เจ้าสิววิชัย

“เจ้าสัววิชัย” จากความรักใน “กีฬาโปโล” สู่การเป็นเจ้าพ่อคอนเน็คชั่นระดับราชวงศ์

Alternative Textaccount_circle
เจ้าสิววิชัย
เจ้าสิววิชัย

แม้วันนี้ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” หรือ “เจ้าสัววิชัย” อภิมหาเศรษฐีผู้มีจิตใจงดงามจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตกบริเวณลานจอดรถข้างสนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์สเตเดียม ในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าความดีและชื่อเสียงที่สั่งสมไว้ตลอดอายุ 60 ปี จะเป็นที่จดจำและยกย่องตลอดไป

ทั้งนี้สำหรับเจ้าสัววิชัยนั้น หลายคนคงจะทราบกันดีแล้วว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก ทั้งจากการเป็นเจ้าของอาณาจักรคิง เพาเวอร์ หรือธุรกิจสินค้าปลอดภาษี และการเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เรียกว่าทั้งสองอย่างนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงในวงกว้างเลยทีเดียว

วิชัย ศรีวัฒนประภา

นอกจากในแวดวงธุรกิจแล้ว เจ้าสัววิชัยยังเป็นที่รู้จักในระดับราชวงศ์อีกด้วย โดยเฉพาะราชวงศ์เก่าแก่อย่างราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งมีที่มาจากความชอบส่วนตัวอย่างกีฬาโปโล จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่นำกีฬาขี่ม้าโปโลเข้ามาในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547 และเป็นนายกสมาคมฯคนแรก ซึ่งเจ้าสัววิชัยเคยให้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับนิตยสารแพรวเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า

“เริ่มจากประมาณยี่สิบปีที่แล้ว ผมไปเรียนเจ้าศิลปะบังคับม้า แล้วรู้สึกว่าเราไม่เหมาะกับการขี่ม้าแบบสวยงาม ผมชอบกีฬาที่ท้าทาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นโปโล ทีนี้เวลาผมทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด ความคิดอยากทำสนามจึงเกิดขึ้นตามมา แต่ก่อนทำก็ถามตัวเองนะว่าเราจะเล่นจริงหรือเปล่า อายุขนาดนี้แล้วจะไหวไหม ได้คำตอบว่าการเล่นโปโลทำให้มีความสุข สุขอย่างไร มันต่างจากฟุตบอลที่เรานั่งดูคนอื่นเล่น เห็นคนอื่นเขามีความสุขแล้วเราสุขตาม แต่กีฬานี้เราเล่นเอง ความสุขจึงเกิดขึ้นจากข้างในตัวเรา ฉะนั้นพอลูกบอกจะเล่นด้วย ผมจึงตัดสินใจสร้างสนามโปโลที่พัทยา

ทีนี้เมืองไทยค่อนข้างร้อน เวลาที่เล่นได้คือ 4-5 โมงก่อนพระอาทิตย์ตก ผมบอกไม่ไหว ถ้าจะต้องมารีบเร่ง ผมจึงให้ติดไฟในสนามโปโลเหมือนสนามฟุตบอล ซึ่งเขาไม่ทำกันเพราะต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาท แต่ผมกลับคิดว่าถ้าทำแล้วสบาย ทำไมเราไม่ทุ่มเพื่อความสบายตรงนั้น กลายเป็นว่าพอโปรโมทออกไปเพราะผมทำเป็นธุรกิจ คนในวงการโปโลก็ทึ่ง พูดเป็นเสียงเดียวว่าเล่นเมืองไทยตอนไหนก็ได้เพราะมีไฟ หลังๆ ก็มีพวกที่อยู่ฮ่องกง สิงคโปร์ บินมาเล่นช่วงวีคเอนด์ ทีนี้ต้องยอมรับว่าคนเล่นโปโลต้องมีฐานะดี และมีตำแหน่งการงานที่ดี เพราะเป็นกีฬาที่ค่อนข้างใช้เงินสูง ฉะนั้นโอกาสที่จะเจอคนและแลกเปลี่ยนความคิดของเราก็กว้างขึ้น พูดได้ว่าในแง่ของธุรกิจมีผลประโยชน์ซ่อนอยู่”

เจ้าสัววิชัย
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันรายการ “เดอะ คิง เพาเวอร์ รอยัล แชริตี้ โปโล คัพ 2018” ณ สนามโปโล คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค

กีฬาโปโลนับเป็นกีฬาที่เจ้าสัววิชัยชื่นชอบมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะนอกจากการลงทุนสร้างสนามโปโลในประเทศไทยแล้ว เขายังทุ่มเงินสดกว่า 10 ล้านปอนด์ ในการซื้อสนามโปโลกลางกรุงลอนดอนที่เคยไปใช้เป็นประจำ ซึ่งหลังจากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น “คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค” สำหรับที่มาที่ไปในการตัดสินใจซื้อสนามโปโลแห่งนี้ เจ้าสัววิชัยเคยเล่าให้นิตยสารแพรวฟังไว้ว่า

“การได้ที่นี่มาต้องบอกว่าเป็นโชค เดิมสนามนี้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเป็นของปริ๊นซ์มาเลเซีย ผมเคยจะซื้อจากเขา แต่เขาเรียกแพงมาก ผมจึงตัดใจ แล้วก็ลืมไปเลย กระทั่ง 2 ปีที่แล้วเจ้าของเดิมซึ่งเป็นชาวสวีเดนเชิญผมมาเล่นโปโล แต่ตอนนั้นผมเพิ่งตกม้าและเจ็บคอ จึงให้ลูกชายลงเล่นแทน ทีนี้พอกลับมาเห็นอีกครั้งความชอบก็ยังอยู่ เลยให้คนไปทาบทามว่าถ้าจะขายเมื่อไหร่ให้บอก ผ่านไป 3 เดือน เขาโทรมาบอกว่าจะขาย 12 ล้านปอนด์ ผมบอกถ้าให้ 10 ล้านจะไปดูพรุ่งนี้เลย เขาถามกลับมาว่าจ่ายสดหรือเปล่า ผมบอกเดี๋ยวนี้ บังเอิญตอนนั้นเขาร้อนเงิน ผมเลยได้มา ตอนนั้นคิดว่าที่เล็กนิดเดียว ที่ไหนได้ตั้ง 666 ไร่

พอคนรู้ว่าผมซื้อสนามนี้ก็ถามเลย มีสนามอยู่แล้วจะซื้อทำไม (คุณวิชัยมีสนามโปโลที่แกดบริดจ์อยู่ก่อนแล้ว เนื้อที่ 32 เอเคอร์) ผมบอกว่าก็ชอบและผมมีลูก 2 คน ให้เขาคนละสนามก็จบ แต่ความจริงคือตอนนี้ผมมีสนามที่สามแล้ว อยู่ใกล้ๆ กันนี่แหละ อย่างที่บอกในตอนต้น ผมเป็นคนที่ถ้าชอบผมก็ซื้อ เวลาเจอคำถามว่าซื้อไปทำอะไร จึงตอบอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ นอกจาก…ก็ชอบน่ะ”

เจ้าสัววิชัย
เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ ทรงฉายพระรูปร่วมกับเจ้าสัววิชัยและครอบครัว

เจ้าสัววิชัย

กีฬาโปโลซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความชอบส่วนตัวของเจ้าสัววิชัยนี้เอง ที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักและได้รับการนับหน้าถือตาในระดับราชวงศ์ โดยเฉพาะราชวงศ์อังกฤษ ทั้งนี้เพราะสนามโปโล คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามโปโลชั้นเลิศที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษต่างเทใจให้  ซึ่งที่น่าทึ่งและน่าภูมิใจไปกว่านั้นคือ เจ้าสัววิชัยถือเป็นคนไทยคนแรกๆ หรืออาจจะเป็นคนไทยคนเดียวเลยก็ว่าได้ที่มีโอกาสเล่นโปโลกับราชวงศ์อังกฤษ อีกทั้งยังเป็นสมาชิกตลอดชีพของ “แฮม โปโล คลับ” สโมสรกีฬาโปโลในกรุงลอนดอน ที่เหล่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษเป็นสมาชิกอยู่

“วันนี้จะมีคนอื่นอีกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมเป็นคนเริ่มต้นแรกๆ ตั้งแต่เล่นกับเจ้าฟ้าชายชาร์ล ก่อนทรงรีไทร์ ต่อมาก็ได้เล่นกับพระโอรสของพระองค์ท่านทั้งสองพระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ แต่ทุกครั้งเป็นการเล่นเพื่อการกุศลหมดนะ อย่างหลายปีก่อนที่เจ้าชายวิลเลียมเสด็จไปทรงเล่นให้ทีม เป็นช่วงที่ผมกำลังทำลิสต์แบนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ 60 ปี ผมก็ทูลเจ้าชายวิลเลียมให้ช่วยใส่ลิสต์แบนด์ให้หน่อย ตอนแรกท่านก็รับสั่งว่าไม่มีอยู่ในหมายนี่ แต่สุดท้ายก็ยอมทรงใส่ให้ พร้อมกับใส่เสื้อเหลืองมีตรา “เรารักพระเจ้าอยู่หัว” ด้วย อีกปีหนึ่งผมทำบัตรถวายพระพร ก็ทูลให้พระองค์ทรงเขียนลายพระหัตถ์ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นผมนำโปสการ์ดแผ่นนั้นไปถวายพระองค์ท่าน โดยทูลว่าเจ้าอังกฤษทรงทำมาให้ พระองค์ทอดพระเนตรแล้วทรงมีรับสั่งเสียงสูงว่า เหรอ” (หัวเราะ)

เจ้าสัววิชัย

เจ้าสัววิชัย

เจ้าสัววิชัย

จากความใกล้ชิดสนิทสนมดังกล่าว การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเจ้าสัววิชัยครั้งนี้ สำนักพระราชวังเคนซิงตันจึงได้เผยแพร่สาส์นแสดงความเสียใจของเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ ผ่านทางทวิตเตอร์ด้วย

เจ้าสัววิชัย

นอกจากราชวงศ์กฤษแล้ว สนามโปโล คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค ยังเป็นที่ถูกพระทัยของ เจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน ทำให้ทั้งคู่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ซึ่งการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเจ้าสัววิชัย เจ้าชายอับดุล มาทีน ทรงโพสต์ไอจีส่วนพระองค์เพื่อแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง “ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและเพื่อนพ้องของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่เมื่ออยู่ในสนามโปโล และเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยนเมื่ออยู่นอกสนาม”

เจ้าสัววิชัย
เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน ทรงเข้าร่วมการแข่งขันรายการ “เดอะ คิง เพาเวอร์ รอยัล แชริตี้ โปโล คัพ 2017”

เจ้าสัววิชัย

นี่แหละ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อคอนเน็คชั่นตัวจริงเสียงจริง


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 841 คอลัมน์ สัมภาษณ์

เรื่อง : CHTN Y.

Praew Recommend

keyboard_arrow_up