ฮิโระ ซาโนะ ซามูไรในแดนสยาม

หนุ่มหน้าเข้มจากแดนปลาดิบที่พาผู้ชมชาวไทยไปรู้จักญี่ปุ่น ผ่านรายการ “วาบิ ซาบิ” และ “อาเซียน โฟกัส” ด้วยภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่นชวนให้อมยิ้ม ประโยคแรกที่ผมทักเขาคือ “ตัวจริงดูหล่อกว่าในโทรทัศน์” ฮิโระตอบว่า “หลายคนก็ทักผมแบบนี้ ผมมักตอบกลับไปว่า โทรทัศน์คุณแย่แล้วหรือเปล่าครับ ซื้อใหม่ดีไหม” รู้เลยว่า ภาษาไทยของเขาไม่ธรรมดา

MR.PRAEW : ทำไมจึงตัดสินใจมาเมืองไทย

ฮิโระ : ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวแบบแบคแพ็ค เริ่มจากออสเตรเลีย เกาหลี แล้วก็ไทย ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยเท่าไร แค่ได้ดูโฆษณาของการบินไทยที่บอกว่า “จะไปเมืองไทย ต้องไปช่วงวัยรุ่น” ผมจึงรู้สึกว่า เออ…งั้นไป มาถึงวันแรก ร้อนมาก! มีประเทศที่ร้อนขนาดนี้ด้วยหรือ (หัวเราะ) คือพอถึงสนามบินดอนเมืองก็เหงื่อออก เข้าใจแล้วว่าทำไมโฆษณาการบินไทยบอกให้มาช่วงวัยรุ่น เพราะร้อนจริงๆ แต่ยิ่งใช้ชีวิตยากผมกลับยิ่งชอบ อย่างไปออสเตรเลีย พอพูดภาษาอังกฤษได้ ไปเกาหลีอาหารการกินและวัฒนธรรมก็คล้ายๆ ญี่ปุ่น แต่เมืองไทยจะต่างกันไปเลย ผมจึงชอบมาก (ยิ้ม)

MR.PRAEW : แล้วเป็นมาอย่างไรถึงได้มาทำรายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้คนไทยดู

ฮิโระ : เริ่มต้นมาจากที่ผมมีพื้นฐานการแสดงอยู่บ้าง พอมาเมืองไทยก็มีคนที่รู้จักกันชวนไปเล่นโฆษณา หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ รวมถึงงานละครเรื่อง ฟ้ากับตะวัน ของช่องไทยพีบีเอส เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว จู่ๆ ทางช่องก็ถามว่า สนใจทำรายการแนะนำประเทศญี่ปุ่นไหม ผมกลับไปนั่งคิด แล้วนึกขึ้นได้ว่าเวลาอยู่ในกองถ่ายกับทีมงาน ความที่ผมเป็นคนญี่ปุ่นคนเดียว หลายคนจึงชอบถามผมว่า “ฮิโระ ร้านราเมนในญี่ปุ่นที่ไหนอร่อย” หรือ “อยากช้อปปิ้งรองเท้า เครื่องสำอาง ต้องไปซื้อที่ไหนดีที่สุด”

พอโดนถามแบบนี้มาตลอดจนรู้สึกว่าทำไมคนไทยสนใจญี่ปุ่นขนาดนี้ จึงเป็นไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้นผมนำข้อมูลตรงนี้มาบอกในรายการเลยดีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือ ยังมีหลายเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่คนไทยเข้าใจผิดอยู่ เช่น บางคนเห็นดอกไม้สีชมพูบานก็บอกว่าเป็นดอกซากุระ ความจริงคือดอกบ๊วย หรือในละคร ให้ผมเล่นเป็นซามูไรแต่ถือดาบของจีน หรือให้สวมชุดเทควันโด้แต่เล่นคาราเต้ ผมไม่อยากให้คนไทยรู้จักญี่ปุ่นแบบผิดๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำรายการเพื่อแนะนำความเป็นญี่ปุ่นที่แท้จริงให้คนไทยรู้จัก

MR.PRAEW : มีเทปไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม

ฮิโระ :ประทับใจที่สุดคงเป็นตอนที่ผมต้องไปถ่ายรายการอาเซียนโฟกัส เพื่อทำสารคดีหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ครั้งนั้นผมไปเมืองอิชิโนมากิ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบมาก บ้านเรือนพังเสียหายหมด ผมไปพบผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างในหมู่บ้าน แต่มีพลังในการฟื้นฟูและช่วยเหลือชุมชนสูงมาก ความที่บ้านและออฟฟิศของเขาไม่เป็นอะไรมาก เขาจึงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างบ้านให้คนที่สูญเสียบ้าน เพราะตอนนั้นอากาศหนาว ผู้คนจำเป็นต้องมีที่อยู่ เขาใช้วิธีสร้างบ้านแบบมองโกเลีย ที่เรียกว่า เกอร์ (Ger) โดยให้คนมองโกเลียมาช่วยสร้างให้ เพราะพวกเขาจะไม่อยู่ที่เดียวนาน จะเดินทางไปเรื่อยๆ จึงมีวิธีการสร้างบ้านชั่วคราวที่เก่งมาก

ตอนนั้นแม้ทุกอย่างยังไม่เข้าที่ดี ผู้ชายญี่ปุ่นคนที่เป็นช่างก่อสร้างคนนี้ยังถามผมว่า “ฮิโระ เข้าออนเซ็นไหม” ลองนึกภาพดูนะครับ บ้านยังแทบไม่มีให้อยู่ เหลือแต่ซากปรักหักพัง แต่เขายังอุตส่าห์ทำอ่างน้ำร้อนแบบโอเพ่นแอร์ให้แช่น้ำพลางดูวิวซากเมือง เป็นภาพที่ผมลืมไม่ลงเลย ผมรู้ว่าตอนนั้นทุกคนเหนื่อยมาก แต่คนญี่ปุ่นยังไงก็ต้องแช่น้ำร้อนเพื่อผ่อนคลาย การแช่ออนเซ็นในครั้งนั้นทำให้ผมเข้าใจแมสเสจที่ผู้ชายคนนี้อยากบอก คือ “ไม่เป็นไร ยังไงเราก็มีอนาคต” คนญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้ครับ เขาไม่พูดตรงๆ แต่จะสื่อสารผ่านการกระทำ อาจจะมาจากซามูไร ซึ่งพอผมเข้าใจ ผมเองก็ไม่ได้พูดอะไรมาก แต่เราเข้าใจกัน

MR.PRAEW : ที่ผ่านมาคนไทยมองว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความสุข ขณะเดียวกันก็มีอีกมุมที่ตรงข้ามกันเลย อย่างเช่น ข่าวเด็กนักเรียนฆ่ากัน หรือข่าวการฆ่าตัวตาย จริงๆ แล้ว สังคมญี่ปุ่นเครียดขนาดนั้นเลยหรือ

ฮิโระ : เราต้องระวังในการรับข่าวสาร เพราะเรื่องไม่ดีเพียงเรื่องเดียวอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้ เหมือนกับข่าวฆ่าข่มขืนบนรถไฟที่เมืองไทย เรื่องนี้ก็กลายเป็นข่าวที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน มีคนญี่ปุ่นถามผมว่าคนไทยแย่ขนาดนี้เลยหรือ ผมยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า เราก็เหมือนกันทั้ง 2 ฝ่าย และเมื่อผมยืนอยู่ตรงกลางของเรื่องนี้ ผมจะอธิบายให้คนญี่ปุ่นฟังว่า คนไทยไม่ใช่แบบนี้นะ นี่เป็นแค่คนเดียวใน 65 ล้านคน ขณะเดียวกันผมก็จะบอกคนไทยที่ถามผมว่า อย่ามองญี่ปุ่นจากการกระทำของคนแค่คนเดียวได้ไหม เพราะอีก 99% อาจไม่ใช่ แต่ถ้าถามว่าคนญี่ปุ่นเครียดไหม ผมบอกได้เลยว่าเครียดขึ้น เหมือนกรุงเทพนี่แหละ เมื่อ GDP เพิ่มขึ้น ความเครียดก็เพิ่มขึ้น ทั่วโลกเหมือนกันหมดครับ

MR.PRAEW : อีกเรื่องที่ต้องถาม คนมักมองญี่ปุ่นถึงอุตสาหกรรมหนัง AV คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ฮิโระ : ผมว่าคนไทยดูหนังแนวนี้เยอะกว่าคนญี่ปุ่นอีกนะ (หัวเราะ) บางทีคนไทยพูดชื่อดาราคนนั้นคนนี้ ผมยังถามว่า หน้าตาเป็นอย่างไร เรื่องหนัง AV คนญี่ปุ่นเปิดเผยกับเรื่องนี้ แต่คนไทยค่อนข้างปิด คนญี่ปุ่นมองว่าเป็นศิลปะและเป็นภาพยนตร์ประเภทหนึ่ง จึงมีการผลิตมาก คนที่อยากเล่นก็มีเยอะ เพื่อนผมคนหนึ่งทำหนังอยู่กับโปรดักชั่นเฮาส์ดังมากในญี่ปุ่นชื่อ นิกคัตซึ ซินิม่า (Nikkatsu Cinema) เขาก็เริ่มจากหนังเอวีเหมือนกัน คือทั้งนักแสดงและผู้กำกับที่โน่นก็อยากทำงานกับหนังใหญ่ๆ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาส แล้วในเมื่อมีหนังเอวีรองรับอยู่ก็ใช้โอกาสนี้แสดงให้เต็มที่ ผมเคยดูสารคดีญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง นักแสดงหญิงเอวีเขาจริงจังมากนะ เขาจะคิดบทไปด้วยแล้วคุยกับผู้กำกับ คือช่วยคิดจริงจัง พอแอ็คชั่นปุ๊บก็เปลี่ยนเป็นคาแรคเตอร์นั้นเลย ถือเป็นวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่ผมประทับใจ

MR.PRAEW : ถ้าคนไทยมีโอกาสไปญี่ปุ่นได้แค่ 3 ที่ คุณอยากแนะนำที่ไหน

ฮิโระ : ที่แรกต้องเป็นโตเกียวครับ เพราะมีความหลากหลายที่สุด ทั้งโมเดิร์นและคลาสสิกอยู่ในที่เดียว มีทั้งวัดเก่าแก่ไปจนถึงสถานที่ช้อปปิ้งของแฟชั่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เรียกว่าไม่มีอะไรที่หาไม่ได้ในโตเกียว อีกที่หนึ่งคือ กูโจฮาจิมัง (Kujo Haji) เมืองเล็กๆ ที่น่ารักมาก เต็มไปด้วยปราสาทเก่าแก่ แถมทุกที่ในเมืองจะได้มีสายน้ำไหลผ่านและได้ยินเสียงน้ำ สดชื่นมาก ต่อให้มีเวลาวันเดียวก็เที่ยวได้ แนะนำมากๆ แห่งที่สามคือ คาโกชิมะ (Kagoshima) อยู่ทางภาคใต้ ผมประทับใจคนที่นั่นเพราะนิสัยเหมือนคนไทยเลยครับ ใจดี น่ารัก คุยง่าย สบายๆ แล้วก็ดื่มเก่งมาก (หัวเราะ) อีกอย่างคือที่นี่มีออนเซ็นแบบอบทราย แปลกดี แถมยังมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกามิกาเซ่และทหารญี่ปุ่น ซึ่งผมสนใจเป็นพิเศษ

MR.PRAEW : กลับกันถ้าให้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทย ที่ไหนที่คุณฮิโระชอบไปที่สุด

ฮิโระ : ทะเลครับ ผมว่าเกาะกับทะเลในเมืองไทยสวยมาก สู้มัลดีฟได้เลยนะ ผมเห็นคนไทยไปมัลดีฟกันเยอะ ทั้งที่เกาะเมืองไทยสวยอยู่แล้ว ทะเลก็สมบูรณ์มาก ถ้าจำไม่ผิด หนังสือเล่มหนึ่งของอเมริกาเพิ่งเลือกเกาะเต่าให้เป็นเกาะสวยงามอันดับหนึ่งของโลกในปีนี้
MR.PRAEW : คนญี่ปุ่นชอบอะไรในเมืองไทยมากที่สุด

ถ้าถามผม..คนไทยใจดีมาก ครั้งหนึ่งผมขี่มอเตอร์ไซค์แล้วล้มแถวๆ ประตูน้ำ ภายใน 5 วินาที มี คนเข้ามาช่วยผม 3-4 คน ภายใน 5 วินาทีนะ (ย้ำหนักแน่น) หรือมีผู้สูงอายุทำตั๋วรถไฟฟ้าหล่น แค่ 3 วินาที ก็มีคนมาช่วยเก็บให้ แป๊บเดียว (หัวเราะ) ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นอาจจะคิดก่อนว่าจะช่วยดีไหม แค่คิดก็ผ่านไป 10 นาทีแล้ว (หัวเราะ) แต่คนไทยต่างออกไป ผมรู้สึกว่าคนไทยมีน้ำใจ พร้อมช่วยเหลือคนอื่นอยู่ตลอด ถ้ามีคนสูงอายุล้มก็ช่วยเลย ไม่ต้องคิดว่าคนอื่นจะมองอย่างไร

MR.PRAEW : วางแผนชีวิตต่อจากนี้อย่างไร

ฮิโระ : ตอนนี้กำลังทำรายการ “สุโค่ย เจแปน” ต่อ แล้วก็มี www.wabisabijp.com เป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวญี่ปุ่นสไตล์ญี่ปุ่น จะพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ อีกอันเป็นโปรเจ็คท์ส่วนตัวที่ตั้งใจทำในญี่ปุ่น เกี่ยวกับการสร้างคอมมิวนิตี้ให้เป็นเหมือนศาลาคนสูงอายุมารวมกัน นัดมาเจอกันอาทิตย์ละครั้ง

ที่มองเรื่องนี้เพราะตอนนี้ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมีเยอะที่สุดในโลก อีก 20 ปีข้างหน้า หมู่บ้านเล็กๆ ในต่างจังหวัดจะหายไปเหลือแต่บ้าน หรือปัญหาคนแก่เสียชีวิตคนเดียวในห้องเล็กๆ โดยไม่มีใครรู้ ผ่านไป 5 เดือน จึงจะมีคนมาเจอ ผมรู้สึกว่าสังคมครอบครัวญี่ปุ่นห่างกันมากไป คือ ลูกทำงานยุ่งอยู่ในโตเกียว ส่วนพ่อแม่อยู่อีกเมืองจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแล พอพ่อหรือแม่เสียไป อีกคนก็ต้องอยู่คนเดียวไม่มีใครดู ก็ต้องตายไปคนเดียว ผมจึงชอบที่คนไทยยังอยู่กับพ่อแม่แบบครอบครัวใหญ่ คนไทยยังมีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่

MR.PRAEW : คุณฮิโระอยากพูดถึงญี่ปุ่นในด้านใดให้คนไทยได้ฟังบ้าง

ฮิโระ : คนญี่ปุ่นชอบคนไทยมากมากครับ มากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ อาหารไทยดังมากในญี่ปุ่น มีนักเรียนไทยไปแลกเปลี่ยนเยอะ เพื่อนญี่ปุ่นผมคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนทำอาหารไทย เขาพูดภาษาไทยได้เท่าๆ กับผม แต่ทำรายการในช่อง NHK จึงดังมาก ทุกวันนี้คลาสเรียนของเขาเต็มหมด จองยากต้องรอคิวยาว

ผมอยากบอกว่า คนญี่ปุ่นขอบเมืองไทยมากจริงๆ ครับ (ยิ้ม)

เรื่อง : Mr.Praew
ภาพ : อิทธิศักดิ์ บุปราศภัย
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 840 คอลัมน์ talk around by mr.praew

Praew Recommend

keyboard_arrow_up