รวมเหตุการณ์สุดซึ้ง แสดงถึง “น้ำใจ” เพื่อนมนุษย์ จากเหตุโจมตีกรุงปารีส

ทำเอาทั่วทุกมุมโลกเข้าสู่โหมดโศกสลด หลังเกิดเหตุโจมตีในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงค่ำคืนวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเป็นบาร์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร สนามกีฬา และหอแสดงดนตรี จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 128 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ กลุ่มรัฐอิสลาม (IS)ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าอยู่เบื้องหลัง เพื่อตอบโต้กรณีที่ฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาซีเรีย ซึ่งหลังเกิดเหตุทางการฝรั่งเศสได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมปิดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงปารีส และออกคำสั่งให้มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย

แม้ปารีสจะกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าเสียใจ แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งก็พร้อมที่จะอ้าแขนให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในรูปแบบของกำลังใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์ ตลอดจนที่พึ่งพิง แม้ไม่อาจเทียมเท่าความสูญเสีย และทดแทนคนรักที่จากไป แต่ถือเป็นการช่วยเหลือที่อบอุ่น มีความหมาย พอหล่อเลี้ยงหัวใจของคนที่กำลังอยู่ในสภาวะเสียขวัญ ได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี

รวมเหตุการณ์ประทับใจ แสดงถึงน้ำใจเพื่อนมนุษย์ จากเหตุโจมตีกรุงปารีส

1. เปิดบ้านรับผู้เดือดร้อน

หลังเกิดเหตุโจมตี และมีรายงานข่าวเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ได้ไม่นาน ชาวกรุงปารีสที่ไม่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันเสนอวิธีมอบความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยการใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร โดยพร้อมใจกันทวีตข้อความว่า #PorteOuverte ซึ่งหมายความว่า #ประตูเปิด เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องการความช่วยเหลือ สามารถมาพักหรือมาหลบภัยที่บ้านของพวกเขาได้

ตัวอย่างข้อความ
= Si vous êtes sur Paris et avez de la place chez vous, n’oubliez pas le hashtag #porteouverte
ถ้าหากคุณอยู่ในปารีส และที่บ้านของคุณมีที่เหลือเพียงพอ อย่าลืมติดแฮชแท็ก #porteouverte ด้วยนะ
= Hi guys. If you need a shelter near République, pm me. #porteouverte Plus, we have beers.
สวัสดีพวก ถ้าคุณต้องการที่พักหลบภัยใกล้ ๆ กับจัตุรัส République ส่งข้อความหลังไมค์มาได้นะ #porteouverte อ้อ เรามีเบียร์ด้วยล่ะ จอยได้นะ

และในคืนเดียวกันก็มีการสร้างเว็บไซต์ http://porteouverte.eu ขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมมูล และที่อยู่ของบ้านที่พร้อมมอบความช่วยเหลือด้านที่พักให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างเต็มใจ ซึ่งความช่วยเหลือนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งได้ทวีตบอกว่า ขณะนี้บ้านของเขาต้อนรับผู้เดือดร้อนแล้ว 10 ราย และอนุญาตให้คนอื่นๆ รีทวีตข้อความของเขาต่อไปได้อีกเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนมีโอกาสเห็นมากที่สุด

2. อ้อมกอดเพื่อปลอบขวัญ

ในช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ย. ชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง ชูป้ายเสนอ “กอดฟรี” บริเวณจัตุรัส République (Place de la République) ใจกลางกรุงปารีส เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจกับชาวปารีส หลังเกิดเหตุก่อการร้าย โดยมีผู้สนใจมาต่อแถวเพื่อรับอ้อมกอดจำนวนมาก และบางคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความตื้นตัน

และใกล้ๆ จุดไว้อาลัยในจัตุรัส République ชายคนหนึ่งร่วมแสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย และแสดงจุดยืนว่า มุสลิมไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายไปเสียทุกคน โดยเขาใช้ผ้าผูกตาตัวเอง และมีป้ายเขียนข้อความจำนวน 2 ป้าย โดยป้ายหนึ่งระบุข้อความว่า “ผมเป็นมุสลิม ใครๆ ก็บอกว่าผมเป็นผู้ก่อการร้าย” และอีกป้ายเขียนว่า “ผมเชื่อคุณ แล้วคุณล่ะเชื่อผมมั้ย? หากเชื่อ กอดผมหน่อย” มีผู้สนใจและแวะมากอดให้กำลังใจชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย และบางรายได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วย

หนุ่มมุสลิมให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า “ผมทำสิ่งนี้เพราะต้องการส่งสารให้กับทุกคน ว่าผมเป็นมุสลิม แต่การเป็นมุสลิมไม่ได้ทำให้ผมเป็นผู้ก่อการร้าย ผมไม่เคยฆ่าใคร ผู้ก่อการร้ายก็คือผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ที่ปรารถนาจะเข่นฆ่าผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นมนุษย์ ซึ่งชาวมุสลิมไม่มีทางทำอย่างนั้น มันขัดต่อหลักศาสนาของเรา”

3. ร้องเพลงชาติปลุกใจขณะอพยพ

นอกจากเหตุกราดยิงภายในหอแสดงคอนเสิร์ตแล้ว ยังมีการระเบิดเกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง ได้ยินเสียงดังชัดที่สนามกีฬา สต๊าด เดอ ฟร็องซ์ (Stade de France) ระหว่างช่วงพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตร ของทีมชาติฝรั่งเศส กับทีมชาติเยอรมนี โดยการแข่งขันยังคงดำเนินต่อไปจนเกือบจบเกม แต่ประชาชนเริ่มอพยพออกจากสนามตั้งแต่ได้ยินเสียงตะโกนว่า “มีการก่อการร้าย” ท่ามกลางการอพยพอย่างขวัญเสียของกลุ่มคนจำนวนมาก ผู้คนต่างเริ่มร้องเพลงชาติฝรั่งเศส “La Marseillaise” เพื่อปลุกปลอบใจซึ่งกันและกัน ระหว่างทยอยเดินออกนอกสนาม

4. ประชาชนต่อคิวบริจาคเลือดล้นหลาม

เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 200 ราย อาการสาหัส 80 ราย โรงพยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ต้องระดมกำลังกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ซึ่งการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้เกิดสถานการณ์เลือดในคลังเหลือน้อย หรืออาจไม่เพียงพอ กรณีนี้ประชาชนชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก แสดงพลังด้วยการเดินทางมาบริจาคเลือดอย่างล้นหลามแน่นโรงพยาบาล โดยนักข่าวฝรั่งเศส รายงานว่า โรงพยาบาล และหน่วยงานทางการแพทย์ ต้องเพิ่มจุดรับบริจาคเลือดนอกสถานที่เพื่อลดความแออัด แต่แม้จะรับบริจาคนอกสถานที่ ผู้คนก็ยังมาต่อแถวเข้าคิวยาว แสดงถึงความต้องการในการช่วยเหลือ เท่าที่จะสามารถหยิบยื่นให้ได้ สำหรับการบริจาคเลือดตามจุดต่าง ๆ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Twitter account บริจาคเลือดปารีส @DonSangParis หรือเว็บไซต์ http://dondusang.paris

5. ดนตรีบำบัดโดยนักเปียโน

นักดนตรีข้างถนน Davide Martello กระตือรือร้นในการหยิบยื่นความช่วยเหลือในรูปแบบของเขาเอง หลังทราบข่าวก่อการร้ายในกรุงปารีส โดยรีบหอบเปียโนตัวเก่งและบึ่งรถมาไกลกว่า 600 กิโลเมตร เพื่อบรรเลงเพลง “Imagine” ของ John Lennon ไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต เป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย และชาวเมืองปารีส โดยเขาบอกว่า ทราบเรื่องขณะแสดงดนตรีอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งตอนนั้นมีการฉายการแข่งขันฟุตบอล นัดระหว่างทีมชาติฝรั่งเศส กับทีมชาติเยอรมันด้วย โดยสนามกีฬาสต๊าด เดอ ฟร็องซ์ (Stade de France) เป็นจุดที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น จากนั้นจึงตัดสินใจโทรศัพท์หาเพื่อน และขับรถมาปารีสทันที โดยเลือกสถานที่ขับกล่อมเสียงดนตรีบริเวณด้านหน้าอาคารแสดงคอนเสิร์ตบาตากล็อง (Bataclan) ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด “ผมต้องทำอะไรสักอย่าง พวกเขาอาจต้องการดนตรี เพื่อบรรเทาความเศร้าหมอง และสร้างความหวังต่อไป”

6. นำ้ใจจากคนขับแท็กซี่

ในช่วงสถาณการณ์คับขัน ผู้คนหนีเอาชีวิตรอด รีบออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ณ ขณะนั้นกลุ่มคนขับแท็กซี่ในกรุงปารีส ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือประชาชน ด้วยการอาสารับส่งผู้โดยสารออกจากพื้นที่เกิดเหตุไปยังพื้นที่ปลอดภัยฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย และเต็มใจช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยผู้ใช้งาน Twitter รายหนึ่ง ทวีตข้อความเล่าว่า “แท็กซี่หลายคันรับส่งผู้คนในปารีสโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในพื้นที่เกิดเหตุ มีผู้คนหลายรายติดอยู่ในร้านอาหาร บาร์ และในครัว แท็กซี่อาสาช่วยพาออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย”

7. ทั่วโลกร่วมยืนหยัดเคียงข้าง

ผู้นำหลายประเทศทั่วโลก ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุโจมตีกลางกรุงปารีส และประกาศยืนหยัดและร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับฝรั่งเศส ขณะที่สถานที่สำคัญ หรือ Landmark ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ต่างประดับไฟ “Bleu Blanc Rouge” หรือ “น้ำเงิน ขาว แดง” สีของธงชาติฝรั่งเศส เพื่อร่วมให้กำลังใจ และไว้อาลัยกับเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น อาคาร World Trade Center ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, Sky Tower ในเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์, City Hall เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา, Calgary Tower แคว้นอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา, CN Tower สัญลักษณ์ประจำเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา, อาคารรัฐสภา Senate Building ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก, สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง London Eye ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ Sydney Opera House ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น ขณะที่หอไอเฟล Eiffle Tower สัญลักษณ์และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังกล่างกรุงปารีสเอง ก็มีทั้งการดับไฟ และประดับไฟสีธงชาติเพื่อไว้อาลัยเช่นกัน

ลำดับเหตุการณ์ และสถานที่เกิดเหตุ โศกนาฏกรรม #ParisAttacks
parisattacks

– มีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตี อย่างน้อย 128 ราย บาดเจ็บกว่า 200 ราย
– ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตทั้งหมด 8 คน
– ฝรั่งเศสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสั่งปิดพรมแดนประเทศ
– กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) แถลงอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้าย
– ปธน. ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประณามการกระทำของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS)
– กองทัพฝรั่งเศสปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ทิ้งระเบิด 20 ลูก ถล่มฐานที่มั่นกลุ่มรัฐอิสลาม (IS)

สถานที่เกิดเหตุ #ParisAttacks

– อาคารแสดงคอนเสิร์ตบาตากล็อง (Bataclan Concert Hall)
– สนามกีฬา สต๊าด เดอ ฟร็องซ์ (Stade de France)
– ร้านอาหาร ลา แบลล์ เอกิป (La Belle Equipe) บนนถนนชาโรนน์ (Rue de Charonne)
– ร้านอาหาร ลา คาซ่า โนสตร้า (La Casa Nostra) บนถนนฟงแตน์ โอ รัว (Rue de la Fontaine au Roi)
– บาร์ เลอการิยง (Le Carillon) บนถนนบิชาต์ (Rue Bichat)
– ร้านอาหารกัมพูชา เลอ เปอตีต์ กอมบอดจ์ (Le Petit Cambodge) บนนถนนอาลิแบรต์ (Rue Alibert)

 

เรื่อง : Ladyfern

ภาพ : วิกิพีเดีย,แพรวดอทคอม

Sources: BBC, CNN, Guardian, Independent

Praew Recommend

keyboard_arrow_up