สองแม่ทัพใหญ่แห่ง Amarin TV ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ – โชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์

36 ปีก่อน คือ ก้าวแรกที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เข้ามายังธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก่อนจะพัฒนาศักยภาพจนกลายยักษ์ใหญ่ของวงการสื่อสารมวลชนไทย

เวลาเดินผ่านถึง พ.ศ. 2557 อมรินทร์ฯ ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจครั้งใหม่กับ “ทีวีดิจิตอล ช่อง 34 Amarin TV” ด้วยเงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นับเป็นการผจญภัยครั้งใหญ่ภายใต้การนำของ คุณแพร-ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ และ คุณหมี-โชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ สองแม่ทัพใหญ่ที่ควงกันมาให้สัมภาษณ์คู่ด้วยกันเป็นครั้งแรก ถึงเรื่องราวสุดเข้มข้นของศึกทีวีดิจิตอล ที่ถูกยกให้เป็นมหากาพย์ทางธุรกิจแห่งทศวรรษ ก้าวต่อไปของสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงเรื่องราวน่ารักปนหวาน ของ Double Team ทั้งเรื่องงานและชีวิตคู่

ทำไมสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างอมรินทร์จึงตัดสินใจลงสนามทีวีดิจิตอลครับ

คุณระรินตอบก่อน “จริงๆ แล้ว อมรินทร์คิดทำทีวีมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ (ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์) ยังบริหารอยู่แล้วค่ะ เป้าหมายของเราไม่ใช่การเปลี่ยนจากธุรกิจสิ่งพิมพ์มาเป็นทีวี แต่เป็นการสร้างเครือข่ายสื่อให้ครอบคลุมมากกว่า และเราได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ 10 ปีก่อนที่ทำรายการเกี่ยวกับบ้านและสวยทางช่อง 7 ในยุคของคุณแดง (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) เรายังระลึกถึงบุญคุณของคุณแดงมาโดยตลอดที่ให้โอกาสอมรินทร์บนเส้นทางสายทีวี ต่อด้วยผลิตรายการทางช่อง 9

“ก้าวใหญ่อีกครั้งคือ ตอนทำทีวีดาวเทียมช่อง “อมรินทร์ แอคทีฟ ทีวี” เมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 จากนั้นเมื่อมีการประมูลดิจิตอล เราจึงตัดสินใจยื่นประมูลช่อง HD (High-definition) ถึงแม้ไม่ใช่บริษัทที่ทำทีวีมาแต่แรก แต่ประสบการณ์ด้านสื่อมากกว่า 30 ปี ผลิตเนื้อหาด้านต่างๆ ตั้งแต่บ้าน แฟชั่น สุขภาพ ฯลฯ เพราะฉะนั้นในมุมของแพร อมรินทร์ไม่ได้ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้เร็วเกินไป เพราะได้ลองสนามมาพักใหญ่ๆ แล้ว บวกกับประสบการณ์ 1 ปีในการทำสถานีของตัวเอง ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจพอที่จะทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง”

ทราบมาว่า บรรยากาศวันประมูลตื่นเต้นเร้าใจสุดๆ

คุณโชคชัยย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น “ใช่ครับ เป็นเรื่องการวางกลยุทธ์ในการประมูล เรามียอดเงินในใจแล้วว่า ต้องเป็นตัวเลขที่เราสามารถทำธุรกิจได้ ถ้ามากเกินไปก็คงไม่สู้ต่อ ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผลเป็นไปตามเป้านั้น เราจึงวางกลยุทธ์ไว้ว่า อมรินทร์ต้องบินต่ำกว่าเรดาร์ ตลอดเวลา 1 ชั่วโมงในการประมูล เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้าร่วมกรอกตัวเลขแล้วขึ้นจอให้ทุกคนดู ซึ่งเราก็ปล่อยให้เจ้าอื่นพิมพ์ตัวเลขนำไปก่อน ชื่ออมรินทร์อยู่ในโซนสีแดงตลอด ซึ่งหมายความว่าไม่ได้ กระทั่ง 3 นาทีสุดท้าย ที่ผมบอกให้พนักงานของเราเร่งคีย์ตัวเลขเต็มที่ โจทย์คือต้องกดให้เร็วที่สุด ซึ่งคนที่ทำหน้าที่นั้นคือ เจ้าหน้าที่แอดมินที่ทำหน้าที่คัย์ออเดอร์ให้อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ ในแต่ละวัน เขาต้องพิมพ์ตัวเลขตลอดเวลา สามารถกดแป้นพิมพ์ด้วยความเร็วโดยแทบไม่ต้องมองจอคอมพิวเตอร์ แล้วก่อนวันประมูลเราก็มีการซักซ้อม เห็นได้ชัดว่า นิ้วเขาเร็วมากจริงๆ ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้ในที่สุดเราสามารถประมูลทีวีช่อง HD มาได้อย่างที่ตั้งใจ”

คุณระรินเล่าต่อ “บรรยากาศตอนนั้นตื่นเต้นมาก แล้วเรื่องการคีย์ตัวเลข แพรกับพี่หมีคงไม่สามารถทำได้เร็วแบบนั้น และพี่หมีก็ไม่ยอมให้ทำด้วย เพราะเราที่เป็นผู้บริหารรู้ดีว่า การเคาะแป้นพิมพ์แต่ละครั้งเท่ากับเงิน 10 ล้านบาท ถ้าทำเองคงเครียดจนเคาะผิดๆ ถูกๆ (หัวเราะ)

“แล้วหนนี้ เราตั้งใจเลือกช่อง HD มาตั้งแต่แรก เนื่องจากเทรนด์จากเมืองนอกบอกได้ชัดเจนว่า เมื่อผู้ชมได้ดูช่องความละเอียดสูงแล้ว ไม่มีใครอยากกลับไปดูทีวีแบบธรรมดาอีก เพราะความรู้สึกต่างกันมาก อย่างทีวีของเซี่ยงไฮ้ที่มาคุยกับเรา เขามีทีวีถึง 10 ช่อง แต่พอเริ่มทำ HD เขาก็เลิกทำช่อง Standard ทั้งหมด การประมูลครั้งนี้อมรินทร์จึงทุ่มมาที่ช่อง HD เพราะหากรอการประมูลรอบสอง ราคาอาจแพงกว่านี้อีกไม่รู้เท่าไร”

หลังจากประมูลได้แล้ว เรื่องราวเป็นอย่างไรต่อครับ

คุณโชคชัยตอบทันที “โอ้โห… เรื่องใหญ่มาก (หัวเราะ) ตอนสิ้นสุดการประมูล ผู้ประกอบการบางช่องเปิดแชมเปญฉลองแล้วนะครับ แต่สำหรับอมรินทร์ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เราประชุมวางแผนการผลิตทีวีต่อทันที เพราะมีเวลาแค่ 4 เดือนในการเซ็ตอัพสถานีโทรทัศน์ 1 ช่อง ให้ทันวันออกอาการที่ กสทช. กำหนด ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ ถือเป็นเวลาที่น้อยมาก ขนาดคนในวงการทีวียังแซวกันว่า การทำ เซเว่น-อีเลฟเว่น หนึ่งสาขายังใช้เวลามากกว่านี้อีก

“หลังจากนั้น เราทุบสตูดิโอถ่ายภาพของแมกกาซีน เพื่อเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ เทเลวิชั่น สรรหาทีมงานฝ่ายข่าว ฝ่ายโปรดักชั่น ซื้ออุปกรณ์ คิดเนื้อหาของแต่ละรายการ และอีกมากมายสารพัด เป็นการทำงานที่แข่งกับเวลาชนิดที่เรียกว่า 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีหยุด หลายครั้งที่ประชุมถึง 5 ทุ่ม แล้วรุ่งขึ้นต้องลุยใหม่ตั้งแต่เช้า เนื่องจากเราไม่ได้เริ่มจากสถานีใหญ่ที่มีคนเยอะ แต่นับหนึ่งจากพนักงานจำนวนไม่มาก แล้วค่อยๆ หาเข้ามาเสริม รู้ตัวอีกทีน้ำหนักผมหายไป 5 กิโลกรัม ผอมไปแบบทันตา ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านช่วงนั้นมาได้อย่างไร”

เรียกว่า ทั้งคู่หายใจเข้าหายใจออกเป็นทีวีได้ไหมครับ

คุณโชคชัยพยักหน้ารับ “อยู่ในห้วงคำนึงตลอดเวลา ช่วง 4 เดือนแรก ผมกับแพรฝันเรื่องงานกันแบบวันเว้นวัน เช่น ฝันว่าประชุมเรื่องทีวี ไปเจอลูกค้าคนนั้น คุยกับผู้ผลิตคนนี้ ฝันถึงขนาดไปเจอกับผู้บริหารทีวีช่องอื่น เขาถามว่า อมรินทร์ทีวีเสร็จหรือยัง ซึ่งในวันนั้น สถานียังไม่เสร็จดีด้วยนี่สิ (หัวเราะ)”

คุณโชคชัยในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่นส์ กดดันกับธุรกิจครั้งใหม่และครั้งใหญ่ของอมรินทร์ไหมครับ

“ต้องบอกตรงๆ ว่า กังวลบ้างครับ เนื่องจากเราอยู่ในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่าน ในการทำงานต้องเจออุปสรรคแน่นอน ผมแบ่งเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ปัญหาที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การพัฒนาคุณภาพรายการ สรรหาผู้ร่วมงานที่เหมาะสม จนถึงเรื่องคู่แข่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 24 ช่อง เรื่องเหล่านี้ผมไม่ค่อยกังวล และคิดว่ารับมือได้ เพราะไม่ว่าทำธุรกิจอะไรก็ต้องเจอปัญหาใกล้ๆ กันนี้ หน้าที่ของผู้บริหารคือพาองค์กรเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้

“สิ่งที่ผมกังวลเป็นเรื่องปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ระเบียบต่างๆ ของ กสทช. สถานการณ์ของบ้านเมืองที่ยังไม่นิ่ง หรือเรื่องการแจกคูปองที่ยังล่าช้า ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์กันตลอดเวลา บางแผนที่คิดไว้ก็ต้องชะลอออกไปก่อน”

คุณแพรพูดเสริม “แพรมองว่า เป็นเรื่องแปลกแต่ดีที่การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลมาพร้อมกับการปฏิรูปประเทศ เพราะเมื่อสื่อมีการปฏิรูปจะส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง ประโยชน์จะตกถึงคนดูที่มีทางจากรายการดีๆ ที่มีพื้นที่ในการนำเสนอมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้บริษัทต่างชาติมาชี้นำว่า สังคมไทยจะต้องดูอะไร ผ่านระบบการชี้วัดที่เรียกว่าเรตติ้งเท่านั้น”

คงไม่ใช่งานง่ายที่จะทำให้ผู้ชมโทรทัศน์กดรีโมทเปลี่ยนช่องจาก 3 5 7 9 11 หรือ Thai PBS ที่ครองตลาดอย่างแข็งแรงและยาวนานมาเป็น 10 ปี อมรินทร์มีจุดแข็งอะไรที่ทำให้คนดูตัดสินใจเปลี่ยนมายังช่อง 34 Amarin TV ครับ

คุณระรินรับหน้าที่อธิบาย “แพรมองว่า การทำธุรกิจในวันนี้ไม่ได้มีสูตรตายตัว ไม่ว่าทีวีหรือธุรกิจอะไรก็ตาม มีใครบอกได้ว่า เจ้าที่เคยทำมาก่อนจะประสบความสำเร็จกว่าคนที่มาใหม่ สำหรับอมรินทร์เทเลวิชั่น เรารู้ดีว่า ทีวีเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อคนในวงกว้าง จึงอยากให้สื่อนี้ชี้นำสังคมให้ไปทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผู้ชมได้รับความสุขและได้พัฒนาชีวิตในทิศทางที่ดีขึ้นผ่านรายการต่างๆ เราตั้งใจทำรายการที่ผู้ชมสามารถติดตามได้อย่างเพลิดเพลินตลอดทั้งวัน เพียงแต่ในนะยะแรก เราโฟกัสให้คนเกิดภาพจำทีละกลุ่ม เริ่มจากไลฟ์สไตล์ที่เป็นจุดแข็งของเรา เช่น รายการเกี่ยวกับแฟชั่น บ้าน สุขภาพ และอาหาร ดีที่สุดต้องที่อมรินทร์ทีวี

“กลุ่มที่ 2 ที่โปรโมทขึ้นมาคือ รายการข่าว ซึ่งเราได้ผู้ประกาศข่าวเด่นๆ อย่าง “คุณพุทธอภิวรรณ” มาจัดรายการ ทุบโต๊ะข่าว กับ ต่างคนต่างคิด เวลา 2 ทุ่ม 45 นาทีเป็นต้นไป ถึงตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักรายการมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงข่าวรอบวัน ตอนเช้า เที่ยง และค่ำ ในนาม “อมรินทร์” โดยทีมข่าวที่เราภาคภูมิใจ นำเสนอเนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ บันเทิง ด้วยคอนเซ็ปท์ ข่าวเด่นเน้นสร้างสรรค์สังคม

ทั้งหมดคือรายการ 2 กลุ่มแรกที่เราพยายามทำให้ผู้ชมเกิดภาพจำว่า ถ้านึกถึงรายการไลฟ์สไตล์ หรืออยากดูข่าวเข้มๆ ต้องกดมาที่ช่อง 34 Amarin TV หลังจากนี้เราจะเพิ่มไฮไลท์ในรายการกลุ่มใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งคงต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ ของวงการทีวีดิจิตอลนิ่งกว่านี้อีกหน่อย บางอย่างทำเร็วเกินไปเหมือนนำเงินไปโยนทิ้ง ไม่ได้บอกว่าเราไม่เคยพลาดนะคะ มีเหมือนกันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นก็ต้องดูจังหวะกันไป

คุณหมีกับคุณแพรแบ่งหน้าที่บริหารงานกันอย่างไรครับ

“หลักๆ เราปรึกษาหารือกันทุกเรื่องอยู่แล้วค่ะ แต่มีการตกลงกันว่า สำหรับอมรินทร์พริ้นติ้ง หรือตัวสำนักพิมพ์ แพรเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย ส่วนเรื่องทีวียกให้เป็นหน้าที่ของพี่หมี ไม่อย่างนั้นทีมงานอาจสับสนว่า ฉันควรฟังใครดี แต่ระหว่างการทำงาน ต่างฝ่ายต่างออกความคิดเห็นได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันตลอดเวลา”

ถ้าอย่างนั้น ส่วนใหญ่คู่นี้คิดเหมือนหรือเห็นต่างครับ

ทั้งคู่หันมาส่งยิ้มให้กัน ก่อนที่คุณโชคชัยจะตอบ “เห็นต่างซะเยอะ (หัวเราะ) สไตล์ผมตรงไปตรงมา คิดอะไรกันก็พูดตรงๆ เถียงถึงขั้นทะเลาะก็มีนะครับ”

บรรยากาศดุเดือดไหมครับ

คุณระรินยิ้ม “ต้องถามว่า ทะเลาะที่ไหน… ถ้าอยู่ในห้องประชุมจะไม่แสดงอาการมาก ออกแนวว่า ฉันไม่พูดแล้ว จะเงียบ (หัวเราะ) แต่ถ้าทะเลาะกันที่บ้านอาจมีโวยวายเล็กๆ แต่พอถึงจุดนั้น ต่างฝ่ายจะหยุด แยกกันไปสงบสติอารมณ์คนละมุมห้อง หรือคนละห้องไปเลย (หัวเราะ) เพราะขืนดึงดันคุยตอนที่อารมณ์ร้อนก็ไม่เกิดประโยชน์ ไว้ค่อยกลับมาคุยกันใหม่ แพรถือคติว่า ไม่ว่าทะเลาะเรื่องอะไร จะไม่หนีหาย หรือขับรถออกจากบ้านไปเลย”

คุณโชคชัยยิงมุข “ทั้งที่ความจริงอยากออกไปใจจะขาด (หัวเราะทั้งคู่)”

แอบสืบทราบมาว่า นอกจากงานบริหาร ทั้งคู่ยังไปพบลูกค้าขายโฆษณาเองด้วย

คุณระรินเล่าถึงอีกบทบาท “ใช่ค่ะ มีทั้งที่ไปพร้อมกับพี่หมี และแยกกันไป ทีวีดิจิตอลถือเป็นธุรกิจใหม่ของอมรินทร์ แพรจึงอยากไปเจอลูกค้าเอง ซึ่งความจริงดีนะ ทำให้เราได้รับฟังจากลูกค้าโดยตรงว่า เขากำลังมองหาหรือต้องการอะไร เราสามารถสนับสนุนอะไรได้บ้าง ประเด็นไหนที่ต้องกลับมาปรับปรุงแก้ไข แต่ในส่วนโฆษณาฝั่งสิ่งพิมพ์ค่อนข้างติดตลาดแล้ว แพรจึงแทบไม่ต้องไปเอง นานๆ ครั้งจึงออกไปหาลูกค้าบ้าง
คุณโชคชัยแสดงความคิดเห็นบ้าง “ที่ผ่านมาหลายคนอาจมีภาพว่า ผู้บริหารสถานีเข้าถึงยาก เนื่องจากในอดีต ธุรกิจนี้มีคนทำอยู่ไม่มาก แต่วันนี้เมื่อตลาดเปิด ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาก่อน หลายๆ ครั้งที่เราเป็นฝ่ายไปพูดคุยก่อนด้วยซ้ำ”

คนในวงการทีวีคาดการณ์ว่า ศึกดิจิตอลทีวีครั้งนี้อาจมีผู้ประกอบการหลายเจ้าไปไม่รอด หรือขายให้คนอื่นทำต่อ คุณโชคชัยกับคุณระรินมองอมรินทร์ ทีวี อย่างไรครับ

“ผมมองสิ่งที่ทำอยู่ในด้านบวก ทีวีดิจิตอลจะเป็น Media Gateway ที่นำพาอมรินทร์ไปข้างหน้า และเราก็ไม่ได้มองแค่ตัวทีวีอย่างเดียว แต่มองภาพรวมขององค์กรที่จะออกไปสู้กับคู่แข่งด้วยอาวุธที่หลากหลาย มีทั้ง On print, Online, On ground และ On air ซึ่งเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“วันนี้ผมเข้ามาทำงานในฐานะที่ช่วยแพรดูธุรกิจ และการทำงานนี้ก็เพื่อคนรุ่นถัดไป เรามีหน้าที่วางรากฐานให้แข็งแรง ให้องค์กรเดินต่อไปในอนาคต เป็นหลักประกันให้กับทุกๆ ชีวิตในบริษัทที่ไว้วางใจมาทำงานด้วย เช่น บุคลากรด้านทีวีหลายคนที่ตัดสินใจออกจากที่ทำงานเดิมมาอยู่กับเรา ทั้งที่บางคนอยู่กับองค์กรเก่ามาเกือบ 20 ปี แต่เขาเลือกมาร่วมบุกเบิกกับอมรินทร์ ผมต้องขอบคุณทุกคนที่เชื่อมั่นว่า องค์กรนี้จะสามารถนำพาเขาไปข้างหน้าได้”

คุณระรินยิ้มก่อนพูดถึงความรู้สึก “แพรรู้ว่า พนักงานของเราหลายคนกังวลกับโครงการนี้ของบริษัท เพราะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ แต่ธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้า ถ้าหยุดอยู่กับที่เมื่อไหร่ ก็คือรอนับวันแพ้ได้เลย สิ่งสำคัญคือ เราต้องสู้อย่างมีกลยุทธ์ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต หน้าที่ของเราคือ ทำในสิ่งที่ควรทำในเวลาที่เหมาะสม แล้วฟ้าจะเปิด เหมือนหลักทางพุทธศาสนา ถ้าเราสร้างเหตุให้ดี ผลที่ตามมาก็ย่อมดีเช่นกัน”

“มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ มีพี่คนหนึ่งซึ่งทำงานกับอมรินทร์มานานเจอจดหมายที่คุณพ่อเขียนตอบผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งแพรกับคุณแม่ไม่เคยเห็นจดหมายฉบับนี้มาก่อนเลย ขณะนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างแย่ ขณะที่หุ้นของอมรินทร์ก็ตกฮวบ ผู้ใหญ่ท่านนั้นจึงแสดงความเป็นห่วงมาทางจดหมาย ซึ่งคุณพ่อก็เขียนตอบกลับไปอธิบายว่า ตอนนั้นอมรินทร์มีการลงทุนครั้งใหญ่ ตั้งแต่การซื้อเครื่องพิมพ์ ก่อตั้งสำนักพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ค เพราะคุณพ่อมองว่า มีโอกาสช่วยให้บริษัทเติบโตในอนาคต เพียงแต่ช่วงนั้นสิ่งที่เราลงทุนยังไม่ผลิดอกออกผล แต่เชื่อมั่นว่า จะดีอย่างแน่นอน

“แพรอ่านจดหมายฉบับนั้นจบแล้วน้ำตาซึม เมื่อ 20 ปีก่อน คุณพ่อเจอวิกฤตหนักในวันที่บริษัทยังไม่มีรากฐานที่แข็งแรงเหมือนปัจจุบันนี้ แต่คุณพ่อยังฝ่าฟันมาได้ เพราฉะนั้นเราที่เป็นคนรุ่นหลังก็ต้องทำให้ได้ด้วยเช่นกัน แล้วจดหมายฉบับนี้ยังมาถึงในเวลาที่เรามีความกังวลกับธุรกิจใหม่พอดี สำหรับแพร นี่จึงเป็นเหมือนกำลังใจที่พ่อคงอยากบอกว่า ของบางอย่างต้องใช้เวลา พยายามให้เต็มที่ แล้วสิ่งนั้นจะให้ดอกให้ผลกับเราในวันข้างหน้า (ยิ้ม)”

หลายปีที่ผ่านมา สิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายของเมืองนอกปิดตัวลงจากอิทธิพลของโลกออนไลน์ อมรินทร์เตรียมรับมือต่อเหตุการณ์นี้อย่างไรครับ

“แพรคิดว่า สื่อสิ่งพิมพ์ไม่มีทางหายไปจากโลก ถึงแม้หลายปีหลัง สิ่งพิมพ์ใหญ่ๆ ของเมืองนอกหลายเล่มจะล้มหายไป แต่ก็มีสิ่งพิมพ์หน้าใหม่เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จด้วย แพรมองว่า สิ่งพิมพ์ยังมีเสน่ห์ที่เรียกว่า Now media เราสามารถเปิดอ่านได้ทันที โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กหรือ ใช้แบตเตอรี่ หรือใช้อุปกรณ์ใดๆ เพราะฉะนั้น สื่อสิ่งพิมพ์จะยังคงอยู่ แต่บริบทคงเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจะคิดว่า ตัวเองเป็นแค่ผู้ผลิตนิตยสารอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องเชื่อมโยงกับลูกค้าแบบ 360 องศา ต้องคิดถึงวิธีนำเสนอที่หลากหลาย

“สำหรับอมรินทร์ก็ปรับตัวมาพักใหญ่ เราไม่ได้มองตัวเองเป็นบริษัทสิ่งพิมพ์ แต่เป็น Content Business ส่งต่อความรู้ความรื่นรมย์ให้กับลูกค้าในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์กับออนแอร์ที่เน้นเป็นพิเศษ ยกตัวอย่าง กลุ่มบ้านที่เราแข็งแกร่งที่สุด มีนิตยสาร 3 หัว คือ บ้านและสวน Room และ my home ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม เรายังมีเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ที่มีคนติดตามมากเป็นหลักล้าน มีงานแฟร์ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี มีรายการทีวีที่เป็นรายการยอดนิยม นอกจากนี้ เรายังมีพันธมิตรขยายสู่อาเซียนด้วย

“หรือฝั่งแฟชั่นอย่าง แพรว กับ สุดสัปดาห์ เราพยายามพัฒนาสื่อด้านโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่อีบุ๊ค เฟสบุ๊ค และอินสตาแกรมที่มียอดฟอลโล่วมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วตอนนี้ยังมีรายการทีวีเข้ามาเสริมอีก เป็นเหมือนการติดอาวุธให้กับเนื้อหา เราไม่จำเป็นต้องเดินไปทางเดียวเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”

รู้มาว่า 10 ปีก่อนที่คุณระรินเข้ามาทำงานในฐานะลูกเจ้าของบริษัท ตอนนั้นครียดมากถึงขนาดบอกคุณแม่ (เมตตา อุทกะพันธุ์) ว่า จะลาออกจากบริษัทแล้ว

“ใช่ค่ะ (ยิ้ม) ตอนนั้นแพรยังเด็กมาก วุฒิภาวะอาจยังไม่แข็งแรงเท่าไร พอมีเรื่องบั่นทอนกำลังใจจึงรู้สึกท้อบ้าง เราบอกตัวเองตลอดว่า ไม่ได้เข้ามาทำงานในฐานะลูกเจ้าของ แต่เป็นพนักงานกินเงินเดือน มีหน้าที่ทำงานอย่างสุดความสามารถเหมือนคนอื่นๆ ไม่เคยใช้สิทธิความเป็นลูกเจ้าของมาโน่นนั่นนี่ ตอนนั้นจึงน้อยใจบ้าง ทั้งที่ความจริงเป็นปัญหาธรรมดา พอวันนี้มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่า เป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมาก”

คุณระรินก้าวผ่านสถานการณ์นั้นมาได้อย่างไรครับ

“คุณแม่อีกนั่นละค่ะที่สอนว่า ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนรักเราได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถามตัวเองก่อนว่า เราทำดีแล้วหรือยัง ถ้ามั่นใจว่า สิ่งที่ทำถูกต้อง ก็ทำต่อไป นั่นคือหน้าที่ของเธอ หลังจากนั้นแพรจึงกลับไปมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเอง จนที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากพี่ๆ น้องๆ ที่บริษัททุกคน โดยหลักที่แพรให้ความสำคัญและถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เน้นย้ำมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทคือ การทำผลิตภัณฑ์ให้ดี วันที่แพรเข้ามาก็เติมเรื่องการตลาด เมื่อของดีแล้วจะบอกให้คนอื่นรู้ได้อย่างไร การสื่อสารออกไปยังผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญมาก

“ถึงแม้วันนี้ในบทบาทซีอีโอ หน้าที่หลักอาจเป็นการวางนโยบายสำคัญ แต่อีกหน้าที่ที่แพรทำมาตลอดคือ บทบาทของผู้อ่าน แพรอาจไม่มีความถนัดเชิงลึกในหลายๆ เรื่องเหมือนกองบรรณาธิการ อย่างหนังสือกลุ่มบ้าน แพรไม่ได้เป็นสถาปนิก ไม่เคยเรียนออกแบบ แต่สิ่งที่ทำได้คือ มุมมองในฐานะผู้อ่าน พออ่านแล้วมีความคิดแบบไหนก็จะคุยกับบรรณาธิการบริหารว่า ลองทำเรื่องนี้ไหม ปรับเรื่องนั้นอีกนิดได้หรือเปล่า ซึ่งความจริงทุกคนทำได้ดีอยู่แล้วนะคะ แต่เราจะช่วยเสริมไอเดียกันแบบนี้อยู่ตลอดเวลา

“หรือกับพี่หมี คนนี้เวลาไปเห็นอะไรใหม่ๆ หรือเจอนวัตกรรมดีๆ จะชอบมาเล่าให้ฟังว่า แบบนี้น่าทำ เรื่องนั้นก็ดี เรื่องโน้นก็น่าสนใจ เยอะแยะไปหมด ไอเดียในการปรับนิตยสารหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา บางทีก็ปิ๊งขึ้นมาจากการที่เราแลกเปลี่ยนเรื่องใหม่ๆ ที่ต่างคนต่างไปเจอมานี่ละ”

ถ้าอย่างนั้นขอเปลี่ยนบรรยากาศจาก “คู่คิด” มาเป็น “คู่ชีวิต” บ้าง เพราะการพบเจอของคุณระรินกับคุณโชคชัยละม้ายคล้ายพล็อตซีรี่ส์เกาหลีมากๆ

คุณระรินกับคุณโชคชัยหัวเราะชอบใจ ก่อนที่ฝ่ายชายจะเล่าเรื่องจริงแบบไม่อิงซีรี่ส์ “ผมเจอแพรครั้งแรกในงานเปิดตัวนิตยสาร WE นิตยสารคู่รักของอมรินทร์นี่ละ สถานที่คือ ห้างเอ็มโพเรียม ตอนนั้นเป็นช่วงงานจบพอดี จำได้ว่า แพรนั่งคุยกับคุณแม่ ส่วนผมเดินขึ้นบันไดเลื่อนกับรุ่นน้องคนหนึ่ง พอเห็นแพรก็รีบหันไปดู เพราะเคยเห็นเขาในหนังสือพิมพ์แล้ว แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ รุ่นน้องที่ไปด้วยบอกว่า แพรเป็นรุ่นน้องของเขาที่โรงเรียนจิตรดา”

คุณระรินได้โอกาสชิงเล่าเรื่องหวาน “พี่หมีมาบอกทีหลังว่า เขาเคยอ่านสัมภาษณ์แพรในหนังสือกรุงเทพธุรกิจ แถมยังเก็บภาพจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไว้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้คิดว่า วันหนึ่งจะได้เจอเราจริงๆ”

คุณหมีเก็บภาพไว้ทำไมครับ

คุณระรินแกล้งพูดเย้า “นั่นสิ…เก็บไว้ทำไม”
คุณโชคชัยตอบเบาๆ “ก็ชอบไง เลยเก็บไว้”

คุณระรินยิ้มหวานก่อนเล่าต่อ “ที่ตลกมากคือ เรื่องที่แพรคุยกับแม่วันนั้นคือเรื่องอะไรรู้ไหม ฟังดูแล้วอาจงมงายนิดๆ นะคะ ตอนนั้นคุณแม่เล่าว่า ท่านกังวลว่า ลูกสาวจะไม่ได้แต่งงาน อยากให้เป็นฝั่งเป็นฝากับเขาสักที จึงไปปรึกษาอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งบอกว่า แพรจะได้เจอเนื้อคู่เร็วๆ นี้ และเป็นการพบเจอแบบบังเอิญ ซึ่งตอนที่คุยคงเป็นช่วงที่พี่หมีขึ้นบันไดเลื่อนนี่ละ (หัวเราะ)

“แต่กว่าจะได้คุยกันจริงๆ ก็หลังจากนั้นหลายเดือน บังเอิญว่าผู้ใหญ่ของเราทั้งสองฝั่งรู้จักกัน จึงมีการนัดให้เจอกันที่ร้านกาแฟริมน้ำ ที่บริษัทอมรินทร์นี่ละค่ะ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ จนถึงวันแต่งงาน และปัจจุบันมีลูกชายสองคนคือ น้องปุณณ์ (ปุณณ์ ปัญจรุ่งโรจน์) ตอนนี้อายุ 5 ขวบแล้ว กับ น้องปริญญ์ (ปริญญ์ ปัญจรุ่งโรจน์) อายุ 2 ขวบ เล่าแล้วรู้สึกว่า เวลาผ่านไปไวมาก (ยิ้ม)”

คุณโชคชัยมีวิธีหวานๆ มัดใจสาวไหมครับ

คุณระรินยิ้ม “สไตล์พี่หมีไม่หวานเลย เขามีคติส่วนตัวว่า จะไม่ทำให้ผู้หญิงเกิดความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ตอนจีบดูแลเอาใจใส่สารพัด แล้วพอตอนแต่งงานไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะมาแบบนิ่งๆ เสมอต้นเสมอปลาย อย่างวาเลนไทน์ปีแรกที่เราเจอกัน พอดีที่บริษัทจัดนิทรรศการศิลปะของพนักงาน พี่หมีซื้อภาพวาดดอกไม้มาให้แล้วบอกว่า ติดไว้ในห้องนอนนะ ปีต่อๆ ไปก็ให้มองภาพนี้แหละ พี่จะได้ไม่ต้องซื้อดอกไม้ให้ทุกปี เพราะช่อนี้ไม่มีวันเหี่ยวอยู่แล้ว… เจอแบบนี้ต้องทำใจค่ะ (คุณโชคชัยหัวเราะชอบใจ)

“แต่แพรไม่ได้น้อยใจนะคะ เพราะตัวเองก็ไม่ได้มองหาสามีที่ต้องเอาอกเอาใจ มาหวานใส่ สำหรับแพร พี่หมีคือ คู่คุยและคู่คิดที่ช่วยให้ครอบครัวเดินต่อไปแล้วพากันไปในทางที่ดี นั่นคือสิ่งที่แพรมองหาจากผู้ชายที่จะอยู่ด้วยกัน”

ทั้งคู่แบ่งเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างไรบ้างครับ

คุณระรินเล่าก่อน “ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับเรื่องส่วนตัวเลยค่ะ ปกติแพรทำงานจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ประชุมแน่นมาก เพราะฉะนั้นปัญหาจึงไปตกอยู่ที่เวลาส่วนตัวว่า จะบริหารอย่างไร เดี๋ยวนี้ก่อนนอนต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน คืออ่านหนังสือ ดูรายการทีวี แล้วก็ส่งลูกเข้านอน”

คุณโชคชัยรับช่วงเล่าต่อ “พอถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เราจะทุ่มเวลาให้กับลูกๆ เต็มที่ ต้องคิดแล้วว่า จะพาเข้าไปที่ไหน หรือทำอะไร บางทีต้องให้เลขาฯ ช่วยล็อควันหยุดยาวๆ เพื่อพาเด็กๆ ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง เพราะฉะนั้นพอถึงเรื่องของตัวเองจึงแทบไม่มีเวลาเหลือ เรื่องไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์นี่ไม่ต้องพูดถึง แทบไม่ได้ไป เรื่องล่าสุดที่ได้ไปดูคือ ‘The Lego Land’ ก็เพราะพาลูกๆ ไปดู แต่ถ้าไปดูกันสองคนนี่คิดไม่ออก (หัวเราะ) เอาเป็นว่าตั้งแต่แต่งงานแล้วมีลูก นั่นหมายถึง 5 ปีแล้ว น่าจะไปดูหนังด้วยกันประมาณ 2 หน คงต้องรอให้เรื่องทีวีลงตัวกว่านี้ น่าจะมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น”

ทำงานกันหนักแบบนี้ มีเวลาใช้เงินไหมครับ

คุณโชคชัยหันไปมองภรรยาแล้วยิ้ม ฝ่ายหญิงจึงต้องตอบคำถามนี้ “เป็นผู้หญิงก็ต้องช็อปปิ้งบ้างใช่ไหมคะ”

คุณโชคชัยแซวต่อ “ต้องบอกว่า พฤติกรรมการช็อปปิ้งของแพรเปลี่ยนไปจากเดิมแล้วครับ สมัยก่อนคนนี้ซื้อกระจาย แล้วชอบซื้อของที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บางครั้งเราต้องบอกว่า ซื้อของที่อนาคตยังให้คุณค่ากับเราดีกว่าไหม”

คุณระรินพูดบ้าง “แพรไม่ได้ช็อปเยอะแล้ว สมัยก่อนโดนพี่หมีบ่นบ่อยๆ อย่างเรื่องนาฬิกา เป็นสิ่งที่พูดประจำว่า เรือนนี้ซื้อใส่หรือซื้อเก็บ เราก็บอกว่า ซื้อใส่สิ เขาจะบ่นว่า เชื่อพี่สิ ซื้อเรือนนี้ดีกว่า นอกจากใส่แล้ว พอเวลาผ่านไปราคาก็จะขึ้น เอามาขายได้ด้วย แต่เรือนที่แพรซื้อราคามันจะลงนะ เขาพูดตอนนั้นเราก็ไม่สนใจหรอก แต่พอเวลาผ่านไปก็เป็นอย่างที่พี่หมีพูดจริงๆ ช่วงหลังจึงเริ่มเห็นด้วยกับที่เขาพูด (หัวเราะ)”

คู่นี้ดูแลกันอย่างไรครับ คำถามนี้ให้ฝ่ายภรรยาตอบ

“ดูแลตัวเอง (หัวเราะ) อย่างนี้ค่ะ ถ้าเป็นเรื่องอาหาร แม่บ้านจะดูแลให้ ครอบครัวเราค่อนข้างโชคดีที่มีความพร้อมในหลายเรื่องๆ ส่วนใหญ่เราจึงแชร์เรื่องสุขและทุกข์ ดูแลใจกันมากกว่า”

ในเรื่องงาน คุณระรินดูแลนิตยสารและสำนักพิมพ์ คุณโชคชัยจัดการฝั่งทีวี แล้วเรื่องภายในบ้าน ใครเป็นผู้รับผิดชอบครับ

คุณระรินผายมือมาทางสามีที่ตอบทันที “ส่วนใหญ่เป็นผม แพรไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ หรือต่อเติมอะไร ยกให้เป็นหน้าที่ผมเลย ขนาดต้นไม้ที่บ้านโดนปลวกกิน หรือไฟในห้องนอนไม่ติด แพรยังไม่รู้เลย”

คุณระรินหัวเราะชอบใจ “อยากทำอะไร เชิญตามสบาย”

ถ้าตัดเรื่องงานทิ้งไป คู่นี้เคยทะเลาะกันแรงๆ ไหมครับ

คุณโชคชัยเล่าก่อน “เคยอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องหนักนะครับ ส่วนมากแพรจะมาแนวงอนแบบลิเก เช่น บอกว่า พี่หมีไม่รัก (หัวเราะ)”
คุณะรินแกล้งมองค้อนสามี “แหม…ผู้หญิงก็ต้องการเอาอกเอาใจบ้างสิ แต่แพรคิดเรื่องที่ทะเลาะกันหนักๆ ไม่ออกเลยนะ คงเป็นแค่ช่วงแรกๆ ที่เราปรับตัวเข้าหากันมากกว่า หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรมาก”

คุณระรินครับ… คุณโชคชัยมีสาวๆ มาแอบปลื้มบ้างไหมครับ

“เท่าที่เรารู้… พี่หมีไม่เจ้าชู้นะคะ แต่ที่ไม่รู้นี่ไม่แน่ใจ (คุณหมีหัวเราะมุขภรรยา) ตั้งแต่รู้จักกัน พี่หมีไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง ถึงแม้ไม่ใช่ผู้ชายสไตล์ประดิษฐ์คำพูดหวานๆ อย่างที่บอก แต่พี่หมีดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี คอยอยู่เคียงข้างแพรมาตลอด 7 ปีที่แต่งงาน และ 10 ปีที่รู้จักกัน ไม่ว่าตอนสุขหรือทุกข์ เขาอยู่ตรงนี้ไม่เคยหายไปไหน แพรว่านั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว”

คุณโชคชัยพูดถึงภรรยาคนสวยบ้าง “แพรเป็นคนจิตใจดี คิดดี และทำดีมาตลอด ผมโชคดีที่ได้เขาเป็นภรรยา ต้องขอบคุณแพรที่ไว้วางใจให้ผมเป็นคู่ชีวิต และก็ต้องขอบคุณแทนลูกๆ ทั้งสองคนด้วย เขาโชคดีมากที่ได้คุณแม่ที่ดีจริงๆ (ยิ้ม)”

ชีวิตของทั้งคู่ในวันนี้ เรียกว่าสมบูรณ์แบบได้ไหมครับ

คุณระรินรับอาสาตอบคำถามสุดท้าย “แพรไม่เคยนึกถึงคำว่า สมบูรณ์แบบนะคะ และไม่ได้มองหาสิ่งนั้นด้วย เพราะตราบใดที่เราเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีกิเลส เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านเข้ามา แพรมองว่า ชีวิตคือการเติบโตไปเรื่อยๆ วันนี้แพรกับพี่หมีมีความรับผิดชอบหลายอย่าง ตั้งแต่ลูกๆ สองคนที่ต้องประคับประคองเขาไปให้ไกลที่สุด พนักงานในบริษัทที่เราต้องดูแลอย่างเต็มที่ รวมถึงผู้อ่านหนังสือและผู้ชมโทรทัศน์ช่องอมรินทร์ ที่เราต้องผลิตงานดีๆ อย่างสุดความสามารถ เหมือนกับปณิธานที่คุณพ่อวางไว้ว่า อมรินทร์จะทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม

“เพราะที่สุดแล้ว เมื่อเราทำงานอย่างเต็มที่ ผลดีๆ จะกลับมาหาเราเสมอ เรื่องหนึ่งที่แพรเจอด้วยตัวเองเป็นประจำคือ ผู้อ่านจากหนังสือหลากหลายเล่มที่เดินตรงเข้ามาคุยว่า คุณระรินหรือเปล่าคะ ขอบคุณมากที่ทำนิตยสารดีๆ แบบนี้ หรือล่าสุดที่เริ่มมีคนบอกว่า ดูรายการช่องอมรินทร์แล้วได้ข้อมูลดีๆ ไปใช้ในชีวิต (ยิ้ม)

“สำหรับแพร สิ่งนี้เป็นทั้งความสุขและความภูมิใจที่รู้ว่า มีคนได้รับสิ่งดีๆ จากงานของเรา ทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ เหมือนตัวเองได้รับคำตอบว่า ทำไมเราจึงต้องทำงานหนัก ทั้งที่มีอาชีพให้เลือกเยอะแยะ หรือถ้าแพรอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมากเท่าวันนี้ก็ได้ แต่ถ้าทำอย่างนั้นคงเกิดคำถามกับตัวเองว่า คุณค่าในชีวิตของเราอยู่ที่ตรงไหน เพราะฉะนั้น การทำงานนี้ทำให้ชีวิตของแพรมีความสุข แถมยังทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วย

“นี่คือสิ่งดีที่สุดแล้วค่ะ”

เรื่อง : ปารัณ เจียมจิตต์ตรง
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 840 คอลัมน์ สัมภาษณ์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up