ชลิดา เถาว์ชาลี ตันติพิภพ ‘เครียด’หายนะ

ถ้าเธอไม่เอ่ยปาก เราคงไม่รู้ว่าสาวสวยเจ้าของแววตาเปี่ยมสุข บุคลิกร่าเริง กระตือรือร้น และแอคทีฟ ที่นั่งตรงหน้า เพิ่งผ่านเรื่องร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ทว่า เมื่อเธอและคนรอบข้างร่วมกันต่อสู้ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพร้อมจะอดทนไปกับสิ่งที่เธอต้องเผชิญ ทำให้เธอได้ชีวิตใหม่คืนมา และตั้งใจว่าจะใช้เวลานับจากนี้ เพื่อ Give & Share

“นกอ่านหนังสือของ ‘หนูดี’ (วนิษา เรซ) เขียนไว้ว่า — “บางที เรื่องเลวๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็ทำให้เราได้คิดว่า สิ่งใดที่ควรกระชากทิ้งไป” แต่นกอยากบอกเพิ่มว่า ตอนที่ยังกระชากทิ้งไม่ได้ เรารู้สึกทรมานมาก แต่พอสะบัดหลุดแล้ว เราจะรู้สึกขอบคุณที่สิ่งนั้น ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะมันทำให้เรารู้จักปล่อยวางและเข้าใจชีวิตมากขึ้น”

พันธนาการแห่งความเครียด
“จุดเปลี่ยนที่เกิดกับชีวิตนก เริ่มเมื่อต้นปีที่แล้ว เราเปิดบริษัทใหม่เพิ่มสองบริษัท เพื่อขยายทำธุรกิจอื่น จากเดิมมีบริษัททำรายการโทรทัศน์ ‘ลิฟวิ่งอินเชป’ อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าสองธุรกิจนั้นไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ทำได้สักพัก ต้องปิดบริษัท ทำให้รู้สึกตรอมใจ เกิดความเครียด และความเครียดนี่แหละ ที่เป็นบ่อเกิดแห่งหายนะทั้งปวง

“วันนี้ …ที่ทุกคนเห็นนกเป็นอย่างนี้ เพราะทุกอย่างกลับมาเป็นปรกติแล้ว ก่อนหน้านี้ นกเพิ่งผ่านการเป็นโรคซึมเศร้า อาการตอนนั้น เหมือนคนใจด้านชา ใช้ชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นของเรา จิตใจไม่อยู่กับตัว รู้สึกสับสนกับตัวเองหลายอย่าง ทั้งที่แต่เดิม นกมีชีวิตชีวา มีแรงบันดาลใจ เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นในชีวิต คนเราจะมีปฏิกริยาสองแบบ คือ ‘Fight’ และ ‘Flight’ ยืนหยัดสู้ หรือไม่ก็หลบหลีก ซึ่งปรกตินกเป็นแนวสู้ แต่ตอนนั้นกลับกลายเป็นว่าไม่สู้อีกแล้ว ห่อเหี่ยว ถึงขั้นไม่กล้าออกจากบ้าน ระแวงว่ามีคนมอง เวลาเห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกน่าเกลียด เหมือนตัวประหลาด ตัวเองยังทนตัวเองไม่ได้เลย ถึงเวลาไปทำงาน อัดเทปรายการทีวี ก็ทำไปอย่างซึมกระทือ จนคนใกล้ตัวรู้ว่านกเปลี่ยน เพียงแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้

“จากนั้นไม่กี่เดือนถัดมา นกไปพบหมอสูตินรีเวช รับตัวอ่อนฝังในมดลูก เพื่อตั้งครรภ์ เมื่อรับแล้ว ต้องกลับมาอยู่บ้านนิ่งๆ ห้ามทำงาน เดินขึ้นบันไดไม่ได้ ออกไปไหนไม่ได้เป็นเดือนๆ นอกจากไปพบหมอ จนเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว ส่วนใหญ่คนเราตั้งท้อง ต้องดีใจ แต่นกกลับไม่รู้สึกอะไร ยังพูดกับพี่ทีมงานที่สนิทกัน ให้เขาช่วยตบหน้าหรือทุบนกแรงๆ หน่อย ทำไมใจไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งที่เป็นนักแสดง ต้องรู้สึกอ่อนไหวกับศิลปะ หรือดูหนัง ดูละคร ต้องสะเทือนใจ อ่อนไหวบ้าง แต่กลายเป็นว่านกไม่สามารถร้องไห้ได้

“อาการต่อมา คือ นอนไม่หลับ ติดต่อกันสามเดือน จนผมร่วงทั่วบ้าน แม่บ้านกวาดบ้าน ได้เส้นผมเป็นกอง จะกินยานอนหลับก็ห่วงลูกว่าจะมีไซต์เอฟเฟ็คท์ จนกลายเป็นว่าความจำ และความ

สามารถในการคิดเลข ทักษะการทำอะไรง่ายๆ ที่เคยทำได้ อย่างการทำกับข้าว หั่นผัก ผัดผักง่ายๆ ก็ทำไม่ได้ แต่งหน้าตัวเองไม่ได้ ต้องขอให้ช่างแต่งหน้ามาสอน เขาเองก็งงว่านก ชลิดา ประกวดเวทีระดับโลกมาหลายเวทีแล้ว ยังต้องให้สอนอีก ตอนนั้นนกเริ่มไม่แยแสตัวเองแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ไม่อยากแต่งหน้า แต่งตัว เสื้อผ้าก็ใส่แต่สีดำๆ เทาๆ ไม่กระตือรือร้นที่จะทำอะไร ไม่อยากกินข้าว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร พอน้องสาวรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ ก็บอกให้แม่กับพ่อกลับจากอเมริกา เพื่อมาดูแลนก

“พอตั้งท้องได้สองเดือน ตรวจครรภ์ จึงรู้ว่าเด็กไม่มีหัวใจ ต้องยุติการตั้งครรภ์ไปโดยปริยาย ตอนนั้นนกเองคิดเหมือนกันว่า ถ้าลูกโตไป เขาอาจไม่ปรกติก็ได้ เพราะหัวใจเราไม่รู้สึกมีสายใยใดๆ ผูกพันกับลูกเลย ยังแปลกใจตัวเอง ว่าทำไมไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ทุกคนรอบตัวจึงบอกให้นกโทร.หาหมอเบิร์ท (พญ.อภิสรา ศรีรังสรรค์) เถอะ เพราะขืนปล่อยอย่างนี้ต่อไป นกต้องแย่แน่ๆ พอหมอเบิร์ทฟังอาการที่นกเล่า ถึงรู้ว่านกเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้นกเข้าใจเป็นครั้งแรกในชีวิตว่า คนเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถมีความสุขได้เลย

“สาเหตุอาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก หรือจู่ๆ ฮอร์โมน ‘เซโรโทนิน’ อาจแห้งเหือดไปโดยเราไม่รู้ตัว ถ้านอนไม่หลับติดกันเป็นอาทิตย์ แสดงว่าฮอร์โมนตัวนี้พร่องอย่างแรง และฮอร์โมนตัวนี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อนอนหลับเท่านั้น ยาที่กินเข้าไป เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องแก้อันดับแรกคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เราหลับ หมอจึงให้ทั้งยาต้านโรคซึมเศร้า และยานอนหลับ เพราะถ้าไม่หลับเลย อาจส่งผลให้เกิดอาการสมองเสื่อม
‘ให้’=’ได้’
“ระหว่างรักษา หมอเบิร์ทชวนนกไปบ้าน เพื่อทำอาหารและขนมไปแจกคนไข้ เขาบอกนกว่ากิจกรรมแบบนี้อาจไม่เติมเต็มความรู้สึกให้นกแล้ว เพราะนกมีทุกอย่างในชีวิตครบ จึงอาจต้องไปทำงานบางอย่าง ตัวหมอเบิร์ทเอง ได้ไปช่วยเหลือ พูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นโรคซึมเศร้า แม้จะเหนื่อย แต่พอเห็นคนไข้ดีขึ้น เขารู้สึกดีใจที่ได้ให้คนอื่น นกจึงถึงบางอ้อว่า เราต้องให้มากกว่านี้ เพราะ ‘การให้’ อยู่เรื่อยๆ ‘ให้’ อย่างสม่ำเสมอ ช่วยเติมเต็มความรู้สึกในใจเราได้ ช่วงที่ผ่านมา นกลุยงานอย่างเดียว ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมที่เคยทำเพื่อผู้อื่น จึงบอกหมอเบิร์ทว่า ถ้าหายดีแล้ว อยากช่วยคนไข้วอร์ดเบิร์ททุกคน ถ้าเขาอยากทำอาหาร คุกกี้ ขนม นกยินดีไปสอน เพราะ Self Esteem หรือการนับถือตนเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง เกิดขึ้นได้จากการที่เราทำความดีอะไรสักอย่าง หรือทำอะไรเพื่อผู้อื่น เป็นการโฟกัสในสิ่งที่ออกไปจากตัวเอง

”แรกๆ พี่กบ (สามี) ไม่อยากยอมรับว่านกป่วยด้วยโรคนี้ แต่ตอนหลังเข้าก็เข้าใจและซัพพอร์ททุกอย่าง แต่บางทีเขาหรือญาติๆก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร มันเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องช่วยเหลือตัวเอง”

เผชิญหน้ากับโรคภูมิเพี้ยน
“จากนั้น นกมีอาการปวดคอร้าวลงแขน และปวดจากหลังลงไปถึงก้นกบ เข่า และขา ได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เกิดอาการแขนขาล้า จึงไปตรวจอย่างละเอียดกับคุณหมอเอ๋ (พญ.เอระวดี มิตรภักดี) ที่ Muscle and Nerve Clinic ได้ตรวจ EMG (ตรวจไฟฟ้าเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ) จึงได้รู้ว่า นกป่วยเป็นอีกโรคหนึ่ง คือ ‘Auto Immune Disease’ หรือ ‘โรคภูมิเพี้ยน’ มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ความเครียด หรือจู่ๆก็มีอาการขึ้นมาเอง และที่สำคัญคือนกคิดว่าโรคนี้ อาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย โดยร่างกายเริ่มโจมตีเซลล์ต่างๆ ในบริเวณไหนก็ได้ แต่นกโดนที่เส้นประสาทหู ส่งผลให้การได้ยินทั้งสองข้างลดลงกว่าปกติ ทั้งที่บางคนอาจมีอาการนี้ตอนอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้นกมักได้ยินเสียง…ตึ๊งๆ เหมือนเสียงน้ำฝักบัวกระทบพื้นตลอดเวลา หรือตอนไปถ่ายรายการที่โรงเรียนของหนูดี นกได้ยินเสียงเด็กอนุบาลเจี๊ยวจ๊าวแล้วรู้สึกปวดหัวมาก แต่ก็ทำงานไปทั้งที่ปวดหัว ส่วนปัญหาที่ข้อต่อ ซึ่งทำให้ปวดข้อ ปวดเข่า ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว เรื่องการได้ยินก็สามารถทนต่อเสียงต่างๆ ได้ แขนขาไม่ค่อยชา และมีแรงมากขึ้นจนเป็นปกติ”

พบความสุขของชีวิต = ชีวิตใหม่
“หลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้นกตระหนักว่า สังขารเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นที่เรายังมีชีวิตอยู่ ถือว่าบุญนักหนา ชีวิตคนเรากินได้ นอนหลับ ขับถ่ายได้ แฮปปี้ที่สุดแล้ว แต่เรามักไม่สำเหนียกกับสิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งวันที่เราไม่มี ร่างกายเรามีร่างเดียว เพราะฉะนั้นรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดี จะได้อยู่กับเรานานๆ

“ชีวิตนกวันนี้ งานอาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่นกตั้งใจที่จะใช้ชีวิตในปีนี้อย่างเปี่ยมพลัง ด้วยการให้และแบ่งปัน นกมีแผนกลับไปเยี่ยมน้องสาวที่อเมริกา เพื่อนๆ ที่เรียนพยาบาลด้วยกันมา เยี่ยมคนที่เราเคยผูกพันสมัยอยู่อเมริกา เพราะหากคิดจะทำอะไร ให้ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะไม่ได้ทำ เพราะถ้าต้องสูญเสียสมองอีกครั้งหนึ่ง นกไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกหรือเปล่า เพราะการสูญเสียอะไร ก็ไม่เท่ากับสูญเสียสมองหรือจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนพิการได้เลย เพราะฉะนั้น เราต้องแบ่งชีวิตให้สมดุลย์ รู้จักให้และแบ่งปัน เพื่อเติมเต็มความรู้สึกและจิตวิญญาณในตัวเราอย่างที่เคยเป็น

“ส่วนเรื่องอยากมีลูก คงหยุดแล้ว เพราะไข่ที่เก็บไว้หมด ถ้าต้องการตั้งครรภ์อีก นกต้องไปกระตุ้นร่างกายเพื่อสร้างไข่ใหม่ กลับไปสู่วงจรเดิมๆ ซึ่งคงไม่ไหว สู้เราใช้เวลาและความรักที่อยากให้ลูก ไปให้กับเด็กอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานเราก็ได้ อย่างเด็กที่มูลนิธิศุภนิมิตร หรือเด็กติดเชื้อเอชไอวี บ้านเมอร์ซี่ ที่นกอุปถัมภ์มากว่าสิบห้าปี

“อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นกได้คิดคือ การจัดเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ถ้าพรุ่งนี้เราไม่อยู่ จะได้ไม่ต้องพะวักพะวง เป็นห่วง กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้นกคิดว่าต้องเตรียมเขียนพินัยกรรมไว้ สมบัติชิ้นไหนให้ใคร ส่วนไหนบริจาคการกุศล ที่ผ่านมา แม่พูดให้นกได้คิดว่า แม้นกจะอายุน้อยกว่าพี่กบ แต่แม่เห็นอาการนกตอนนั้นแล้ว ทำให้คิดว่าบางทีนกอาจตายก่อนก็เป็นได้ ชีวิตจึงเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ แต่ทำให้นกรู้สึกรักแม่มากกว่าเดิมร้อยเท่าพันเท่า รักน้องสาว รักพ่อ รักพี่กบ รักเพื่อน รักแม้กระทั่งหมาที่บ้าน เพราะในวันที่ชีวิตนกตกต่ำถึงขีดสุด มันยังเดินกระดิกหางมาหา เพราะมันแคร์ว่าเราเป็นอะไร สบายดีไหม

“ขอบคุณทุกคน ที่ยืนหยัดอยู่ด้วยกัน ในช่วงที่นกอ่อนแอ ว่ากันว่าในวันที่เราย่ำแย่และตกต่ำสุด จะเป็นวันที่ทำให้เราได้เห็นเพื่อนแท้จริงของเรา”

เรื่อง : ดั่มดั๊มพ์
ภาพ : กฤตธี ผ่องเสรี
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 831 คอลัมน์ live stories

Praew Recommend

keyboard_arrow_up