เล็ก-ณพาภรณ์

ส่องชีวิตอีกมุมของ “เล็ก-ณพาภรณ์” เซเลบสาวเปรี้ยวที่ทุ่มเทให้กับการรักษ์ต้นไม้

Alternative Textaccount_circle
เล็ก-ณพาภรณ์
เล็ก-ณพาภรณ์

มุมใหม่ที่อาจดูแปลกแหวกแนวไปจากภาพ “น้องเล็ก ปาร์คนายเลิศ” หรือ “เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” ที่เราเห็นจนชินตา คือเธอรักต้นไม้มาก พอได้ฟังเธอเล่าเรื่องราวต้นไม้นับแสนบนผืนดิน 20 ไร่ของปาร์คนายเลิศ รู้เลยว่าการรักษาพื้นที่นี้ให้คงความเป็นสวนป่าใจกลางกรุงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เล็ก-ณพาภรณ์

รุกขกรมือใหม่

“แต่เดิมที่ดินบริเวณบ้านปาร์คนายเลิศเป็นทุ่งนาและป่า มีทั้งต้นใหญ่ที่ติดมากับที่ดิน เช่น ต้นอโศกน้ำ จิก มั่งมี จามจุรี ก้ามปู นกยูง ฯลฯ และต้นที่ปลูกใหม่สมัยเป็นบ้านคุณยาย (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ) คอนเซ็ปต์ต้นไม้ที่นี่จึงมีทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้พุ่ม ไม้ใบ หลายแสนต้น

“สิ่งที่เราต้องทำคือการดูแลรักษา โดยเล็กจ้างหน่วยงานในสังกัดของกรมป่าไม้ ได้แก่ ‘หมอต้นไม้’ ทำหน้าที่รักษาโรคที่มีความซับซ้อนให้ต้นไม้ รวมถึงฟื้นฟูต้นไม้ที่มีอายุเยอะให้กลับมามีสุขภาพดี โดยทำงานร่วมกับ ‘รุกขกร’ ซึ่งทำหน้าที่ตัดแต่งต้นไม้ เล็กจึงอยากพูดภาษาเดียวกับเขา เพราะถ้าเล็กไม่รู้จริง ไม่สามารถสั่งเขาได้เต็มปากว่าควรทำอะไร อย่างไร เล็กจึงไปเรียนเป็นรุกขกร 1 วัน คือการตัดแต่งคืนชีพให้ต้นไม้ กิ่งไหนมีใบเยอะเริ่มหนัก พอพายุพัดมาอาจโค่นล้มได้ ต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อคงความสมดุลของต้นไม้ ซึ่งในอนาคตเล็กจะปีนขึ้นไปตัดแต่งต้นไม้เอง จึงวางแผนว่าอยากไปเข้าคอร์สเรียนการเป็นรุกขกรอย่างจริงจัง 5 วัน สอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เรียกว่าจบมาต้องปีนต้นไม้ได้

เล็ก-ณพาภรณ์

“ตอนนี้รู้ว่าต้นไหนควรดูแลเป็นพิเศษ ต้นไหนอาการหนัก ควรโทร.เรียกหมอต้นไม้ และการมีอาคารต่างๆ เท่ากับเป็นการรบกวนต้นไม้ เพราะต้นไม้ใหญ่มีรากแผ่ขยายยาวกินอาณาบริเวณหลายสิบเมตร จากเมื่อก่อนเวลาเล็กสร้างตึกมักจะดูแต่ความสูงใหญ่ของใบและกิ่ง แต่ความจริงคือเราต้องดูที่ราก หากจะมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมเราต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของต้นไม้ เพราะเขาอยู่มาก่อน เช่น ต้องหาพื้นที่ที่ไม่กระทบกับต้นไม้ใหญ่ กับสังเกตเวลาต้นไม้เริ่มป่วย เปราะ ใบเริ่มร่วงนอกฤดูกาล เล็กจะเชิญหมอต้นไม้มาดูอาการว่าเป็นอะไร เพราะดินตรงนั้นมีกรดเยอะ หรือมีฝุ่นละอองจากการก่อสร้างมากระทบ ทำให้ต้นไม้หายใจไม่สะดวก เราต้องช่วยให้ต้นไม้สั่งขี้มูก (หัวเราะ) ด้วยการฉีดน้ำจากข้างบนเพื่อล้างฝุ่นละอองออกจากใบ เพื่อให้เขาหายใจคล่องขึ้น หรือถ้ามีขี้มูกมาก ต้องฉีดน้ำเกลือล้างจมูกเพื่อสั่งน้ำมูกออกมา คือเราใส่ยาแอนตี้ไบโอติกที่ราก เปิดหน้าดินให้เห็นราก แล้วเขาจะฟื้นฟูตัวเอง

เล็ก-ณพาภรณ์

“นี่คือความรู้ใหม่ที่ทำให้รู้ว่าต้นไม้มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย วงจรชีวิตเหมือนคนเป๊ะ เพียงแต่เป็นชีวิตที่ยาวนานกว่าคนเท่านั้นเอง หากเราดูแลเขาดีสม่ำเสมอ เขาก็จะอายุยืนยาว”

ค่ารักษ์ต้นไม้ปีละหลายล้าน

“เล็กไม่เคยนับว่าต้นไม้ที่นี่มีทั้งหมดเท่าไหร่ แต่กะคร่าวๆ ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่น่าจะนับแสนต้นในจำนวนหลายร้อยชนิด ที่แปลกคือภายในปาร์คนายเลิศมีนกหลายชนิด บางครั้งมีฝรั่งมานั่งที่เทอร์เรซร้านอาหารเพื่อดูนก เรียกว่า ‘Bird Watching’ เป็นกิจกรรมยอดนิยมของอังกฤษ โดยนั่งในป่าเฝ้าดูนกกันจริงจัง แต่เขามาดูนกที่นี่แล้วบอกว่าบ้านเล็กมีนกหลายชนิดนะ บางคนนำถั่วมาให้กระรอกกิน บางคนมานั่งชิลสัมผัสธรรมชาติ เห็นความเป็นสีเขียว มองแล้วสบายตา

เล็ก-ณพาภรณ์

“เรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลต้นไม้ประมาณหลายล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เพราะเมื่อก่อนมีแค่ค่าปุ๋ยกับค่าน้ำ เนื่องจากคุณยายอยู่คนเดียว ไม่ได้โชว์ใคร แต่พอเราเริ่มจัดงานดอกไม้ปาร์คนายเลิศ มีคนเข้ามามาก ทำให้ต้องบำรุงตลอด ลูกค้าที่เข้ามาคือวันแรกของเขา เพราะฉะนั้นต้องเห็นภาพที่สดใหม่เสมอ ปีนี้เราจัดงานในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยธีมงานจะจัดเป็นคาร์นิวัลยิ่งใหญ่ สวยงามและสนุกแน่นอน”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 943

ภาพ : @lek_nai_lert_park

Praew Recommend

keyboard_arrow_up