ที่มาของชื่อ King Power

“ขอให้สู้กับมาเฟียชนะ” เจ้าสัววิชัยเล่าถึง ที่มาของชื่อ King Power เส้นทางนี้ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด

ที่มาของชื่อ King Power
ที่มาของชื่อ King Power

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ที่มาของชื่อ King Power เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่ลุ้นระลึกไม่น้อย จากการเจรจาธุรกิจระหว่างเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลของฮ่องกง 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าเศร้าและสร้างความตกใจเป็นอย่างมาก สำหรับการสูญเสียบุคคลสำคัญอย่างคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา แห่งอาณาจักรคิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกบริเวณลานจอดรถใกล้สนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์สเตเดียม เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ระหว่างเทคออฟและมีไฟลุกท่วม

จากการสูญเสียบุคคลสำคัญระดับโลก เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่ออาณาจักรคิงเพาเวอร์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดอากรของไทย ที่คนทั่วไปต่างรู้จักกันดี เพียงแค่เอ่ยชื่อคิง เพาเวอร์ ใครๆ ก็ต้องร้อง อ๋อ! ด้วยความคุ้นหู แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคน ยังไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของชื่อนี้ เพราะใครจะคาดคิดว่าที่มาของชื่อคิง เพาเวอร์ มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์บางส่วนของเจ้าสัววิชัย ซึ่งได้เล่าถึงที่มาของชื่ออันเป็นสิริมงคล King Power เอาไว้ในนิตยสารแพรวฉบับ 841

ที่มาของชื่อ King Power

ตอนอ่านประวัติท่านซึ่งบอกตรงๆ ว่าหาได้ยากมาก ยังสงสัยว่าไปบุกธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ต่างประเทศได้อย่างไร

เริ่มต้นจากที่คุณพ่อส่งไปเรียนไต้หวันน่ะแหละ สมัยนั้นไม่มีบินตรง ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง ขาบินกลับไทยตอนปิดเทอมต้องมีคนฝากซื้อของจากร้านปลอดภาษีที่ฮ่องกงทุกครั้ง ทำให้ผมมีความคิดว่าทำไมประเทศไทยไม่มีร้านปลอดภาษีแบบฮ่องกงบ้าง นั่นเป็นความคิดที่ติดอยู่ในใจมาตลอด พอโตขึ้นยิ่งเดินทางบ่อย ทำให้เห็นธุรกิจดิวตี้ฟรีจากทั่วโลก พบว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่คนเดินทางทุกคนชอบ จึงบอกตัวเองว่าน่าจะทำได้

แต่พอลองเวิร์คจริงก็พบว่าธุรกิจนี้ทำยากในประเทศไทย เพราะต้องขอสัมปทานจากรัฐบาล และยุคนั้นรัฐฯก็ให้สัมปทานเฉพาะรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เจ้าที่ได้ไปคือการบินไทย เลยไม่ได้คิดต่อ หันไปทำอย่างอื่น นั่นคือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมดังๆ เช่น Christian Dior, Lanvin, NinaRicci, Celine ฯลฯ สมัยก่อนสินค้าแบรนด์เนมในประเทศไทยยังมีกำแพงภาษีสูงมาก ผมใช้วิธีติดต่อกับซัพพลายเออร์ว่าถ้าอยากมาบุกเบิกแบรนด์ในเมืองไทยต้องให้ราคาต่ำ ก็เริ่มขายจากพวกนั้น ทำอยู่หลายปี เดินทางไปกลับต่างประเทศเป็นว่าเล่น วันหนึ่งเพื่อนที่ทำดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงก็ชวนให้ซื้อหุ้นเขา 10%มันเป็นธุรกิจที่ผมสนใจอยู่แล้ว ก็ลุยเลย กระทั่งภายในสองปีผมก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งหมดมาจากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ซึ่งทำให้ผมมีเพื่อนเยอะ ไม่ใช่แค่ที่ฮ่องกง ทั้งเขมร มาเก๊า จีนแผนดินใหญ่ ทุกที่ที่ผมเข้าไปทำธุรกิจดิวตี้ฟรี คอนเน็คชั่นล้วนเป็นใบเบิกทาง แต่เราจะมีคอนเน็คชั่นที่ดีได้ต้องทำให้เขาเชื่อถือเราก่อน ความเชื่อถือมาจากอะไร ความจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่เบี้ยว ไม่โกง พูดคำไหนคำนั้น

ขณะเดียวกันความคิดที่ว่าธุรกิจนี้น่าจะทำได้ในประเทศไทยก็ยังมีอยู่ และอย่างที่เล่าไป พื้นที่สนามบินดอนเมืองในตอนนั้น การบินไทยเป็นผู้ได้สัมปทานซึ่งเขาไม่ได้ทำจริงจัง เขาให้สัมปทานกับรายอื่นต่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านขายของที่ระลึก โดยในส่วนของๆ แบรนด์เนม เขาก็เอาของเราไปขาย เรียกว่าส่งไปเท่าไหร่ก็ขายหมด ผมจึงคุยกับคนที่เช่าสัมปทานต่อว่าทำไมไม่โน้มน้าวการท่าฯ (การท่าอากาศยาน หรือ ทอท.เจ้าของพื้นที่) ให้ทำเอง โดยผมจะนำโนว์ฮาวทั้งหมดมาถ่ายทอดให้ ซึ่งตอนนั้นผมทำดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงได้ 3-4 ปีแล้ว

ปรากฏ ทอท.สนใจ สิ่งที่ผมบอกเขาคือเราต้องทำแบบอินเตอร์ ต้องแยกดิวตี้ฟรีกับของที่ระลึก และต้องให้คนที่เป็นเจ้าของสัมปทานทำอย่างจริงจัง สมมติการบินไทยทำได้ปีละพันล้าน ถามไปเลยว่าใครทำได้เกินก็เอาไป ตอนนั้น ทอท.เห็นด้วย แต่ก็ยังกลัวอยู่ เลยยังถือสัมปทานไว้เอง แต่จ้างผมกับพาร์ตเนอร์คนไทยอีกคนไปบริหารให้ และใช้วิธีแบ่งตรงให้เรา ใช้วิชาชีพเรา พูดง่ายๆ เหมือนจ้างเราไปออแกไนซ์

ทำไปสักพัก ผมกับพาร์ตเนอร์ตัดสินใจแยกจากกัน ตอนนั้นรัฐฯมีโครงการเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากรนอกพื้นที่สนามบิน แต่นโยบายยังคงเดิมคือคนที่เปิดต้องเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ผมคิดว่าการท่องเที่ยวน่าจะเป็นหน่วยงานที่ตรงที่สุด เลยชวนร่วมทุน ททท.ก็เห็นด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย ผมยืมชื่อเขา โดยเป็นคนลงทุนทั้งหมด รวมทั้งเลือกโลเกชั่นคือที่ตึกมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิตแต่แบ่งหุ้นให้เขา 10 เปอร์เซ็นต์ และให้เขาเป็นคนถือสัมปทาน 5 ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองไทยมีร้านค้าปลอดอากรที่สมบูรณ์ในเมืองแห่งแรกในประเทศ

 

ชื่อคิง เพาเวอร์ เริ่มจากตรงนั้นใช่ไหมคะ

ยังครับ เดิมผมใช้ชื่อบริษัทว่า ททท. สินค้าปลอดอากร ซึ่งพอพาร์ตเนอร์เก่าเห็นเราทำได้ก็จะเอาบ้าง ช่วงนั้นพอดีกับผมมีปัญหากับหุ้นส่วนที่ฮ่องกง เขาเป็นกลุ่มมีอิทธิพลอยู่ทางนั้น ผมต้องเดินทางไปพบเพื่อเจรจา ก่อนจะพบเขา ผมทำใจแล้วว่าต้องเจออะไรบ้าง วินาทีนั้นผมนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาวนาขอพระบารมีของพระองค์ท่านได้โปรดคุ้มครอง ขอให้สู้กับมาเฟียชนะ ตอนนั้นผมคนเดียว ฝ่ายเขามีทั้งห้อง ทุบโต๊ะถามผมว่าจะขายหุ้นทั้งหมดไหม ผมบอกขายไม่ได้ ก็เจอคำถามว่าอยากจะออกจากห้องนี้ไหม ผมบอกอยากออก แถมขู่เขาไปด้วยว่า…คิดให้ดีนะ ที่เมืองไทยผมทำงานโดยใช้ชื่อว่าททท.สินค้าปลอดอากร ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รู้ไหมว่ารัฐบาลถือหุ้นอยู่ ก่อนที่ผมจะมาหาคุณ ผมบอกสถานทูตแล้ว ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ผมไม่โทรกลับไป เขาจะส่งตำรวจมา ที่สุดหุ้นส่วนฮ่องกงต้องยอมผม พอออกมาผมก็คิดชื่อ คิง เพาเวอร์ จากนั้นทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ที่มาของชื่อ King Power


เรื่อง: CHTN Y.

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 841 คอลัมน์ สัมภาษณ์

ภาพ : IG@officialfoxes , lcfc

Praew Recommend

keyboard_arrow_up