หม่อมหลวงปุญยนุช

ล้ำค่า! กระจกแอนทีคประดับอัญมณี รักแรกพบของหม่อมหลวงปุญยนุช

Alternative Textaccount_circle
หม่อมหลวงปุญยนุช
หม่อมหลวงปุญยนุช

เชื่อว่าทุกคนย่อมมีของรักของหวงประจำตัว ซึ่งจะเป็นอะไรนั้นก็แตกต่างกันไปตามความชื่นชอบหรือรสนิยม แต่สำหรับคุณดาว-หม่อมหลวงปุญยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา เซเลบริตี้ผู้รักการสะสมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอยกตำแหน่งของรักของหวงให้กับกระจกแอนทีคประดับอัญมณีชิ้นงามที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ถึงขั้นต้องเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารเลยทีเดียว แถมเธอยังบอกอีกว่านี่แหละคือรักแรกพบ ซึ่งกลายมาเป็นของล้ำค่าส่วนตัวที่ภาคภูมิใจมากๆ

“ผู้หญิงกับของสวยๆ งามๆ เป็นอะไรที่คู่กัน แต่สำหรับความงามที่ดิฉันชื่นชอบต้องเป็นความงามที่ย้อนเวลากลับสู่อดีตด้วย ดิฉันอาจเป็นคนโบราณในยุคใดยุคหนึ่งกลับชาติมาเกิดก็เป็นได้ จึงมักมีความรู้สึกคุ้นเคยกับของแอนทีค โดยเฉพาะของยุโรปเป็นพิเศษ แม้ไม่ค่อยมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปตามหาด้วยตัวเอง แต่ดิฉันเชื่อว่าอะไรที่เป็นของเรา ที่สุดแล้วจะเดินทางกลับมาหาเราเอง (ยิ้ม)

หม่อมหลวงปุญยนุช

“อย่างกระจกมือถือแอนทีคชิ้นนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ดิฉันไปร่วมงานครบรอบของบิวตี้ เจมส์ ซึ่งมีการแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องเพชร โดยมีไฮไลต์อยู่ที่น้องแต้ว-ณฐพร ในชุดราตรีสีแดงสด ดิฉันสะดุดตากระจกบานนี้ที่น้องแต้วถืออยู่ตอนเดินโชว์บนเวที เป็นกระจกส่องหน้า มีด้ามจับ ขนาดพอดีมือ ตกแต่งด้วยอัญมณีทั้งเรือน สวยงามมาก แม้จะเห็นอยู่ในระยะไกลๆ แต่ก็ทำให้ตะลึงได้ เรียกว่าตกหลุมรักเลยค่ะ

หม่อมหลวงปุญยนุช

“ตอนนั้นดิฉันก็รู้นะคะว่าเขานำมาเป็นแค่พร็อปส์โชว์ในรอบฟินาเล่เท่านั้น ไม่ใช่สินค้าสำหรับขาย พองานเลิกจึงขอคุยกับคุณหนึ่ง (สุริยน ศรีอรทัยกุล) ว่าอยากดูกระจกจังเลย ปรากฏว่าพอได้เห็นและสัมผัสใกล้ๆ ทำให้รู้ว่าเป็นงานแอนทีคที่มีความสวยงามและประณีตมากๆ ขนาดคิดเอาเองว่าอาจเป็นงานของฟาแบร์เช่ (Fabergè) เลย จึงลองถามคุณหนึ่งกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า ขายไหมคะ

หม่อมหลวงปุญยนุช

“คุณหนึ่งบอกว่า ชิ้นนี้ยืมมาเพื่อเป็นพร็อปส์ประกอบให้เข้ากับธีมงาน แต่ความที่ดิฉันถูกใจมาก จึงขอให้ช่วยเป็นธุระติดต่อเจ้าของให้ด้วย ได้ความว่าคุณพ่อของคุณหนึ่งได้กระจกนี้มาจากเพื่อนสนิทที่ประมูลจากนิวยอร์ก ซึ่งทางสถานที่ประมูลให้ข้อมูลว่างานชิ้นนี้มาจากอังกฤษอีกที แต่รายละเอียดความเป็นมาของกระจกบานนี้ ทางผู้จัดประมูลก็ไม่ทราบแน่ชัด ดิฉันจึงปรึกษาจากผู้มีความรู้ ท่านคอมเมนต์ว่า ถ้าดูจากดีเทลลักษณะของงานน่าจะเป็นของราชวงศ์อิหร่าน เพราะด้านบนมีดีไซน์เป็นรูปรัศมีสุริยะ ตรงกลางมีทับทิมเม็ดใหญ่แทนดวงอาทิตย์ และมีแฉกของแสงที่ทำด้วยเพชร ซึ่งสัญลักษณ์นี้มักปรากฏในเครื่องใช้ของราชวงศ์หรือระดับขุนนางชั้นสูงเท่านั้น รอบๆ กระจกและด้ามจับมีดีไซน์เป็นกลุ่มดอกไม้และรูปโบอยู่ใต้ฐานกระจก ซึ่งรูปโบในสไตล์นี้เป็นงานออกแบบที่ชื่นชอบกันมากในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประดับประดาด้วยอัญมณีสามสี ทั้งทับทิม มรกต และเพชร โดยใช้เทคนิค การฝังแบบมีหนามเตย สะกิดหนามเตย และงานฝังแบบไร้หนาม (Invisible) ซึ่งเทคนิคการฝังแบบไร้หนามนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงเชื่อว่ากระจกบานนี้น่าจะมีอายุเกินร้อยปีอย่างแน่นอน สันนิษฐานว่าคงเดินทางผลัดเปลี่ยนเจ้าของมาหลายประเทศแล้ว คงอย่างที่เขาพูดกันนะคะว่า สมบัติผลัดกันครอง หลังจากพูดคุยต่อรองราคาและเงื่อนไขกันอยู่สักพัก กระจกบานนี้ก็กลายมาเป็นของสะสมล้ำค่าที่ดิฉันรักมากและเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร

“จะหยิบนำมาใช้บ้างในโอกาสพิเศษสำหรับชาโตว์ เดอ ลา พอร์ซเลน (Chteau de la Porcelaine – บ้านของคุณดาว) เท่านั้นค่ะ”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 940

Praew Recommend

keyboard_arrow_up