Lanvin On Runway…จากรันเวย์สู่ชีวิตจริง

คนที่รู้จัก ‘วริษา ประธานราษฏร์นิกร’ ทายาทสายตรงของนักธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าพานาโซนิก (ไทยแลนด์) อาจคุ้นกับภาพสาวนักกฏหมายใส่แว่นตา แต่เธอยังมีอีกภาคที่ชวนอเมซซิ่งจากการหลงใหลในเสน่ห์ดีไซน์โก้หรูของลองแวง จนตามซื้อไว้เป็นคอลเล็คชั่นส่วนตัวร่วม 100 ชุด

ความรัก ความปรารถนา และการลงทุน

“คุณพ่อปายชอบเสื้อผ้าแบรนด์เนม และซื้อให้คุณแม่ด้วย ท่านชอบดีไซน์แบบคลาสสิก มีวิธีสลับใช้เพื่อยืดอายุเสื้อผ้าให้ใช้ได้นานๆ ส่วนคุณแม่เน้นที่รองเท้า เพราะเป็นจุดศูนย์รวมประสาทของร่างกาย ฉะนั้นปายจึงรับรู้เรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยเข้าใจว่าการซื้อเสื้อผ้าราคาสูงมาก คุ้มค่าอย่างไร กระทั่งเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2 มีเทรนด์ในหมู่เพื่อนคือไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ ยอมให้ได้แค่เฉพาะท่อนล่าง แต่เสื้อห้ามซ้ำ ไม่อย่างนั้นถูกเพื่อนล้อ วันหนึ่งปายไปช็อปปิ้งกับคุณแม่ที่ห้างเกษร ท่านพาเข้าร้านลองแวง แล้วเล่าประวัติว่า ‘แจน ลองแวง’ (Jeanne Lanvin) ผู้ก่อตั้งลองแวง น้อยคนที่จะรู้จักว่าเธอเป็นผู้หญิงเก่ง นอกจากจะสามารถเปิดห้องเสื้อให้คนทั่วโลกยอมรับได้ ทั้งที่สมัยก่อนยอมรับความสามารถของผู้ชายมากกว่า ยังสร้างชื่อเสียงต่อเนื่องยาวนานจนถึงวันนี้

“ปัจจุบัน ‘อัลแบร์ เอลบาซ’ เข้ามารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ดูแลในส่วนของเสื้อผ้าและเครื่องประดับสุภาพสตรี ณ ตอนนั้นปายก็ยังไม่เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมต้องซื้อชุดแพงขนาดนี้ จึงมองผ่านๆ แต่พอไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ใกล้ที่พักมีช็อปลองแวง ปายลองเข้าไปดู จะเรียกว่าเป็นยุคทองของอัลแบร์ก็ว่าได้ เขาดีไซน์แต่ละชุดสวยมาก ถึงอย่างนั้นปายก็ยังไม่กล้าซื้อ จึงค่อยๆ เริ่มจากเครื่องประดับเป็นคอสตูมจิเวลรี่ก่อน มีต่างหู ete 2003 กับเข็มขัดผีเสื้อ ete 2011 เพราะคุณแม่บอกว่า ท่านเคยซื้อคอสตูมจิเวลรี่แบรนด์อื่นเก็บไว้จนถึงวันนี้ก็ยังสวยอยู่ และใส่ได้เรื่อยๆ ยิ่งช็อปที่อังกฤษมีชิ้นแปลกซึ่งที่อื่นไม่มี ทำให้เราเข้าใจว่า สวยจับใจ เป็นอย่างไร ทั้งที่คุณแม่สนับสนุนให้เก็บเป็นเพชร หรือทอง ซึ่งปายซื้อบ้าง แต่ไม่เยอะ ยอมลงทุนกับของที่มีสไตล์มากกว่า เพราะหากรักแล้ว ปายไม่เกี่ยงราคา คุณแม่ก็เข้าใจ ปายจึงมีโอกาสได้แต่งตัวตามสไตล์ที่ชอบ”

พี่เพชร’ ประตูก้าวแรกสู่โลกของลองแวง

“ตอนปายเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเวสต์มินเตอร์ ลอนดอน คุณแม่และพี่สาวมาเยี่ยมบ่อย จุดหมายที่พวกเราขาดไม่ได้คือ ช็อปลองแวง พนักงานในร้านเห็นเราพูดภาษาไทยก็เข้ามาทัก จึงรู้ว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน ปายเรียกเขาว่าพี่เพชร เป็นคนสวย อัธยาศัยดี ต่อมาพี่สาวมาเยี่ยมปาย เขาก็จะชวนไปช็อปลองแวง และซื้อเสื้อกันหนาวให้ กระทั่งเริ่มคุ้นกับพี่เพชร เขาเล่าว่าอยู่อังกฤษนานมาก ความที่อัธยาศัยดีจึงมีลูกค้าตั้งแต่ระดับเจ้าหญิง ดารา กระทั่งเซเลบก็มีทั้งเมืองนอกและเมืองไทย หลังจากนั้นเวลาปายเหงาก็จะไปหาเขาที่ช็อป ทุกครั้งพี่เพชรไม่เคยยัดเยียดขายของ ยิ่งทำให้เราไปอย่างมีความสุข จนได้เครื่องประดับกลับมาทุกครั้ง (หัวเราะ)

“จากนั้นปายเริ่มเขยิบมาซื้อคอลเล็คชั่นยีนส์ โดยมีพี่เพชรแนะนำอีกเช่นกัน ถึงอย่างไรก็ยังไม่กล้าซื้อเดรสจากรันเวย์ เกรงใจคุณพ่อคุณแม่ เพราะยังเรียนไม่จบ ยังไม่ได้รับอภิสิทธิ์ซื้อของราคาขนาดนี้ กระทั่งเรียนจบปริญญาโท เริ่มทำงาน เหมือนเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ยอมรับว่ากล้าใช้เงินมากขึ้น จึงซื้อเดรสเลย อัลแบร์เก่งตรงที่เลือกเนื้อผ้าได้เหมาะกับดีไซน์ ใส่แล้วสวยจบเพียงชุดเดียว หากไปงานแค่เพิ่มต่างหูก็หรูเลย จึงเริ่มรักและซื้อชุดเดรสจากรันเวย์เก็บมาเรื่อย รวมทั้งเครื่องประดับ

“เมื่อมีชุดแรกก็มีชุดต่อไป จนเรียกว่าเสพติดก็ได้ เปิดเว็ปเฝ้าดูทุกคอลเล็คชั่น ก็ได้พี่เพชรนี่ละที่ทั้งเสาะหาชุดจากทุกมุมโลก และเป็นทั้งสไตลิสต์ส่วนตัว บางชุดปายชอบ พยายามซื้อ หากพี่เพชรมองว่า ใส่ไม่สวยก็ไม่สนับสนุน นอกจากชุดที่เหมาะกับเราจริงๆ จึงสนับสนุน เรียกว่าแทบซื้อให้เลยก็ได้ ใส่ใจเหมือนเพื่อน เหมือนน้อง ซึ่งปายเชื่อว่า นี่คือเหตุผลที่ทำให้รักลองแวง”

สไตล์ปาย…เป๊ะตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

“ปายมีหลายบุคลิก หลายสไตล์ เป็นผู้หญิงที่สามารถโทรมได้ ใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้น กางเกงวอร์มได้หมด ตอนนี้ปายทำงานอยู่ฝ่ายกฏหมาย ธนาคารไทยพาณิชย์ ไปทำงานจะแค่ทาแป้ง เขียนคิ้วนิด ใส่แว่น หากอารมณ์ดีก็เพิ่มบรัทชออน และอายไลเนอร์ แต่หากหงุดหงิดก็แต่งเต็มสตรีม เป็นคนที่ชัดเจนกับการแต่งตัวมาก หากชอบแบรนด์ไหนก็พุ่งไปที่แบรนด์นั้นเลย โดยดูที่เนื้อผ้าและคัทติ้งเป็นหลัก ไม่นิยมใส่เสื้อผ้าสีสันผสมกันเยอะๆ ตรงกันข้ามค่อนข้างเป๊ะ โดยเฉพาะวัสดุต้องเป็นทางเดียวกัน แม้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ที่เปิดปิดกระเป๋า หรือซิปกระเป๋าต้องเป็นโลหะหรือวัสดุเดียวกัน แปลกแยกไม่ได้เลย เช่นหากปายใส่ชุดสีทอง จิเวลรี่ ที่เปิดกระเป๋า ซิป ยันไปถึงรองเท้าต้องเป็นสีทองหมด แต่ลองแวงทำให้ปายยอมได้ อย่างเข็มขัดผีเสื้อที่ซื้อชิ้นแรกในชีวิต ตอนแรกเห็นแล้วหงุดหงิด เพราะผสมวัสดุทั้งเงินกับทอง ซื้อมาก็พยายามอ่านใจดีไซเนอร์ว่า ทำไมจึงดีไซน์แบบนี้ พอมองนานๆ จึงเข้าใจ เพราะเขานำทองกับเงินมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยไม่รู้สึกขัดตาขัดใจ เช่น หากใช้ทองอร่ามแล้วระหว่างช่องที่ฝังคริสตัลขาวเขาใช้เงินรมดำแทน”

พรมแดงมิอาจกั้นฉันกับลองแวง

“ลองแวงสำหรับปาย ครึ่งหนึ่งคือแพชชั่น อีกครึ่งหนึ่งคือของสะสม ปายเริ่มซื้อเดรสที่มาจากรันเวย์เก็บตั้งแต่ปี 2011 โดยเลือกตามความรู้สึกว่า ไม่ให้ชุดเด่นกว่าตัว แต่ให้เป็นส่วนหนึ่ง เพราะต้องให้คนมองรูปร่างหน้าตาของเราด้วย ถึงวันนี้มีเกือบ 100 ชุด จนพอเดาราคาได้ โดยเฉลี่ยหากซื้อเมืองนอก ราคาเริ่มตั้งแต่หมื่นปลายจนถึงหลักแสน หากเป็นคอลเล็คชั่นรันเวย์ราคาจะสูงกว่า ขณะทีเมืองไทยจะแพงกว่า 2-4 หมื่นบาท แต่ก็มีโปรโมชั่นลดราคาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน พอเริ่มซีซันใหม่ปายจะเข้าไปดูในเว็บก่อนว่า สู้ราคาไหวไหม หากโอเค จะใช้เงินปันผลที่คุณแม่ไปลงทุนในหุ้นให้ปายตั้งแต่เด็กไปซื้อ ปายหวงชุดมาก ไม่เคยคิดที่จะขาย ไม่ยอมให้อยู่ห่างตัวนาน ใส่เสร็จส่งซักแห้งแบบด่วนพิเศษ ส่งวันนี้รับพรุ่งนี้เลย

“แค่ 3 ปีที่ปายเริ่มติดตามลองแวง ยิ่งกว่าเข้าใจคุณพ่อคุณแม่เลยว่า ทำไมจึงชอบใช้แบรนด์เนม เพราะนอกจากคุณภาพดีแล้ว ยังสามารถเก็บเป็นการลงทุนได้”

เรื่อง : Gornrapat
ภาพ : โยธา เจริญรัตนโชค,วรสันต์ ทวีวรรธนะ
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 840 คอลัมน์ unexpected

Praew Recommend

keyboard_arrow_up