กึ้ง-เฉลิมชัย

เปิดกระเป๋าสตางค์ “กึ้ง-เฉลิมชัย” ไฮโซไม่ติดแบรนด์ การเงินไม่ต้องเป๊ะ แต่หาได้และใช้เป็น

Alternative Textaccount_circle
กึ้ง-เฉลิมชัย
กึ้ง-เฉลิมชัย

“กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ผู้ชายมากเสน่ห์ที่สาวๆ หลายคนแอบหลงรัก นอกจากเขาจะเป็น President & CEO บริษัท Thoresen Thai Agencies PLC แล้ว ความคิดเรื่องบริหารจัดการเงิน ทั้งหาเงินใช้เงินของเขายังน่าลองทำตาม วันนี้ แพรวดอทคอม จึงจะพาไปเปิดกันครั้งแรกกับกระเป๋าสตางค์ของไฮโซหนุ่มคนนี้ พร้อมแนวคิดในการบริหารจัดการเงินที่ใครๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้

Custom-made กระเป๋าสตางค์ใช้เอง

“ผมเพิ่งใช้กระเป๋าสตางค์ใบนี้ไม่นาน เนื่องจากเพื่อนสนิทชอบกระเป๋าสตางค์แบนๆ เหมือนกัน จึงคุยกันว่าอยากทำกระเป๋าสตางค์ใช้เอง เป็นสีน้ำเงินกากี ซึ่งเป็นสีที่ผมชอบ แต่กว่าจะได้กระเป๋าสตางค์ใบนี้มา ใช้เวลาสองปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มคุยกัน เพราะกว่าเพื่อนจะหาหนังจระเข้ได้สีถูกใจ แล้วส่งไปตัดเย็บที่สิงคโปร์กับช่างเย็บกระเป๋าที่มีประสบการณ์มายาวนาน ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร จึงเป็นกระเป๋าสตางค์ที่มีความประณีตสูง

กึ้ง-เฉลิมชัย

“กระเป๋าใบนี้ผมใช้ใส่เครดิตการ์ดสองใบ บัตรประชาชน Amex Card สำหรับเดินทาง เพราะผมเดินทางไปต่างประเทศบ่อย กับพกเงินสดประมาณ 20,000 บาท แต่กระเป๋าก็ยังดูไม่หนามาก และที่ผมเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ตลอดคือ รูปครอบครัวครบ 5 คน เป็นรูปสมัยผมแสดงละครเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ยอมรับว่าสไตล์ผมเป็นแบบโอลด์สกูล คือสมัยก่อนคนส่วนใหญ่มักติดรูปในกระเป๋าสตางค์แทบทุกคน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เก็บรูปในโทรศัพท์มือถือ แต่สำหรับผมการเก็บภาพถ่ายไว้ในกระเป๋าสตางค์ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ

“สมัยก่อนผมใช้กระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้แต่เครดิตการ์ดอย่างเดียว 4-5 ใบ เพราะถ้าใส่ทั้งเงินและการ์ด กระเป๋าจะดูหนามาก บวกกับผมชอบเก็บกระเป๋าสตางค์ไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหน้า เนื่องจากเห็นด้วยกับที่มีคนบอกว่ากระเป๋าสตางค์ใส่ธนบัตรซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์ ไม่ควรนั่งทับ พอใส่ไว้กระเป๋ากางเกงด้านหน้า ผมไม่ชอบให้กระเป๋าดูตุงๆ หนาๆ จึงต้องมีกระเป๋าสะพายอีกใบสำหรับเก็บเงินสดและการ์ดอื่นๆ แต่พอได้กระเป๋าสตางค์ใบนี้มา ถึงไม่ค่อยได้ใช้กระเป๋าสะพายก็มีเงินสดพอไว้ใช้จ่ายได้ยามฉุกเฉิน”

ใช้เงินไม่ต้องเป๊ะ แต่ไม่เกิน 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ ที่หาได้

“ผมไม่เคยคำนวณว่าใช้เงินสดเดือนละหรือสัปดาห์ละเท่าไร ไม่ได้มีระเบียบกับการใช้เงินขนาดนั้น แต่อย่างน้อยในกระเป๋าต้องมีเงินสดติดตัวตลอดเวลา สามารถซื้อของได้ จึงจะอุ่นใจ เพราะเงินสดก็สำคัญ ถามว่าพกเงินสดวันละเท่าไร คงขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นมีเงินเยอะหรือน้อย (หัวเราะ) อย่างกระเป๋าใบนี้ผมใส่ไว้ 20,000 บาท

“ส่วนจะใช้จำนวนนี้ได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสัปดาห์นั้นๆ ว่ามีอะไร ถ้านัดเพื่อนกินข้าวนอกบ้านอาจหมดเร็ว แต่ถ้าไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ช็อปปิ้ง ก็จ่ายแค่ค่ากาแฟวันละสองแก้ว เพราะผมชอบนั่งร้านกาแฟใหม่ๆ ชอบดูเทรนด์ว่ามีอะไรใหม่ๆ ไปนั่งคิดงานบ้าง ทำให้ได้บรรยากาศและไอเดียใหม่ๆ

“แต่โดยหลักการใช้เงินและหาเงินของผมคือ พยายามหาให้ได้มากกว่าจ่าย และต้องมีเงินออมกับเงินสำหรับลงทุนด้วย ผมไม่ได้ช็อปปิ้งหรือใช้จ่ายเยอะ จึงรู้ว่าเราสามารถใช้เงินได้เท่าไรจากจำนวนเงินที่หามาได้ เราเห็นตัวเลขในบัญชีธนาคารซึ่งออนไลน์อยู่แล้ว และการใช้เครดิตการ์ดก็จะลิงก์มาในบัญชีเราเสมอ ทำให้ดูได้ว่าเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน เมื่อไหร่ผมใช้จ่ายเยอะเกินกว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่หามาได้ ก็ต้องหาสมดุลให้ตัวเองด้วยการใช้เงินในเดือนต่อไปให้น้อยลง

กึ้ง-เฉลิมชัย

“นอกจากนี้ผมแบ่งเงินด้วยว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันน่าจะอยู่ที่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นควรเป็นเงินออมสำหรับลงทุนธุรกิจที่น่าสนใจ และคงต้องมองว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทรัพย์สินใดสร้างรายได้ ทรัพย์สินใดไม่สร้างรายได้ ทำให้ต้องบริหารจัดการทรัพย์สินนั้นให้ดี เช่นเดียวกับวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราต้องมีกระแสเงินสดเป็นบวกมากกว่าลบ หรือรายรับมากกว่ารายจ่าย จึงจะช่วยให้มีเงินออม และเงินออมเหล่านั้นจะกลับมาเป็นกระสุนให้เราสามารถเสี่ยงในการลงทุนต่อและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องทำวันนี้คือ หาวิธีทำอย่างไรให้กระแสเงินสดเป็นบวกทุกเดือน เพื่อจะได้มีเงินเพิ่มขึ้นสำหรับออมหรือไว้ใช้จ่ายในอนาคต ถ้าแต่ละเดือนบริหารจัดการเงินสดเป็นลบ เท่ากับสร้างหนี้ให้ตัวเองตลอดเวลา และหนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งยากในการหามาคืน เพราะต้องกู้เงิน ทำให้ต้นทุนเงินเพิ่ม ยิ่งเหนื่อยมากขึ้นทวีคูณ ฉะนั้นถ้าเดือนไหนหาได้น้อย อาจเพราะลงทุนผิดพลาด ก็ต้องนำเงินออมออกมาช่วย ถ้าถามว่าลงทุนอะไรบ้าง ผมลงทุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์

“ดังนั้นเรื่องการใช้ชีวิต เงินออม เงินลงทุน จึงมีความสำคัญ สมมติว่าถ้าหาเงินได้เดือนละ 1 ล้านบาทแล้วใช้ชีวิตสบายๆ ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินลงทุน ก็คงได้แค่ความสุขไปวัน ๆ ซึ่งผม มองว่าความสุขของคนเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้น เรากินข้าว วันละสามมื้อ ซื้อของที่ชอบได้ตามงบประมาณที่มี ไม่จำเป็นต้อง ซื้อของทุกวัน ไม่ต้องเที่ยวทุกวันหรือทุกเดือน ที่เหลือคือแค่ต้อง รู้จักบริหารจัดการ ถ้าในสามเดือนเราสามารถเก็บเงินออมได้มาก ก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะนำเงินออมนั้นมาใช้ในสิ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้น”

รู้จักรอคอย

“คุณพ่อ (คุณประยุทธ มหากิจศิริ) สอนผมเรื่องการใช้เงินมาตั้งแต่ยังเด็ก จนเดี๋ยวนี้รู้สึกแย่เหมือนกันที่เวลาหลานอยากได้อะไรแล้ว ผมซื้อให้ทันที เพราะรักหลานเกินไป ขณะที่รุ่นผมมีสิทธิ์ได้ของอย่างมากปีละสามชิ้น พ่อจะซื้อของให้ต่อเมื่อสอบได้เกรดเฉลี่ยดีปีละสองครั้งกับของขวัญวันเกิด ส่วนในโอกาสอื่น ไม่ต้องหวังว่าจะได้

“มีครั้งหนึ่งผมดีใจมากจนยังจำเหตุการณ์นั้นได้ ผมเรียน ป. 3 เพื่อนๆ มีปากกา Rotring ด้ามละ 100 บาท ซึ่งผมอยากได้มาก แต่ตอนนั้นผมได้เงินไปโรงเรียนวันละสิบบาท คงเก็บเงินซื้อปากกาเองไม่ได้แน่ๆ ต้องรอเรียนจบปลายเทอมให้ได้เกรดดีๆ ถึงจะได้ปากกาแท่งนั้น จนวันหนึ่งแม่ใจดีให้ของขวัญ นอกเหนือจากรางวัลการเรียน ผมตื่นมาตอนเช้า เปิดกล่องดินสอ เห็นปากกา Rotring สีเหลืองอยู่ในนั้น ดีใจแทบตาย ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของของที่ได้รับ ซึ่งต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่สอนให้รู้คุณค่าของเงินและคุณค่าของของแต่ละชิ้น ซึ่งได้มายาก และกลายเป็นที่มาที่ทำให้ผมมองว่าของบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อความสวยงามหรือสนองความต้องการตัวเอง ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์ เพราะถ้าของแพง เวลาใช้ต้องถนอม ไม่ค่อยกล้าใช้ ถ้าเสื้อแพงมาก เราต้องอยากใส่หลายครั้ง สู้ใช้ของราคาถูกลงหน่อย แต่เปลี่ยนได้บ่อยๆ ดีกว่า สนุกกว่า ซึ่งเด็กเทรนด์ใหม่จะเป็นแบบนี้ คือรู้จักวิธีใช้ชีวิตและใช้เงินคุ้มค่ามากขึ้น”

กึ้ง-เฉลิมชัย

ชีวิตไม่ติดแบรนด์

“ผมชอบอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ ไม่ค่อยเนี้ยบ เน้นลุยๆ จึงไม่ติดแบรนด์ แต่ผมจะใช้เงินไปกับของเล่นจำพวกที่เป็นแก็ดเจ็ตต่างๆ ตามแพสชั่นของตัวเองในเวลานั้น เพราะผมชอบเรียนรู้ ชอบลองทำกิจกรรมต่างๆ อย่างแก็ดเจ็ตที่เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับกีฬา ถ้ามีของใหม่มาก็ซื้อเรื่อยๆ ถ้าถามนิสัยใช้เงินของครอบครัวเรา พี่สาวผม (คุณอุษณีย์) เป็นผู้หญิงชอบแต่งตัว เพราะฉะนั้นอาจใช้ไปทางแฟชั่นมากหน่อย ส่วนผมไม่แฟชั่นเลย แต่ชอบแก็ดเจ็ต มีโทรศัพท์มือถือรุ่นไหนมาต้องเปลี่ยนใหม่ ส่วนน้องสาว (คุณอุษณา) ชอบซื้อที่ดิน สามคนชอบคนละแบบ

“นอกจากนี้ผมชอบซื้อไม้กอล์ฟ เพราะชอบตีกอล์ฟ เวลามีของใหม่มาก็ซื้อเก็บ อีกอย่างคือผมแพ้คำว่า ‘ลิมิเต็ด’ (ยิ้ม) ถ้ามีคนบอกว่านาฬิกาเรือนนี้ดีนะ เป็นลิมิเต็ดน่าเก็บ ผมก็จะซื้อไว้ กล้องถ่ายรูปก็เป็นอีกอย่างที่ผมใช้เงินเยอะ อย่างรถสปอร์ตผมก็ใช้ แต่ไม่ได้ซื้อเพื่อลงทุน เพราะถ้าลงทุนก็จะขับได้น้อย จึงซื้อเพื่อใช้ ไม่ได้ซื้อเพื่อขาย”

โชคลาภ เฮงๆ ปังๆ

“ถ้าถามว่าเชื่อถือเรื่องโชคลางไหม เอาเป็นว่าผมไม่ลบหลู่ อย่างในกระเป๋าใบใหญ่ของผมมียันต์ของเซียนท่านหนึ่งที่เชื่อว่าจะนำโชคดีมาให้ ผมคิดว่าอะไรที่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มีติดตัวไว้ เพื่อความอุ่นใจก็ไม่เสียหาย”


 

นิตยสารแพรว ฉบับ 940

Praew Recommend

keyboard_arrow_up