศัพท์ถามสารทุกข์สุกดิบกันอยู่เสมอ แต่เราจะโทร.หาคนที่ดูแลนะ เช่น ถ้าคิดถึงเจมส์ มาร์ ก็จะโทร.บอกน้องอ๋าว่าพี่เอขอคุยกับเจมส์หน่อย จริงๆ มีเบอร์ตรงของน้องแหละ แต่รู้สึกว่าใช้วิธีนี้เป็นการให้เกียรติแม่ๆ ที่ดูแลน้องแต่ละคนด้วย

หรือน้องผู้หญิงหลายคนที่ออกจากบ้านไป เช่น เดียร์น่า ฟลีโป, เนย-โชติกา หรือกุ๊บกิ๊บที่แม้ว่าช่วงหลังเจอกันน้อยลง แต่พอเจอกันปุ๊บก็ต่อกันติดปั๊บ เพราะเคยนั่งล้อมวงกินข้าวและใช้ชีวิตด้วยกัน

เอ-ศุภชัย

กับอั้ม-พัชราภา ที่ทำงานมาด้วยกันตั้งแต่วันแรกล่ะ

แค่มองตาก็รู้ใจแล้ว อั้มนิสัยดีและรักพวกพ้องมาก เห็นชอบแกล้ง ชอบอำ แต่เวลาเรามีปัญหา อั้มจะเป็นคนแรกที่มาหา อย่างช่วงหนึ่งที่เรามีข่าวขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับดาราที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือลูกน้องตัวเองนำดาราไปทำอะไรอย่างนี้ อั้มก็เป็นคนแรกที่ขับรถมาหาที่บ้านแล้วบอกว่า ฉันรู้สึกว่าเธอต้องไม่สบายใจแน่เลย เดี๋ยวมาทำกับข้าวกินกันนะ

ที่ผ่านมาเวลาปั้นดาราใหม่ คุณจะลงทุนเต็มที่ ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนั้นไหม

เหมือนเดิม แต่การส่งเด็กออกมาก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาด้วย เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าความรักของแฟนคลับต่อดาราก็เหมือนการมีแฟนอยู่แล้ว ในเมื่อแฟน ยังสวยแซ่บอยู่ ก็ยากที่จะชอบคนอื่น เราไม่อยากทำคนมาแข่งกันเองด้วย ตอนนี้จึงมีเด็กที่บ่มไว้ รอให้สุกเต็มที่ ถึงเวลาจริงๆ ค่อยพาออกมา

เราโชคดีที่ดาราที่ปั้นหลายคนยังอายุไม่เยอะด้วย อย่างน้องณเดชน์ที่ตอนนี้อายุ 27 ปี ซึ่งเท่ากับพี่ป๋อ-ณัฐวุฒิ สมัยเข้าวงการบันเทิง อย่างตอนที่เราพาพี่ป๋อมาสัมภาษณ์ แพรว ครั้งแรกก็อายุเท่าณเดชน์ในวันนี้ เขาจึงมีเวลาในการทำงานในวงการนี้อีกพอสมควร

เอ-ศุภชัย

การเป็นผู้จัดการดาราในปี 2019 ต่างจากวันแรกที่ก้าวเข้ามาในวงการนี้แค่ไหน

จริงๆ เหมือนเดิมนะ โจทย์ของเราคือการสร้างซูเปอร์สตาร์หรือไอดอล ซึ่งกินความหมายกว้าง ขณะที่บางคนอาจสร้างแค่ดาราหน้าตี๋ หรือจับมาร้องเพลงเป็นบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ป แล้วมีแฟนคลับบางกลุ่มตามไปทุกที่ ซึ่งไม่ได้ผิดนะ เราเข้าใจวิธีนั้น แต่ความที่เราตั้งโจทย์แต่แรกว่าทำอย่างไรให้ คนไทยทั้งประเทศรักคนของเรา เราต้องทำอย่างไรให้คนที่วิ่งตามศิลปินที่เขาชื่นชอบ แต่พอเห็นดาราของเราแล้วหันกล้องมาถ่ายรูป เหมือนวันหนึ่งที่มีศิลปินต่างชาติกลุ่มหนึ่งเดินทางไปสนามบิน ซึ่งอั้มก็เดินทางในวันนั้นพอดี พอแฟนคลับของศิลปินกลุ่มนั้นเห็นก็หันมาถ่ายรูปอั้ม ดาราของเราต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกกลุ่ม

การเป็นผู้จัดการดารากับนักธุรกิจ อย่างไหนยากกว่ากัน

งานในวงการบันเทิงยากที่สุด ไม่ใช่เรื่องง่ายในการประคองความสำเร็จให้อยู่ได้นานๆ ซึ่งเราก็มั่นใจว่าตัวเองยังเป็นที่หนึ่งของสายงานนี้อยู่ สมัยตอน ก้าวเข้ามาใหม่ๆ คนยังมองไม่เห็น แต่พอเริ่มมีชื่อเสียงก็เหมือนอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์ ทำอย่างไรให้คนรักน้องๆ ของเรามากๆ และยาวนานเป็นเรื่องยากที่สุด

ภูมิใจกับเส้นทางของตัวเองแค่ไหน

คิดถึงเส้นทางของตัวเองทุกวันเลย (ยิ้ม) ช่วงต้นปีที่โลกออนไลน์เล่น 10 Year Challenge นำรูปสมัย 10 ปีก่อนมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน พอเราค้นรูปเก่าๆ ก็ทำให้เจอรูปสมัย 20-30 ปีก่อนด้วย พอดูแล้วก็ทำให้คิดว่า โห เราผ่านอะไรมาเยอะ เริ่มจากการเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เรียนหนังสือที่โรงเรียน วัดทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เป็นเด็กผู้ชายหัวโปก มาถึงวันนี้ที่แต่งหน้า ทำผม ใส่วิกผมโดยไม่ต้องอายแล้ว ซึ่งเราก็รู้สึกอิสระ และมีความสุขด้วย

หลังจากเรียนจบมัธยมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง ซึ่งสำหรับเราเหมือนไม่ได้ทำงาน เพราะสนุกมาก จากนั้นก็ทำงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตลอดจนมาถึงวันนี้

เอ-ศุภชัย

เหมือน 10 Year Challenge ทำให้ย้อนคิดถึงไทม์ไลน์ที่ สำคัญๆ ของชีวิต

ใช่ ไม่น่าเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งที่มาจากภาคใต้ ครอบครัวทำอาชีพค้าขายในหมู่บ้านเล็กๆ แต่วันนี้มีบริษัทของตัวเอง วันดีคืนดีอยากไปเที่ยวเมืองนอก ก็ซื้อตั๋วเครื่องบินไปได้เลย แต่ขณะเดียวกันก็ยังกินข้าวข้างถนนอยู่เหมือนเดิม มีเงินไปทำบุญทอดกฐินที่วัดแถวบ้าน ไปช่วยเหลือโรงเรียนที่เคยเรียน พอตก กลางคืนก็คุยโทรศัพท์เมาท์มอยกับเพื่อนๆ บ้าง ไม่ต้องมานั่งคิดมากหรือเครียดว่าพรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนใช้ เพราะเราหาเตรียมไว้แล้ว สำหรับเราทั้งหมดนี้คือความสุขนะ

ถ้าให้เลือกคีย์เวิร์ดเพียงคำเดียวที่ทำให้ เอ-ศุภชัย มาถึงวันนี้ได้ คำนั้นคือคำว่าอะไร

คำว่า อดทน ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ความอดทนในทุกๆ เรื่อง ถ้ามีสิ่งนี้อยู่ในใจจะทำให้ผ่านอุปสรรคได้ทุกเรื่อง ทั้งทนคำพูดเสียดสีของคนอื่น ทนการเอาเปรียบ ทำร้าย แล้วไม่ตอบกลับ บางครั้งเราก็ต้องยอมอยู่เฉยๆ เพื่อให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าต่อ เพื่อให้เขาตามไม่ทัน เราสอนทีมงานและน้องๆ นักแสดง ทุกคนว่าต้องอดทนนะ ถ้าวันนี้ยังไปไม่ถึงในสิ่งที่ต้องการ นอกจากความพยายามแล้ว ความอดทนจะทำให้คุณประสบความสำเร็จ


 

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 945

ภาพเพิ่มเติม : @a_supachai1

Praew Recommend

keyboard_arrow_up