FORWARD YOUR WISDOM คุณค่าชีวิตที่มีนิยามมากกว่าความสำเร็จของตนเอง

“แพรว” ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อเรื่องราวจาก 10 บุคคลที่ประสบความสำเร็จ และได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สร้างสรรค์ประโยชน์กับสังคมในด้านต่างๆ  ในโปรเจคพิเศษ “FORWARD YOUR WISDOM” ที่บริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี…อ่านจบแล้ว คุณจะได้พลังดีๆ จากมุมมองการทำงาน และการใช้ชีวิตของทั้ง 10 ท่าน และช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อทั้งความคิดดีๆ ลงมือทำสิ่งดีๆ ทั้งกับตัวเอง และกับคนอืนๆ ในสังคม

ศ.ภญ.ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์

เภสัชกรหญิงเจ้าของรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี 2552 และรางวัลอื่น ๆ อีกกว่า 200 รางวัล  จากความสำเร็จในระดับมวลมนุษยชาติกับผลงานวิจัยและผลิตยาสามัญชื่อ “ยาต้านไวรัสเอดส์” ได้เป็นครั้งแรกของโลก

ทุกสิ่งที่ ศ.ภญ.ดร. กฤษณา ได้ทำมาทั้งหมด เพราะความรู้สึกอยากช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เธอมองว่า ไม่มีอะไรยากเกินไป ถ้าเราคิดลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น เธอเป็นคนที่ไม่มองอะไรในระยะไกล มองไปแค่หนึ่งเมตรข้างหน้าของตัวเอง ว่าสามารถทำประโยชน์อะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง และใช้ชีวิตทุกวันให้มีคุณค่า เพราะเมื่อจากโลกนี้ไปเราก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้ แต่ยังคงมีสิ่งดีๆ หลงเหลืออยู่ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่นมากพอ ควรจะเริ่มต้นทำกันตั้งแต่ตอนนี้

“ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า มองแค่หนึ่งเมตรข้างหน้าของตัวเองพอ” เภสัชกรยิปซีกล่าว

คุณโจน จันได

จากอดีตชายผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยม สิ่งที่สังคมพยายามหยิบยื่นให้ ทำให้เขาเกิดคำถามขึ้นในใจถึงการดิ้นรนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ “โจน จันได”  ปราชญ์แห่งบ้านนา พลิกชีวิตของตัวเองกลับมาสู่บ้านเกิด และทำทุกสิ่งด้วยมือของเขาเอง ด้วยผลงานการสร้าง “บ้านดิน” ให้เป็นที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เงิน ไม่มั่นคงเลย อาหารสิ มั่นคง”

“อยากให้คนเราคิดหันมาเพิ่มทรัพยากรให้โลก แทนการตั้งหน้าตั้งตาใช้กันอย่างเดียว”  อีกหนึ่งความมุ่งหวังของคุณโจน จันได เขาจึงได้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ ไว้ให้มากมาย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับชีวิตผู้คน และยังมุ่งหวังด้วยว่า ที่แห่งนี้จะก่อให้เกิดเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่จะช่วยขยายผลและปลูกฝังให้เกิดแนวทางการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา หรือคุณน้ำหวาน ผู้ช่วยประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เธอตั้งต้นด้วยความมุ่งมั่นว่า “ฉันจะทำงานเพื่อสังคม”   

และนับตั้งแต่นั้นมา เกือบ 20 ปี กับการทำงานให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เธอยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลมาตลอด โดยคุณน้ำหวานบอกว่า “สมเด็จย่าเคยรับสั่งว่าทุกอย่างอยู่ที่คน ร่างกายต้องแข็งแรง จิตใจต้องดี สติปัญญาต้องดี และเมื่อคนดี คนก็ทำหน้าที่ ครอบครัวก็ดี ชุมชนก็ดี สังคมก็ดี ประเทศชาติก็ดี  โลกก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ทุกอย่างเริ่มต้นที่คน เราจึงต้องพัฒนาคน”

ผลลัพธ์ที่คุณน้ำหวานภูมิใจคือ คนในชนบทมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เปลี่ยนจากการปลูกฝิ่น หรือต้องขายลูกกิน มามีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้อย่างยั่งยืน  และก้าวต่อไปของเธอคือ การเป็นหนึ่งในคณะทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  ซึ่งจากชื่อของมูลนิธิปิดทองหลังพระ เหมือนกับว่าการทำความดีไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ แต่สำหรับคุณน้ำหวาน เธอมองว่า เมื่อทำความดีควรได้รับการบอกต่อ อย่าไปอายถ้าเราทำดี กล้าที่จะบอกคนอื่นและชวนมาทำความดีร่วมกัน เช่น การแชร์ความดีที่ทำลงโลกโซเชียล มาทำให้การทำความดีกลายเป็นกระแส โดยเราสามารถเลือกในสิ่งที่มีความหมาย มีคุณค่า ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน

ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์)

นักออกแบบที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นผู้บุกเบิกงานหัตถกรรมร่วมสมัยจากผักตบชวาไทยในยุคแรกๆ จนโด่งดังไปทั่วโลก โดย ม.ล. ภาวินี มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยให้เป็นงานดีไซน์ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลกได้

ม.ล.ภาวินี มักจะลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน  ช่วยแนะนำ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ร่วมกันกับชาวบ้าน เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยในระดับสากล

“อยากให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ทำให้ดีกว่าเราขึ้นไปอีกในอนาคต”  นั่นคือ สิ่งที่  ม.ล.ภาวินี ต้องการเห็น เธอจึงได้ สร้างเครือข่ายนักออกแบบรุ่นใหม่  ด้วยการรวมตัวผู้ประกอบการด้านงานดีไซน์รายย่อยกว่า 100 แห่ง เพื่อให้นักออกแบบรุ่นหลังมีโอกาสพัฒนาฝีมือให้คุณภาพในระดับสากล

ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาอาจารย์ณัชชา ได้สรรค์สร้างผลงานชั้นยอดที่เป็นต้นแบบไว้ให้วงการวิชาการดนตรีไทยไว้อย่างมากมาย จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ศาสตราจารย์ด้านดนตรีแห่งยุค” โดยหนี่งในผลงานสำคัญคือ ทฤษฎีดนตรีและพจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์

“เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยกันพัฒนาวงการดนตรีให้ดียิ่งขึ้นไป”  อาจารย์ณัชชา เชื่อว่า คนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญร่วมกันกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเหตุนี้ อาจารย์จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ๆ โดยร่วมกับลูกศิษย์ในการถอดเสียงเพลงไทยออกมาในรูปแบบโน้ตสากล เพื่อให้ผู้ที่รักเปียโนเพลงไทยได้ติดตามกัน

คุณนิติกร กรัยวิเชียร

“นอกจากอนุรักษ์เรายังต้องการให้คนรุ่นนี้ได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศชาติ”  คำกล่าวของคุณนิติกร กรัยวิเชียร อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ที่ได้รับโอกาสสูงสุดจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานพระราชวโรกาสให้ฉายพระฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการมาตลอด 30 ปี นอกจากการเป็นช่างภาพแล้ว คุณนิติกรยังทุ่มเทให้กับการทำงานเพื่อสังคมควบคู่ไปด้วยทั้งการเป็นที่ปรึกษาในมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ หนึ่งงานสำคัญคือการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าของชาติอย่างฟิล์มกระจก ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้รวบรวมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 กว่า 40,000 ภาพ และได้มีการจัดทำเป็นหนังสือออกมาให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงภาพประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ

คุณนิติกร ให้มุมมองว่า “การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะที่มีประโยชน์ ขอให้นักถ่ายภาพทุกคน อย่าได้ถ่ายเพียงเพื่อความสวยงาม หรือเพียงเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ขอให้เอาความรู้ความสามารถด้านการถ่ายภาพไปทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้เช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการช่วยพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง”

คุณบุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์

คุณบุบผาสวัสดิ์ หรือครูอ้อน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสี และเป็นผู้วางแนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนทอสี โดยยึดหลักพุทธปัญญา จุดประกายของแนวคิดนี้ มีต้นทางมาจากคำพูดของพระอาจารย์ชยสาโรที่ดังก้องอยู่ในใจเสมอ คือ ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต

ครูอ้อน เชื่อว่า “มากกว่าวิชาการคือ วิชาชีวิต เพราะวิชาชีวิตคือ ตัวตั้งต้นในการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงวิชาการให้สอดคล้องกับชีวิต  เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ในสาระวิชาต่างๆ ตามระดับชั้น ฝึกลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เมื่อกลับไปบ้านก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ความสุขของครูอ้อนคือ การได้ทำโรงเรียนวิถีพุทธปัญญา เพราะเป็นการได้พิสูจน์ว่าพุทธศาสนาไม่ล้าสมัย ทำแล้วได้ผลจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต และแน่นอนว่า สิ่งดีงามต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เกิดเป็นสังคมโดยรวมที่มีความสุขนั่นเอง

คุณนภินทร์ จอกลอย

“ธรรมะไม่เพียงให้ชีวิตใหม่กับผู้พ้นโทษ พ่อแม่ก็ได้ลูกคนใหม่ ชุมชนมีสมาชิกที่ดีเพิ่มขึ้น สังคมก็ดีตามไปด้วย”เพราะความเชื่อมั่นและศรัทธาในธรรมะ จึงเป็นผลให้ตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่คุณนภินทร์ จอกลอย อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลาง จ.อุดรธานี เจ้าของฉายา “พ่อพระแห่งเรือนจำ” มุ่งมั่นใช้ธรรมะในการกล่อมเกลาจิตใจของผู้ต้องโทษให้ได้กลับมามีชีวิตใหม่

แม้ว่าปัจจุบันจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม แต่ภารกิจหลักของคุณนภินทร์ คือการเดินทางไปให้ความรู้และเผยแพร่หลักธรรมให้กับทุกหน่วยงานอยู่ตลอดโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อทำให้พวกเขาได้พบกับความสุขที่แท้จริง และสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า

คุณแสงเดือน ชัยเลิศ

“เมื่อใดที่เห็นช้างถูกทำร้าย ถูกทารุณกรรม ช่วยพูดแทนพวกเขาด้วย”

นี่คือสิ่งสำคัญที่ คุณแสงเดือน หรือ คุณเล็ก ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อยากจะให้ทุกคนได้ร่วมด้วยช่วยกัน

ทุกวันนี้ คุณเล็ก ยังคงทุ่มเททั้งพลังกายและพลังใจทั้งหมดของเธอเพื่อ “ช้าง” ด้วยการเดินหน้าช่วยเหลือช้างไทย พร้อมๆ กับการขยายแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครให้แพร่หลายมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  เธอเป็นผู้สร้างผืนแผ่นดินแห่งความสุขให้กับช้างกว่า 80 เชือก อีกทั้งยังช่วยดูแลรักษาทั้งช้างแก่ ช้างป่วย หรือช้างบาดเจ็บ เพราะอยากให้ช้างทุกตัวได้สัมผัสกับความรักความห่วงใยจากเพื่อนมนุษย์

คุณแสงเดือนบอกอีกว่า ทุกวันนี้ปางช้างไทยเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาสามัคร มากขึ้น หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันช่วยช้างไทย เชื่อว่าอีกไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ ช้างที่ถูกทารุณกรรมน่าจะหมดไปจากประเทศไทยแน่นนอน” นี่คือความหวังของเธอ

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

ระยะเวลากว่า 30 ปีของการดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก คุณหมอวรวิทย์ หรือ หมอตุ่ย ได้ค้นพบความสุขกับการเป็นแพทย์ชนบทนับตั้งแต่จบการศึกษา และยังคงปักหลักอยู่พื้นที่ชายแดน พื้นที่ที่ผู้คนไร้สัญชาติต้องการการช่วยเหลือ รักษา ดูแล และบรรเทาทุกข์จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ

จนถึงวันนี้อุดมการณ์ของหมอตุ่ยก็ยังไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ ทำให้โรงพยาบาลอุ้มผางเป็นสถานพยาบาลที่ไม่แบ่งแยก แม้จะเป็นบุคคลไร้สัญชาติก็จะไม่ปฏิเสธการรักษา ทุกวันนี้นอกจากการดูแลบริหารที่ รพ.อุ้มผางแล้วหมอตุ่ยก็ยังคงเดินทางไปช่วยเหลือยังโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย

หมอตุ่ย บอกว่า “ทุกวันนี้พยายามเดินหน้าทำงานต่อไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็หยุดพัก หายเหนื่อยก็เดินต่อ แต่จะไม่ยอมถอยหลังอย่างแน่นอน”

#KBank #FORWARDYOURWISDOM #10thAnniversaryTHEWISDOM

Praew Recommend

keyboard_arrow_up